กรณีศึกษา : การเรียนรู้แบบสืบสาวจากเหตุและปัจจัย


แรงบันดาลใจในการเขียน : บทความนี้เขียนโดยการสรุปองค์ความรู้ จากสารคดีที่ผู้เขียนได้รับชมทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี เมื่อวันพุธ ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ ผู้เขียนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการกระตุ้นให้คนในสังคมไทยได้รับรู้ถึงการศึกษาเรียนรู้โดยการสืบสาวจากเหตุและปัจจัย

            ย้อนกลับไปเมื่อ ๕๐๐ ปีในเวนิชตะวันตก ดินแดนที่มีทั้งด้านสว่าง และด้านมืดช่วงเวลานั้นเองเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับผู้คนในเมืองเวนิช มีคนล้มหายตายจากไปคนแล้วคนเล่าในระยะเวลาที่รวดเร็วมากซึ่งไม่เคยพบเจอมาก่อน เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนในเวนิชตะวันตก? 

            หลุมฝังศพขนาดใหญ่ในเวนิชถูกขุดพบโดยทีมนักสำรวจ โครงกระดูกจำนวนมากมายที่กองทับทมกันในหลุมนั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ หรือสิ่งใดกันแน่? ปริศนานี้กำลังถูกคลี่คลายลงโดยนักนิติวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง แต่สิ่งจูงใจที่ทำให้เขาศึกษาเรื่องนี้ไม่ใช่โครงกระดูกจำนวนมากเหล่านั้น แต่เป็นเพียงสภาพของกระโหลกศรีษะใบหนึ่งที่มีก้อนอิฐยัดอยู่ในปาก!!!

            สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือผลที่เกิดขึ้น อันจะต้องมีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ความท้าทายในงานนิติวิทยาศาสตร์ก็คือ การค้นหาความจริงจากข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสจะพูดได้ น่าเสียดายว่าสภาพของโครงกระดูกรายพิเศษนี้อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ เพราะคงมีแต่กระโหลกและโครงกระดูกส่วนบนอยู่บ้าง ส่วนท่อนล่างนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และชี้บ่งได้ แต่สิ่งที่น่าสงสัยมากที่สุดก็คือ ก้อนอิฐที่ถูกยัดเข้าไปในปากเจ้าของกระโหลกนี้ ซึ่งผิดปรกติไปจากโครงกระดูกอื่นๆที่ถูกฝังอยู่ด้วยกัน มันเป็นการฆาตกรรม หรืออะไรกันแน่? นี่คือจุดเริ่มต้นของการสืบค้นเหตุและปัจจัย

            คำถามที่ไม่มีคำตอบ และดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่สืบสาวหาข้อเท็จจริงได้ค่อนข้างยากมากเนื่องจากระยะเวลาที่ล่วงเลยมายาวนาน และหลักฐานพยานวัตถุที่มีไม่มากนัก แต่ก็ยังพอมีแหล่งที่สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้อยู่บ้าง นั่นคือห้องสมุดประวัติศาสตร์ที่เก็บเรื่องราวบันทึก จดหมายเหตุต่างๆของตะวันตก นักนิติวิทยาศาสตร์ผู้นี้ได้ใช้เวลาค้นหาโดยการอ่านหนังสือมากมายด้วยความหวังว่าเขาน่าจะได้เบาะแสเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง และดูเหมือนว่าความพยายามของเขาจะส่งผล..... เขาพบหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อของคนตะวันตกในอดีต กล่าวถึงวิธีการจัดการกับศพของผู้ที่เป็น Vampire (ซากศพที่ไม่ตายและอยู่เป็นอมตะด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์) เพื่อที่จะไม่ให้ซากศพนี้ไปสร้างความเดือดร้อนได้อีกนั่นคือการใช้สิ่งของยัดไว้ในปากของศพนั้น!!!

            แต่สิ่งที่เขาได้ข้อมูลจากหนังสือมานั้นมันคือความเชื่อของคนในยุคนั้น มันจะเป็นไปได้จริงหรือ?และถ้าเป็นจริงก็แสดงว่าเรื่อง Vampire เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นบนโลกนี้ ผีดิบดูดเลือดมีจริง ที่สำคัญเจ้าของกระโหลกใบนี้คือ Vampire เรื่องนี้จึงมีความน่าสนใจและท้าทายมากขึ้นกว่าคดีฆาตกรรมเสียแล้ว หลังจากนั้นการตั้งสมมติฐานในการสืบสาวเหตุและปัจจัยจึงเริ่มต้นขึ้น..... ตำนานของ Vampire ชายหน้าตาดี มีชาติตระกูลระดับขุนนาง (Count) อยู่เป็นอมตะโดยการดื่มกินเลือดของมนุษย์ ซึ่งหลายคนรู้จักเขาในนามของท่านเคาน์ทแดรกคูล่าร์ นั่นเอง นี่คือสมมติฐานต่างๆที่เกิดขึ้นจากตำนานความเชื่อที่สืบต่อกันมา

            กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์จะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขาเพื่อพิสูจน์สมมติฐานต่างๆที่ละข้อๆและตัดสินใจที่จะยอมรับหรือปฏิเสธข้อสมมติฐานนั้นๆต่อไป สิ่งที่มีอยู่ในตอนนี้คือ หัวกระโหลกที่คาดว่าน่าจะเป็น Vampire เพียงใบเดียว กับชิ้นส่วนของโครงกระดูกท่อนบนอีกเล็กๆน้อยๆเท่านั้น คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะรู้ความเป็นมาในอดีตย้อนหลังไป ๕๐๐ ปี เกี่ยวกับเจ้าของหัวกระโหลกใบนี้ได้ว่าเขาเป็นคนยุโรปหรือคนต่างถิ่นที่อพยพมา? เขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย? เขาอยู่ในชนชั้นใด? เขามีอายุขัยเท่าใดขณะเสียชีวิต? การพิสูจน์ซึ่งสมมติฐานเหล่านี้จะสามารถช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือและความมั่นใจได้ว่า เจ้าของกระโหลกใบนี้คือ Vampire ตัวจริงของแท้

            วิธีการในทางนิติวิทยาศาสตร์มีแนวทางที่จะสามารถทำให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ต้องการทราบได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตรวจ DNA เพื่อให้ทราบถึงเชื้อชาติ , การตรวจลักษณะของจุดยึดกระดูกข้อต่อกรามของหัวกระโหลกที่สามารถใช้บ่งชี้เพศได้ , การตรวจสอบองค์ประกอบโมเลกุลของกระดูกที่เกิดจากอาหารที่บริโภคตอนยังมีชีวิตอยู่เพื่อบ่งชี้ถึงลักษณะสถานภาพการดำเนินชีวิต และการตรวจสอบโพรงในฟันกรามที่จะช่วยให้สามารถบ่งชี้ถึงอายุขัยตอนเสียชีวิตได้ ด้วยวิธีการต่างๆเหล่านี้ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเจ้าของกระโหลก ดังนี้.....

            เจ้าของกระโหลกใบนี้เป็นเพศหญิง เสียชีวิตในช่วงอายุระหว่าง ๖๕-๗๕ ปี เป็นคนที่อยู่ในชนชั้นสามัญชนชาวบ้านธรรมดา และเธอก็เป็นคนท้องถิ่นด้วยไม่ได้อพยพมาจากไหน จากข้อมูลที่ได้จะเห็นว่าส่วนมากขัดแย้งกับข้อสมมติฐานที่เกิดขึ้นจากตำนานความเชื่อเกี่ยวกับ Vampire เธอไม่น่าจะใช่  Vampire แล้วทำไมศพเธอจึงมีก้อนหินยัดอยู่ในปาก เหมือนกับวิธีการจัดการกับศพของผู้ที่เป็น Vampire ตามพิธีกรรมความเชื่อของคนในอดีต ยิ่งค้นก็ยิ่งต้องหาคำตอบ นี่คือลักษณะเด่นของ การเรียนรู้แบบสืบสาวเหตุและปัจจัย

            หลังจากนั้นคงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการกลับเข้าไปในห้องสมุดเพื่อสืบค้นข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไป และสิ่งที่พบก็คือ พจนานุกรมที่ได้ระบุรากศัพท์ที่มาของคำว่า Vampire ไว้ว่า ความหมายของ Vampire คือผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยการดื่มกินเลือดของมนุษย์ และหมายรวมไปถึงพวกหญิงสูงอายุที่ใช้เวทย์มนต์คาถา (แม่มด) ด้วย..... นี่คือข้อเท็จจริงที่เพิ่มขึ้น ผู้คนในยุคนั้นอายุเฉลี่ยโดยรวมจะไม่มากนัก (ประมาณ ๔๐ ปี) หากใครที่มีอายุอยู่ได้ยืนยาวก็จะถูกจับตามองว่าเป็นพวกเล่นเวทย์มนต์คาถา อาคม (พ่อมด , แม่มด) ข้อเท็จจริงที่ได้เพิ่มเติมจากบันทึกอีกฉบับหนึ่ง กล่าวถึงเวนิชตะวันตกช่วงเวลานั้นผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก[๑]จึงต้องขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการฝังศพผู้เสียชีวิตในเวลานั้น ดังนั้นเมื่อมีคนเสียชีวิตเขาก็จะต้องเปิดปากหลุมเดิมที่ขุดเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าในหลุมนั้นจะเต็มไปด้วยซากศพที่กองทับถมกัน คนที่ขุดหลุมนั้นสังเกตเห็นว่ามีศพบางศพที่ไม่เน่าเปื่อย มีผิวหนัง มีเล็บงอกขึ้นมา บริเวณท้องป่องโตขึ้นและเต็มไปด้วยเลือด และที่ปากของศพก็จะมีเลือดแดงติดอยู่ (ในปัจจุบันศพลักษณะที่ไม่เน่าเปื่อยแบบนี้ในบ้านเราก็มีให้เห็น ซึ่งสามารถอธิบายเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด) ลักษณะไม่เหมือนกับศพอื่นๆที่จะค่อยๆแห้งไปเหลือแต่โครงกระดูก คนในยุคนั้นปักใจเชื่อว่า ศพที่ไม่เน่าเปื่อยนั้นคือ Vampire และจะคอยออกมาดูดเลือดคนในยุคนั้นทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเขาจึงได้ใช้วิธีการตามพิธีกรรมตามความเชื่อดั่งเดิมคือ หาของมายัดใส่ในปากศพนั้นเสียเพื่อไม่ให้ออกไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนอีก

            ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงที่ได้ภายหลังนี้จะมีประโยชน์อย่างมากกับการสืบสาวเหตุปัจจัยที่ทำให้ก้อนอิฐเข้าไปอยู่ในปากของเธอได้ และยังสามารถบอกให้เราได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงอีกหลายๆอย่าง ได้แก่ พลังแห่งความเชื่อของคนในยุคก่อนๆมักยึดติดจากการอนุมานข้อเท็จจริงที่ไม่สืบสาวค้นหาเหตุและปัจจัยอย่างดีพอ แท้จริงแล้วเจ้าของกระโหลกนี้เป็นเพียงหญิงชาวบ้านธรรมดาที่อายุขัยมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนในสมัยนั้นสิ่งนี้ก็อาจเป็นข้อสัณณิฐานหนึ่งที่เธออาจถูกจับตามองจากคนยุคนั้นว่าเธอเป็นพวกแม่มด เมื่อเธอเสียชีวิตพวกเขาจึงได้ใช้ก้อนอิฐยัดลงในปากของเธอก่อนที่จะฝังร่างของเธอลงไปในหลุม หรืออีกข้อสัณณิฐานหนึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่ามีคนไปขุดเปิดหลุมเพื่อที่จะนำศพไปฝังแล้วพบลักษณะของศพเธอเข้าข่ายที่จะเป็น Vampire จึงใช้ก้อนอิฐยัดลงไปในปากของเธอก็เป็นได้เช่นกัน

            ถึงอย่างไรก็ตามการสืบสาวเหตุและปัจจัยใจตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ถือว่าไม่สูญเปล่าเพราะนอกจากจะทำให้เราได้ข้อมูลที่อาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อนแล้ว ก็ยังสามารถพิสูจน์สร้างความยุติธรรมให้กับเธอได้ อย่างน้อยก็สามารถให้นัยกับผู้คนรุ่นหลังเพื่อที่จะพูดแทนเธอได้ว่า “เธอไม่ใช่ Vampire” ตำนานความเชื่อของ Vampire ก็ยังคงเป็นตำนานความเชื่อของคนตะวันตกต่อไป



[๑] สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนในยุคนั้นแท้จริงแล้วเกิดจากโรคระบาดชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า กาฬโรค ผู้ป่วยโรคนี้จะทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสก่อนจะกระอักออกมาเป็นเลือดแล้วเสียชีวิต นี่คือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้คนในเวนิสตะวันตกยุคนั้นพากันเสียชีวิตลง

หมายเลขบันทึก: 405342เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2010 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณกัลยาณมิตร (คุณภาทิพ) ที่แวะมาเยี่ยมชมครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท