๓ องค์ประกอบหลักที่นักวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม PAR ต้องเรียนรู้ให้ทำได้และทำเป็น


Large_lotuscreativepnt2 Large_lotusabstraction2 

การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม PAR : Participatory Action Research เป็นการวิจัยแนวหนึ่งที่มีความเป็นนวัตกรรมการจัดการความเปลี่ยนทางสังคมอยู่ในตนเอง ทั้งนี้ ก็เนื่องจากโดยธรรมชาติของกระบวนการวิจัยในแนวนี้เองนั้น จะมีความสามารถสนองตอบต่อความต้องการในการแก้ปัญหาจากข้อจำกัดของการนำเอาการวิจัยในกระแสหลักและการวิจัยในแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับการทำงานเชิงปฏิบัติการสังคม หลายประการ อีกทั้งทำให้การวิจัยซึ่งเป็นกระบวนการทางวิชาการสามารถออกแบบให้มีความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆของการพัฒนาทางสังคมไปด้วยได้อย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ การวิจัยแนวนี้ยังทำให้นักวิจัยและกลุ่มคนที่สามารถทำงานความรู้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะเป็นเพียงคนจำนวนน้อยในหมู่คนชั้นกลางที่ระบบสังคมจะสร้างขึ้นมาได้ด้วยกระบวนการทางศึกษา ให้สามารถมีบทบาทหน้าที่ต่อความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก้าวเดินออกไปเป็นกำลังทางความรู้และเป็นเครือข่ายภาคีการพัฒนามิติต่างๆของชุมชนระดับต่างๆของสังคม เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดงบประมาณและทรัพยากรด้านอื่น จะสามารถหาทางออกด้วยการใช้ความรู้และปัจจัยมนุษย์เป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญญา

ด้วยความจำเป็นและบริบททางสังคมดังกล่าวนี้ การวิจัยแบบ PAR จึงจะมีฐานความคิด สำหรับการทำงานเชิงสร้างสรรค์อยู่ภายในกระบวนการวิจัย อีกทั้งต้องทำงานเชิงกระบวนการที่กอปรไปด้วยความสำนึกและความมีจิตวิญญาณทางสังคม มากกว่าเป็นการ 'ได้ทำวิจัย' และทำงานความรู้เพียงเป็น 'กิจกรรมทางวิชาการ (Research and Academic Exercise)' โดยต้องมุ่งพัฒนาแนวคิดและออกแบบระเบียบวิธีให้สามารถสะท้อนองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ ให้บูรณาการเข้าไปสู่กระบวนการวิจัยทุกมิติอย่างกลมกลืน

องค์ประกอบ ๓ ประการดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นหลักการพื้นฐานและใช้เป็นหลักพิจารณา บ่งชี้ความเป็นการวิจัยในแนวนี้อีกด้วย รายละเอียดของ ๓ องค์ประกอบดังกล่าวมีดังนี้

 CER    ๓ กระบวนการที่จำเป็นต้องบูรณาการอยู่ในการวิจัยแบบ PAR 

     Community Orientation and Community-Based Development Integration : การระบุปัญหาที่มุ่งความเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชนและสังคม การวิจัยแบบ PAR ต้องมุ่งพัฒนาประเด็นการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาทางการปฏิบัติของชุมชนและกลุ่มคนต่างๆ รวมทั้งมุ่งยกระดับความเป็นจริงทางสังคม และยกระดับการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิต ทั้งในเชิงรูปธรรมและในเชิงนามธรรม

     Education and Learning Process Integration : การพัฒนากระบวนการทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อมุ่งระดมพลังแก้ปัญหาจากภายในชุมชน สร้างคนและทำให้ผู้คนเกิดความมีส่วนร่วม สามารถเรียนรู้และยกระดับการปฏิบัติ สามารถแปรการปฏิบัติและศักยภาพอันเกิดจากกระบวนการทางการศึกษาและการเรียนรู้ ไปสู่การนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆดีขึ้น รวมทั้งสามารถเกิดประสบการณ์ทางสังคม และนำเอาความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้ 

ในอดีตนั้น กระบวนการทางการศึกษามักทำให้นักวิจัยนึกถึงการจัดฝึกอบรมและประชุมชาวบ้าน ตลอดจนจัดอบรมและจัดกระบวนการทางการศึกษาให้แก่เครือข่ายผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนมีทักษะปฏิบัติสำหรับนำไปใช้ระหว่างทำวิจัย เช่น ฝึกอบรมวิธีพัฒนาเครื่องมือวิจัย ฝึกอบรมวิธีเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ฝึกอบรมการพัฒนาและวางแผนโครงการ ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่แยกส่วนออกมา เพื่อดำเนินการให้จำเพาะเจาะจง อีกทั้งมักจะหมายถึงการถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างทักษะที่ต้องการจากนักวิจัยไปสู่กลุ่มชาวบ้านผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ

ปัจจุบัน กระบวนการทางการศึกษาและการเรียนรู้ ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก นอกจากนักวิจัยและกลุ่มปฏิบัติการจะสามารถใช้กระบวนการทางการศึกษาแบบดั้งเดิมดังกล่าวอย่างได้ผลแล้ว แนวคิดในการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ก็สามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางมากกว่าการอบรมและถ่ายทอดความรู้ เช่น อาจออกแบบให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำวิจัยของประชาชน การเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้กับแหล่งประสบการณ์ที่เหมาะสม การถอดบทเรียนตนเองและเรียนรู้จากภายใน การสร้างสภาพแวดล้อมทางสื่อและการเรียนรู้แบบเสริมพลัง ออกแบบให้เป็นการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้รหว่างกลุ่มคนและระหว่างชุมชน ออกแบบให้เป็นการทำงานเป็นกลุ่มซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมภายในชุมชนผู้ปฏิบัติซึ่งจะให้การเรียนรู้แบบ Horizontal Interactive Learning Through Action เหล่านี้เป็นต้น กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้เหล่านี้ จะนำไปสู่ความสามารถในการระดมพลังปฏิบัติและบรรลุจุดหมายในการแก้ปัญหาที่ต้องการได้ต่อไป

องค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ว่าจะออกแบบและดำเนินการในรูปแบบใด ต่างก็อยู่บนแนวคิดเพื่อการสร้างคน สร้างชุมชน ให้ใช้ความรู้และสติปัญญาแก้ปัญหา ในสภาพความจำเป็นและบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบให้บูรณาการอยู่ในการวิจัยในแนวนี้

     Research Integration :  การวิจัย สร้างความรู้ และสร้างทฤษฎีพื้นฐานจากการปฏิบัติ ในทางการศึกษานั้น การเกิดประสบการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางการปฏิบัติ เป็นเครื่องบ่งชี้การเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง อีกทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น ก็มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิต ดังนั้น จึงเป็นความรู้และทฤษฎีที่มีพลังต่อการอธิบายภาคปฏิบัติของสังคม อีกทั้งจัดว่า เป็นความรู้ความจริงเชิงวัฒนธรรมหรือความรู้เชิงทฤษฎีที่มีบริบท ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทดแทนได้ด้วยความจริงที่อธิบายโดยวิทยาศาสตร์แนวกระแสหลักแล้ว ก็กลับจะส่งเสริมเติมเต็มกันและกันให้สังคมมีความงอกงามมั่งคั่งในงานสร้างสรรค์ทางปัญญาได้มากยิ่งๆขึ้น การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ขึ้นอย่างเป็นระบบจึงจำเป็นต้องออกแบบให้บูรณาการกับมิติอื่นๆไปด้วย

  IRE    ๓ ศักยภาพบูรณาการที่นักวิจัยแบบ PAR จำเป็นต้องมี 

ด้วยคุณลักษณะ ความจำเป็น และความต้องการที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมดังที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ ก็จะเห็นได้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม นั้น มีความเป็น 'การวิจัยและการปฏิบัติการเชิงสังคม' หรือ 'Social Research and Social Action' ซึ่งจะต้องผสมผสานงานความรู้และการดำเนินการภาคปฏิบัติ ให้กลมกลืน มีความบูรณาการอยู่ในตนเองในศักยภาพที่สำคัญ ๓ ด้านเพื่อเป็นนักวิจัยในแนวทางนี้ได้อย่างสอดคล้องกับความจำเป็นและระบบวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังในข้างต้น ประกอบด้วย 
     Creative Igniter and Changes Facilitator : ความเป็นกระบวนกร มีความสำนึกร่วมต่อสังคมและชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยความริเริ่มและสร้างสรรค์ และจัดวางตนเองให้เป็นผู้สนับสนุนชุมชนหรือกลุ่มผู้ปฏิบัติ สำหรับริเริ่มและทำงานต่างๆได้
     Researcher : ความเป็นนักวิจัยและนักวิชาการ เป็นผู้มีหน้าที่ต่อสังคมในการสร้างสั่งสมความรู้และบริการงานวิชาการเพื่อเสริมกำลังการพัฒนาของสังคม
     Educator : ความเป็นนักการศึกษา สามารถทำให้กระบวนการวิจัยเป็นเงื่อนไขการเรียนรู้และเป็นโอกาสสร้างคน เป็นโอกาสพัฒนาการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม เป็นครูของชุมชน เป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงกับผู้คน เป็นสภาพแวดล้อมที่ให้ความเชื่อมั่นในตนเองของชาวบ้านและก่อเกิดความบันดาลใจในการพึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อมีความยั่งยืนต่อการพัฒนาต่างๆ

องค์ประกอบที่สำคัญดังกล่าวนี้ เป็นศักยภาพที่นอกเหนือจากความรู้เชิงเทคนิคการวิจัยและความรู้เชิงวิชาการ อีกทั้งเป็นทั้งความเป็นศาสตร์และความเป็นศิลปะ ซึ่งจะทำให้การวิจัยและงานความรู้ ตลอดจนบทบาทในเชิงระบบของความเป็นนักวิจัยและนักวิชาการต่อการทำหน้าที่ทางสังคม มีบทบาทที่จำเพาะต่อสังคม

นอกจากจะเป็นการวิจัยแล้ว ก็เป็นการทำให้การเรียนรู้และแก้ปัญหา มีความผสานกลมกลืนเป็นมรรควิถีแห่งชีวิต สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย.

หมายเลขบันทึก: 403388เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 04:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ในความรู้สึกของตัวเองแล้ว

บันทึกที่บางครั้งต้องกลับมาอ่านหลาย ๆ ครั้ง

...จึงเป็นการตอกย้ำความคิดของตัวเอง ให้เข้าใจวิถีและการบูรณาการความรู้ ทั้งกระบวนการคิดวิเคราะห์ และกระบวนขององค์ความรู้ที่ อาจารย์มอบให้

เฉกเช่นที่นี่ ...

กราบขอบพระคุณ อาจารย์มากนะครับ

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
สบายดีหรือไร ตอนนี้ภาคใต้ฝนตกและน้ำหลากอย่างที่อื่นๆไหม
ผมฟังข่าวแถวบ้านต่างจังหวัดแล้วรู้สึกเป็นห่วงน่าดูเลย โดยเฉพาะเด็กๆ
พวกเด็กๆเห็นน้ำแล้วก็จะชอบ แต่มักไม่ค่อยมีประสบการณ์ในชีวิตที่จะทำให้รู้ว่าน้ำในช่วงนี้จะเป็นน้ำที่หลากและไหลแรง เด็กๆก็เลยมักจะเจออุบัติเหตุในชีวิตอยู่เป็นประจำในปีที่มีน้ำมากๆอย่างในปีนี้

สวัสดีคะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์

  • อาจารย์มักย้ำต่อน้องๆ ในทีมเสมอๆ ว่าต้องเป็นนักวิจัย นักวิชาการ ที่สามารถทำงานเชิงความคิดได้ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานเชิงกิจกรรม และต้องรู้จักคิดให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ จนเราสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้ตามใจเราในที่สุด ..
  • การเป็นสภาพแวดล้อมให้แก่กันของคนในทีมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้รอบด้านในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ..

                       

                      

  • ขอบพระคุณคะที่พาไปซาบซึ้งกับงานศิลปะเมื่อวานที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (The Queen’s Gallery) การวิพากษ์งานเชิงศิลปะของอาจารย์ให้เข้าใจและยอมรับได้ว่าทำไมเมื่อสมัยเรียน วิชาศิลปะวิพากษ์ ทัศนศิลป์ ถึงได้คะแนนน้อยนิดนัก ^^" ซึ่งอาจารย์พาคิดเชื่อมโยงเข้าสู่งานวิจัยได้เป็นอย่างดี แต่อาจจะเข้าใจช้าไปนิด ประมาณกลับไป หัวเราะท้องแข็ง เอาที่บ้านอาจารย์กรุณาอย่าเพิ่งเบื่อที่จะอธิบายนะคะ ^^"
  • ขอบพระคุณอีกครั้งคะ ...

ขอบคุณค่ะ..ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ เราได้ทีมงานของ ม.มหิดล (อ.ดร.นวรัตน์ พลายน้อย) มาช่วยสนับสนุนงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมของคณะครูโรงเรียนเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง..ซึ่งมีกระบวนการในแนวทางทำนองเดียวกับที่อาจารย์ได้แสดงไว้เช่นกันค่ะ..ทำให้เห็นทางออกของการบูรณาการหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับ การเรียนการสอน ที่ฝังจิตสำนึกความพอเพียงลงสู่ charactor ของเยาวชนอย่างยั่งยืน..

...ทั้งนี้ได้จัดเวที RtoR ของคณะครูไปแล้วหลายรอบ เพื่อกลับมาต่อยอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน..มีการประเมินทุกครั้งเช่นกันค่ะ..

  • นี่ผมกำลังแนะวิธีดูงานศิลปะนามธรรม และวิธีอ่านภาษาศิลปะ-เห็นไวยากรณ์ของงานศิลปะ ให้กับคุณเริงวิชญ์ นิลโคตร แน่ะ เริงวิชญ์เขาเป็นนักวิจัยชุมชนแนวมานุยวิทยาวัฒนธรรมที่กำลังผสมผสานงานแนว Social Action หากได้ความรู้ในการใช้ข้อมูลภาษาภาพและภาษาศิลปะด้วยก็จะขยายพรมแดนการทำงานไปได้อีกเยอะครับ 
  • เป็นงานของศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล คนไทยที่ไปประสบความสำเร็จทางศิลปะอย่างสูงสุดในอเมริกา เป็นศาสตาราจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาหลายแห่งกว่า ๒๕ ปี
  • และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลศิลปินชั้นเยี่ยมของสมาคมทัศนศิลป์แห่งประเทศไทยนับแต่ยังมีชีวิต (แต่ตอนนี้ท่านถึงแก่กรรมแล้ว)
  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ

                            

                                       ภาพสระบัว : The Waterlilly Pond ผลงานของโมเน่ ๑๘๙๙ ความร่มรื่น พลังชีวิต พลังความเบ่งบาน-งอกงาม ด้วยการเล่นกับไรแดด แสง-เงา ทั้งแสง-เงาของแดด และเงาอย่างซับซ้อนบนผิวน้ำ หากพิจารณาโดย Subjects แล้ว จะเห็นว่าในองค์ประกอบภาพนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลย เรื่องราวในมิติต่างๆก่อเกิดจากอิทธิพลของการเล่นกับไรแดดและแสง-เงาอย่างแท้จริง

    • ได้ทีมดีที่สุดทีมหนึ่งของมหิดลและของวงวิชาการเลยละครับ
    • ท่านชื่อ รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อยน่ะครับ ชื่อ นวรัตน์ ในมหาวิทยาลัยมีอีกหลายคนน่ะครับ
    • เมื่อวานผมได้ไปดูงานศิลปะที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯของธนาคารกรุงเทพฯที่ถนนราชดำเนินมาครับ มีงานหลายชิ้นที่ทำให้นึกถึงพี่นงนาทเลยนะครับ
    • เห็นรูปถ่ายย้อนแสงใบบัวของพี่แล้วเลยเอารูปเขียนของโมเน่มาฝากนะครับ เป็นงานที่เล่นกับแสง-เงา และไรแดด ได้สวยงามที่สุดชิ้นหนึ่ง ผมเตรียมไว้ว่าจะเขียนหัวข้อนี้ไว้ในบันทึกด้านศิลปะและสื่อสักเรื่องหนึ่ง ต่อยอดกับการดูงานและการได้แลกเปลี่ยนดูงานศิลปะ-ภาพถ่ายกับพี่นะครับ
    • สงสัยจะต้องมาขอยืมรูปถ่ายรูปนี้ของพี่เป็นตัวเปิดเรื่องละครับ สวยมากเลยครับ ทั้งการจัดภาพและจังหวะลีลาของแสง-เงา

    * ขออภัยตัวสะกดชื่อ รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย

    * ขอบคุณภาพสวยงามของ Monet ค่ะ..ยิ่งพิศยิ่งงามประทับใจมาก จินตนาการดั่งได้นั่งอยู่ริมสระบัวยามนั้น..อย่างมีความสุขสงบ..

    * พี่ปลาบปลื้มสำหรับมุมมองที่อาจารย์ให้เกียรติวิจารณ์เชิงศิลป์ที่ภาพแสงเงาใต้ใบบัวยามบ่ายหน้าบ้านพี่..ได้ไปเก็บภาพแสงเงาบนใบบัวอีกมุมหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันมาฝากเพิ่มเติม..ขอบคุณค่ะ..

     

    สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ

    • รูปนี้ยิ่งทั้งสวยงามและมีด้านที่เป็นสุนทรียภาพในภาษาศิลปะมากเลยละครับ
    • ภาษาของแสง-เงา จังหวะและลีลาของ Form และการเล่นกับ Contrast ครับ
    • ความสวยงามในภาพนี้จากด้านจัดวางองค์ประกอบหลายมิติให้เป็นลูกขัดกัน หรือความมีคู่สร้างให้เกิดมิติที่ ๓ คือ ๑) น้ำหนักของแสง-ที่คอนทราสต์กับเงา ๒) พื้นผิวหรือ Textures ที่นุ่มนวลกลมกลืนของใบบัวที่ไล้ด้วยแสงแดดอ่อนโยน เป็นกลุ่มก้อน คอนทราสต์กับลีลาจุดจิกของใบหญ้า ใบไม้ และวัตถุอื่นๆ ๓) การคอนทราสต์ที่สีสัน ภาพรวมของภาพเป็นสีเขียว แล้วจัดวางด้วยสีที่แตกต่างออกไปด้วยดอกบัว  โดดเด่นออกมา บอกเล่าความงดงามของตนเอง พร้อมกับเชื่อมโยงทุกมิติให้อยู่เป็นองค์ประกอบเดียวกันได้อย่างลงตัวนะครับ
    • นอกจากสีสันและความสว่างของดอกบัวจะมีความเป็นประธานของภาพอยู่ในทีแล้ว ตำแหน่งการอยู่ ณ จุด ๑/๓ ของภาพซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของนักถ่ายภาพและคนวาดรูปที่จะเป็นตำแแหน่งให้รูปดูสวยงามแล้ว  แนวของเงามที่ทอดลงและไล่เป็นแนวนำสายตาจากขอบภาพพุ่งเข้าหาดอกบัว รวมทั้งแนวของใบบัวและขอบในที่สอดรับกัน ก็ทำให้เกิดเส้นนำสายตาด้วยความรู้สึก นำความสนใจทั้งหมดพุ่งไปที่ดอกบัวด้วยครับ
    • ดอกบัวก็อยู่ในช่วงที่บานได้ความงดงามเต็มที่
    • ทั้งหมดนี้ รวมกันเป็นพลังความเป็นศิลปะในรูปนี้ของพี่นะครับ สวยครับ สวยจริงๆ
    • ดอกบัวของพี่อย่างในรูปนี้เป็นบัวฉัตรแดง หรือ สัตตบงกช อยู่ในกลุ่มปทุมชาติหรือบัวหลวง ครับ เป็น ๑ ในหมู่ของบัวซึ่งมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ ๑) บัวหลวงหรือปทุมชาติ ๒) บัวสายและบัวสีหรืออุบลชาติ และ ๓) บัววิคตอเรีย

                             

    • ที่บ้านผม ก็ปลูกไว้ในบ้านเลยครับ เวลาบานก็จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆลอยฟุ้งไปตามลม แผ่วเบาจนต้องทำสมาธิเพื่อได้กลิ่น ให้ความสงบใจและผ่อนคลายอย่างประหลาดละครับ
    • ดอกตูมของสัตตบงกชนี้ หากพี่ลองลอกเอากลีบชั้นนอกออก ก็จะได้ดอกบัวกลมแป้นขนาดใหญ่และมีสีของกลีบขาวนวลอย่างที่สุด ผมเคยทำแล้วก็ถือเดินไปฝากน้องๆให้เอาไปไหว้พระ คนเห็นต่างก็มองจนกลับหลังเลยทีเดียว
    • ขอบพระคุณรูปสวยๆครับ ดูแล้วเพลินและจำเริญใจดีครับ

    *ขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับศิลป์ศึกษาลึกซึ้งมากมายที่ได้รับตลอดมาค่ะ..

    * บ้านของอาจารย์มีบึงบัวงามน่าอิจฉามากค่ะ..จินตนาการความสงบสุขอันเป็นที่ปรารถนาใฝ่ฝันของทุกคนนะคะ..

    * พี่ขออนุญาตนำศิลป์ศึกษาเหล่านี้ ไปเผยแพร่แก่เยาวชนชาว okkid.net ที่กำลังอยู่ในช่วงส่งภาพถ่ายมาประกวดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ :

    http://www.okkid.net/activity_gallery_thumblist.php?activity_id=4

    * พี่นำดอกบัวตูมสีขาวจาก ที่บ้านยามใกล้รุ่ง แสงสลัวๆ ยังไม่มีภมรบินไต่ตอมมาคารวะท่านอาจารย์ ด้วยความสำนึกในพระคุณนี้ค่ะ..

    ผมเข้าไปดูกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนด้วยแล้วละครับ น่าสนใจมากเลยเชียว โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เด็กๆเยาวชนเรียนรู้จากโครงงาน รวมทั้งโครงงานทางศิลปะ สื่อ การแสดงความสร้างสรรค์

    ดอกบัวขนาดที่กำลังบานเล็กน้อยหรือก่อนหน้านี้นิดหน่อยอย่างรูปหลังของี่นงนาทนี้แหละครับ หากเราลอกเอากลีบดอกชั้นนอกออกไปให้เหลือข้างในที่เห็นโผล่มานิดหนึ่งนั้นแหละครับ จะสวยงามอย่าบอกใคร

                               Large_virtuality2

    เอามาแลกกันดูอีก ๒ รูปครับ รูปแรกนี้เป็นรูปบัวในสระบัวบ้านผมเองที่สันป่าตอง เชียงใหม่น่ะครับ เวลานั่งพักผ่อนตอนเย็นๆริมสระบัว ก็จะให้ความคิดและความบันดาลใจหลายอย่างตามมา จนต้องแปรไปสู่การได้ทำอะไรสักอย่างโดยเฉพาะเขียนรูป ถ่ายรูป เขียนหนังสือ หรือเล่นกีตาร์นั่งร้องเพลง

                              

    รูปล่างนี้เป็นดอกบัวลอกกลีบข้างนอกออก ทรงกลมแป้นสวย สีขาวสะอาด กลีบใหญ่ เด็ดให้ติดก้านยาวๆ แล้วจัดวางในแจกันทรงดีไซน์เพียง ๓-๕ ดอกก็อยู่เลย ดูงามดีจริงๆ อย่างของบ้านผมนี้เป็นบัวฉัตรขาวครับ เรียกสัตตบงกช เหมือนกับบัวหลวงฉัตรแดงเหมือนกัน

    ในหมู่บัวหลวงนี้มีบัวฉัตรชนิดดอกแหลมอีกครับ แล้วก็มีแบบฉัตรแดงกับฉัตรขาว ซึ่งเรียกว่าบัวแหลมแดงกับบัวฉัตรขาว เป็นดอกบัวที่มักเห็นคนนำไปไหว้พระทั่วไป ดอกจะเล็กกว่าอย่างที่เห็นในรูปนี้และกลีบดอกไม่หลายชั้น เมื่อบานก็จะโปร่ง ส่วนใหญ่ที่มักจะเห็นกันโดยทั่วไปในรูปถ่ายและรูปวาดต่างๆนั้น ก็มักจะเป็นบัวหลวงแบบหลังนี้ละครับ

    นี่ผมกำลังแนะวิธีดูงานศิลปะนามธรรม และวิธีอ่านภาษาศิลปะ-เห็นไวยากรณ์ของงานศิลปะ ให้กับคุณเริงวิชญ์ นิลโคตร ...

    • สนใจคำว่า ไวยากรณ์ของงานศิลปะ ของอาจารย์คะ ขยายความอีกนิดได้ไหมคะ ..

                                           

                              

    • ผิดเหลี่ยมไปนิด แต่คิดว่ายังคงพอสื่อได้คะ ในภาพแรก ..

    สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    มาเรียนรู้หลายๆเรื่องค่ะ เคยนำภาพตัวอย่าง ลายเส้นรูปดอกบัวไปให้เด็กๆวาด(นำรูปขึ้นไม่ได้ค่ะ) เห็นเขาสนใจและมีสมาธิในการวาดมากเลยค่ะ รูปก็ออกมาสวยใกล้เคียงกับภาพตัวอย่าง อิอิ..

    เดี๋ยวนี้ทางแถบอำเภอเก้าเลี้ยว-บรรพตฯเริ่มมีการทำนาบัวมากขึ้นแล้วค่ะ เห็นแล้วมีความสุข นึกถึงการนำดอกบัวไปถวายพระ ทั้งกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาวบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใสค่ะ

    บ้านคุณแม่น้ำท่วมไหมค่ะ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้คุยกับน้องสาวพี่เลยค่ะ

    ผมกำลังยืนดูงานของศิลปินรับเชิญ ในนิทรรศการศิลปะ สมาคมทัศนศิลป์นานาชาติ ครั้งที่ ๒ ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ธนาคารกรุงเทพฯ ราชดำเนินนะครับน่ะ รูปถ่ายของนกกะเรียนที่กำลังโผขึ้จากผิวน้ำนั้น เป็นผลงานของคุณปองพล อดิเรกสาร เคยอ่านแต่ผลงานหนังสือของท่าน แต่ไม่ยักทราบว่าทำงานศิลปะภาพถ่ายอย่างนี้ด้วย จังหวะดีมากเลยละครับ ทำให้ได้ทั้งองค์ประกอบที่สวยงาม การเกิดเส้นและลีลาอ่อนช้อย-ต่อเนื่องของเส้น ใช้ได้เลยละครับ

    อีกภาพที่ผมกำลังดูนั้น เป็นงานลายเส้นปากกาของคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรูปต้นยางโทน กับรูปต้นมะละกอ สวยและเห็นกระแสความคิดที่ต่อเนื่อง สะท้อนบุคลิกของท่านเลยทีเดียว

    'ไวยากรณ์ของศิลปะ' นั่นนะสิเนาะ ไม่รู้ว่าจะแปลและให้ความหมายว่าอย่างไร บางทีมันก็ออกมากับจังหวะ บรรยากาศ และคนที่เราต้องการสื่อด้วยในเรื่องนั้นๆเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะไปนึกถึงว่าคุณเริงวิชญ์ไม่ได้มีประสบการณ์มาทางศิลปะมาก่อนมากนัก แต่ว่าพื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะบาลีและพื้นฐานภาษาไทย ก็เลยพยายามคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะให้เชื่อมต่อกับความพอเข้าใจได้บนฐานประสบการณ์ของกันและกันน่ะครับ

    แต่ผมก็เคยใช้อยู่บ่อยเหมือนกันเวลาจะอธิบายถึงสิ่งต่างๆให้เห็นระบบคิดของเรื่องนั้นๆ ในภาษาของศิลปะนั้น กว่าจะพูดถึงคำว่างาม ได้ความเป็นชีวิต มีพลัง มีไฟ มีจิตวิญญาณ...ฯลฯ เหล่านี้ได้นั้น มีความเป็นมาอีกหลายอย่างที่จะต้องเข้าถึงจนรู้สึกได้ร่วมกันก่อนระดับหนึ่งนะครับ นับแต่องค์ประกอบพื้นฐานของงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์ ประติมากรรม และสาขาอื่นๆ เช่น เส้น สี แสง เงา โทนสี กลุ่มสี การคอนทราสต์ การจัดวางองค์ประกอบ การสร้างความสมดุล การสร้างจุดสนใจ การสะท้อนทรรศนะต่อความงาม ความจริง และระบบคุณค่าของสังคม และอีกมากมาย ซึ่งเรื่องพวกนี้ คุยกับคนอื่นยากจังเลยนะครับ คนทำงานศิลปะส่วนใหญ่ที่ทำงานจริงๆ ก็เลยมักจะผ่านความยุ่งยากอย่างนี้ไปเลยว่า อย่าไปคุย อย่าไปพูดเรื่องศิลปะ เพราะยิ่งพูดมันก็ยิ่งไม่ใช่ อีกทั้งไปครอบงำความคิดของคนอื่นเสียอีก ปล่อยให้เป็นความอิสระของผู้ชม ...อย่างนั้นเลยทีเดียว ซึ่งก็จริงมากละครับ ทว่า แนวทางเข้าสู่งานศิลปะไม่ได้มุ่งจากด้านผู้ชมอย่างเดียว มีอีกหลาย Approach อีกทั้งผมก็ไม่ได้ทำงานมากนัก หากพูดแล้วก็ย่อมไม่ใช่พูดให้ได้ดีแก่ตนเอง ก็เลยมักหาโอกาสสื่อสารเรื่องราวพวกนี้เมื่อมีโอกาสอยู่เสมอ

    วิธีที่คนในสาขาอื่นๆพอจะมีประสบการณ์ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นการพูด อ่าน สื่อความเข้าใจกันนะครับ เส้น สี แสง เงา ก็เหมือนกับคำ วลี กลุ่มความ ประโยค และการผูกเรื่องราวต่างๆ ที่เรียกกันว่าไวยากรณ์ของการพูดและเขียน ซึ่งก็พอจะเทียบเคียงและกล่าวถึงให้เป็นหลักคิดก่อนที่จะพูดถึงมิติอื่นๆของงานศิลปะได้ อย่างนี้ก็น่าจะง่ายและสื่อความนึกคิดกันได้ง่ายกว่าการพูดว่า 'ธีมและการจัดองค์ประกอบภาพ ของภาพๆนี้.....' อย่างในภาษาที่คนทำงานศิลปะมักสื่อหรือพูดกับคนทำงานศิลปะด้วยกัน มาพูดกับคนทั่วไป ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ฟีลน่ะสิครับ

    ก็คงจะคล้ายๆกับการที่คนทั่วไปที่พยายามจะสื่อเรื่องความคิดที่เป็นนามธรรมหรือนำเสนอข้อมูลที่ตนเองเห็นภาพแต่คนอื่นนึกตามไม่ไหว ให้สามารถนึกภาพออก ก็เลยบอกว่า 'สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม' 'ประติมากรรมทางความคิด' 'นึกภาพ...ออกมั๊ย' 'การจัดวางความคิด' ....และอีกมากมาย ซึ่งคำพวกนี้ ก็เป็นภาษาศิลปะ(และไวยากรณ์ทางศิลปะ) ก็ยังสามารถหยิบยืมเอามาเทียบเคียงให้ดึงเอาประสบการณ์ วิธีคิด และวิธีรู้สึกหยั่งเห็นจากภายใน มาช่วยให้เข้าถึงเรื่องที่พูดคุยสื่อสารกันยากๆเพื่อให้เข้าใจร่วมกันได้อย่างลึกซึ้งเหมือนจับต้องงานศิลปะเชิงความคิดได้ ทั้งที่เรื่องราวในเนื้อหาของการสื่อสารนั้นไม่ใช่ชิ้นงานศิลปะเลย

    หรืออย่างเดี๋ยวนี้ ผมก็มักจะได้ยินคนทำเว็บ ทำสื่อ บอกว่า "รีบทำข้อมูลแล้วยิงขึ้นสื่อ หรือยิงไปให้ social network เลย" ......ซึ่งเป็นภาษาของการใช้อาวุธและยิงปืน แต่คนก็เข้าใจและได้อารมณ์ของความรวดเร็วของการทำสื่อและทำเว็บ โดยไม่เข้าใจผิดไปตามความหมายของคำและภาษาสื่อสารที่นำมาใช้น่ะครับ คงประมาณนี้แหละครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์

    หายไปนานเลยนะครับเนี่ย สบายดีนะครับ สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง

    ตอนนี้ปิดเทอมกันแล้วสินะ เลยพอมีเวลาหายใจหายคอใช่ไหม

    ที่บ้านน้ำหลากและท่วมมากกว่าทุกปีครับ แม่และญาติๆสนุกกับการจับปลากันใหญ่เชียว ปลาเยอะครับ

    แต่กลุ่มบ้านญาติๆที่อยู่ไกลออกไปจากถนนหลักๆ กำลังตกระกำลำบากครับเพราะน้ำท่วมถนนหนทางหมดเลย

    เลยติดต่อกันไม่ได้ เรือก็ไม่มีใช้กันแล้ว พวกฟืนไฟก็ไม่รู้จะหากันอย่างไร

    กว่าน้ำจะลดก็คงอีกหลายวัน

    *พี่แวะมาขอบคุณภาพสวยงามจากบ้านของอาจารย์ค่ะ..และขอใช้ทัศนศิลป์แบบงู-ปลาๆ จากใจจริงนะคะ..

    *ภาพแรกสะท้อนบัวจากเงาน้ำหลากหลายมิติ.. พิศแล้วเห็นความงามต่าง layer ทั้งท้องฟ้าสีคราม มีกลุ่มเมฆขาวหม่นลอย เหนือเงาฝักบัว และดอกตูมชูก้านงอและตรง ตัดกับสีเขียวอ่อนของใบบัวหลายทรง แผ่รูปลักษณ์เต็มท้องน้ำ...ให้อารมณ์สงบลึกชวนฉงนถึงความงดงามของธรรมชาติที่มี combination กลมกลืนในความแตกต่าง (กว่าจะได้ภาพงามๆเช่นนี้ คงต้องนั่งชมอยู่นานไหมคะ ??)

    *ภาพที่สองจากระเบียงบ้านมอง ภูมิทัศน์ in-out สู่บริเวณสวนร่มรื่นภายนอก เสากลมและลูกกรงสีดำเป็นแนว สร้าง contrast ของรูปทรง ตัดกับสีขาวสะอาดของบัวงามไต่ระดับอย่างลงตัว..เป็นจุดพักสายตาที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่งค่ะ...

    *วันนี้ เครื่องมือจัดการของ G2K ขัดข้อง จึงไม่มีภาพมาแลกเปลี่ยนค่ะ..นอกจากมีบันทึกที่เขียนไว้นานแล้วมาฝากค่ะ ได้เติมคำสำคัญ กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงา และไรแดด ซึ่งพี่ได้แรงบันดาลจากอาจารย์ ตั้งกลุ่มนี้ขึ้น เพื่อชวนกัลยาณมิตรมาแลกเปลี่ยน ภาพและทัศนศิลป์/ไวยากรณ์ของศิลปะ' ฯลฯ

    http://gotoknow.org/blog/nongnarts2/290868

    สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ

    • สนุกดีและให้ความคิดดีครับ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องงูๆ-ปลา-หรอกครับ ประเดี๋ยวผมจะอาสาถอดบทเรียนให้เห็นแง่มุมการพัฒนาความซาบซึ้งทางศิลปะกับการสร้างความรู้และการพัฒนากระบวนการทางปัญญามิติต่างๆนะครับ
    • ตั้งหัวข้อไว้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีเวทีให้กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงาและไรแดดนี่น่าสนใจดีครับ และถ้าหากจั่วหัวข้อไว้ เอาไว้เป็นแนวการพัฒนาและศึกษาค้นคว้า พัฒนาการเรียนรู้ในชีวิตแบบสบายๆละก็ เรื่องนี้ เป็นสาขาการทำงานสร้างสรรค์ที่ไปได้ไกลและเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมากครับ มีเครือข่ายของคนที่ค้นคว้า ทดลอง สั่งสมการทำงานในแนวนี้อยู่ทั่วโลก และมียอดฝีมือ-ยอดความสร้างสรรค์ ที่น่าทึ่งที่สุดหลายคนครับ ทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป
    • สำหรับในสังคมไทยนั้น ระบบคิดและวิถีภูมิปัญญาที่อยู่ภายใต้การคิดและทำงาน หากวางบนฐานความคิดเรื่องแนวนี้ ก็จะสามารถย้อนกลับไปเชื่อมโยงสู่รากเหง้าได้จนถึงภาพพิมพ์ทึบยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ด้วยสีแบบ Sillhuette บนผาแต้มเลยนะครับ มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่หลายแง่ครับ
    • ในยุคสมัยใหม่ก็เชื่อมโยงได้กับวัฒนธรรมหนังตะลุง ศึกษาค้นคว้าและมีเวทีคิดสร้างสรรค์ แสดงออกทางปัญญาด้านนี้แล้วละก็ ขับเคลื่อนให้ผู้คนและชุมชนสามารถมีที่ยืนอย่างสง่างามเป็นที่ทางของตัวเองได้ อีกทั้งเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆของโลกได้อย่างไม่ต้องทิ้งของเก่าได้หลายเรื่องเลยละครับ สามารถใช้กิจกรรมและการทำงานแนวนี้ ให้เป็นตัวเปิดวาระการสื่อสารเรียนรู้และสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เรื่องนี้ให้กับสังคมได้เยอะมากเลยละครับ
    • หลังความเป็นสมัยใหม่ก็เป็นเรื่องของ Ligth and Sound รวมทั้งงาน Creative Economy หลายสาขาที่เล่นกับ Screen Play และ Ligthing 
    • งาน Ligth and Sound ของบ้านเราในโอกาสต่างๆนั้น หากมีวิธีศึกษาค้นคว้าในแนวนี้ ก็จะทำงานเชิงสร้างสรรค์ที่มีรสนิยม เข้าท่า และมีความเป็นศิลปะอย่างที่ควรจะเป็นมากกว่าอย่างที่เห็นอยู่เสมอๆนะครับ
    • จะไม่ลืมที่จะเขียนเรื่องศิลปะการเล่นกับแสง-เงาและไรแดด เพื่อร่วมยินดีกับกลุ่มแนวคิดนี้ที่จะเจียดพื้นที่ทำงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์แนวนี้ไปด้วยนะครับ รับรองว่าพี่และกลุ่มที่สนใจด้วยกันเห็นแล้วจะต้องตื่นเต้นและได้ความบันดาลใจในการทำงาน รวมทั้งได้ไฟสร้างสรรค์ในชีวิตมากมายละครับ

    พลังของ Story Telling กับ Exploratory Conceptual Model
    สร้างกรอบจัดการความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ให้งอกขึ้นจากทุนประสบการณ์ตนเอง
    จากการเล่าและสื่อสะท้อนทรรศนะต่อประสบการณ์ทางศิลปะอย่างเชื่อมโยง

     

                             

                           ภาพที่ ๑ กระบวนการคิดและวิธีคิดอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ

                            

                           ภาพที่ ๒ กรอบและระบบวิธีคิดที่ได้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวเข้าสู่สถานการณ์ชีวิตอันหลากหลายและพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างเป็นตัวของตัวเอง การตกผลึกและตรวจสอบตนเองไปบนกรอบดังกล่าวให้ละเอียดและซับซ้อนมากยิ่งๆขึ้นอยู่ตลอดไปจนเป็นหนึ่งเดียวกับองค์รวมของชีวิต ก็จะได้ปัจเจกภาพที่มีการเรียนรู้และงอกงามไปกับประสบการณ์ตนเองได้ตลอดชีวิต

                            

                          ภาพที่ ๓ เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สร้างความซาบซึ้งผ่านการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและโลกภายนอกจากสิ่งที่เห็นหรือได้สัมผัส คุณลักษณะและความมีดุลยภาพของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้  ต่างจากการเกิดความซาบซึ้งด้วยการคิดอยู่กับตนเองอย่างเดียว วิธีสะท้อนคิด สร้างความสะเทือนใจ ความประทับใจ ในลักษณะนี้ เป็นแง่มุมที่งานศิลปะแนว Humanized ใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงานครับ ที่สำคัญคืองานของยุคโรแมนติค งานของแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ และโพสต์อิมเพรสชั่นนิสต์ งานแนวนี้เห็นแง่งามจากการเกิดความประทับใจของมนุษย์ต่อสิ่งต่างๆ ดังนั้น ศิลปะจะต้องสร้างความเป็นสุนทรียภาพให้แก่ผู้คนด้วยการสร้างประสบการณ์ในการเห็นที่นำไปสู่การเกิดแง่งามและความประทับใจอันลึกซึ้ง ซึ่งความประทับใจดังกล่าว ก็จะก่อเกิดพลังใจและนำการปฏิบัติตนเองด้วยการพึงตนเอง

                             

                        ภาพที่ ๔ กรอบและระบบวิธีคิดที่จะสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆในชีวิตและการงานต่อไป ซึ่งจะทำให้วิธี Approach โลกของสรรพสิ่งมีแนวฝึกหัด เป็นครูสร้างประสบการณ์ตนเอง จัดความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆอย่างมีความหมาย ทั้งต่อตนเองและต่อการเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีแรงบันดาลใจต่อผู้อื่นของเราเอง

    ผมลองนำเอาวิธีวิเคราะห์ Thematic analysis กับ Content Analysis ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปของการวิจัยเชิงคุณภาพ มาบวกกับวิธีทำงานความคิดของการทำงานศิลปะ มาเรียนรู้ไปกับประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพี่นะครับ ขออนุญาตถือโอกาสนำเอาการเล่าถ่ายทอดแนวคิดจากแง่มุมเล็กๆของพี่มาเป็นตัวอย่างนะครับ

    วิธีพัฒนาทางศิลปะที่บูรณาการไปกับการพัฒนากระบวนการคิดและกระบวนการพหุปัญญาอย่างนี้ จะช่วยเสริมให้แนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ทางศิลปะอย่างทั่วไป มีบทบาทต่อการเป็น Methodology, Tools และ Methods  สำหรับการพัฒนาปัจเจกทุกคนให้เข้าไปสู่จุดสูงสุดของตนเอง ณ ภาวะเดียวกันได้ แม้วิธีเข้าสู่ความจริงและวิธีสร้างประสบการณ์ต่อโลกของแต่ละคน จะแตกต่างกัน แนวทางอย่างนี้ ก็จะเป็นตัวเลือกหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับสร้างความงาม ความสมดุลกลมกลืนบนความแตกต่างหลากหลายของผู้คน โดยไม่ต้องทำให้ทุกคนกลายเป็นเหมือนกันและทำให้อีกหลายกลุ่มคนสูญเสียรากฐานชีวิต ซึ่งก็เชื่อว่าในอนาคต แนวทางอย่างนี้จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ

    สำหรับมูลนิธิสยามกัมมาจลและเครือข่ายการทำงานของคุณพี่นงนาทแล้วละก็ การพัฒนาวิธีการให้คนสามารถเรียนรู้เพื่อเกิดความซาบซึ้วงและอิ่มเต็มออกจากภายในจิตใจตนเอง ภายในครอบครัว ภายในสังคม หรือความพอเพียงที่งอกงามไปกับเงื่อนไขและบริบทแห่งตน ก็เชื่อว่าสอดคล้องอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยของวิถีเรียนรู้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลยกระมังนะครับ.

    * ลูกศิษย์มาขอบคุณ ศิลป์วิเคราะห์ Thematic analysis กับ Content Analysis ของอาจารย์ ที่มีคุณค่าต่อ มิติทางพหุปัญญา อย่างยิ่งค่ะ..

    * อีกทั้งมิอาจเก็บไว้อ่านคนเดียวได้ พี่จึงขออนุญาตนำไปขึ้นบันทึกเป็นตอนที่ ๒ ต่อจากเรื่องก่อนนะคะ:

    http://gotoknow.org/blog/nongnarts2/403884

    * ธรรมชาติรังสรรค์ความงามไว้ทุกอนูในพิ้นโลก เพื่อรองรับการเติมแต่งทางจิตใจในแง่มุมของความสุขสงบและจินตนาการดีๆมากมาย..หากพวกเรารู้จักหยุดมองอย่างชื่นชม.

    *ความรู้จักพอเพียง เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งที่โอบล้อมอยู่รอบตัว คือหนึ่งในจิตสำนึกที่เยาวชนสมควรได้รับการปลูกฝังอย่างยั่งยืนนะคะ..

    *รบกวนอาจารย์ใส่คำสำคัญ  กลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงา และไรแดด  ในบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผ่านมา และฝากเชิญชวนกลุ่มงานศิลป์นี้ด้วยค่ะ..

    *ช่วงเช้าในวันที่ฝนตก พี่เก็บภาพดอกกล้วยไม้กลีบอาบด้วยหยาดฝนจากริมรั้วที่บ้านมาฝาก..ชุ่มชื่นเหมือนได้อ่านความเห็นที่งดงามของอาจารย์ค่ะ..

     

    ขออภัยท่านผู้อ่านและขอแก้ไขคำอธิบายภาพที่ คห.๑๕ : ภาพเขียนของท่านอดีต ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย อีกภาพหนึ่งที่บอกว่าเป็นรูปมะละกอนั้น ผมนำเอาสูจิบัตรของนิทรรศการครั้งนี้มานั่งเปิดดูอีกครั้ง ปรากฏว่าจากเป็นภาพ ต้นจำปาดะ ครับ จึงขอแก้ไขและทำหมายเหตุไว้ด้วย คห.นี้นะครับ

    สวัสดีค่ะ

    มีภาพงามจากความรู้สึกมาฝากอาจารย์ค่ะ  ยังไม่ได้เรียนรู้อย่างลึก ๆ ค่ะ  จะพยายามเข้าไปเก็บเกี่ยวค่ะ มีสิ่งที่น่าสนใจเรียนรู้มากค่ะ

    http://gotoknow.org/blog/krukim/412001

                             

    แวะเข้าไปดูภาพและอ่านเรื่องราวที่พี่คิมบันทึกไว้แบ่งปันกันแล้วละครับ ม่วนใจ๋ดีจัง

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท