BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พรรษาที่ ๒๖


พรรษาที่ ๒๖

และแล้ว สำหรับผู้เขียน พรรษาที่๒๖ กำลังจะผ่านไปในคืนนี้ (พรรษาที่๒๕ คลิกที่นี้) ซึ่งพรรษาก่อนนั้น ผู้เขียนยึดอำนาจเป็นสมภารเถื่อน แต่พรรษานี้ เมื่อเจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพไปตามกฎธรรมดา ผู้เขียนจึงได้เป็นสมภารถูกต้องตามกฎหมาย (บางส่วนที่เคยเล่าไว้คลิกที่นี้)...

ในฐานะสมภารใหม่ ก็ต้องแก้ภาพพจน์เก่าๆ ของวัดให้หมดไป สร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแก่วัด ประการแรกหลังจากทำบุญครบร้อยวันพระเดชพระคุณอดีตเจ้าอาวาสแล้วก็คือ สั่งรื้อกุฏิยาวสองชั้นซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของบรรดาคนจรจัดและพวกขี้เมา งานชิ้นนี้ก็สำเร็จเรียบร้อยไม่มีใครต่อต้าน... เดียวนี้ วัดจึงสงบเงียบ ไม่มีจักรยานยนต์วิ่งเข้าออกทั้งคืนเหมือนอย่างที่ผ่านมา...

ประการต่อมาก็คือ สร้างพระเครื่องหลวงพ่อบ่อยางและพระพิฆเนศปางทรงอักษรเพื่อหาทุนสนับสนุนการสร้างวิหารบ่อยาง ก็เริ่มต้นตั้งแต่จัดงานกดพิมพ์นำฤกษ์ (คลิกที่นี้) และจัดงานพุทธาภิเษก (คลิกที่นี้) ซึ่งการจัดงานทั้งสองก็ผ่านไปโดยดี

เฉพาะการจัดงานสร้างพระเครื่องนี้ ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้เขียนก็ใช้เงินส่วนตัวบ้าง เงินจากบัญชีวัดบ้าง มิได้ทำรายการไว้อย่างละเอียด เพียงแต่ว่าเงินบัญชีวัดนั้น ต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้ร่วมลงชื่อแล้วไปเบิกมาเท่านั้น นั่นคือ ต้องมีผู้รับรู้ว่าเงินที่เบิกมานั้น จะเอาไปทำอะไร (ไวยาวัจกรใหม่ ซึ่งผู้เขียนในฐานะเจ้าอาวาสมีอำนาจแต่งตั้งขึ้นมา ส่วนไวยาวัจกรเก่าก็หมดวาระไปพร้อมกับเจ้าอาวาสรูปก่อน)

เมื่อถูกถามว่าในการสร้างพระเครื่องครั้งนี้ ใช้จ่ายไปทั้งหมดเท่าไหร่ ? ผู้เขียนก็ประเมินว่าน่าจะถึงสี่แสน ซึ่งเงินจำนวนนี้นั้น จะได้คืนโดยการให้ทอนหรือจำหน่ายพระเครื่องที่ได้สร้างไว้ เพียงแต่ช่วงเวลาที่ได้คืนมาอาจภายใน ๒-๓ ปี หรือ ๔-๕ ปีขึ้นไป ก็ไม่แน่นอน... แต่สิ่งที่ได้มาอย่างชัดเจนตอนนี้ ก็คือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นภายในวัด อาศัยการจัดงานจึงได้สร้างขึ้นมา เช่น ชุดพนักพิง อาสนะ ชุดกี่รับรองพระเถระ ชุดเครื่องทองน้อย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในวัดชำรุดทรุดโทรมสูญหายไปเกือบหมดแล้ว สิ่งของใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมา ก็เป็นของวัด เป็นหน้าตาของวัด ว่ามีเครื่องใช้เหล่านี้ประจำวัดทัดเทียมกับวัดอื่นๆ 

อีกอย่างหนึ่งที่ได้มาก็คือ เรื่องเสื่อมเสียเก่าๆ ที่เกี่ยวกับวัด ค่อยๆ จางหายไป เพราะมีเรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับวัดที่น่าสนใจกว่า... ดังนั้น เงินประมาณสี่แสนที่จ่ายไป สิ่งที่ได้มาทันทีก็คือเครื่องใช้ในวัดและการกำจัดเรื่องเสื่อมเสียเก่าๆ ไปได้ จึงนับว่าคุ้มแล้ว ส่วนตัวเงินที่จะได้คืนจากการทอนหรือจำหน่ายพระเครื่องในอนาคตนั้น จัดว่าเป็นกำไร...

ส่วนโครงการสร้างวิหารบ่อยางนั้น ตอนนี้ก็ได้ถมที่ปรับที่เรียบร้อยแล้ว แบบแปลนที่จะสร้างก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังประเมินราคาอยู่ และกำหนดจะวางศิลาฤกษ์วิหารในวันที่ ๗ พ.ย. ศกนี้ ควบคู่ไปกับการทอดกฐินสามัคคีประจำปี...

ประสบการณ์การเป็นสมภารมาเกือบสองปี ทำให้รู้ว่าสมภารนั้น สามารถใช้จ่ายเงินจากสองทาง คือ เงินในบัญชีวัดและเงินนอกบัญชีวัด ซึ่งเงินในบัญชีวัดนั้นมาจากเงินกฐิน ผ้าป่า และหรือเงินอื่นที่เป็นผลประโยชน์หลักของวัด  จะเบิกได้ก็ต้องอาศัยไวยาวัจกรหรือกรรมการ จะใช้จ่ายก็ต้องเห็นชัดเจนว่าทำอะไร ส่วนเงินนอกบัญชีวัดนั้น พูดไม่ได้ว่าเป็นเงินวัดหรือเงินสมภาร สามารถใช้จ่ายได้ตามอัธยาศัย (แต่พระ-เณรและญาติโยมก็จับตามองอยู่ว่าจ่ายอย่างไร) ดังนั้น สมภารที่มีความสามารถต้องหาเงินนอกบัญชีมาใช้จ่าย ไม่พยายามข้องแวะเงินในบัญชี ทำให้เป็นอยู่คล่องตัว เป็นที่ยอมรับของบรรดาญาติโยม

อีกอย่างหนึ่ง มีผู้จำแนกวัดกับสมภารไว้ ๒ นัย กล่าวคือ วัดที่พาสมภารและสมภารที่พาวัด โดยวัดที่พาสมภารนั้นก็คือ วัดมีรายได้สูง เช่น มีสวนยาง มีที่ดินให้เช่า มีตลาด ฯลฯ วัดทำนองนี้ ใครมาเป็นสมภารก็สบาย ไม่เดือดร้อน... ต่างกับสมภารที่พาวัด เพราะต้องแสวงหารายได้มาจุนเจือวัดทุกสิ่งทุกอย่าง...

วัดยางทอง แม้จะอยู่กลางเมือง แต่เป็นวัดยากจน ไม่มีรายได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับสมภารที่จะต้องนำพาไปให้ได้... อย่างไรก็ตาม วัดยางทองเป็นที่ตั้งของบ่อยางซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตัวเมืองสงขลา ผู้เขียนจะเอาจุดนี้แหละสร้างวัดยางทอง เพื่อจะได้เป็นวัดที่พาสมภารในอนาคต จะทำให้สมภารรูปต่อไปเป็นอยู่สบายคล่องตัวยิ่งขึ้น...

ความคืบหน้าเป็นอย่างไร จะนำมาเล่าต่อในปีต่อไป (ถ้าไม่มรณภาพหรือลาสิกขาเสียก่อน ....)

หมายเลขบันทึก: 404285เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการพระคุณเจ้า

"อย่างไรก็ตาม วัดยางทองเป็นที่ตั้งของบ่อยางซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตัวเมืองสงขลา ผู้เขียนจะเอาจุดนี้แหละสร้างวัดยางทอง เพื่อจะได้เป็นวัดที่พาสมภารในอนาคต จะทำให้สมภารรูปต่อไปเป็นอยู่สบายคล่องตัวยิ่งขึ้น.."

จากข้อความนี้เป็นการเพื่อให้ ไม่ใช่ทำเพื่อเอา

ไม่ได้แวะมานมัสการนานพอควรแต่ก็เข้ามาแวะเวียนในบันทึกอยู่ .

สุขภาพไม่เอื้อเท่าที่ควรแล้วครับ ท่าน

นมัสการท่าน ผมเคยไปวัดท่านด้วย แต่สมัยที่เป็นนิสิตวัดเป็นสัญลักษณ์ของชาวสงขลาเลย รอ่านต่อครับ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท