ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตอนที่ 6 ปัญหาในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานเพลงอีแซว


การเผยแพร่ผลงานที่มีผลกระทบในการสร้างชื่อเสียงให้กับวงเพลงและสถานศึกษา

ปัญหาและวิธีการแก้ไข

การจัดกิจกรรม

เพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 6 ปัญหาในการนำเสนอและการเผยแพร่ผลงาน

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ต้นแบบกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ประเทศไทย รุ่นที่ 1

          ในการนำเสนอผลงาน วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ก่อตั้งมานานเกือบจะครบ 20 ปีได้นำวงออกไปเผยแพร่ผลงานตามคำเชิญ หนังสือเชิญยังสถานที่ต่าง ๆ หลายสถานที่หลายเวทีการแสดง ผ่านมามากว่า 1000 รอบของการแสดง ผมขอแยกการแสดงออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ

  1. การนำเสนอผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านและเพลงอีแซว ณ สถานที่ทั่ว ๆ ไป
  2. การเผยแพร่ผลงานที่มีผลกระทบในการสร้างชื่อเสียงให้กับวงเพลงและสถานศึกษา

ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นมีรูปแบบที่ต่างกันในเรื่องของเวลาทำการแสดง หากเป็นการนำเสนอผลงานทั่ว ๆ ไป จะมีเวลาทำการแสดงตั้งแต่ 45 นาที ไปจนถึง 4 ชั่วโมง ส่วนการเผยแพร่ผลงานประเภทการประกวดแข่งขันจะมีเวลาจำกัด 7-20 นาที หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 25 นาที ผมจะขอนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาในทั้งสองกรณีมาขยายความในรายละเอียดเพื่อเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในบทความนี้ ครับ

         

         

         

         

กรณีที่ 1 การนำเสนอผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านและเพลงอีแซว ณ สถานที่ทั่ว ๆ ไป

          เวทีการแสดงเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ของวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ในช่วงระยะเวลาต้น ๆ จะทำการแสดงอยู่ภายในจังหวัดสุพรรณบุรีเสียเป็นส่วนมาก และผู้ที่ติดต่อ เชิญไปแสดงก็จะมาจากบุคคลที่รู้จักมักคุ่นกัน พอท่านมีงานทำบุญครบรอบอายุ 80 ปีคุณพ่อ หรือคุณแม่ มีงานทำบุญครบ 50 วัน 100 วันผู้ที่ล่วงลับไป ต้องการที่จะหาเพลงอีแซวไปให้คุณพ่อ คุณแม่ และคนรุ่นเก่า ๆ ได้ชมการแสดง พวกเราก็พลอยมีโอกาสได้ไปนำเสนอผลงาน นอกจากนั้นก็เป็นงานวันเกิด มีการจัดเลี้ยงในวงญาติไม่มากนัก เจ้าภาพติดต่อให้ไปทำการแสดงให้คนในหมู่บ้านได้ชม รวมทั้งงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ต่อมาก็ขยายวงไปสู่งานวัด งานประจำปี งานทอดกฐิน  งานปิดทองฝังลูกนิมิต ฯลฯ งานดังกล่าวนี้ จะทำการแสดงในที่โล่ง ผู้ชมมีอิสระในการตัดสินเข้ามานั่ง ยืนชมการแสดงตามความสนใจ หากนักแสดงเล่นดีก็จะมีท่านผู้ชมมาให้กำลังใจมากและติดตามชมการแสดงยาวนาน และถ้าการแสดงไม่ถูกใจท่านผู้ชมก็อาจจะมาให้กำลังใจน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยก็ได้ การแสดงในสถานที่เปิด เป็นเครื่องแสดงคุณภาพของทีมงาน ยิ่งเป็นสถานที่ในต่างถิ่นต่างแดนด้วยแล้วยิ่งเป็นเครื่องยืนยันในความสามารถ ในคุณภาพของนักแสดงได้เป็นอย่างดี ศิลปะการแสดงจึงไม่สามารถที่จะแสดงคุณภาพด้วยการทดสอบหรือให้คะแนน แต่จะต้องติดตามจากร่องรอยในเวลาที่ผ่านมามองภาพรวม ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงจะสรุปได้ว่า มีคุณภาพอย่างไรหรืออยู่ในระดับใด ทีมนักแสดงที่มีงานแสดง มีคนดู อยู่มานาน คือ ตัวบ่งชี้ความมีมาตรฐานในระดับดี-ดีมาก (สูง-สูงมาก) แต่การที่จะเป็นมืออาชีพได้จะต้องพัฒนาไปให้ถึงงานที่เข้ามาด้วยว่ามีมากพอที่จะมีรายได้ยังชีพหรือช่วยเหลือครอบครัวในวิถีชีวิตปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและชัดเจน  ปัญหาในการแสดงเพลงอีแซวบนเวทีตามสถานที่ทั่ว ๆ ไป มีปัญหาที่จะต้องนำเอามาคิดและแก้ไขเกือบจะทุกงาน เท่าที่ผมบันทึกเอาไว้ในบางครั้งและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อวงเพลงก็คือ

           1.  ปัญหาเรื่องของสถานที่แสดง โดยทั่วไปแล้วเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านของเราจะเลือกทำเลและทิศทางพอสมควรโดยเฉพาะด้านหน้าเวทีจะไม่หันไปทางทิศตะวันตกและจะต้องไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบังหน้าเวที แต่ในความเป็นจริง บางงานเราได้สถานที่ติดกับมหรสพอื่น ๆ ที่มีเสียงดังกว่าของเรามากจนทำให้กาแสดงไม่เป็นขบวนไปเลย และที่หนักใจมากอีกอย่างในเรื่องของสถานที่คือ ไปเจอสถานที่ตั้งเวทีการแสดงที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่บังหน้าเวทีถึง 2 ต้น เรียกว่า ไม่มีมุมมองที่โล่งตาเลย

           2.  ปัญหาเรื่องของเวที ไม่มีเวทีให้ ผู้ติดต่อเตรียมพื้นที่เป็นลานโล่งไม่กว้างขวางนักจัดเอาไว้เป็นสถานที่แสดง บางงานอยู่รวมกับบูทแสดงผลงาน พวกเราต้องใช้เสียงสด ๆ ไม่มีเครื่องขยายเสียง ร้องตะโกนกันออกไป เครื่องดนตรีก็ใช้ฉิ่งและกรับเท่านั้น เพราะแค่พื้นที่ ที่จะให้นักแสดงยืนก็แทบจะไม่มีแล้ว ส่วนในบางสถานที่มีเวทีให้แต่เวทีเล็กและแคบจนเกินไปไม่เหมาะสมกับจำนวนนักแสดง 15-17 คน แค่ยืนเข้าแถวเรียงกันก็เต็มเวทีแล้ว

           3.  ปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้า งานวัดบางบางแห่ง กำหนดให้วงเพลงอีแซวใช้ไฟสำรอง (เครื่องปั่นไฟ) ให้กำลังไฟฟ้าต่ำแค่ 110-115 โวลต์ เครื่องขยายเสียงที่เราเตรียมไปเป็นเครื่องที่ใช้กับไฟ 220 โวลต์ ทำให้เสียงดังไม่ชัดเจนและเครื่องก็จะเสียหายเอาเสียด้วย ขอใช้ไฟฟ้าจากสายเมนใหญ่ปกติก็ไม่ได้ ทางวัดเกรงว่าไฟจะไม่พอ ไฟส่องบนเวทก็สลัว เสียงดังขุ่นมัวไม่สดใสแถมเสียงบีบบี้อีกต่างหาก

           4.  ปัญหาในเรื่องของเวลาทำการแสดงก่อนหลัง คณะกรรมการผู้ที่จัดงานจะมีคิวการแสดงแจ้งให้ทางเราได้รับทราบว่า ณ เวทีการแสดงแห่งนี้ ทีมงานวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ จะขึ้นเวทีในเวลาเท่าไร มีอยู่งานหนึ่ง เขาจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมเอาไว้หลายจังหวัดของเราเป็นเจ้าของถิ่นให้เกียรติทีมจากต่างจังหวัดได้แสดงก่อนตามที่เขาขอร้อง กว่าของเราจะได้ขึ้นไปแสดงก็เป็นรายการสุดท้าย และในงานเดียวกันนี้เองแต่ไม่ได้จัดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ผมได้รับคิวการแสดงมาอยู่ลำดับที่ 2 แต่มีทีมเจ้าของสถานที่ขอแสดงก่อน (เพราะมีคนดูมาก) เราไปได้ขึ้นแสดงลำดับสุดท้ายเช่นเดียวกัน เวลา 22.15 น.ไม่มีคนดูแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่ง เป็นเวทีศิลปวัฒนธรรมระดับจังหวัด คณะกรรมการจัดการแสดงเอาไว้ 5 ชุด เป็นเพลงพื้นบ้านทั้งหมด โดยให้เวลาทำการแสดงชุดละ 30-45 นาที ปรากฏว่าทีมที่ได้คิวแสดงก่อนเล่นกันเต็มเวลาจนถึงเกินเวลา ประมาณ 22.00 น. ที่หน้าเวทีไม่มีคนดูแล้ว คณะของเราได้ขึ้นเวทีเวลา 23.10 น. ไม่ต้องพูดว่ามีคนรอดูไหม (ไม่มีเลย) แต่พอเริ่มแสดงไปได้เพียงเล็กน้อยก็จะมีผู้ชมทยอยกันมาหยิบเก้าอี้ที่พับเก็บแล้วมานั่งชมการแสดงของเราประมาณ 200 คนได้ (เป็นพวกพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในงาน) เด็ก ๆ ทำการแสดงไปจนเลยเที่ยงคืน

           5.  ปัญหาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับท่านผู้ชม มหรสพหรือการแสดงรื่นเริงทั้งหลายในยุคปัจจุบัน นักแสดงจะต้องมีความใกล้ชิด เป็นกันเอง มีความอ่อนน้อม ให้ความเคารพ มีปฏิสัมพันธ์กับท่านผู้ชม และจะต้องเปิดโอกาสให้ท่านผู้ชมได้ส่วนร่วมในการแสดงบนเวทีด้วย จึงจะสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้ ปัญหาที่พบครั้งคือ ผู้ชมมีรสนิยมที่แตกต่างกัน ในบางสถานที่จะต้องเล่นเพลงเรียบ ๆ (สองแง่สองง่ามก็เล่นไม่ได้) บางสถานที่ต้องการชมเพลงสนุก ๆ เล่นได้ถึงใจแค่ไหนคนดูยิ่งชอบ แต่นักแสดงอาจจะปรับแก้ไขวิธีการแสดงไม่ทันใจท่านผู้ชม

            

            

            

กรณีที่ 2 การเผยแพร่ผลงานที่มีผลกระทบในการสร้างชื่อเสียงให้กับวงเพลงและสถานศึกษา

             การเผยแพร่ผลงานบนเวทีการประกวด/แข่งขัน มีปัญหา มีผลกระทบต่อทีมงาน นักแสดงมากกว่าในประเด็นที่กล่าวมา ทั้งนี้เพราะบนเวทีการประกวด/แข่งขันเรามีคู่แข่ง มีคู่ต่อสู้ที่จะต้องเอาชนะซึ่งกันและกัน แต่การเอาแพ้เอาชนะจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎเกณฑ์ กติกาที่คณะกรรมการได้ตั้งเอาไว้ คณะที่แสดงได้ดี อาจจะไม่ได้รับรางวัลก็ได้ เพราะได้แต่แสดงดี ส่วนกฎเกณฑ์ในข้ออื่น ๆ มิได้ทำได้ดีไปจนครบทุกข้อ แต่ในบางทีมการแสดงอาจจะอยู่ในเกณฑ์ แต่สามารถที่จะเก็บคะแนนในข้ออื่น ๆ ได้จนครบ ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผมพาเด็ก ๆ ไปประกวด/แข่งขันมามากกว่า 250 ครั้ง แต่เราได้รับรางวัลมา 219 รางวัล รางวัลที่วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ได้รับมามีทั้งรางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลชมเชย รางวัลยอดเยี่ยม รางวัลดีเด่น รางวัลต้นแบบ รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง แต่ผลกระทบทั้งหมด จะออกมาเป็น 2 ทางคือ

           1. ผลกระทบในทางบวก เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับบุคคล สถานศึกษา จนถึงชุมชนหรือท้องถิ่น เมื่อทีมงานของเราได้รับรางวัลมาก็เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวเด็กเอง ครูผู้ฝึกสอน ท่านผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน เพื่อนนักเรียนภาคภูมิใจในผลงานที่ได้รับ แต่ก็ไม่วายที่จะมีผลกระทบทางจิตใจ ในเมื่อมีทีมที่ผิดหวัง พยายามมองประเด็นส่วนตัว ไม่มองภาพรวมของกติกาให้ครบทุก ๆ ข้อ มีความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ใช้ความคิดของตนเองตัดสินทีมงานของตนเองก็มี ในบางเวทีมีผู้ที่ผิดหวังทำหนังสือประท้วงการจัดการประกวด จนทำให้หลายครั้งที่ผมไม่ได้ส่งเด็ก ๆ ไปร่วมแข่งขัน ผมเคยกล่าวเอาไว้ในบทความของผมว่า “การประกวดแข่งขันมิใช้ตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดที่จะบอกว่า ทีมการแสดงของเราดีที่สุดตลอดไป แต่รางวัลจากการประกวดแข่งขันเป็นตัวชี้บอกได้ว่า ณ สถานการณ์นั้นทีมของเรามีความสมบูรณ์มากที่สุด” การแสดงจะเป็นอย่างไร ติดตามไปดูบนเวทีการแสดงที่เล่นเต็มเวลาดีกว่า จะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะบนเวทีการแสดงเต็มเวลา 3-4 ชั่วโมง นั่นแหละจะมองเห็นคุณภาพทีแท้จริงได้

            2. ผลกระทบในทางลบ เมื่อการประกวด/แข่งขันจบลง ทีมของเราได้รับรางวัลรองลงมาหรือในบางครั้งเราไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับมาเลย ก็นำมาซึ่งความเสียใจ เกิดความซึมเศร้า หมดกำลังใจ หมดแรง พูดบ่นโทษตนเองและเพื่อน ๆ กันมาตลอดทาง ความจริงเป็นธรรมชาติหรือเป็นสัจธรรมของการแข่งขันอยู่แล้วว่า ผลที่ออกมาจะต้องมีทั้งผู้ที่ถูกใจและผู้ที่ไม่ถูกใจ จะต้องมีทั้งผู้ที่สมหวังและไม่สมหวัง ผมเคยให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ นักแสดงอยู่เสมอว่า การแข่งขันมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือชนะกับแพ้ หรือได้กับเสีย ได้ คือได้รับรางวัล  เสีย คือเสียใจ ในเมื่อเราไปในฐานะของผู้เข้าประกวด ประชัน แข่งขันกันจะต้องรับได้ทั้ง 2 ทาง ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ได้รับ แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่ารางวัลที่ได้รับและความผิดหวังคือ ความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีความคิดรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ตัวของตัวเองว่า เป็นใครกำลังทำหน้าที่อะไร มีบทบาทแค่ไหน ถึงแม้ว่าจะมีหลายเวที ที่ทีมงานของเราพลาดหวังจากรางวัล แต่ทีมงานของเราก็ยังได้นำเสนอผลงานไปปรากฏต่อสายตาของผู้ชมอีกเป็นจำนวนมาก

ติดตามตอนที่ 7 วิธีแก้ปัญหาในทีมงานวงเพลงอีแซวในโรงเรียน

หมายเลขบันทึก: 403552เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท