รูปแบบและแนวการจัดเวทีร่วมสร้างคนสร้างสรรค์ชุมชนผ่านปฏิบัติการสร้างความรู้ชุมชนหนองบัวใน ๑ วัน


ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์  โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว ได้ลองเสนอแนะว่า หากจัดกิจกรรมเวทีชุมชน ในวาระเดียวกันของกิจกรรมที่เรียกรวมไปก่อนว่าเวทีมหิดล-คนหนองบัวนั้น ครูพนมเห็นว่าเพื่อไม่ให้กิจกรรมความริเริ่มแบบสบายๆต่างๆ เป็นงานใหญ่เกินแรงและทำให้ทำงานในแนวทางดังกล่าวนี้ด้วยกันลำบาก จนลืมหาประสบการณ์และความประทับใจเพื่อที่จะทำต่อๆไปอีก ควรจะมีเวทีถอดบทเรียนเวทีเล็กๆ ในชุมชนหรือหมู่บ้านที่น่าสนใจ โดยเชิญผู้นำชุมชน คนเฒ่าคนแก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งกลุ่มคนต่างๆที่เดินคุยกันและชวนกันให้เห็นประเด็นความน่าสนใจสอดคล้องกันไปได้ จากนั้น ก็นำเอาบทเรียนและประสบการณ์ต่างๆไปจัดเวทีเสวนาหรือนำเสนอพร้อมกับกิจกรรมอื่นๆ

ขณะเดียวกันก็ได้รับข้อเสนอแนะจากท่านอื่นๆด้วย เช่น อาจารย์ณัฐพัชร์ ท่านพระมหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย ในการจัดกิจกรรมในลักษณะต่างๆให้น่าสนใจและพอเหมาะสำหรับการดำเนินการในระยะแรกๆนี้ อาจารย์ณัฐพัชร์นั้นได้เสนอแนะว่าน่าจะมีกิจกรรมย่อยๆ ก่อนไปถึงกิจกรรมที่นำเอาหลายอย่างไปจัดด้วยกัน

ผมได้มีโอกาสนำเอาข้อเสนอแนะและมุมมองจากการพูดคุยปรึกษาหารือกันไปเรื่อยๆเหล่านี้ ไปลองขายไอเดียกับกลุ่มน้องๆและเพื่อนร่วมงานรอบๆที่พอได้ทราบความเป็นมาเป็นไปอยู่บ้าง ก็เลยได้แนวคิด : รูปแบบและแนวการจัดเวทีร่วมสร้างคนสร้างสรรค์ชุมชนผ่านปฏิบัติการสร้างความรู้ชุมชนหนองบัวใน ๑ วัน เพื่อเป็นวิธีจัดกิจกรรมหรือชวนกันทำไปตามความสะดวกของกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ตามแต่จะมีโอกาสคล้ายกับเป็นจุลกฐิน โดยใช้เวลาสั้นๆง่ายๆแต่ได้งานและผลของความสร้างสรรค์ออกมาสะสมไปทีละเล็กละน้อย

  เวทีร่วมสร้างคนสร้างสรรค์ชุมชนผ่านปฏิบัติการสร้างความรู้ชุมชนหนองบัวใน ๑ วัน 

  ผลที่จะได้   ๑. ความรู้ ภูมิปัญญา สิ่งดีๆในชุมชน และเรื่องราวต่างต่างๆของชุมชน ครั้งละ  ๔-๕ เรื่อง
                   ๒. การบันทึกเผยแพร่และสะสมลงในคลังความรู้ของเวทีคนหนองบัว ในบล๊อก GotoKnow
                   ๓. การทำเป็นสื่อแผ่นภาพให้แก่ชุมชน สถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น วัด หรืออื่นๆ ที่เป็นเจ้าของบทเรียน เพื่อนำไปเป็นสื่อสร้างการเรียนรู้กับสังคมและสะสมเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นของชุมชน
                   ๔. เป็นโอกาสในการสร้างคน สร้างนักวิจัยชาวบ้าน สร้างเยาวชนเป็นนักวิจัยและนักสื่อสารเรียนรู้ความภาคภูมิใจของชุมชนต่างๆในหนองบัว
                   ๕. เป็นโอกาสรวบรวมข้อมูลคน ทุนมนุษย์ ทุนศักยภาพทางสังคม และอื่นๆสะสมไปตามโอกาสการจัดกิจกรรม
                   ๖. เป็นโอกาสให้ลูกหลานคนหนองบัวและเครือข่ายผู้สนใจ ได้ร่วมเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้กับสังคม

  สถานที่   : ตามความสะดวก

  ผู้สนใจและเป็นเจ้าของกิจกรรม   : ใครก็ได้ในชุมชนหรือสถานศึกษา อบต. กลุ่มการรวมตัวของชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ศิษย์เก่าโรงเรียน และอื่นๆ ที่อยากทำกิจกรรมให้หน่วยงานหรือชุมชนส่วนรวม หรืออยากเรียนรู้ พัฒนาประสบการณ์ พัฒนาการเรียนรู้ โดยประสานงานกับคนที่ทำด้วยกันได้ในหนองบัว และประสานงานกับผมและทีมมหิดล เพื่อขอแรงไปทำด้วยกัน

  งบประมาณและค่าใช้จ่าย   : รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันเอง หรือหน่วยงานและคนท้องถิ่นอยากระดมทุนหรือทรัพยากรมาช่วยกันทำ ก็แล้วแต่จะดำเนินการกันไป เหมือนกับเป็นการทำบุญด้วยปัญญาไปด้วยกันตามแต่จะเกิดศรัทธาปสาทะของตนเอง

  กระบวนการและวิธีทำใน ๑ วัน   :

  ครึ่งวันเช้า   : รวมตัวกัน ๔-๕ คน ร่วมกับคนภายนอกที่สนใจอยากเชิญไปทำกิจกรรมช่วยกันที่หนองบัว รวมทั้งผมและทีมมหิดล หรือคนอื่นๆที่จะสามารถเชิญชวนได้ในแต่ละโอกาส รวมทั้งหมดเป็นกลุ่มเล็กๆ พบปะระดมความคิด เรียนรู้วิธีสร้างความรู้และเก็บข้อมูลในชุมชน จากนั้น ก็หาหัวข้อและวางแผนเดินไปในชุมชน เก็บข้อมูล หรือชวนชาวบ้านมานั่งคุย ถ่ายรูป เหมือนกับเป็นกลุ่มวิจัยย่อยๆ เร็วๆ ทำสบายๆ ไปตามกำลังและความเหมาะสม คุยกันและวางแผนให้เป็นทั้งการทำงานเพื่อสังคม และทำให้เป็นประสบการณ์ที่ดีๆในชีวิตด้วยกัน โดยคนหนองบัวและชุมชนหนองบัวก็ได้ประโยชน์จากกิจกรรมที่ได้ทำขึ้นทุกครั้งคืบหน้าไปเรื่อยๆ

  • พัฒนาแนวคิด เรียนรู้เทคนิคและกระบวนการต่างๆ เช่น วิธีคุยกับชาวบ้าน วิธีเดินเรียนรู้ชุมชนและเก็บข้อมูล วิธีหาสิ่งของและหลักฐานทางภูมิปัญญาชุมชน การถ่ายรูป การพัฒนาวิธีวาดรูปและจดบันทึกด้วยตนเองอย่างง่ายๆ วิถีเป็นนักวิจัยชาวบ้านเป็นกลุ่ม และอื่นๆตามที่ต้องการ
  • พัฒนาหัวข้อที่ต้องการสร้างความรู้ของชุมชน หรือโรงเรียน อบต. หรือวัด ครอบครัว และกลุ่มคน
  • วางแผนแยกย้ายกันเข้าหมู่บ้านหรือเดินตลาดเพื่อเข้าไปหาข้อมูลนำกลับมาวิเคราะห์และเขียนบันทึกช่วยกัน โดยใช้เวลาไม่นาน สัก ๑-๒ ชั่วโมง

  ครึ่งวันบ่าย  

  • แยกย้ายเข้าไปหาข้อมูลในชุมชนและแหล่งที่ต้องการนำมาถอดบทเรียนสร้างความรู้ โดยใช้เวลาไม่นาน สัก ๑-๒ ชั่วโมง
  • บางเรื่องอาจจะใช้วิธีเชิญชาวบ้านมานั่งเป็นกลุ่มและสนทนาปะติดปะต่อสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆด้วยกัน
  • นำข้อมูลมาเตรียมนำเสนอโดยสรุปแล้วเขียนถ่ายทอดขึ้นเป็นเรื่องราวและความรู้ที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างในเวทีคนหนองบัว
  • พัฒนาวิธีนำเสนอและบันทึกเผยแพร่อย่างดีเท่าที่ต้องการ วาดรูปประกอบ จัดภาพถ่ายและอาร์ตเวิร์ค
  • ร่วมกันนำเสนอให้เห็นความสำเร็จบนเวที
    ๑. บันทึกลงในบล๊อกเวทีคนหนองบัว สะสมเป็นคลังความรู้และคลังข้อมูลของหนองบัวและชุมชนต่างๆ
    ๒. หากเป็นเรื่องที่สร้างความรู้จากสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ และหน่วยงานต่างๆ ก็ทำเป็นแผ่นภาพติดตั้งเผยแพร่ได้
  • นั่งสนทนาถอดบทเรียนเวที สะท้อนบทเรีบน สะท้อนการเรียนรู้ ความประทับใจ สวดมนต์ทำวัตรเย็นด้วยกัน
  • ปิดเวที กินข้าวด้วยกัน และอำลากัน

รูปแบบและกระบวนการอย่างนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งเมื่อจัดเวทีรวม เวทีมหิดล-คนหนองบัวด้วย [๑][๒][๓] คนในหนองบัวและเด็กๆ รวมทั้งกลุ่มชาวบ้านอาจทำกันเองโดยศึกษาเอาจากเวทีคนหนองบัวนี้ก็ได้ หรืออาจจะขอการแนะนำและปรึกษาจากทุกคนในเวทีคนหนองบัวก็คงจะได้กระมังครับ ทั้งท่านพระอาจารย์มหาแล คุณสมบัติ ฆ้อนทอง คุณฉิก : ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย รวมทั้งท่านอื่นๆที่ปวารนาตัวไว้ดังรายชื่อในหน้าแรกของเพจเวทีคนหนองบัว เช่น อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง คุณครูวัชรี โชติรัตน์ คุณจตุพร วิศิษฐ์อังกูร คุณครูคิม อาจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต คนหนองบัว และท่านอื่นๆ หรือหากจะชักชวนผม ก็บอกกล่าวและหากจัดจังหวะได้ก็จะไปทำด้วยกันได้เป็นระยะๆเสมอครับ หากเป็นในช่วงวันหยุดและเสาร์-อาทิตย์ ก็จะยิ่งสะดวกครับ

เพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนหนองบัว หากทำกิจกรรมและจะชักชวนเพื่อนๆไปร่วมด้วย ก็สามารถคิดทำกิจกรรมอย่างนี้ผสมผสานไปกับการพบปะและกิจกรรมอื่นๆไปด้วยก็ย่อมได้นะครับ ยิ่งชุมชนที่อยู่รอบนอก หากได้ชวนกันไปทำก็จะยิ่งได้ไปเห็นความเป็นหนองบัวด้วยกันให้กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นนะครับ.

................................................................................................................................................................

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน :

[๑] เชิญระดมความคิดครับ : เวทีมหิดล-คนหนองบัว เดือนมีนาคม ๒๕๕๔ อยากให้เป็นอย่างไร
[๒] THEME กิจกรรม เวทีมหิดล-คนหนองบัว
[๓] สถิติเวทีคนหนองบัว : ความเป็นสากลและนานาชาติด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 408890เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 02:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

รูปแบบ Theme ลานเรียนรู้ ของ คนหนองบัว เท่าที่ผมนึกตามภาพที่อาจารย์เขียน มีความง่าย สบาย เป็นอย่างมากครับ เห็นด้วยอย่างยิ่ง ...เเละเรื่อง "สีสันของวันวาน" ก็คงต้องให้สนุกตลอดงานด้วยนะครับ :)

เเละเพิ่มเติม theme ของ gotoknow.org เข้าไปด้วยว่า "จากออนไลน์สู่หมู่บ้าน" เป็นอย่างไรซึ่งก็ชัด เเละโอกาสนี้ เราก็คงเห็นภาพ "จากหมู่บ้านสู่ออนไลน์" ไปด้วย

ตอนนี้ด้วยการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายออนไลน์ หนองบัวก็กลายเป็นหมู่บ้านโลกไปเรียบร้อยเเล้ว ดังนั้นการเปิดตัว เปิดการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นเรื่องที่เป็นมิติใหม่ น่าสนใจอย่างยิ่งครับ

ความเป็นไปได้บางเรื่อง ผมคิดว่า อาจต้องคุยกับทาง เครือข่าย Gotoknow เเละ ทาง ทีมงานว่า เราจะเข้าไปมีส่วนในการเรียนรู้ครั้งนี้อย่างไร? (ผมพูดเหมือนเป็นทีมงาน gotoknow เลย) เเต่คิดว่าประเด็นนี้ ทีม UsableLabs.org gotoknow ก็ให้ความสนใจมากครับ

  • ตั้งใจไว้ว่า
  • อยากรายงานสดเรื่องของชุมชนเรื่องของภูมิปัญญาในชุมชนออกสู่ภายนอกได้
  • อยากนั่งคุยกับชาวบ้าน คุยกับเด็กๆๆ เหมือนนั่งคุยกันแบบธรรมดาและเก็บประเด็นที่สำคัญเรื่องชุมน ประวัติชุมชนที่เป้นแบบมุขปาฐะเพื่อเอามาบันทึกเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คุยและชาวบ้าน
  • คาดว่าคงได้หนังสือเป็นเล่มเลย
  • รูปแบบที่น้องเอกบอกก็น่าสนใจ ได้แจ้งอาจารย์ดร.จันทวรรณ ทางเมล์
  • ตอนประกาศโครงการไปเล็กน้อย(ในนี้ครับ)
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับเอก

  • ประเด็นของเอกดีมากเลยนะครับ แล้วก็อยู่ในความสนใจผมและทีมน้องๆนักวิจัยชุมชนในมหิดลมากด้วย
  • จากประเด็น จากออนไลน์สู่หมู่บ้าน - จากหมู่บ้านสู่ออนไลน์ น่าจะเป็นสาระสำคัญในแง่ของการสร้างประสบการณ์และสร้างความรู้ภาคปฏิบัติในบริบทของสังคมไทย ด้วยการลองทำและหาบทเรียนมาเขียนบทเรียน-องค์ความรู้นี้ด้วยกัน ผ่านเวทีชุมชนระดับอำเภอที่หนองบัวนี้นะครับ ทำให้ครบวงจรในหน่วยทางสังคมเล็กๆ แต่เพื่อเรียนรู้-สร้างความรู้ระดับสังคม ซึ่งเชื่อว่าการได้สัมผัสจากการทำ อีกทั้งทำกันได้จนครบวงจรจริงๆนั้น ก็จะทำให้ได้ Theme และ Critical Issues ที่สะท้อนความเป็นจริงและมีตัวอย่างจากการปฏิบัติเป็นข้อเท็จจริงช่วยยืนยันให้เกิดความมั่นใจได้อย่างน่าสนใจที่สุดนะครับ
  • ท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์ ซึ่งก็จะเห็นมิติใหม่ๆที่ความเป็นชนบทได้รับผลดีจริงๆ ไม่ใช่มีแต่สิ่งดีๆต่อยอดให้เกิดสิ่งดีมากยิ่งๆขึ้นไปอีกแต่ในแหล่งที่ดีๆอยู่แล้วอย่างเดียว กระบวนการเหล่านี้ควรจะให้รูปแบบการริเริ่มและImplement ระบบจัดการความรู้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างบูรณาการและผสมผสานกับความเข้มแข็งที่รากฐานของสังคม ในแนวทางใหม่ๆอีกแนวทางหนึ่งที่ให้ชาวบ้านและชุมชนเป็นหัวหอกแล้วจึงค่อยสะท้อนสู่การปฏิรูประบบอื่นๆให้เข้าไปสนับสนุน ว่าการพัฒนาวิธีคิดและแปรไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งลงมือปฏิบัติและสะท้อนเชื่อมโยงไปสู่นโยบายและความคิด-ความรู้ของสังคมนั้น จะสามารถทำอย่างไรกันบ้าง เริ่มเห็นภาพได้ครบเลยนะครับว่าเป็นอย่างไร
  • หากถอดบทเรียนและทดลองทำอีกหลายๆรอบ พร้อมกับขยายกรอบไปสู่แง่มุมอื่นๆและสู่แหล่งอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะสามารถร่วมมือกันพัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมาได้ระบบหนึ่งเพื่อเคลื่อนไหวการพัฒนาอย่างบูรณาการของสังคมในแนวงทางอย่างนี้ได้ในระดับสังคม เสริมการดำเนินงานอื่นๆให้ดียิ่งๆขึ้น ผมลองตั้งโจทย์เพื่อเป็นแนวจัดวาง Focal Point สองระนาบคือของท้องถิ่นกับของระดับสังคมว่า (๑) ของท้องถิ่น : ชาวบ้านและชุมชน สามารถพัฒนาการเรียนรู้ตนเองและสร้างความรู้ชุมชนท้องถิ่นด้วยตนเองได้อย่างไร ความรู้และการพัฒนาการเรียนรู้ของประชานและชุมชนที่เกิดขึ้น ก่อเกิดผลดีและสร้างสังคมสุขภาวะ สังคมแห่งการเรียนรู้ขึ้นอะไรบ้างและได้อย่างไร  วิทยาการและเทคโนโลยีและการสนับสนุนระดับต่างๆมีบทบาทอย่างไร ก่อเกิดและบูรณาการความร่วมมือกันได้อย่างไร บทเรียน องค์ความรู้ ทฤษฎีและภูมิปัญญาการปฏิบัติที่ได้เป็นอย่างไร (๒) ของเครือข่ายวิชาการและระบบสนับสนุนภายนอก : การบูรณาการระบบสร้างความรู้และการจัดการความรู้โดยเว็บบล๊อก กับการพัฒนาการเรียนรู้และส่งเสริมเครือข่ายการมีส่วนร่วมของปัจเจกและชุมชนในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยผ่านกรณีของเวทีคนหนองบัว เป็นอย่างไร และทำได้อย่างไร ....ประมาณนี้คงพอได้แนวหาบทเรียนด้วยกันไปตามอัธยาศัยนะครับ
  • ในส่วนของเครือข่ายคนทำงานต่างๆ โดยเฉพาะผ่าน GotoKnow ทั้งที่ได้ไปร่วมกิจกรรม และแม้จะไม่ได้ไป แต่ก็มีประสบการณ์กับพื้นที่ดำเนินการอื่นๆ เราก็จะรายงานบทเรียนภาคสนามให้เพื่อใช้เป็นข้อมูลและวัตถุดิบเขียนความรู้ขยายความเป็นความรู้ทั่วไปช่วยกัน รวมกันแล้ว ทั้งหมดก็จะสามารถหาบทเรียนด้วยกันในประด็นของประเทศ
  • อื่นๆในรายละเอียดก็เป็นเรื่องที่ทำไปตามเงื่อนไขกันได้ครับ แต่ปลายทางระยะใกล้ๆนี้คือ อยากให้เป็นโอกาสเขียนความรู้และบันทึกบทเรียนไปด้วยกันอย่างคู่ขนาน โดยสะท้อนประเด็นและกรณีตัวอย่างการปฏิบัติที่เกิดขึ้น ให้เป็นแกนสร้างความเชื่อมโยงกันในภาพกว้าง แต่เขียนและสะท้อนสู่การผลิตงานความคิด-สะท้อนการสร้างความรู้กันไปตามแต่ความถนัดอย่างสบายๆน่ะครับ 
  • ทำกันเป็นกรณีศึกษาและให้มีนัยยะเป็นกระบวนการเรียนรู้สร้างเครือข่ายและชุมชนทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับประเด็นพื้นฐานของประเทศอย่างบูรณาการ แล้วก็ลองใช้เป็นข้อมูลยกระดับพัฒนาตัวแบบสร้างความร่วมมือให้ซับซ้อน-ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชุมชนและระดับความร่วมมือระหว่างสถาบัน-องค์กรภาคีต่างๆกันได้ต่อไป ก็คงจะได้อยู่นะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • ชอบแนวคิด-ความสนใจของอาจารย์ด้วยคนครับ ผมคุยกับน้องๆหลายรอบว่าอยากลองถ่ายภาพเคลื่อนไหวและบันทึกรายงานสนามด้วยวิดีโอในกล้องภาพนิ่งดิจิตัล แล้วก็วางไว้ใน Yoy-Tube ได้จังเลยละครับ
  • ทั้งแนวคิดของอาจารย์และของเอกนั้น หากตอนท้ายของเวที จะมีการถอดบทเรียนบนเวทีและพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการระดับเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลองตอบโจทย์ความจำเป็นสำคัญๆให้สะท้อนประเด็นเชิงนโยบายและประเด็นระดับสังคมของประเทศ ก็จะดีไม่น้อยเลยนะครับ
  • และถ้าหากพัฒนาเป็นโจทย์ระดมกันทำวิจัยในแนวถอดบทเรียนเสริมพลัง แล้วก็ยกระดับไปเรื่อยๆ จนสามารถเป็นการวิจัยที่รอบด้านและเข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้น ก็ยิ่งดีใหญ่เลยนะครับ
  • ในส่วนของผมนั้นคิดอยู่ในใจเสมอว่า บางมิติที่เป็นจุดเด่นของเวทีคนหนองบัวและชุมชนหนองบัวนั้น ผมจะอาสาเชื่อมโยงให้เป็นประเด็นความร่วมมือกันพัฒนาในทางเลือกใหม่ๆของมหาวิทยาลัยกับชุมชนเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติการอย่างที่ทำกันได้ผ่านเวทีคนหนองบัว เช่น วิธีสร้างความรู้และคลังภูมิปัญญาของชุมชนโดยบูรณาการระบบจัดการความรู้ออนไลน์กับการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อริเริ่มและมีส่วนร่วมด้วยตนเองของคนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์สังคมและมิติอื่นๆของฐานรากสังคม ปรากฏขึ้นมาจนสามารถจัดเก็บได้อย่างดี ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีข้อมูลและวิธีจัดการที่มีคนทำได้ในพื้นที่เป็นคนที่รู้เรื่องดีที่สุด สามารถนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ เป็นคลังสื่อและทรัพยากรความรู้ เป็นข้อมูลวางแผนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับชีวิตและความรู้สึกจากจิตใจของชาวบ้าน
  • น่าสนใจมากดีเหมือนกันครับ
  • น่าสนใจมากครับอาจารย์
  • ต่อประเด็น จากออนไลน์สู่หมู่บ้าน(ชุมชน)-จากหมู่บ้าน(ชุมชน)สู่ออนไลน์ ของเอกอีกนิดหนึ่งนะครับ
  • มันเป็น From Top-Down and Virtical Development Approach  vs Bottom-Up Development Approach
  • สะท้อนการปฏิรูปความมีส่วนร่วมของสังคมต่อการพัฒนาต่างๆด้วย

^_^

สวัสดีครับอาจารย์ แวะมาอ่านความคิดความอ่าน และแวะมาให้กำลังใจคนทำงานเพื่อชุมชนทุกท่าน นะครับ

รักษาสุขภาพด้วยนะครับอาจารย์

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี ไปยังไงมายังไงล่ะครับคราวนี้ถึงไม่ได้ล๊อคอินเข้ามา
ขอบคุณมากเลยครับ มีความสุขเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท