จิตตปัญญาเวชศึกษา 146: คำถามดีๆ หรือคำตอบดีๆ?


คำถามดีๆ หรือคำตอบดีๆ?

ยุคนี้เข้าสู่ slope ขาขึ้นของการสื่อสาร จากการที่กำแพงกายภาพถูกเทคโนโลยีสลายลงไปเกือบสิ้นเชิง เครื่องมือในการเรียนรู้ ต่อยอดการเรียนรู้ เช่น KM หรือ World Cafe, Open Space Technology, etc นำมาผสมผสานบูรณาการทำให้ประสบการณ์ชีวิตของคนๆหนึ่งถ่ายทอดไปสู่คนอีกหลายสิบ หลายร้อย พัน หมื่นคนได้ในชั่วพริบตาเดียว และบ่อยครั้งในนามของ "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" หรือ "การบริหารจัดการความรู้"

สมเด็นพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย ทรงมีพระบรมราโชวาทหนึ่งว่า "True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind." การเรียนรู้ที่ทรงคุณค่านั้นไม่ใช่เพียง for the sake of learning หรือเรียนเพื่อได้เรียนเฉยๆ แต่จะต้องนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย

ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของการเรียนรู้ คือ มี "บทเรียน" เกิดขึ้น ซึ่งบทเรียนที่ว่านี้ เป็นอะไรที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทมากเหลือเกิน ปรากฏการณ์หนึ่งๆให้คนร้อยคนมาประสบ ก็อาจจะออกมาเป็นร้อยบทเรียน เพราะจุดสนใจ สิ่งที่คนนำไปใช้นั้น สามารถเกิดจากมุมมองมากมายหลากหลายนับไม่ถ้วน บางคนดูพระเอก บางคนดูนางเอก บางคนดูฉาก บางคนฟังเพลงประกอบ บางคนเชื่อมโยงนี่เข้าหานั่น บางคนนึกตาม script บทพูด บางคนจินตนาการตาม script บทอวจนภาษา ฯลฯ จากความหลากหลายที่ว่ามานี้ ทำให้ตัวผมเองเกิดความฉงยฉงายเรื่อง "การถอดบทเรียน" ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

เวลาเราถอดบทเรียน อย่่างง่ายสุดก็คือถอดโดยใช้ตัวเรา ความสนใจของเรา ความรู้ของเรา เป็นฐาน ความรู้ที่ได้ก็จะออกมามีกลิ่นอายของบริบทตัวคนถอดเองเป็นสรณะ ซับซ้อนขึ้นมาก็ลองเอามุมมองอื่นๆ (ซึ่งเราเองก็ตั้งสติ และเป็นคนนิยามว่า "มุมนี้เราคิดว่าเป็นของ...." เอาเอง) และถอดตามมุมนั้นๆออกมาบ้าง ยิ่งลองหลายมุม ยิ่งอาจจะได้หลายแง่ เหมือนกับการพยายามชมเรื่องราว Rashomon ตามมุมมองของตัวละครทุกตัว

แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นอิทธิพลที่ "เราเป็นคนสังเกต" ในระบบที่สนใจ และเราเข้าไปพัวพันทั้ง process และผลลัพธ์อย่างหนีไม่พ้น

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ผมพบว่าบทเรียนบทหนึ่ง ที่เราเองเป็นคนถอดเมื่อเวลาหนึ่งในอดีต ภายหลังต่อมาเรามาลองถอดซ้ำ ปรากฏว่าบางที สิ่งที่เราสรุปได้กลับไม่เหมือนเดิม แม้กระทั่งอาจจะขัดแย้งกับของเดิม ไม่ได้แปลว่าเรารู้มากขึ้นเท่าน้ัน หรือแปลว่าครั้งหลังจะถูกต้องกว่าครั้งแรก แต่ผลเกิดจาก "เราที่เป็นผู้สังเกตเปลี่ยนไป ผลจากการสังเกตก็เลยเปลี่ยนไปด้วย"

การถอดบทเรียนที่เป็นการ "สรุป" จึงอาจจะ (ในที่สุดแล้ว) เป็น futile exercise ก็คือ ไม่ยั่งยืน เพราะบทเรียนบทหนึ่งที่ได้ ณ ขณะหนึ่งนั้น เกิดจากผู้สังเกต ณ ขณะนั้นเป็นคนให้ความหมายเท่านั้นเอง

อยากจะลองเสี่ยงยืดการตีความตรงนี้ออกไปอีกนิดนึง ยิ่งถ้าเราอยากสรุปออกมาให้สั้นๆ กระชับๆ จนเสมือนได้คำจำกัดความ ได้นิยาม ได้ final solution จากประสบการณ์หนึ่งๆ ในขณะที่เราอาจจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจใน "องค์ความรู้ใหม่" ที่ได้ ภูมิใจใน "คำตอบที่สมบูรณ์" (ณ ขณะนั้น) ทันทีที่เกิดความรู้สึกนี้ขึ้น เราก็จะ move on ไปยังคำถามใหม่ ไปยังปรากฏการณ์ใหม่ๆไป เพราะตรงนี้เราพึงพอใจแล้ว

ผมกลับรู้สึกว่า เราสัมผัสกับ "ความมีชีวิตชีวา ไม่ใช่ตอนเรามีคำตอบดีๆ แต่เป็นตอนที่เรากำลังมองไปที่คำถามดีๆมากกว่า"

และโดยไม่เร่งรีบด่วนสรุปในคำตอบที่เราค้นได้ ถ้าเราปล่อยให้คำถาม (หรือประสบการณ์ หรือปรากฏการณ์) ห้อยแขวน ล่องลอย ไว้ก่อน ค่อยๆละเลียดชิม เคี้ยว ลิ้มเลีย ซึมซับในรสชาติอย่างช้าๆ เราจะค่อยๆได้รับรู้รสชาติอันละเอียดที่เราสามารถมองข้ามไปในการกินหยาบตอนแรกอย่างมากมาย

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ในการศึกษา เราอยากจะเกิด "การเปลี่ยนแปลง Change" ขึ้น ระหว่างมีคำถามดีๆ กับมีคำตอบดีๆ เราจะพบความจริงประการหนึ่งคือ เมื่อเราคิดว่าเรามีคำตอบที่ดีอยู่แล้ว เราจะอยู่ในสภาวะ inert หรือเฉื่อย ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากกระทำแบบอื่นๆมากเท่ากับเมื่อเราอยู่ในช่วงที่เราคิดว่าเรากำลังมีคำถามที่ดี

คำถามทำให้ชีวิตเรามุ่งไปหาสิ่งที่ "เพิ่มเติม" จากปัจจุบัน เป็นอนาคตที่กำลังผุดกำเนิดขึ้นมา ที่หากเราพร้อมที่จะรับรู้ โดยไม่ติดกับดักกับ "คำตอบที่ดี" เกินไป เราจะสามารถแสวงหาความตื่นเต้น ชีวิตชีวา และการเรียนรู้ใหม่ๆได้ตลอดไป ยิ่งถ้าคำตอบที่ดีนั้น เป็นเรา "เร่งรัดรีบรีด" ตอบออกมา บางทีประสบการณ์ชีวิตอันมีคุณค่าก็ลดลงเหลือเพียงหนึ่งหน้ากระดาษ A4 ก็น่าเสียดายพอสมควร

หมายเลขบันทึก: 403559เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

วันนี้ รพ ศรีนครินทร์ มข จะไปสัมมนา KM ค่ะ

ได้แนวคิดดีดีไปต่อยอดได้อีก ขอบคุณค่ะ

อาจารย์คะ ขอบคุณค่ะ ขอบคุณมากจริงๆ ค่ะ.......

จะพยายามค่อยๆ เรียนรู้ไปกับกระบวนการหาคำตอบของ "คำถามที่ดี" ค่ะ

อาจเป็นคำถามไม่ดีนักคะ แต่อยาถามว่า

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำถามไหนดี

คำถามที่เรารู้สึกว่าต้อง "หา" คำตอบ เพราะเราจะเปลี่ยนวิถีชีวิต

หนูได้มีโอกาสถอดบทเรียนจากworkshopที่เชียงใหม่ให้สำนักงานคุณภาพแบ่งปันให้ผู้คนรอบข้างได้ร่วมมีความสุขเหมือนหนูค่ะ

แต่บางเรื่องตัวเองกลับรุูสึกว่าพอกลับมานั่งทบทวนจากสมุดบันทึกความรู้สึกตอนที่เขียนกับตอนนี้มันนึกไปคนละเรื่องกันซะงั้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท