ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๐๒. ไปเที่ยวออสเตรเลีย ๙. ซิดนีย์ (จบ)


         เช้าวันที่ ๑๘ ก.ย. เราออกจาก Gosford แต่เช้า ๘ น. เพราะสาวน้อยเกรงว่ารถจะติด   เกรงจะคืนรถเช่าไม่ทัน   เราไปชมวิวที่ President Hill Lookout ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่โรงแรม   เขาบอกว่าไม่เห็นอะไรมาก แต่เรากลับชอบ   คนไทยชอบวิวทะเล   และเราไปพบฝูงนกแก้วที่นั่นด้วย   คือเป็นแหล่ง bush walk ด้วย   ผมชักติดใจ bush walk หลังจากไป Girrakool Loop bush walk เมื่อวาน ที่ Brisbane Water National Park ซึ่งก็คือบริเวณ Mooney Mooney Creek ที่เรามุ่งมาเที่ยว

          หลังจากนั้นเราก็จับ Central Coast Highway ต่อด้วย Motorway 1  และต่อด้วย Motorway 2 เข้าซิดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างเพียง ๗๕ ก.ม.   เรากะเข้าซิดนีย์ให้ผ่าน Bay Bridge   แต่พอเข้า Highway 2 เห็นว่ายังมีเวลาเหลือ เราจึงเปลี่ยนใจเป็นแวะชมชายทะเลเสียหน่อย   เพราะเที่ยวครั้งนี้เห็นทะเลจะจะเพียงที่ Gosford ตอนหลงไปที่สวนสาธารณะริมทะเล   เพราะคิดว่าโรงแรม Best Western  Motor Inn อยู่ที่ Gosford   โดยมีผมคนเดียวที่ได้ชื่นชมวิวทะเลที่นั่น สาวน้อยกับเลขาเดินไปหาโรงแรม จนไม่มีใจจะมองทะเล

        ยอดคนนำทาง (ด้วยแผนที่) คือเลขานำทางเรากลับเข้า Highway 1 เพื่อไปเฉี่ยวชายทะเลที่ Dee Why Beach และ Curl Curl Beach   โดยเฉพาะที่ Curl Curl เรามีที่จอดรถ จึงลงไปถ่ายวิวทะเลที่ต่างจากบ้านเรา   คือมีคลื่นแรงซัดโขดหินใหญ่สวยงามมาก   และชายหาดก็ดูงดงาม   ผมอยากลงไปเดินใจจะขาด แต่ความเกรงใจสาวน้อยแรงกว่า    จึงได้แค่ถ่ายรูป

          เราเข้าเมือง ไปเติมน้ำมันรถให้เต็มที่ปั้มใกล้ๆ โรงแรม Marque ที่จองไว้ และใกล้สถานที่คืนรถ   แล้วไปโรงแรม เช็คอิน และฝากของ   เพราะเวลารับห้องคือ ๑๔ น.   แล้วไปคืนรถ   เสร็จแล้วเดินต่อแถวนั้น จนไปนั่งกินแซนด์วิชริมถนนที่ Wynyard Park  ผมเดินไปถ่ายรูปส้วมสาธารณะของสวนสาธารณะที่อยู่ริมถนนตรงป้ายรถเมล์   จนไปเจอ ดร. พูนพงษ์ บุญพราหมณ์กำลังลากกระเป๋าไปขึ้นรถไฟไปสนามบินกลับกรุงเทพ
          Wynyard Park เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กมาก พื้นที่อยู่ระหว่าง ๑ – ๒ ไร่   เป็นที่ยาวๆ ไปตามถนน   ข้างหน้าคือป้ายรถเมล์   ผมเห็นสวนสาธารณะทีไรอดเข้าไปไม่ได้   เพื่อจะซึมซับความรู้สึกตอนเข้าไปอยู่กับธรรมชาติ   ระหว่างนั้นป้าอี๊ดกับสาวน้อยไปอุดหนุนกิจการของสวนสาธารณะด้วยการจ่ายเงินคนละ ๑๕ บาท (ครึ่งเหรียญออสเตรเลีย) เข้าส้วมสาธารณะ

          หลังจากนั้นเราเดินชมวิวไปเรื่อยๆ ระยะทางประมาณ ๑.๕ ก.ม. กลับโรงแรมซึ่งอยู่ใกล้ Central Station   เพื่อพักผ่อน

          ตกเย็นเรานั่ง Monorail จากสถานี Paddy Market ที่ China Town ไปยังสถานี Darling Park เพื่อชม Aquarium ตามคำกำชับของคุณเปา ผจก. มูลนิธิสยามกัมมาจล   ผู้เคยมาอยู่ที่ออสเตรเลียหลายปี   จากสถานีนี้ เรามองเห็น Darling Harbour ชัดเจน   มองเห็นความเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ ๒ ฟากแม่น้ำนี้   ค่าเข้าชม Sydney Aquarium คนละ A$ 34.99   พอเจ้าหน้าที่เห็นหน้าคนซื้อก็ถามว่าเป็น senior citizen ใช่ไหม ผมตอบว่า ๓ คน  เขาบอกว่าคนแก่ลดให้กี่เปอร์เซ็นต์ฟังไม่ถนัด แต่เมื่อกลับมาโรงแรมดูตั๋วของคนแก่ ๓ คน ราคาคนละ A$ 22.99 คือลด 30%      

          ตัวชูโรงของ Aquarium คือฉลามกับพะยูน (Dugong)   พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่อยู่ในทะเล   และเป็นสัตว์ที่ทำให้กะลาสีเรือที่จากบ้านมานานจินตนาการเป็นนางเงือก   และที่น่าสนใจมากคือเขามีส่วนที่อธิบายชีวิตสัตว์ทะเล สำหรับเด็กๆ ได้เรียนรู้   เข้าใจว่าที่เขามีตั๋วปี ก็เพื่อให้พ่อแม่พาลูกมาเที่ยวหาความรู้บ่อยๆ 

          ไปชม Aquarium ตอนเย็น มีข้อดีคือคนน้อย   แต่ก็ไม่ทราบว่าความสดใสของสัตว์และสถานที่จะร่วงโรยหรือไม่ 

          ใช้เวลาเดินชมอยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็ออกมานั่งรถโมโนเรลกลับมากินอาหารจีน แล้วกลับมานอน

          รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ก.ย. เราไปร่วม Sydney Marathon กับเขาด้วย   และเที่ยว Royal Botanic Gardens, Circular Quay และ Opera House ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกัน  และหนังสือนำเที่ยวเขียนไว้ละเอียด ใครอยากรู้ย่อมหาอ่านได้

          วันนี้บริเวณที่เราไปเที่ยวคึกคักด้วย Sydney Marathon ซึ่งเดาว่าคงจะมีคนร่วมวิ่งหลายพันคน  อากาศดีน่าวิ่งมาก   มีใครเอ่ยว่าเขาเริ่มวิ่งตี ๔   ดังนั้นเมื่อเราไปถึงบริเวณ Circular Quay (ซึ่งเป็นจุดเส้นชัย) เมื่อเวลา ๘ น. เศษๆ  จึงมีคนวิ่งจบแล้วจำนวนมาก  ที่ทั้งนอนพักผ่อน (คล้ายๆ หมดแรง) จับกลุ่มคุยเรื่องการวิ่ง เตรียมเปลี่ยนชุด รวมทั้งมีบางกลุ่มไป warm down ด้วยการไปวิ่งใน Botanic Gardens   มีเสียงประกาศโดยโฆษกของงานวิ่งมาราธอน แสดงความยินดีแก่คนที่เข้าเส้นชัย   บอกให้เอา ชิพ (chip) ไปแลกเหรียญ (medal) ที่ de-chipping area   และเชิญชวนให้ไปพักผ่อน ณ สถานที่ที่จัดไว้ให้ อย่ามาออกันที่จุดเส้นชัย

          คำประกาศนี้ทำให้ผมเข้าใจ ว่านักวิ่งมาราธอนทุกคนจะได้รับการติด ชิพ เพื่อติดตามว่าวิ่งไปถึงไหนแล้ว   มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลนักวิ่ง 

          แต่เมื่อเวลาเกือบบ่ายโมง ตอนที่เราออกจากเข้าชม Opera House กับ ไกด์ทัวร์   เดินกลับสถานีรถไฟ ยังมีคนวิ่งกำลังจะเข้าเส้นชัยโดยมีคนไปวิ่งขนาบข้างเป็นกำลังใจ   และโฆษกก็ประกาศให้กำลังใจ   คนที่เข้าเส้นชัยคนหลังๆ นี้โฆษกรู้จักชื่อทุกคน   เขาคงจะมีการตรวจสอบคนที่ยังล้าหลัง และคอยดูแลช่วยเหลือ   นี่เป็นการเดานะครับ เพราะผมก็ไม่ประสีประสากับการวิ่งมาราธอน

          Royal Botanic Gardens ใหญ่โตกว้างขวางเหลือประมาณ   และมีต้นไม้หลากหลายชนิด รวมทั้งไม้ดอก ที่ในฤดูใบไม้ผลิเช่นนี้ ดอกไม้จึงงดงามเป็นพิเศษ   เป็นที่พอใจของสาวๆ ๓ คน   รวมทั้งนักถ่ายภาพมือสมัครเล่นอย่างผมก็ชอบด้วย   วันนี้ผมถ่ายรูปไปเกือบ ๕๐๐ รูป   เมื่อเอากลับมาดูใน Notebook ก็ชมกล้อง Canon Powershot SX 10 IS ให้รูปที่สวยงามมาก   ผมคิดว่าผมคิดถูกที่ไม่เอากล้อง Canon EOS 30D ตัวใหญ่มา ด้วยเหตุผลว่ามันหนักและไม่ได้ให้ภาพที่สวยกว่า SX 10  ซึ่งเล็กกว่าและเบากว่ามากนอกจากนั้น SX 10 ยังซูมได้ถึง ๒๐ เท่า

          แต่เมื่อมาทบทวนรูปที่ผมเอามาลงประกอบก็รู้สึกแปลก   ที่ไปเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ แต่รูปที่เอามาลงส่วนใหญ่เป็นรูปสัตว์ในสวนพฤกษศาสตร์มากกว่าต้นไม้หรือดอกไม้    

          ผมคิดว่า Royal Botanic Gardens เป็นทั้งสวนพฤกษศาตร์ และสวนสาธารณะ   มีคนพาลูกหลานมาเที่ยวปิกนิกกันมากมาย   ผมได้ความรู้เป็นครั้งแรกว่านกกระสามีความสามารถปรับตัวอยู่กับคน และหาอาหารเหลือทิ้งจากคนกินได้คล้ายกา   แต่มันเจ้าเล่ห์น้อยกว่ากา

          เข้าใจว่าอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของ Royal Botanic Gardens เป็นวังของผู้ว่าการคนแรกของรัฐ คือ กัปตัน ฟิลลิปส์   แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจล้นเหลือของผู้ว่าการรัฐที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยกว่าสองร้อยปีก่อน 

          Sydney Opera House จริงๆ แล้วเป็นชื่อที่ไม่ตรงกับความป็นจริง   ความจริงคือเป็นสถานที่ให้เช่าจัดแสดงหรือจัดงานอะไรก็ได้  มีห้องขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก   รวมและจุคน ๕,๐๐๐ คน  เป็นสถานที่ที่ทำงานสัปดาห์ละ ๗ วัน ปีละ ๕๒ สัปดาห์ ไม่มีวันหยุด

          ความน่าสนใจอยู่ที่แนวคิดในการสร้าง การแข่งขันออกแบบ การตัดสินเลือกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แต่เป็นแบบคร่าวๆ ที่จะต้องวิจัยหาทางก่อสร้างตามแบบให้ได้   และการก่อสร้างที่กินเวลานานกว่าที่กำหนดหลายเท่า รวมทั้งค่าก่อสร้าง   และระหว่างก่อสร้างก็มีคนต่อต้านคัดค้าน   จนในที่สุดรัฐบาลก็บีบให้สถาปนิกคือ Jorn Utzon ชาวเดนมาร์ก ลาออก   และไม่ยอมกลับมาออสเตรเลียอีกเลย   แต่เมื่ออาคารนี้ได้รับยกย่องเป็น World Heritage และรัฐบาลออสเตรเลียมอบเหรียญรางวัลยกย่อง   และเชิญให้ทำหน้าที่ออกแบบการปรับปรุงอาคาร เขาจึงรับออกแบบเพิ่มเติมให้  มีทั้ง phase 1, phase 2 และ phase 3   เวลานี้กำลังปรับปรุง phase 2 และลูกชายของ Jorn Utzon ซึ่งเป็นสถาปนิกเหมือนกัน ทำหน้าที่ดูแลการปรับปรุง   ส่วน Jorn Utzon ตายไปแล้ว

          สำหรับผม เรื่องราวของ Sydney Opera House เป็นสัจจธรรมของการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นก่อนเวลา   ทำให้คนส่วนใหญ่ตามไม่ทัน และผู้สร้างสรรค์ต้องเผชิญแรงต่อต้าน

          สิ่งน่าประหลาดใจที่น่าบันทึกไว้คือ ก่อนเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ๕ วันนี้   พยากรณ์อากาศล่วงหน้าบอกว่าบริเวณที่เราจะไปจะมีฝนตก   แต่เอาเข้าจริงอากาศดีแดดออกตลอด ไม่มีฝนเลย   แต่อากาศที่ Blue Mountains หนาวกว่าที่เราคิดไว้   ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบริเวณ Jemby – Rinjah Lodge มีลมแรง ทำให้เรารู้สึกหนาว   และเขาไม่มี heater ในห้องนอน มีแต่เตาผิงในห้องนั่งเล่น

          ความโชคดีอีกอย่างหนึ่งคือโรงแรมที่เราไปพัก ๓ แห่งคุณภาพดีตามที่เราคาดหวัง   ไม่มีส่วนที่เราผิดหวังเลย

          เวลา ๗ น. เช้าวันที่ ๒๐ ก.ย. เรานั่งรถ Shuttle Bus ที่จองไว้ผ่านโรงแรมไปสนามบิน  ใช้เวลา ๑๕ นาทีเท่านั้น   เพราะระยะทาง ๑๐ ก.ม. รถไม่ติด   ตอนขึ้นรถมีคนโดยสารอื่นนั่งอยู่แล้ว ๓ – ๔ คน   รถวนไปแวะรับผู้โดยสารที่โรงแรมอื่นใกล้ๆ อีก ๓ แห่ง    รวมแล้วผู้โดยสารประมาณ ๑๒ คน   รถขนาด ๒๐ ที่นั่ง   ค่อนข้างโทรม มีเทรลเล่อร์ใส่กระเป๋า   คนขับและให้บริการอื่นมีคนเดียว เป็นชายจีนอายุประมาณ ๕๐   ค่าบริการคนละ ๑๔ เหรียญ   เขาวนไปส่งผู้โดยสารที่ domestic airport ก่อน   แล้ววิ่งมาอีกหลายกิโลมาส่งที่ international airport   ผู้ให้บริการอัธยาศัยดี แนะนำข้อมูลว่าให้เดินไปทางซ้ายหรือขวาอย่างยิ้มแย้ม  

          หลัง check – in และตรวจลงตราหนังสือเดินทางเสร็จ เราเดินฝ่าดงร้านขายสินค้าปลอดภาษีไปยัง Air New Zealand Lounge ที่เขาบอกไว้   ผมเกิดความรู้สึกว่าที่นี่ก็แนวเดียวกันกับร้านค้าปลอดภาษีของสนามบินสุวรรณภูมิ   คือบังคับให้ผู้โดยสารต้องผ่านร้านค้า   แต่ที่ซิดนีย์แรงกว่ามาก   คือเราต้องเดินฝ่าตู้โชว์สินค้าเลยทีเดียว   ผมรังเกียจพฤติกรรมเช่นนี้ จึงไม่ซื้ออะไรเลย

          Air New Zealand Lounge ใหญ่โตกว้างขวางมาก   และมีอาหารเครื่องดื่มให้กินแบบกินอิ่มทีเดียว   รวมทั้งมีคอมพิวเตอร์ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี และมีปลั๊กไฟให้เสียบคอมพิวเตอร์ของตนเอง   ผมเผลอเอา adapter ใส่กระเป๋าใหญ่ไปแล้ว   เพราะคิดว่าไม่จำเป็น   บนเครื่องบินการบินไทยชั้นธุรกิจมีปลั๊กไฟให้เสียบ อย่างที่ผมเสียบอยู่ในขณะนี้
          ตอนนั่งเครื่องบินขามา ผมสังเกตจากจอว่า tail wind (ลมส่งท้าย) แรงมากถึงกว่า ๒๐๐ กม./ชม. เครื่องบินจึงใช้เวลาเพียง ๗ ชม. ๒๐ นาที   แต่ขากลับต้องใช้เวลาถึง ๙ ชม. ๔๕ นาที เพราะลมต้านแรงกว่า ๒๐๐ กม./ชม. เช่นกัน

          เป็นอันจบการพักผ่อน ๖ วัน   ที่ผมไม่คิดเรื่องงานเลย


วิจารณ์ พานิช
๒๐ ก.ย. ๕๓
บนการบินไทย กลับกรุงเทพ
    

เลขา กับบรรยากาศใน Royal Botanic Gardens ส่วนที่เป็นสนามหญ้าและไม้ใหญ่

 

นก Loughing Bird

 

ไม้ดอกหลากชนิดสวยงาม ในส่วนที่เรียกว่า Morning Spring Walk

 

ต้นเลือดมังกร ล้มในท่าตะแคงกลายเป็นจุดสนใจ เขาล้อมรั้วรักษาชีวิตให้อย่างดี

 

ต้นเลือดมังกร Dracaena draco ตะแคง ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

 

นกกระสาปรับตัวอยู่กับคน

 

 นกกาน้ำที่นี่ลำตัวส่วนท้องสีขาว กำลังตากแดดให้ขนแห้ง

 

นกกาน้ำทำรังบนต้นไม้ต้นเดียวกันกว่า ๑๐ รัง ใน Royal Botanic Garden

 

ลูกนกกาน้ำในรัง

 

ค้างคาวแม่ไก่ นับร้อยตัวเกาะบนต้นไม้ใน Royal Botanic Gardens

 

ตัวนี้คงจะกำลังบิดขี้เกียจ

 

นกกระสากับค้างคาวบนยอดไม้

 

ภาพดอกไม้งามหลากสี ฝีมือถ่ายของสาวน้อย

 

ดอกแบบนี้เป็นครั้งแรกที่เคยเห็น

หมายเลขบันทึก: 403176เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 03:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์หมอ

                     อ่านและจินตนาการตาม  ดูรูปภาพไปด้วย  เรียนรู้โลกกว้างน่าสนุกนะคะตามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท