Senior and Elderly-Community Leaders Forum : การวิพากษ์และตรวจสอบผลการวิจัยด้วยมิติสังคมชุมชนในการวิจัยแบบ PAR


  ๑   กลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนและกลุ่มผู้นำชุมชน  

กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มผู้นำชุมชนในุชมชนต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนชนบทของสังคมไทย ตลอดจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น มักจะเป็นผู้ซึ่งมีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ และผู้นำเชิงความมีบารมีของชุมชน มีเครือข่ายความเป็นเครือญาติและเป็นเครือข่ายเพื่อการอ้างอิงทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้นำจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดและวิธีตัดสินใจต่อสิ่งต่างๆในชุมชน เป็นภาพสะท้อนทัศนคติ ค่านิยม ปทัสฐานทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน เป็นกลไกและเครือข่ายสืบทอดมรดกวัฒนธรรมชุมชน เป็นสถาบันผู้อาวุโสอันเป็นที่เคารพเทอดทูนของลูกหลานและคนในชุมชน ดังนั้น จึงเป็นเสมือนกรอบอ้างอิงมิติต่างๆของสังคม ซึ่งจะครอบคลุมระบบวิธีคิด แบบแผนการประพฤติปฏิบัติ ระบบการตรวจสอบค่านิยมและระบบคุณค่า เป็นพลังควบคุมทางสังคมหรือกลไกกำกับโครงสร้างและทิศทางการสนองตอบต่อประเด็นส่วนรวม ตลอดจนการจัดความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ

ในชุมชนที่มีความเป็นชนบทและเป็นชุมชนเกษตรกรรมสูงนั้น การวิเคราะห์จำนวนนามสกุล ความเป็นดอง กับการระบุจำนวนผู้สูงวัยและกลุ่มเครือญาติ ออกมาก่อน ก็จะเป็นทั้งการเข้าถึงโครงสร้างสังคมวิทยาชุมชน (Community-Sociology) ในเชิงวิธีวิทยาการวิจัยปฏิบัติการชุมชนได้เป็นอย่างดี และสามารถเห็นกรอบอ้างอิงเป็นกลุ่มก้อนที่ยืดหยุ่นสมดุลกลมกลืนไปกับความหลากหลายของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่และกลุ่มผู้นำด้านต่างๆในชุมชน

  ๒   ความหมายและนัยสำคัญต่อวิธีวิทยาเพื่อการสร้างความรู้ในการวิจัยแบบ PAR 

ในการวิจัยแบบ PAR นั้น กรอบอ้างอิงจากปทัสฐานทางสังคมของชุมชน ตลอดจนระบบวิธีคิดและการแสดงจุดยืนด้วยโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของชุมชน นอกจากจะสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆที่จะถูกสร้างและสะมไปด้วยบนกระบวนการวิจัยแล้ว ทรรศนะวิพากษ์ การวิจารณ์ การตรวจสอบและการเพิ่มเติมความสมบูรณ์ในแง่มุมต่างๆโดยชุมชน จะเป็นวิธีสร้างความเข้มแข็งและความหนักแน่นให้กับความรู้ที่ได้จากการวิจัย ที่สำคัญคือ

  • ขจัดอคติและสร้างความสมดุลกับทรรศนะจากนักวิจัยภายนอกและกรอบทฤษฎีจากสากล
  • สร้างความเที่ยงและถูกต้องแม่นตรงให้กับข้อมูลและผลการวิจัย
  • ในด้านทฤษฎีการปฏิบัติ ก็จะสามารถสร้างความแม่นยำและความมีพลังการอธิบายระบบวิธีคิดที่สะท้อนไปสู่การปฏิบัติ
  • สร้างข้อสรุปและทฤษฎีเพื่อการอ้างอิงชั่วคราวที่สื่อสะท้อนความเป็นจริงในบริบทของสังคมชุมชนได้อย่างหนักแน่น
  • สื่อสะท้อนความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตและมีบทบาทต่อแบบแผนการปฏิบัติ : ที่สำคัญและมีความหมายต่อการอธิบายแบบแผนการปฏิบัติในโลกความเป็นจริงที่สุดก็คือ ความรู้ตามกรอบอ้างอิงและทฤษฎีปฏิบัติของชุมชนนั้น สะท้อนการทำได้จริงและมีบทบาทต่อการใช้นำวิถีชีวิตจิตใจในโลกความเป็นจริงของชาวบ้านได้มากที่สุด จึงต้องให้น้ำหนักความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้จากกรอบอื่นๆนอกความเป็นชุมชน

กล่าวได้ว่า ความเป็นปัจเจกและกลุ่มผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มผู้นำในเครือข่ายเครือญาติ และกลุ่มผู้นำของชุมชน เหล่านี้ ในทางระเบียบวิธีเพื่อการวิจัยแบบ PAR แล้ว ก็คือเครื่องมือและวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลและอภิปรายผลการวิจัยแบบสอบทานให้สมดุลกันจากหลายจุดยืน (Cross-Check) ด้วยทฤษฎีประสบการณ์ในบริบททางสังคมวัฒนธรรมของชุมชน ให้มีความรอบด้าน หนักแน่น มีความเที่ยงตรงและมีพลังการอธิบายความเป็นจริงของการปฏิบัติในบริบทของชุมชนนั่นเอง เมื่อบูรณาการกับกรอบทฤษฎีและความรู้ที่สร้างขึ้นอย่างผสมผสานของกลุ่มนักวิจัยภายนอก ก็จะช่วยเสริมกันให้มีความสมดุลและเชื่อมโยงกลมกลืนมิติความหลากหลายซับซ้อนทั้งความเป็นท้องถิ่น ความมีบริบทสังคมวัฒนธรรม ความเป็นสากลและความเป็นทฤษฎีทั่วไป

  ๓   การดำเนินการด้วย Senior and Elderly-Community Leaders Forum
เวทีประชาคมเพื่อกระบวนการวิพากษ์และอภิปรายผลการวิจัยจากกรอบอ้างอิงของชุมชน

 การออกแบบและจัดวางกระบวนการให้บรรลุจุดหมายตามหลัก CER 

  • เตรียมบรรยากาศ
  • ชี้แจงวัตถุประสงค์และนำเสนอข้อมูล
  • อภิปราย เสนอแนะ รวบรวมข้อมูลบนเวที
  • สรุป

 วิธีดำเนินการเป็นลำดับ

 ๑.    วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นและร่วมกันสร้างความรู้ที่เก็บรวบรวมมาได้ในลักษณะต่างๆ
 .    ทำเป็นเอกสารและเตรียมวิธีนำเสนอบนเวทีชุมชนด้วยวิธีที่ง่าย หลากหลาย และเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของชาวบ้านซึ่งมีทักษะต่างๆในการคิดและแสดงออกได้ไม่เท่ากัน
 ๓.    ประสานงานกับทีมวิจัยของชุมชนหรือกลุ่มประชาคมท้องถิ่น ในการชวนเชิญกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้นำชุมชนต่างๆในการร่วมเวทีชุมชนหรือเวทีประชาคมเพื่อการวิจัยของกลุ่มบูรณาการนักวิจัยกับชาวบ้าน
 .    จัดเวทีประชาคมวิจัยด้วยบรรยากาศที่สะท้อนความเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน อาจจะจัดในตอนเย็นด้วยเวลาสั้นๆหลายๆครั้ง หรือจัดวันละ ๒-๓ ชั่วโมง
 .    ทำสถานที่ให้มีความเป็นธรรมชาติและมีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันให้มากที่สุด ดำเนินการไปตามสภาพที่มีปัจจัยเอื้อให้ทำ ขณะเดียวกัน ก็นำเอาประสบการณ์ใหม่ๆ วิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้ชุมชนได้เกิดประสบการณ์ตรงผ่านการใช้ทำงานไปด้วยกันด้วยกัน
 .    จัดเวทีให้มีรูปแบบส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ผ่านการพูดคุย อาจจะนั่งพื้นล้อมวงหรือนั่งเป็นเก้าอี้ครึ่งวงกลม นั่งตามลานบ้าน หรือจัดในห้องที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแต่เน้นการทำงานแบบการมาลงแรกทำเรื่องส่วนรวมด้วยกัน ลดความเป็นทางการเท่าที่จะดำเนินการได้ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการวิจัยแบบ PAR โดยทั่วไปมักจะมีการทำที่ต่อเนื่องและต่างก็เรียนรู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการต่างๆเข้าหากัน เพื่อส่งเสริมและเกื้อหนุนกันให้เกิดความสร้างสรรค์ดังที่พึงจะเป็นให้มากที่สุด ดังนั้น จึงควรทำไปตามความตั้งใจ พร้อมกับค่อยๆเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมไปอยู่เสมอๆต่อไป
 .    นำเสนอข้อมูลและผลการวิจัย ผลการสร้างความรู้ และผลการวิเคราะห์ข้อมูล ของทีมวิจัยทีมผสมระหว่างทีมวิจัยภายนอก ทีมวิจัยกลุ่มประชาคม และทีมวิจัยของชาวบ้าน
 .    นำการอภิปรายและชวนเสวนาอย่างกว้างขวาง โดยดำเนินการผสมผสาน ทั้งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้คุยไปตามที่ต้องการคุย และการตั้งคำถามที่ผุดประเด็นขึ้นมาได้จากข้อมูลและการเรียนรู้ด้วยกันบนเวที ในการชวนเสวนา อภิปราย เสนอแนะ และสะท้อนบทเรียน

คำถามที่ควรถามและเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนเสวนาบนเวทีที่ดำเนินการขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้นั้น ควรมีประเด็นคำถาม ๔ ประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย
                 (๑) มีข้อมูลและการสรุปบทเรียนในขั้นนี้ตรงไหนที่ไม่ถูกต้องบ้างหรือไม่
                 (๒) มีข้อมูลและรายละเอียดใดบ้างที่ทุกท่านมีแตกต่าง อยากแก้ไข
                 (๓) มีข้อมูลและรายละเอียดใดบ้างที่ควรเพิ่มเติมให้ได้รายละเอียดมากขึ้น
                 (๔) ได้อะไรบ้างและอยากให้มีการริเริ่มหรือทำสิ่งใดอีกในระยะต่อไป
 .    สรุปบทเรียนเวที

  ๔   เคล็ดวิชาในการเป็นกระบวนกรของนักวิจัยและสิ่งที่ควร-ไม่ควรทำ 

 .    ใช้สื่อที่สามารถเขียนและนำการสนาไปด้วยได้ เพราะการวาดรูป เขียนบันทึก พร้อมไปกับดำเนินการสนทนา จะมีความหมายต่อการช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสื่อสารและการนำเสนอข้อมูล ช่วยเพิ่มความสามารถการรู้และเข้าใจของชาวบ้าน
 .    ใช้สื่อและเทคโนโลยีช่วยจัดการความรู้อย่างผสมผสาน ให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นฐานประสบการณ์เดิมได้มากที่สุด สามารถสืบทอดมรดกทางสังคมวัฒนธรรมและบูรณาการเข้าสู่การจัดการชุมชนด้วยวิทยาการและเทคโนโบลยีสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงและความทันสมัยอย่างเข้าถึงภูมิปัญญาและมีเหตุผลในการใช้สอย
 .    ไม่ควรตั้งคำถามด้วยการทำข้อมูลนอกบริบทของชาวบ้านไปก่อน หรือตรึงชุมชนไว้กับประเด็นตายตัวของนักวิจัยด้วยจุดยืนภายนอกหรือบนกรอบอ้างอิงทางทฤษฎีของนักวิจัยนอกบริบทของชุมชน โดยที่ชุมชนไม่รู้ ไม่ปรับปรุงให้มีพลวัตรไปกับพัฒนาการความเป็นทั้งหมดของชุมชน หรือทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรู้ว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการนั้นมีความหมายครอบคลุมไปถึงไหน เนื่องจากนักวิจัยยึดประเด็นการติดตามเพียงข้อมูลตามความสนใจของตนเองด้านเดียว
 .    การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในด้านการทำงานของนักวิจัยและบุคคลภายนอกชุมชนนั้น ควรตระหนักถึงความเป็นผู้นำค่านิยมใหม่ๆและความเป็นผู้แพร่กระจายความทันสมัยแบบผิวเผินไปสู่ชุมชนด้วย หากไม่จำเป็นต้องใช้ หรือใช้แล้วทำให้ชาวบ้านด้อยความสามารถ หรือเลื่อมใสรูปแบบภายนอกของนักวิจัยจนมองข้ามเนื้อหาสาระการทำงาน ก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการและเครื่องมือมิให้ตั้งอยู่บนความสะดวกและความคุ้นเคยของนักวิจัย

แง่มุมเหล่านี้เป็นทั้งศิลปะของการวิจัยแบบ PAR และเป็นความสำนึกเชิงคุณธรรมต่อความเป็นส่วนรวมของสังคม คุณธรรมต่อการใช้และบริโภควิทยาการและเทคโนโลยีที่มุ่งเสริมกำลังคนที่เสียเปรียบเชิงโครงสร้าง มิให้เป็นการเพิ่มความได้เปรียบด้านกลุ่มผู้มีโอกาสมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ขยายช่องว่างทิ้งห่างให้กับกลุ่มประชาชนซึ่งเสียเปรียบในระบบสังคมมากยิ่งๆขึ้นไปอีกโดยมิได้ตั้งใจ

วิถีปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวนี้นั่นเอง จึงมีนัยยะต่อการทำให้การวิจัยแบบ PAR มีความเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นการปฏิบัติการทางสังคมอยู่ในตนเองอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งของนักวิจัยและตัวกระบวนการวิจัยแบบ PAR.

หมายเลขบันทึก: 409017เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ.วิรัตน์คะ

หนูชอบกระบวนการแบบนี้มากเลยค่ะ พอได้มารับความรู้จากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ ยิ่งทำให้ได้เห็นเสน่ห์ของการทำกระบวนการวิจัยลักษณะนี้มากขึ้น ประทับใจจังเลยค่ะ

ขอบคุณมากๆ นะคะ :)

สวัสดีครับมะปรางเปรี้ยวครับ

  • คงต้องให้เครดิตแก่ GotoKnowg เลยละครับว่า ก็เพราะมีบล๊อกของ GotoKnow นี้แหละครับ ถึงช่วยให้ลองตัดสินใจมาเขียนอย่างนี้ดูบ้างได้
  • ผมตั้งใจว่าจะลองใช้บล๊อกบันทึกและเขียนไปก่อนเรื่อยๆ ให้บทเรียนจากประสบการณ์และสิ่งที่ทำได้จริงๆนำไปก่อน แล้วก็คุยกับทีมว่าเราจะกลับมาสอบทานอย่างเคร่งครัดด้วยการทบทวนและสังเคราะห์เชิงทฤษฎีให้หนักๆทีหลัง
  • รูปแบบเขียนบันทึกไว้พร้อมกับเผยแพร่แบ่งปันกับคนอื่นๆไปด้วยอย่างรูปแบบบทความบันทึกในบล๊อกนี้ ทำให้ทำอย่างนี้ได้ครับ ผมลองนั่งตกผลึกกับทีมแล้วก็สะท้อนข้อสรุปตรงกันว่านี้น่าจะเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยงการทำงานกับการบันทึกลงบล๊อกของคนทำวิจัยแนวนี้ ทั้งนักวิจัยในมหาวิทยาลัย กับนักวิจัยชาวบ้านน่ะครับ

ขอบคุณค่ะที่ไม่ลืมผู้สูงวัย..พี่มีประสบการณ์ของผู้สูงวัยในการถ่ายทอดสิ่งดีๆสู่ลูกหลานในชุมชน ที่ได้เคยเล่าไว้แล้วที่บันทึกเหล่านี้ :

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/266709

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/308618

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/329878

 

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

หากไปจัด จะขอสนับสนุนหนังสือบทเรียนของ SCB ที่ถอดบทเรียนให้แก่กลุ่มต่างๆไว้ ได้บ้างไหมครับเนี่ย อยากให้คนหนองบัว-ชาวบ้านที่ร่วมเวทีมีหนังสือและสื่อดีๆอ่าน มีบทเรียนดีๆให้ได้เห็นน่ะครับ คงช่วยให้เวทีได้บรรยากาศของการเรียนรู้มากมายนะครับ

ขอบคุณค่ะที่ให้ความสนใจสื่อถอดบทเรียนเหล่านี้..พี่ขอไปเช็คสต๊อกกับทีมงานและการดำเนินการทางธุระการก่อนนะคะ..แล้วจะแจ้งให้ทราบค่ะ..

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท