ร่วมเสนอตั้งชื่อห้องประชุมด้วยธรรมชาติของบัว ๑๐ ชนิด


Large_lotuscreativepnt2  

  ดอกบัว    เป็นสัญลักษณ์ทางปัญญาและสิ่งที่ดีงาม ในวัฒนธรรมโบราณของกรีก ดอกบัวเป็นเครื่องหมายของความมีสันติภาพ สติปัญญา และความเจริญงอกงาม ในวัฒนธรรมของสังคมชาวพุทธ ดอกบัวในยุคก่อนที่จะมีพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพนั้น ดอกบัวใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพุทธะ หรือปัญญาความรู้แจ้งในการทำที่สุดแห่งทุกข์ ในวัฒนธรรมตะวันตก ดอกบัวสื่อสะท้อนความหมายให้เข้าใจและเป็นที่ยอมรับโดยนัยถึงการเป็นสังคมตะวันออกและวัฒนธรรมที่เน้นมิติจิตใจนำมิติทางวัตถุ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้น ดอกบัวในหลายสังคมวัฒนธรรมใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความสูงส่งและดีงาม ประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ ในสังคมไทย ดอกบัวมีความหมายที่สื่อสะท้อนวิธีคิดต่อภาวะในอุดมคติ ความเจริญงอกงามในทุกสภาวะแวดล้อมที่มุ่งสู่วิถีแห่งปัญญาและความตื่นรู้ ความไม่เบียดเบียนตนเองและสรรพสิ่ง อีกทั้งเมื่อรวมเข้ากับความมีสัณฐานดังรูปหัวใจและการประนมมือ ก็ถือเป็นดอกไม้ที่ควรแก่การปฏิบัติบูชาแด่พระบริสุทธิคุณในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ในวัฒนธรรมชาวจีนนั้น ดอกบัวก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความดี คุณธรรม และความมีเมตตา

กล่าวได้ว่า ในมิติสังคมและวัฒนธรรมของทั่วโลกนั้น ดอกบัวมีความเป็นสื่อโดยธรรมชาติ ที่ให้ความบันดาลใจอย่างข้ามพรมแดนทางสังคมวัฒนธรรม โน้มนำให้ผู้คนและสังคมต่างๆคำนึงถึงวิถีแห่งสติ การใช้ปัญญา การส่งเสริมคุณธรรม และการมุ่งความเจริญงอกงามทางจิตใจของมนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างศานติสุข

 คุณลักษณะทางธรรมชาติของบัว  บัวมีธรรมชาติในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งมีความยืดหยุ่นและปรับตัวอย่างสูงสุดไปตามการดำรงอยู่ได้ของธรรมชาติและสภาพแวดล้อม หากแหล่งใดมีความขาดแคลน บัวก็จะจำกัดการเติบโตและความดำรงอยู่ของตนไปตามข้อจำกัดของแหล่งนั้นๆ นับแต่การไม่แตกฝัก ไม่ออกดอก ลดจำนวนและขนาดใบลงไปจนอาจจะเหลือเพียงไม่กี่ใบและมีขนาดเล็กเกือบเท่ากับใบผักแว่น หากแหล่งนั้นประสบความขาดแคลนน้ำและความอุดมสมบูรณ์มากกว่านั้น ก็จะหดตนเองให้ไม่มีใบและก้าน เหลือเพียงเหง้า กระทั่งสามารถย่อยสลายเป็นส่วนหนึ่งของดิน

ในทางกลับกัน หากมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็กลับเจริญงอกงามและเติบโตได้อีกเป็น ๓-๔ ร้อยเท่า อีกทั้งสามารถแผ่ขยายตนเองไปได้อย่างไม่จำกัดในที่ซึ่งมีน้ำและไม่มีพืชอย่างอื่นเติบโต ธรรมชาติของบัวจึงเสมือนเป็นระบบเปิด สื่อสารปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง มีความพึ่งพิงอาศัยกันของสภาพแวดล้อม มีความเป็นภาวะแห่งตน ผ่านการปฏิสัมพันธ์และสื่อสะท้อนกับสิ่งรอบข้าง ยืดหยุ่นสูงเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันบนเงื่อนไขพื้นฐานของแหล่งนั้นๆ มีนัยต่อภาวะความไม่ถือความเป็นตัวกูของกูเป็นศูนย์กลาง

 การมีความหมายต่อมหาวิทยาลัยมหิดล  อำเภอพุทธมณฑล เป็นแหล่งทำนาบัวที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ ผลิตดอกบัวและบัวแบบต่างๆ ให้กับแหล่งที่ต้องการทั้งในประเทศและหลายประเทศของโลก  การทำนาบัวของชาวบ้านในท้องถิ่นเกิดจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนวิถีทำกินจากการทำนาข้าวซึ่งต้องเป็นหนึ้และพึ่งตนเองเพื่อสร้างครอบครัวไม่ได้ สู่การทำนาบัวและสามารถพ้นความทุกข์ยากด้วยตนเองของหลายครัวเรือนในชุมชน ภายใต้การทำนาบัวซึ่งดำเนินไปในเงื่อนไขแวดล้อมหนึ่งนั้น จัดว่าเป็นสิ่งที่สื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลังการเรียนรู้และวิถีสังคมแห่งการใช้ปัญญาซึ่งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ทางสังคมได้ว่า ได้มีการก่อเกิดและมีอยู่จริงในสังคมไทย

ขณะเดียวกัน นอกจากเป็นแหล่งที่ตั้งของพุทธมณฑลสถานแล้ว อำเภอพุทธมณฑลก็เป็นแหล่งการอยู่ร่วมกันของชุมชนและประชาชนที่เคารพนับถือศาสนาอื่นที่แตกต่างกันอีกด้วย อีกทั้งบริเวณที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ในอดีตก็เป็นนาบัวแห่งแรกที่ชาวบ้าน ในพื้นถิ่นนี้ได้เรียนรู้จากชาวบ้านจากเมืองมีนซึ่งเป็นเกษตรกรชาวมุสลิมที่ปลูกบัวให้ชาวพุทธได้นำปฏิบัติบูชาสิ่งที่ตนเองนับถือ แล้วได้ทดลองปลูกบัวก่อนที่จะขยายตัวออกไปอย่างแพร่หลาย ดอกบัวจึงสื่อสะท้อนหลายมิติในความเป็นหน่วยทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งการมุ่งสู่ความเป็นภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน การเน้นความศานติและความงามบนความแตกต่างหลากหลาย ความกลมกลืนและความสมดุลของสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ รวมทั้งความเป็นสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยการศึกษาเรียนรู้ การเติบโต และความเจิรญงอกงามของความดี ความจริง และความงาม

 ดอกบัว  จึงมีความหมายที่ดีในการเป็นสัญลักษณ์เพื่อคิดใคร่ครวญถึงกระบวนการเรียนรู้และงานสร้างสรรค์ทางปัญญา สื่อความคิดที่กว้างขวางและสร้างความตระหนักรู้อันลึกซึ้งอย่างไม่จำกัด เป็นสิ่งแวดล้อมแห่งการ เจริญสติปัญญาที่ดีงาม

สอดคล้องกับความเป็นคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสหศาสตร์ มีบทบาทต่อการสร้างความรู้และพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมผ่านงานวิชาการ กิจกรรม และความสร้างสรรค์ทางปัญญาทั้งเพื่อสังคมไทย สังคมโลก และมนุษยชาติ...[อ่านรายละเอียดและดูรูปต่อ]

....................................................................................................................................................................

หมายเหตุ :

ข้อมูลและแนวคิด ทำขึ้นในโอกาสที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนเชิญนักศึกษา อาจารย์ และสมาชิกของคณะร่วมกันเสนอชื่อตั้งห้องประชุมของคณะ ๑๐ ห้อง ซึ่งอาจารย์ ดร.ศุภวัลย์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย ได้ร่วมกันเรียบเรียงแนวคิดและข้อมูล เพื่อนำเสนอด้วยชื่อตามชนิดของดอกบัว ๑๐ ชนิด ซึ่งได้ดำเนินการผ่านไปแล้ว แต่เห็นว่ามีข้อมูลความน่าสนใจ เลยเห็นสมควรเผยแพร่ไว้เป็นเกร็ดความรอบรู้ในบล๊อกนี้...[คลิ๊กลงไปบนรูปภาพหรือคลิ๊กอ่านรายละเอียดและดูรูปต่อที่นี่]

หมายเลขบันทึก: 408891เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 02:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ ที่เห็นคุณค่าของ ดอกบัว ทั้งสวยงาม มีความหมาย และได้รับการยกย่องให้เป็นสัญญลักษณ์ของวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา มาเป็นเวลายาวนาน..ขอร่วมชื่นชม รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย และทุกท่าน ค่ะ..

 

 

  • รูปนี้สวยมากจริงๆเลยครับ
  • เป็นรูปถ่ายแนวเล่นแสงในเงาจริงๆเลยครับ
  • สื่อความเบาบางบนกลีบดอกบัว เหลืองอ่อน บนเหลืองอ่อน แต่แสดงความอ่อน-เบาบางในเงา หากเป็นรูปเขียน น้ำหนักอย่างนี้เลยละครับที่ศิลปะแนวนี้เขาจะค้นหาและถ่ายทอดความประทับใจออกมา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท