kmกับการพัฒนาการเรียนการสอน


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังนักเรียนสอบเสร็จ ครูส่งเกรดส่งคะแนนกันครบ นโยบายท่านผู้อำนวยการยังไม่ให้โรงเรียนปิดเทอมทันทีเหมือนทุกครั้ง คณะครูทั้งโรงต้องจำยอม(ฮา)เข้าร่วมประชุมสัมมนาบ้าง เชิงปฏิบัติการบ้าง กับหลายเรื่องหลายราว ซึ่งล้วนเป็นงานประจำของครูเอง 3 วันรวดครับ ตั้งแต่ 11-13 ตุลาคม 

สำหรับวันสุดท้าย ประมาณครึ่งชั่วโมง โรงเรียนให้เกียรติผมได้นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่อที่ประชุม ซึ่งตัวเองบอกเล่าผ่านบล็อกในGotoKnowแห่งนี้ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี

ประชุมแบบนี้มาประจำ รวมทั้งมีโอกาสนำเสนองานพิเศษอื่นๆ ซึ่งรับผิดชอบในลักษณะเดียวกันนี้มาบ้าง แต่ไม่รู้สึกดีเท่าครั้งนี้ ทั้งที่ไม่ค่อยพอใจกับความติดๆขัดๆ หรือไม่ราบรื่นของตัวเอง อันเนื่องมาจากปัญหาในการมองเห็น 

ก่อนนี้ยังคุยกับพี่คนหนึ่งเลย ตลอดระยะเวลาเป็นครูมากว่า 20 ปี ประชุมมากมายที่เรากระทำกันจนชาชิน ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ แบบหลายครั้งไม่ต้องรู้ก็ได้ หรือทำแล้วก็ไม่เห็นจะดีขึ้นสักเท่าใด หัวใจของโรงเรียนจริงๆ คือ การเรียนการสอนมิใช่หรือ? แล้วทำไมแต่ละครั้งแทบไม่พูดถึงกันเลย พูดถึงบ้างก็เป็นทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิด เรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนจริงๆระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งน่าจะสำคัญและเกิดประโยชน์กว่า แทบไม่ปรากฎ พิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดแล้ว..แปลกมากนะครับ

โดยทั่วๆไป เรื่องการจัดการเรียนการสอน มักไม่น่าสนใจสำหรับผู้บริหาร อาจเนื่องมาจากไม่เห็นผลชัดเจน ไม่เห็นทันทีทันใด คงดั่งกล้วยไม้ออกดอกช้าตามที่นักการศึกษาได้เปรียบเปรยไว้ เอาไปคุยหรือโพนทะนาก็ไม่ค่อยจะได้ งานอื่นที่เป็นรูปธรรม รวดเร็ว นับได้ วัดได้ อาทิ สร้างรั้ว ทำป้าย ฯลฯ จึงมักได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่า 

นอกจากนั้นแล้ว โดยทั่วๆไปอีกเช่นกัน ความรู้สึกนึกคิดของครูหลายท่าน ไม่นิยมให้ใครมาดู มาชม หรือมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเรียนการสอนของตัวเองกันนักดอก ในการถอดบทเรียนแต่ละเรื่องการเปิดใจจึงสำคัญมาก พอครูมีความรู้สึกอย่างนี้ จึงมักไม่เข้าไปยุ่ง วุ่นวาย หรือแสดงความคิดเห็นใดๆต่อการจัดการเรียนการสอนของเพื่อนครูคนอื่น จะมองเป็นมรรยาท เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันก็ได้ 

ด้วยแนวคิด ความรู้สึก รวมถึงการปฏิบัติ ทั้งจากผู้บริหารและครูโดยทั่วๆไปเป็นเช่นนี้ การจัดการเรียนการสอน จึงไม่ใคร่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา หรือมาร่วมเรียนรู้ สุดท้ายการพัฒนาก็ไม่เกิด 

โดยส่วนตัวผมมีความเชื่อว่า ครูโรงเรียนใดย่อมจะสอนนักเรียนโรงเรียนนั้นได้ดีที่สุดจะสอนนักเรียนต้องวิเคราะห์หรือต้องรู้จักผู้เรียนเสียก่อนเมื่ออยู่ด้วยกันสอนกันมานาน พ่อแม่เป็นใคร บ้านอยู่ไหน นิสัยใจคอ ครูบางคนสอนนักเรียนคนเดิมซ้ำในหลายระดับชั้น จึงรู้ทะลุปรุโปร่ง เจ้าหมอนี่ เด็กหญิงคนนี้ อากัปกิริยาอย่างนี้ เพราะเหตุใด พื้นฐานทางบ้านหรือเปล่า เข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจ ต้องใช้ไม้ไหน หรือกระบวนท่าใดต่อไป อย่างนี้ในการจัดการความรู้(knowledge management=km) เรียกว่า ความรู้ฝังลึก(tacit knowledge) 

ดังนั้น หากโรงเรียนจัดกิจกรรมอะไรก็ได้ ที่จะทำให้คณะครูมีโอกาสเรียนรู้กระบวนยุทธ์ในการจัดการเรียนการสอนของกันและกันอย่างเปิดใจ ความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่จะผ่องถ่ายไปสู่ทุกคนอย่างรวดเร็ว สุดท้ายจะหลอมรวมเป็นองค์ความรู้ที่ชัดแจ้ง(explicit knowledge) เกิดรูปแบบการเรียนการสอนเฉพาะกับนักเรียนโรงเรียนนั้นๆ ถ้าที่บ้านกร่างก็อาจจะได้ บ้านกร่างโมเดลเป็นต้น 

ครั้งเริ่มมาเขียนบันทึกที่GotoKnowใหม่ๆ ผมแทบไม่รู้อะไรเลย โดยเฉพาะเรื่องการจัดการความรู้กับการจัดการศึกษา แต่หลายบันทึกที่นี่ ต้องขอบคุณหลายๆท่าน ที่ทำให้พอเข้าใจ  

หาคำตอบให้กับตัวเองถึงความรู้สึกดีๆ ซึ่งเกิดขึ้นในที่ประชุมวันนั้นครับ..

หากจะทึกทักเอาว่า โรงเรียนผมเริ่มนำการจัดการความรู้เข้ามาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแล้ว ก็คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างซึ่งเกินเลยไปนัก  

หมายเลขบันทึก: 403996เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ครูธนิตย์ครับ...

ยินดีมากครับทีมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกันกับครูใน gotoknow

ที่สุดเเล้ว เราเองก็จัดการความรู้กันตลอดเวลา การเขียน blog ก็เช่นเดียวกันครับ

การเรียนรู้ทำให้เราเขียน blog อย่างมีจุดมุ่งหมายมากขึ้น มากกว่าการเขียนเเล้วสื่อออกไป

เเต่การเขียนจะกลายเป็น "ทุนความรู้" ของสังคมที่ทรงพลังได้ด้วย

ประสบการณ์ทำงานของผม ทำให้ผมเรียนรู้ว่า การแลกเปลี่ยนกัน ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม

เราจะได้ความรู้ใหม่ๆเสมอ โดยเฉพาะเราสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เหล่านั้นให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรได้

ผมคิดว่า องค์กรนั้นๆจะก้าวทะลวงไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก

หากเป้าหมายการศึกษาคือ "การสร้างคนที่อุดมปัญญา"

เราคงต้องหากระบวนการที่หลากหลายนะครับ ว่า การที่จะก้าวไปสู่ตรงนั้นได้

ต้องทำอย่างไร...ที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง

เเละวิธีการที่เรามีความสุข ผ่อนคลาย

วิธีการ กระบวนการเหล่านั้น ก็คงต้องปรับเปลี่ยนไปกับสังคมที่เปลี่ยนไปทุกวินาที

เรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงเพียงเเต่กล้าที่จะเปลี่ยนตัวเองทั้งวิธีคิดเเละการปฏฺบัติ

ให้กำลังใจครับ

"บ้านกร่างโมเดล"

สวัสดีค่ะครู

ขนาดภาพอิฐ กะทราย ครูธนิตย์ยังจับได้งามยิ่งปานนี้เลยนะคะ ส่งกำลังใจ เชื่อมั่น ศรัทธา ด้วยจิตคารวะ ค่ะ ;)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ธนิตย์

            โรงเรียนสวยงามสะอาดมาก...น่าอยู่ นักเรียนคงภูมิใจนะคะ

การเข้ามาเป็นสมาชิก G2K ถือเป็นการพัฒนาตนเองระดับหนึ่ง จากที่

Krudala ไปอบรมการใช้ ICT ตั้ง 5 วันแต่ตามไม่ทัน คนเก่งก็ไปข้างหน้าตาม

วิทยากรได้เรื่อยๆ เราเกิดอารมณ์เซ็งมาก...มาได้เพื่อนพ้องชาวG2K ที่แนะนำ

และได้ฝึกตามความสามารถอย่างช้าๆ จึงได้พัฒนาขึ้นมาก และตอนนี้ก็สามารถ

นำไปพัฒนางานได้ค่ะ 

               

                ภาพนักเรียนไปศึกษาแหล่งเรียนรู้สวนทวีชล เชียงใหม่ค่ะ

*** กำลังจัดการความรู้บางเรื่อง ที่เหนื่อยมาก ...ยังทำไม่เสร็จสักที

*** มาอ่านบันทึกนี้แล้ว รู้สึกว่าต้องทำอะไรให้มากขึ้นอีก

 *** ส่งต้นตาลมีดๆมาให้ดูจ้ะ

 

สวัสดีค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ  น้องธนิตย์ยังเป็นความสำคัญของเด็ก ๆ อยู่นะคะ  สู้ ๆ ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ

Km กระบวนการที่ช่วยให้เกิดปัญา แนวความคิดที่ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง

เกิดการพัฒนาการทำงาน และจิตใจควบคู่กันไปอย่างมีระบบ

ที่จริงเราใช้KM กันมานานแล้ว ในวงการลูกเสือเองที่ได้นำมาใช้Meeting

เห็นยุทศาสตร์ของเขตก็มีแนวKm แต่ทำไมยังเข้าไม่ถึงสักที

เสียดายความรู้ความสามารถของเพื่อนครูที่วันเวลาที่ผ่านไปๆ

ไม่นานก็จะถูกลืมเพราะไม่มีกานำมาแบ่งปันเรียนรู้ และต่อยอดนะคะ

อย่างรร.บ้านกร่างทำนี่สุดยอดของการพัฒนาค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • พี่ครูธนิตย์ครับ
  • ถ้ามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนการเรียนการสอนกับครูด้วยกันบ่อยๆๆ
  • นั่งคุยเรื่องการสอน
  • การวิพากษ์การสอนจะได้ผลดีมาก
  • แค่เริ่มวงเล็กๆก่อนก็ดีแล้วครับ
  • ชอบมุมกล้องและการเขียนของอาจารย์ครับ

สุขสันต์วันปิดเทอมค่ะอาจารย์

  • อ่านเรื่องนี้แล้วเหมือนๆกันเลย   คงไม่ต้อง ซตพ. (ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์)  อิๆๆ
  • ผลการศึกษา  ออกดอกช้าฉันใด   ย่อมสอดคล้องกับ "การศึกษาตลอดชีวิต"
  • ผู้บริหารการศึกษาหลายคน (แต่ไม่ทุกคน) ที่เห็นวัตถุในโรงเรียนดีกว่าการเรียน
  • บางแห่ง  (ย้ำ  ว่าบางแห่ง ) ให้นักเรียนปรับปรุงภูมิทัศน์เสียเกือบทั้งวัน โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนอ่อน..(เด็กชอบกิจกรรมนี้มากกว่าเรียน)
  • ครูผู้สอนชะเง้อดูว่าเมื่อไร เขาจะให้เด็กมาเรียน   ผู้บริหารอาจคิดว่า มันเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน 5555
  • จึงมีผู้บริหาร ใช้หลักการ....เหมือนที่ว่า.......

เรื่องการจัดการเรียนการสอน มักไม่น่าสนใจสำหรับผู้บริหาร อาจเนื่องมาจากไม่เห็นผลชัดเจน ไม่เห็นทันทีทันใด คงดั่งกล้วยไม้ออกดอกช้าตามที่นักการศึกษาได้เปรียบเปรยไว้ เอาไปคุยหรือโพนทะนาก็ไม่ค่อยจะได้ งานอื่นที่เป็นรูปธรรม รวดเร็ว นับได้ วัดได้ อาทิ สร้างรั้ว ทำป้าย ฯลฯ จึงมักได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่า

  • ขอบคุณค่ะ    

 

สวัสค่ะ

โรงเรียนน่าอยู่จังเลย (โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน ยกเว้น ผอ.หนี่งคน เราทุกคนชอบมาโรงเรียน)

ล้อเล่นนะคะ (ผอ.ไม่ใช่ตัวปัญหาซะหน่อย) ว้าว...............

ยินดีด้วยค่ะ อาจารย์ ...บางทีเรามีอยู่แล้วโดยธรรมชาติค่ะ เป็นความงดงามคะ

สวัสดีค่ะ

  • ยินดีด้วยนะคะที่ครูหันมาสนใจเรื่องของตนเองมากขึ้น
  • ครูต้องคู่กับการสอน...หากครูให้ความสำคัญกับการสอนมากที่สุด
  • ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากเด็กๆจะลดน้อยลงอย่างแน่นอนค่ะ
  • เป็นธรรมดานะคะที่ฝ่ายบริหารจะสนใจเรื่องอื่นๆมากกว่าการสอน...คุณครูต้องรวมพลังกันให้ได้...ที่สำคัญเราเริ่มต้นที่ตัวเราเองถูกต้องแล้วค่ะ

สวัสดีครับ

  • กิจกรรมที่ใช้ฝึกให้นักเรียนรู้จักคิด   น่าสนใจครับ
  • ผมคิดว่าครูคงต้องปรับตัวเองให้ทันต่อเทคโลยีสมัยใหม่มากขึ้น
  • ไม่เหมือนยุคเก่า ที่เรียนแบบ  เลข  คัด  เลิก  ฮะๆๆ
  • ขอบคุณครับอาจารย์ที่ให้กำลังใจนักเรียนเข้าใหม่วันนี้

ใครๆก็ชอบรูปธรรมมากกว่านามธรรม...

ขนาดจะเลือกคู่ครองสักคนเรายังต้องมองภายนอกก่อนแล้วจึงจะศึกษาภายในจิตใจ

นี่เป็นการมองในมุมบวกของพี่  เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจผอ.ในระดับหนึ่ง

ส่วนพวกครูทั้งหลายก็แลกเปลี่ยนกันพูดคุยกันในสายของตัวเองก่อนดีไหม??

แล้วค่อยขยายไปยังสายอื่น...สุดท้ายก็จะได้นำเข้าที่ประชุมได้

เอาใจช่วยให้สู้ต่อไปค่ะ...

***  เป็นคนชอบศึกษา-เรียนรู้และพยายามเข้าร่วมประชุม-สัมมนา ฯลฯ และเติมเต็มประสบการณ์ด้วยกิจกรรมต่างๆ ตามที่โอกาสจะเอื้ออำนวย  เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกระบวนการจัดทำ Km ของทุกหน่วยงาน  แต่มีน้อยนะคะ  ที่จะ (กล้า) สะท้อนความจริง  ยินดีกับโรงเรียนของอาจารย์ธนิตย์นะคะที่ก้าวล้ำวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อความก้าวหน้าขององค์กรและการพัฒนาการศึกษาไทยค่ะ

                                              

มาส่งกำลังใจค่ะ...สู้ๆๆๆๆค่ะมาชวนไปเที่ยวที่บ้านท่านคิมอิลซุงค่ะ....ที่นี่นะคะ

http://gotoknow.org/blog/0815444794/404698

-สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์....

-แวะมาเยี่ยมครับ....

-สบายดีนะครับ...

-เก็บเห็ดโคนจากพรานกระต่ายมาฝากด้วยครับ....

 

พี่ครูธนิตย์ครับ เปิดเทอมแล้ว เป้นอย่างไรบ้างครับ

เห็ดน่าทานมากนะคะ สดใหม่ น่าจะหวานกรอบ

 สวัสดีค่ะพี่ธนิตย์ที่เคารพ

ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปค่ะ มันเป็นความจริงเลยค่ะ

 

ผมเริ่มนำการจัดการความรู้เข้ามาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแล้ว ก็คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างซึ่งเกินเลยไปนัก

 

การที่ไม่มีการหยิบยกเรื่องการจัดการเรียนการสอนมาพูด และไม่แสดงความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนของกันและกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของมารยาท... ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ถูกตามหลักของ KM เท่าไหร่นัก และยังมีคนอีกหลายๆ ท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับ KM..  (จากที่หนูมองเห็นอยู่ค่ะ)...

พี่ธนิตสบายดีนะคะ... หนูไม่ได้เข้า G2K นานมากๆ  ไม่ได้เที่ยวเพลินนะคะ  สุขภาพ และเวลาไม่ค่อยเอื้ออำนวย ช่วงหลังนั่งหน้าจอคอมพ์นานไม่ค่อยได้..เลยค่ะ

ยังคงเคารพและระลึกถึงพี่ธนิตย์ และพี่ครูกาญจนาเสมอค่ะ..

 

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่า

ขอบคุณทุกความเห็น

ผมมาร่วมวงได้ 3 4 วัน ทำให้ผมมีแนวทางในการเรียนการสอนมากขึ้น

ผมไปเตรียมสอนดีกว่า

อีกอย่างหนึ่งผมไม่ชอบเลยที่ต้องมาซ้อมเด็กบางคนไปแข่งขันต่างๆ เราน่าจะเห็นกับเด็กส่วนใหญ่มากกว่า

มาอีกรอบค่ะ...ขอบคุณที่ไปแวะเยี่ยมนะคะ

สวัสดีค่ะครูธนิตย์

  • ไม่ได้เป็นครู...แต่ก็มาชื่นชมวิธีการของครูที่ทำได้อย่างน่าชื่นชมค่ะ
  • การทำงานแต่ละที่ก็มีแนวทางของตนเอง...ซึ่งก็เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ
  • ขอให้ครูธนิตย์ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อนครู...มีพลังกายและใจที่ดีและสามารถผ่านอุปสรรค์ทุกอย่างได้อย่างมีความสุขและน่าภูมิใจแทนโรงเรียนและนักเรียนและเพื่อนครูค่ะ
  • ขอให้สุขภาพแข็งแรงและมีความสุมากๆค่ะ
  • สุขในการแบ่งปันความรู้....ยิ่งให้ยิ่งได้...

สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิตย์มาเยี่ยมชมการบันทึกที่สุดยอดและชมโรงเรียนที่สวยงาม มีระเบียบ สวยงาม น่าชื่นชม การนำKM ลงสู่โรงเรียนมีผลดีมากนะคะ อยากจะให้ครูมีการจัดการความรู้ที่มีระบบอย่างทั่วถึงนะคะ ฝันดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท