การบริหารครอบครัว


พ่อบ้านต้องมีความซื่อสัตย์ต่อแม่บ้าน สามีภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง สิ่งสำคัญก็คือไม่คิดนอกใจกันและกัน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการจะคบค้าสมาคมกับคนที่พูดเท็จหลอกลวงพูดอย่างแต่ทำอย่าง

            การได้แต่งงานเป็นความหวังอันบรรเจิดของหญิงชาย คนอีสานโบราณจะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบปะพูดคุย(การเล่นสาว =เกี้ยวพาราสี) กันพอสมควรเมื่อรักกันถ้ามั่นใจว่าไปกันได้ ฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะตั้งค่าสินสอด(ค่าดอง)ตามสมควร แล้วกำหนดวันแต่งงาน 

             พิธีแต่งงานจะกำหนดเอาฤกษ์ดียามดีที่ผู้มีความรู้กำหนด และแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาวพิธีแต่งงานตอนเช้าเริ่มทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์ตักบาตรถวายอาหาร พระสงฆ์ฉันเสร็จบางแห่งก็ให้พร บางแห่งถ้าพระเทศน์เก่งก็สอนบ่าวสาวก่อนให้พรรดน้ำพุทธมนต์ ... จำได้ครั้งหนึ่งไปงานแต่งพระเรียกคู่บ่าวสาวเข้าไปรับน้ำพุทธมนต์แต่ก่อนรดน้ำพุทธมนต์ให้พร พระเทศน์สอนแบบอีสานๆว่า "วันนี้เป็นวันแต่งงานของพวกเธอสองคน พวกเธอตั้งใจทำบุญเพื่อให้เป็นมงคลแก่ชีวิตก่อนจะประกอบพิธีสู่ขวัญ หลวงพ่อขอให้คู่บ่าวสาวมีความสุขมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป เราแต่งงานกันก็หมายถึงเราเลือกกันและกันเป็นคู่ครอง ท่านชำเลืองดูเจ้าบ่าวแล้วถามว่า "เจ้าบ่าวรักเจ้าสาวไหม? เจ้าบ่าวตอบว่ารัก และหันไปถามเจ้าสาวว่าแล้วเข้าสาวหละรักเจ้าบ่าวไหม คำตอบที่ได้ฟังคือ "รักค่ะ" เมื่อเธอรักกันนอกจากจัดพิธีแต่งแล้วพวกเธอต้องดูแลกันซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่นอกใจคู่ครองของตน และต้องฝึกหัดตนเองให้ทำบ้านเรือนสร้างฐานะทำเครื่องมือเครื่องใช้เองให้ได้ และรู้จักอดทนสู้การสู้งานหนักเอาเบาสู้ และสิ่งสำคัญต้องรู้จักแบ่งปันสิ่งของและความรักให้กับภรรยาหรือสามีตนเองและลูกหลานญาติมิตรของทั้งสองฝ่าย ท่องไว้ในใจทุกวันแล้วครอบครัวจะเจริญ "ซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าลับหลัง รู้จักข่มจิตของตนฝึกฝนตน อดทนหนักเอาเบาสู้ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน" ...........

            พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า “ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา. เรือนที่ปกครองไม่ดีนำทุกข์มาให้หรือเหย้าเรือนที่ปกครองไม่ดีนำทุกข์มาให้ (พระไตรปิฏกเล่มที่ 25)

            ครอบครัวหรือเหย้าเรือนย่อมมีขนาดแตกต่างกันไป บางครอบครัวมีทั้งปู่ ย่า พ่อ แม่ ตนเอง  เมีย  ลูกอยู่รวมกัน บางครอบครัวแยกออกมาเป็นอิสระ มีสมาชิกในครอบครัวคือ พ่อ แม่ ลูก ส่วนบุคคลที่เป็นปู่ ย่า ตายาย แยกอยู่ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ย่อมจะต้องมีหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก เป็นประธานเพื่อปกครองดูแล หัวหน้าครอบครัวต้องพยายามสร้างครอบครัวให้มั่นคงอบอุ่น ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวสมควรที่จะต้องมีหลักการบริหารครอบครัวหรือหลักธรรมการครองเรือนประจำใจ หลักธรรมของผู้ครองเรือนหรือข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือนเรียกว่า ฆราวาสธรรมได้แก่ ซื่อสัตย์ ฝึกฝน อดทน แบ่งปัน มีอรรถาธิบายดังนี้

              

           1. ซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าลับหลัง (Truth and honesty between people )คือมีความจริงใจต่อกันไม่คิดนอกใจกันและกันตลอดชีวิต หมายถึง(จริงใจ)มีความจริงใจและซื่อสัตย์ต่อคนทุกคนทั้งต่อหน้าและลับหลัง การความมีความซื่อสัตย์ต่อกันก่อให้เกิดความเชื่อถือกันไว้ใจกันและกันและเป็นเหตุให้คนซื่อสัตย์มีชื่อเสียง การพูดจริงทำจริงทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกันและกัน พ่อบ้านต้องมีความซื่อสัตย์ต่อแม่บ้าน สามีภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง สิ่งสำคัญก็คือไม่คิดนอกใจกันและกัน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการจะคบค้าสมาคมกับคนที่พูดเท็จหลอกลวงพูดอย่างแต่ทำอย่าง

                บางคนเพียงแต่นัดพบก็ยังผิดเวลา ปล่อยให้อีกฝ่ายรอเป็นเวลากว่าชั่วโมง แล้วก็อ้างเหตุผลรถติดหรืออะไรที่จะอ้าง อ้างตื่นสายเพราะนอนดึก คนประเภทนี้ไม่ควรคบ ไม่ควรมอบหมายไว้วางใจในภารกิจที่สำคัญโดยเด็ดขาด หากสตรีคบค้าสมาคมกับบุรุษผู้ผิดนัดแบบนี้ ชีวิตสมรสก็คงจะไม่ราบรื่น ควรรีบหาชายอื่นที่เขารักษาเวลานัดเพราะเขาเป็นสัตบุรุษที่มีธรรมคือกาลัญญุตา ย่อมแสดงว่าคำมั่นสัญญาทุกข้อ เขาจะรักษาไว้ได้ทั้งหมด ความซื่อสัตย์แบ่งเป็น 5 คือ

                          1. รักษาคำมั่นสัญญา ไม่หลอกลวงใครๆ เริ่มตั้งแต่คนคนใครอบครัวและสังคม

                         2. ประพฤติดีต่อคู่ครองตน มีความประพฤติซื่อตรงไม่คดโกงตลอดชีวิต

                         3. ปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มตามหน้าที่ ไม่เหลาะแหละเหลวไหลในกิจอันเป็นหน้าที่ของคน

                        4. ยึดมั่นในทางที่ดี สม่ำเสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง

                        5.ตั้งใจทำงานให้ดี ทำเต็มความสามารถ เป็นคนหนักแน่นมั่นคง ไม่เจ้าเล่ห์ แสนกล นาฬิกาไม่ตรงเวลายังไร้คุณค่า คู่ชีวิตที่ไม่ซื่อตรงก็ไม่น่าคบหาเช่นกัน                                            

 

                2. ฝึกฝนตนเอง,ยับยั้งชั่งใจ คือฝึกฝนยับบั้งชั่งใจตัวเองสม่ำเสมอ ( knowing how to restrain one’s own heart) คือ ฝึกทำงานให้เป็น งานในโลกมีอยู่มากมายเช่น งานทำนา ทำสวน งานช่างไม้ ช่างปูน เราเกิดมามีชีวิตบนโลกเริ่มแรกเราตกอยู่ในภาวะทำอะไรไม่เป็น คนทำงานไม่เป็นย่อมสร้างความลำบากให้แก่ผู้อื่น การฝึกตนให้เป็นงานทำงานเป็น ทำมาหากินเป็น ทำให้เรามีความสามารถในการทำงาน ไม่เป็นที่รังเกียจของคนอื่น ไม่มีเวรกับใคร

              2.1 ฝึกหัดวิธีปรับตัวเข้ากับคู่ครอง มีความรักความนับถือญาติของคู่ชีวิตเหมือนญาติของตนเอง ไปเยี่ยมญาติทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน

              2.2 ฝึกบังคับควบคุมตนเองให้ตั้งอยู่ในความดีได้สม่ำเสมอและควบคุมจิตใจฝึกนิสัยแก้ไขข้อบกพร่องหรือรู้จักยับยั้งใจตัวเองไม่ให้ทำความชั่วได้ทุกกรณี  

              2.3 ฝึกยับยั้งตัวเองไม่ให้ถลำไปสู่ความชั่วความผิด ตัวเรานี้ถ้าไม่มีการยับยั้งชั่งใจไว้เลยก็จะไปทำผิดหนักเข้าก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัวตลอดถึงสังคมเช่นกลายเป็นคนติดเหล้า เจ้าชู้ เป็นนักพนัน เป็นไปได้ทั้งนั้นถ้าเราไม่รู้จักยับยั้งใจยับยั้งตัว

              2.4 ฝึกหยุดตนเอง หยุดทะเลาะวิวาท หยุดคิดทำทุจริต หยุดไม่ยอมไปสู่อบายมุข หยุดเป็นคนเลว

              2.5 ฝึกข่มใจตัวเอง อย่ากำเริบเสิบสานจนเกินไป อย่าปล่อยตัวทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่กินอยู่สูงจนเกินฐานะ อย่าทำให้รายจ่ายเกินรายได้  ไม่ใฝ่ชั่วจนตัวต่ำศักดิ์ผิดศีลธรรม  ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เมื่อฝ่ายหนึ่งทำหรือพูดไม่ถูกใจต้องให้อภัยกันได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นทุกกรณี  อีกทั้งรู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุงตนเองให้ก้าวหน้าด้วยสติปัญญา เช่น

                       1. อย่าทำผิดศีลเพราะไร้ยางอาย 

                       2. อย่าทำสิ่งชั่วร้ายเพราะไม่รู้ว่ามันชั่วและมีภัย

                       3. อย่าทำผิดเพราะเข้าใจว่าควรในสิ่งที่ไม่ควรทำ

                       4. อย่าทำฝืนทำเมื่อสงสัยว่าผิด  

                        5. อย่าทำชั่วทุกชนิดเพราะไม่มีสติยับยั้งชั่งใจ 

                        6. อย่าโลภจนหน้ามืดตามัว จนไม่รู้บาปบุญคุณโทษ

                         7.อย่าโกรธโหดร้ายจนทำร้ายตนเองและผู้อื่น

                         8.อย่าหลงงมงายจนไม่รู้ดีชั่วถูกผิดอันตราย

                         9. อย่าขาดความยับยั้งชั่งใจจนทำครอบครัวแตกสลาย แต่จงรู้จักข่มจิตมิให้เห่อเหิมเกินฐานะ

            3. อดทนยืนหยัดอยู่ในทางที่ดี (putting up with adversity - patience) คือมีความอดทนเข้มแข็งยืนหยัดอยู่ในทางที่ดีและถอนตนออกจากความชั่ว อดทนต่อฝ่ายที่ไม่ดีเพื่อยืนหยัดอยู่ในทางที่ดีให้ได้ หมายถึงอดทนปฏิบัติหน้าที่การงานการอาชีพที่ทำอยู่โดยไม่ย่นย่อท้อถอยเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว  อดทนไม่หวั่นไหวย่อท้อต่ออุปสรรค์ ผู้มีความอดทนจะมีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น มีน้ำใจทรหดอดทน มีน้ำอด น้ำทน อดได้ ทนได้  อดคือ งด กลั้นเช่น อดกลั้น อดอยาก อดกิน อดนมล้วนแต่จำเป็นต้องบังคับตนไม่ยอมให้เป็นไปตามความเรียกร้องต้องการของร่างกายเช่นหิวจนแสบท้องแต่ไม่มีอะไรจะกินก็จำต้องอดกินเพื่อให้พ้นจากสภาพที่เลว  ทนแปลว่า มาสู่ความดี  “อดทนจึงหมายถึง อดทนเพื่อให้พ้นสภาพที่เลวมาสู่สภาพที่ดี”  หัวหน้าครอบครัวเมื่อของสูญหายต้องรู้จักหาคืนมา ของเก่าคร่ำคร่าต้องรู้จักซ่อมแซม วางแผนการใช้จ่าย รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในบ้านตนเอง

                  ผู้นำครอบครัวต้อง ฝึกหัดทำความดีด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยงานบุญ บุญแล้วแบ่งบุญให้ผู้อื่น อนุโมทนาบุญของคนอื่น ทำบุญด้วยการฟังธรรม ทำบุญด้วยการพูดธรรมอ่านหนังสือธรรม และทำบุญด้วยการทำความคิดเห็นให้ถูกต้องตรงตามเป็นจริงหรือตามทำนองครองธรรม

                   ขันติความอดทนเปรียบเสมือนเครื่องยับยั้งกิริยาวาจาที่จะแสดงออกให้ผู้อื่นได้เห็นเช่นในยามที่ถูกด่าว่าหรือประณามจากคู่อริหรือผู้บังคับบัญชาเหนือหัว ถ้าเราสามารถใช้ความอดทนหรือขันติธรรมได้ก็จะไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ เสมือนก้านไม้ขีดที่นอนสงบอยู่ในกลัก ย่อมไม่เกิดประกายไฟได้ คนที่ทำอะไรด้วยความผลุนผลันไม่ยับยั้งรั้งรอไม่ทันได้คิดได้ติดคุกหรือตกงานได้รับแต่ความยากจนมีให้เห็นอยู่มาก เมื่อเราใช้ชีวิตคู่อะไรที่ควรอดควรทนก็ต้องใช้ความอดความทนเพื่อให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรืองได้ ความอดทนจำแนกออกได้หลายอย่างเช่น

                    อดทนลำบากตรากตรำเรียกว่าหนักเอาเบาสู้ เช่น ทนร้อน ทนหนาว ทนเล่าเรียน ทนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   อดทนต่อเจ็บปวดโหยหิวไม่ร้องโอดครวญง่ายๆเรียกว่าอดทนต่อทุกขเวทนา     อดทนต่อความเจ็บใจคือคนพูดให้ซ้ำใจยับยั้งใจอภัยได้ เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบเช่นคำเสียดสีคำด่าของคนอื่นก็ทนได้ อดด้วยการกลั้นไว้ได้ อดทนจนเป็นตบะเดชะ อดทนเหมือนแผ่นดิน อดทนต่ออำนาจกิเลสคือไม่อ่อนไหวไปกับสิ่งยั่วใจต่างๆ อารมณ์ฝ่ายสนุกต้องอดทนอย่าเพลิดเพลินมากนัก ถ้าคุณไม่ลองก้าวจะไม่มีวันรู้เลยว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร รางวัลที่ยอดเยี่ยมคือการได้สร้างมันขึ้นมา ตั้งใจกับตนเองแล้วลงมือทำ ลงมือทำดีกว่าคำพูดที่สวยหรู

                4. ความเสียสละ, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือมีน้ำใจไมตรีเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูล ( renouncing and giving away one’s own possessions to whom it is right and proper to give them) คือแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลคนในครอบครัวและคนที่ควรช่วยเหลือเช่นญาติพี่น้องเป็นต้น มีน้ำใจเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนในครอบครัว เมื่อหาทรัพย์มาได้นอกจากออมแล้ว ต้องรู้จักสละปล่อยวางคือ

              4.1 สละวัตถุ คือหาทรัพย์มาได้แล้วใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครัวให้เป็นสุข ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเสื้อผ้าคนในครอบครัว  ค่าเล่าเรียนของลูก ทำบุญให้ทานตามโอกาส ทำบุญบ้าน บุญกฐิน บุญทั่วไป ทำบุญตักบาตร เสียภาษีสังคมเช่นงานแต่ง งานศพ   

                 การช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นสื่อหรือสะพานแห่งความรักและไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างกัน ใครมีนิสัยชอบให้ปันช่วยเหลือเกื้อกูลย่อมเป็นที่รักใคร่สนิทสนม การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละแบ่งปันช่วยเหลือกันด้วยเงินหรือสิ่งของตลอดถึงความรู้คำแนะนำเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนทั้งหลาย  ใจดีพูดวาจาสุภาพอ่อนหวานเป็นที่ซาบซึ้งใจแฝงไว้ด้วยความหวังดี พร้อมร่วมสุข

              4.2 สละอารมณ์คือรู้จักปล่อยวางความโกรธความพยาบาทขัดเคืองกับคนทั่วไปเช่นอภัยให้กันและกัน การเก็บกดอารมณ์โกรธไว้นานๆทำให้ตนเองทุกข์จึงต้องปล่อยวางอามรณ์เหล่านี้ออก รู้จักให้อภัย  อโหสิกรรม หัดคิดทางดีเช่น “ไม่เป็นไร”  “เรื่องธรรมดาของโลก

               ในทางตรงกันข้าม ถ้าหัวหน้าครอบครัวหรือเจ้าบ้านไม่ดี ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีการฝึกตน ไม่มีความอดทน ไม่มีความเสียสละ ทำอะไรตามใจชอบ ขาดเมตตาธรรม ย่อมไม่มีใครจะอยู่ร่วมได้ ต่างต้องเลิกราหย่าร้างกันไปแบบบ้านแตกสาแหรกขาด  ปล่อยให้ลูกๆต้องรับกรรมทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจารกสามีภรรยา ไม่สนใจประพฤติธรรม ต่างใช้สันดานดิบ สันดานเดิมที่ชอบเอาแต่ใจตนเองเข้ามาต่อสู้กัน ต้องการจะเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีใครอ่อนข้อ ก็ต้องจบลงด้วยการอย่าร้าง  การบริหารบ้านเรือนไม่ดีนำทุกข์มาให้ ดังที่กล่าวมา ผู้ปรารถนามีความสุขที่ยั่งยืนควรใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ

                    หลักการบริหารครอบครัวสรุปให้สั้นๆว่า “ ซื่อสัตย์  ฝึกฝน  อดทน แบ่งปัน” ทำสิ่งดีๆให้แก่กันตลอดชีวิตนี้คือหัวใจการอยู่กันเป็นครอบครัวที่ไม่เสียใจในภายหลัง 

                    ต่อไปพวกเธอถวายเครื่องไทยทานแล้วรับพรเป็นภาษาบาลีต่อไป.....จะเป็นด้วยเหตุนี้ไหมที่คนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่อยากจัดงานแต่งเพราะไม่อยากถูกสอนเลย

หมายเลขบันทึก: 406206เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงๆๆความดีเป็นสิ่งที่ดีแต่ทำไมคนเรามักทำไม่ดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท