เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ (๒) : ข้อเสนอเชิงนโยบายปฏิรูปประเทศไทย


   การจัดกระบวนการเพื่อรวบรวมข้อมูล   
เพื่อนำเสนอแนวนโยบายปฏิรูปสังคมไทย ของเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ

  คำถามชวนสนทนาหาคำตอบจากการทำงานกันบนเวที  

สภาวการณ์สังคมและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย ที่สะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตชุมชนของท่าน เป็นอย่างไร ในอนาคตจะขับเคลื่อนและมีความเชื่อมโยงกันอยู่อย่างไร แนวคิดและแนวนโยบายเพื่อกำกับความเป็นสาธารณะร่วมกันทั้งของชุมชนในท้องถิ่น กทม.กับของสังคมไทยในระดับประเทศ เป็นอย่างไร ?

  รูปแบบและกระบวนการใน ๑ วัน 

  • สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของกันและกัน ๓ ชั่วโมง ครึ่งวันเช้า ทุกคนได้พูด
  • พูดคุยและแลกเปลี่ยนทรรศนะกันอย่างกว้างขวางและสบายๆ เพื่อเรียนรู้ เห็นโลกกว้าง และรวบรวมข้อมูล ได้คิดให้ลึกซึ้งเป็นกลุ่ม-เครือข่าย  ๑ ชั่วโมงช่วงบ่าย
  • การปฏิรูปประเทศไทย ด้านคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ที่เป็นข้อเสนอของเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้แก่อะไรบ้าง ?  ๑ ชั่วโมงช่วงบ่าย
  • สรุปและขออาสาสมัครไปนำเสนอและซักซ้อมกันเอง ๑ ชั่วโมงช่วงบ่าย

                          ภาพที่ ๑  ให้แนวคิด'การเปลี่ยนแปลงทางสังคม' ๓ แนว ๑) การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเกิดวิกฤติ ๒) การเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคนโดยปฏิวัติและใช้ความรุนแรง ๓) การเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการปฏิรูป ซึ่งมุ่งเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ร่วมเวทีเห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยสันติวิถี

                          ภาพที่ ๒  ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองกรงุเทพฯจากชุมชนหนองจอกและมีนบุรี ประกอบด้วยเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ อนุรักษ์ส้มบางมด เครือข่ายอนุรักษ์ระบบนิเวศคูคลองและสิ่งแวดล้อม

                          ภาพที่ ๓  ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองกรงุเทพฯจากชุมชนบางลำพู กำลังนำเสนอบทเรียนและแนวคิดการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า และเครือข่าย ปปส.สร้างอาสาสมัครชุมชนเพื่อป้องกันยาเสพติด

                          ภาพที่ ๔   อัญชัน แกมเชย จากบางกอกฟอรั่ม ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองกรงุเทพฯ และผู้ประสานงานการจัดเวทีในครั้งนี้ 

                          ภาพที่ ๕   ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองกรงุเทพฯจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน, เครือข่ายเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเขตทวีวัฒนา ตลาดน้ำ-ตลาดธรรม เครือข่ายรณรงค์สร้างจิตสำนึกพลเมือง, เครือข่ายชุมชนงามดูพลี, เครือข่ายมูลนิธิ ปปส.

  การดำเนินการอย่างเป็นลำดับ  

     ๑. นั่งสนทนา รวบรวมข้อมูลโดยใช้ฟลิปชาร์ตและโน๊ตบุ๊ค ทีมสังเกตการณ์บันทึกและสะท้อนข้อมูลรวมกันทันทีที่เห็นประเด็น
     ๒. นำเสนอกรอบแนวคิด วิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ ระบบวิธีคิดที่เชื่อมโยงกันได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรมและทุกประเด็นส่วนรวมของทุกเครือข่ายและจากทุกพื้นที่ที่เข้ามาร่วมเวที
     ๓. นำเสนอผลวิเคราะห์และสรุปให้เวทีอภิปราย ต่อเติม แก้ไข และสอบทานความคิด ตลอดจนพิจารณาข้อความที่ปรากฏ ให้สามารถสื่อสารและสะท้อนสิ่งต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนให้มากที่สุด
     ๔. สรุปประเด็นและเขียนเรียบเรียงให้เป็นข้อความแสดงแนวนโยบายจากเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ สรุปได้ ๕ มิติ และประกอบด้วยประเด็นเชิงนโยบาย ๗ ข้อ ดังนี้

  • นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อสนองตอบต่อวิกฤติ ๑ ข้อ
  • นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อปฏิรูปสังคมไทย ๑ ข้อ
  • นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านการสร้างคนและพลังความเป็นพลเมืองของปัจเจกในสังคม ๑ ข้อ
  • นโยบายเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านเทคโนโลยีและระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และผสมผสาน ๑ ข้อ
  • นโยบายเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านการสร้างสุขภาวะชุมชนและชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิถีปฏิรูป ๓ ข้อ

     ๕. ขออาสาสมัคร ๑๐ คน เป็นตัวแทนจากเวทีและเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯไปร่วมนำเสนอในเวทีขับเคลื่อนเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมมิราเคิล ดำเนินการโดยทีมบางกอกฟอรั่มและเครือข่าย

                          ภาพที่ ๖  การนำเสนอกรณีปัญหาของชุมชนท้องถิ่นกรุงเทพฯที่เป็นปัญหาซึ่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสะท้อนปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง จำเป็นต้องตื่นตัวมีส่วนร่วมแก้ไขทั้งภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และภาครัฐ ชาวบ้านพัฒนาวิธีเรียนรู้ วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล  แนวการเข้าสู่ปัญหาและวิธีนำเสนอ แจกแจงประเด็นที่สามารถนำไปสู่การปรึกษาหารือและระดมพลังสังคมแปรไปสู่ปฏิบัติการสังคมในเชิงปฏิรูปต่อไปได้หลายระดับ

                           ภาพที่ ๗  ผู้ประสานงานบางกอกฟอรั่ม และเครือข่ายพลเมืองกรุงเทพฯจากชุมชนงามดูพลี

                           ภาพที่ ๘  แจกรายงานการวิจัยเรื่องวิถีสังคมของชาวนาบัวในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเรียนรู้ชุมชนและวิจัยสร้างความรู้ของชุมชน โดยเครือข่ายพลเมือง

  ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน 

เพื่อให้เครือข่ายชุมชน เห็นวิธีคิดในเชิงปฏิรูป เพื่อนำเสนอแนวนโยบายในอีกแนวทางหนึ่งให้ต่างไปจากแนวนโยบายและวิธีผลักดันความเป็นส่วนรวม อย่างที่ดำเนินการกันโดยทั่วไป ผมและทีมได้ให้แนวคิดเพื่อเรียนรู้จากกระบวนการดังกล่าวนี้ในอีกแนวทางหนึ่ง คือ

  • มุ่งนำเสนอแนวนโยบาย เพื่อเป็นเครื่องมือแสดงความใส่ใจต่อความเป็นส่วนรวมและมุ่งบรรลุจุดหมายร่วมกันกับผู้อื่นให้ได้ผลดีมากยิ่งๆขึ้น มากกว่ามุ่งผลักดันเพียงให้ปรากฏในพื้นที่ข่าวสารและการแสดงข้อความการนำเสนอต่อสาธารณะของรัฐบาล
  • นำเสนอและสื่อสารออกไปเพื่อเป็นแนวนโยบายของตนเอง มากกว่ามุ่งเรียกร้องให้ผู้อื่นมาสนองตอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือ กทม. ขณะเดียวกัน ก็เป็นการแสดงประเด็นความสนใจ เพื่อที่ผู้อื่นจะเห็นแนวทางให้การสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกัน กระบวนการดังกล่าวจึงมุ่งเปลี่ยนความเป็น Passive Poeple และPublic Services Consumerian สู่ความเป็น Active Citizenship   
  • นำเสนอความเชื่อมโยงของสิ่งที่ตนเองประสบ เพื่อให้ความเป็นจริงระดับปฏิบัติของท้องถิ่น สื่อสะท้อนโครงสร้างและระบบสังคม โดยต้องเรียนรู้อย่างรอบด้านและมุ่งปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ

เครือข่ายเวทีนำเสนอสถานการณ์วิกฤติของเกษตรกรหนองจอก รวมทั้งปัญหาความเน่าเสีย ตลอดจนสิ่งปนเปื้อนและมลพิษในคูคลองอันเกิดจากการหลักเลี่ยงปฏิบัติตามกฏหมายให้เอื้อผลประโยชน์ตนเองของเจ้าของกิจการบ้านจัดสรร โดยขอจดทะเบียนที่พักอาศัยครั้งละไม่เกิน ๙ รายซึ่งทำให้ไม่ต้องทำระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ชุมชนในย่านดังกล่าวจึงเป็นแหล่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อน้ำในคลอง เมื่อเกิดน้ำท่วม ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งวิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวกัน เครือข่ายก็มีบทเรียนจากความริเริ่มในการทำเกษตรกรรมทางเลือก รวมทั้งการระดมพลังการบริหารจัดการชุมชนริมคูคลองหลายกรณีที่ประสบความสำเร็จ เช่น การอนุรักษ์สวนส้มพันธุ์บางมด การทำเกษตรอินทรีย์ การทำกลุ่มออมทรัพย์ การทำตลาดน้ำ-ตลาดธรรม การปฏิบัติการเครือข่ายชุมชนด้านสวัสดิภาพและพัฒนาสังคมเข้มแข็งในชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหายาเสพติด การพัฒนาบทบาทสตรี เยาวชน อสม. เครือข่ายผู้นำชุมชน และการรวมกลุ่มของประชาชน

นอกจากนี้ สมาชิกของเครือข่ายหลายชุมชนเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ และเกิดการเรียนรู้สะสมมาอย่างาวนาน ทำให้เห็นประเด็นในเชิงปฏิรูปที่จะมีความหมายและมีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยนำเสนอแนวคิดในการมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญต่อการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง ขณะเดียวกัน ก็พิจารณานำเสนอในด้านที่จะมีกิจกรรมและบทบาทการดำเนินงานต่างๆของเครือข่ายรองรับ เพื่อจะได้เป็นการนำเสนอที่มิใช่การเรียกร้องและผลักดันให้ผู้อื่นทำหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว ทว่า จะเป็นการนำเสนอเพื่อให้เห็นว่าเครือข่ายจะเป็นผู้ทำอยู่ตลอดไปในอนาคตและหากเชื่อมโยงกันได้ก็ขอให้สนับสนุนในสิ่งที่ได้นำเสนอออกไป

ผมประมวลบทเรียนและข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ที่มีอยู่ของเครือข่ายให้เห็นระบบคิดที่เข้าใจง่าย รวมทั้งจะช่วยทำให้ทุกคนเข้าใจตนเองและเห็นความเชื่อมโยงกันทุกมิติ สามารถไปนำเสนอสิ่งที่ตนเองต้องการมีส่วนร่วมในเวทีต่างๆตามที่ต้องการได้ต่อไป

ผังแสดงระบบวิธีคิดที่เห็นความเชื่อมโยงกันในเชิงยุทธศาสตร์
ของกิจกรรมที่มีอยู่ในเครือข่ายและแนวนโยบายที่สนใจในอนาคต

ภาพที่ ๙ แผนผังระบบวิธีคิดและประเด็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์

จากภาพที่ ๙ แผนผังระบบวิธีคิดและความเชื่อมโยงกันของประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯสร้างขึ้นบนฐานของการมีสิ่งที่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพฯได้ทำอยู่แล้วรองรับ กรณีปัญหาน้ำท่วมและการแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำและคูคลอง เป็นแนวนโยบายสำหรับการแห้ปัญหาของท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็พิจารณาถึงความเป็นสิ่งบ่งชี้ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในการพัฒนาของภาคเมืองกับชนบท ดังนั้น จึงสามารถเป็นข้ออธิบายเหตุผลและความจำเป็นของการนำเสนอเชิงนโยบายสำหรับปฏิรูปสังคมระดับประเทศ

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมที่เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯนำเสนอนี้ เป็นการมีส่วนร่วมที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างของสังคมไทย เพื่อมุ่งสู่การกระจายอำนาจและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นหลักและอยู่ในลำดับความสำคัญแรกๆของประเทศอีกด้วย กล่าวคือ มุ่งเน้นไปยังการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การก่อเกิดระบบบริหารจัดการสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิตในระดับชุมชนอย่างสมดุลของ ๓ ภาคส่วน อันได้แก่ ชุมชน รัฐบาล และท้องถิ่น

                  ข้อเสนอปฏิรูปสังคมไทย                 
ด้านคุณภาพชีวิตของคนในเมือง
โดยเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ

นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อสนองตอบต่อวิกฤติ
๑. มุ่งสร้างความยุติธรรมทางสังคมผ่านการแก้วิกฤติปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างซึ่งปรากฏผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำและทรัพยากรน้ำ ระบบการผลิตภาคเกษตรกรรม  ตลอดจนวิถีชีวิตในทุกมิติของชุมชนเชิงพื้นที่ในแหล่งต่างๆทั้งในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และชุมชนต่างๆของประเทศ

นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อปฏิรูปสังคมไทย
๒. มุ่งสู่การปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยการกระจายอำนาจให้ส่งผลต่อการปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนากลไกและระบบรองรับการมีส่วนร่วมที่มีองค์ประกอบความร่วมมือ ๓ ฝ่ายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมของภาครัฐ  ชุมชน และท้องถิ่น

นโยบายปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านการสร้างคนและพลังความเป็นพลเมืองของปัจเจกในสังคม
๓. มุ่งเน้นการพัฒนาคน จิตสำนึกความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการปฏิบัติในหลายระดับ โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ผ่านพลังเครือข่ายชุมชน ทั้งในเขตเมือง ชุมชนรอบนอก กลุ่มคนเรียนรู้พึ่งตนเอง ปฏิรูปสื่อ ทั้งสื่อมวลชน สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อภาคประชาชน ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาเวทีเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนและภาคประชาชน คนเมือง เครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน-เครือข่ายวิชาการ-เครือข่ายประชาสังคม

นโยบายเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านเทคโนโลยีและระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และผสมผสาน
๔. มุ่งดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการจัดการอย่างผสมผสาน ทั้งโดยภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน โดยเน้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตนเอง การเกษตรผสมผสาน การเกษตรอินทรีย์ ก่อเกิดผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อระบบคูคลอง น้ำ ระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ของชุมชนเมือง

นโยบายเพื่อปฏิรูปสังคมไทยผ่านการสร้างสุขภาวะชุมชนและชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิถีปฏิรูป
๕. มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนเมืองเก่า เพื่อพัฒนาสุขภาวะชุมชนพร้อมกับเป็นกระบวนการเรียนรู้สร้างจิตสำนึกพลเมือง จิตสำนึกความเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมทั้งสร้างสังคมเข้มแข็งของชุมชน
๖. พัฒนาระบบความรู้และการบูรณาการกับงานทางวิชาการ การสื่อสารเรียนรู้ทางสังคม การสร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาของชุมชนและประชาชน การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนเพื่อบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและก่อเกิดกระบวนการสร้างเสริมศักยภาพเครือข่ายการจัดการของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม มีความสามารถพึ่งตนเองและสามารถประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่แตกต่างหลากหลาย
๗. มุ่งเน้นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่การปรึกษาหารือ เวทีประชาพิจารณ์ เวทีและกลไกสะท้อนเสียงผู้ถูกกระทำและเสียโอกาส และพื้นที่สร้างพลังทางปัญญา เครือข่ายภูมิปัญญาปฏิบัติ 

..............................................................................................................................................................................

  คลิ๊กอ่านตอนที่ ๑   : เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ (๑) : ปฏิรูปประเทศไทยผ่านวิถีปฏิรูปจากภายในตนเอง

หมายเลขบันทึก: 403207เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

แบบนี้นอกจากทำให้ได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง และทราบแนวทางที่จะแก้ไข  รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายอีกนะคะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ
ชุมชนสามารถอธิบายและสะท้อนเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบของสุขภาวะและคุณภาพชีวิตในบริบทของเขาได้ดีกว่าสื่อสะท้อนผ่านกลไกอื่นมากทีเดียวครับ
การถอดบทเรียนที่เสริมพลังการเรียนรู้ตนเองและการสามารถนำเสนอถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองของชาวบ้าน จึงเป็นการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับพลเมือง ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขแวดล้อมปัจจุบันของสังคมมากเลยละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท