โพชฌังคปริตร


โพชฌังคปริตร

ความเป็นมาและอานุภาพแห่งพระพุทธมนต์

      การเจริญพระพุทธมนต์มีต้นกำเนิดมาจากการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ เพื่อจดจำและสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์โดยตรง ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้น ใช้วิธีเรียนแบบบอกปากต่อปาก แล้วท่องจำสวดสาธยายต่อๆกันมาเรียกว่า มุขปาฐะ ซึ่งเป็นวิธีที่พระสาวกใช้กันมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ร่องรอยของการทรงจำพระพุทธพจน์ด้วยวิธีมุขปาฐะนี้ ยังคงปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การสวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ ๑๕ วัน เพื่อทบทวนสิกขาบทของพระภิกษุ และการทำวัตรสวดมนต์ของพุทธบริษัททั้งหลายนั่นเอง

      กุศโลบายในการนำพระสูตรต่างๆมาท่องบ่นสาธยายในรูปแบบการบริกรรมภาวนาให้เกิดเป็นสมาธิ จึงถูกเรียกว่าพระพุทธมนต์ เมื่อบริกรรมภาวนาพระพุทธพจน์จนจิตเกิดเป็นสมาธิ ย่อมเกิดพลานุภาพในด้านต่างๆได้ ต่อมาในภายหลังจึงมีผู้นิยมนำพระพุทธพจน์มาเป็นพระพุทธมนต์เพื่อต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย พระพุทธมนต์จึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระปริตร ซึ่งก็คือพระพุทธมนต์ที่มีอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน และรักษา อันอาศัยจิตที่เป็นสมาธินั้นเอง

      การนำพระพุทธพจน์มาเจริญภาวนาในรูปแบบการเจริญพระพุทธมนต์จนเกิดอานุภาพในการต้านทานนั้น มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น พระพุทธองค์ทรงอนุญาต ให้ภิกษุสวดขันธปริตรเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย และทรงห้ามไม่ให้เรียนเดรัจฉานวิชา แต่เรียนพระพุทธมนต์เพื่อคุ้มครองป้องกันตนเองได้

      พระพุทธพจน์ที่นำมาเป็นพระพุทธมนต์นั้น บางพระสูตรพระพุทธองค์ทรงใช้สวดเอง บางสูตรทรงแนะนำให้พระสงฆ์สาวกใช้ บางสูตรเทวดาเป็นผู้นำมาแสดง พระพุทธมนต์จะเกิดอานุภาพในการต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลทั้งหลายได้นั้น ผู้เจริญพระพุทธมนต์ต้องยึดหลัก ๓ ประการ คือ

๑.      มีความเชื่อมั่น และศรัทธาเลื่อมใส

๒.     จิตต้องอ่อนโยนมีเมตตา ไม่เห็นแก่ลาภสักการะ

๓.     จิตต้องเป็นสมาธิ มั่นคง แน่วแน่ และไม่ฟุ้งซ่านวอกแวกขณะเจริญพระพุทธมนต์

      สำหรับผู้เจริญพระพุทธมนต์เอง และแม้กระทั่งผู้ได้รับฟังการเจริญพระพุทธมนต์ หากกระทำด้วยความเลื่อมใส ไม่มีกิเลสมาครอบงำจิตใจ ไม่มีกรรมหนักมาตัดรอน อีกทั้งยังไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย พระพุทธมนต์ย่อมจะมีอานุภาพในการบำบัดทุกข์โศกโรคภัยนานาประการ ความเจ็บไข้ได้ป่วย สรรพอันตรายและภัยต่างๆ อีกทั้งสามารถดับความเร่าร้อน ความกระวนกระวายใจ ขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลและสิ่งที่ไม่พึงพอใจทั้งหลายได้ และยังช่วยให้เป็นผู้นอนหลับก็สบายไม่ฝันร้าย มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตลอดกาลทุกเมื่อ

      นอกจากนี้ การเจริญพระพุทธมนต์ยังมีอานุภาพเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าหาประมาณมิได้ การเจริญพระพุทธมนต์จึงควรเป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา พระพุทธศาสนาจะดำรงสืบต่อไป ตราบเท่าที่พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนยังศึกษาท่องบ่นสาธยาย ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักการนำพระพุทธพจน์มาเจริญสมาธิภาวนาให้เกิดเป็นพุทธานุภาพอย่างเชื่อมั่น

หมายเหตุฯ

ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทสวดมนต์ ฉบับมหากุศล ไม่ปรากฎชื่อผู้จัดพิมพ์ ระบุไว้ว่าสำหรับแจกฟรีเป็นธรรมทานเท่านั้น ห้ามจำหน่าย ไม่สงวนสิทธิ์สำหรับผู้ที่ต้องการคัดลอกเพื่อจัดพิมพ์เป็นธรรมทาน พิมพ์ที่ หจก. สามลดา

โพชฌังคะปริตร

      เป็นพระปริตรแห่งองค์คุณเพื่อการตรัสรู้ ซึ่งมีความเป็นมา จากสามพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก โดยน้อมมาเป็นสัจกิริยาเพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถบังเกิดพุทธานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้หายไป มีสุขสวัสดี

 

โพชฌังโค สะติสังขาโต             ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติปัสสัทธิ                       โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร

สมาธุเปกขโพชฌังคา                สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา                 ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ               นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกัสฺมิง สะมะเย นาโถ               โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกขิเต ทิสฺวา                 โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ

เต จะ ตัง อะภินันทิตฺวา               โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

เอกะทา ธัมมะราชาปิ                 เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ               ภะณาเปตฺวานะ สาทะรัง

สัมโมทิตฺวา จะ อาพาธา             ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

ปะหีนา เต จะอาพาธา                ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสาวะ                  ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

................................

(แปล) โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗. อุเบกขา ความวางเฉย เหล่านี้เป็นธรรมที่พระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว บุคคลอบรม ฝึกฝนให้มาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

      สมัยหนึ่งพระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระกัสสปะเป็นไข้ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองต่างชื่นชมยินดีพระธรรมเทศนานั้น แล้วกลับหายจากโรคทันที ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

      ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวายโดยเคารพ ทรงบันเทิงพระฤทัยหายจากประชวรนั้นแท้จริง ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

      แท้จริงแล้วอาพาธเหล่านั้นของท่านผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งสาม อันตรธานไปไม่กลับเป็นอีก เหมือนอริยมรรคกำจัดกิเลสลงราบแล้ว ไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ

( เครื่องหมาย  นี้ทำให้คำอ่านออกเสียงเหมือน ไม้หันนะกาด หรือเกิดการควบกล้ำขึ้น เช่นคำว่า ทิตฺวา อ่านว่า ทิต ตะ วา ส่วนคำว่า ปะหีนา ในบทสวด ให้ออกเสียงเป็น ปะฮีนา )

หมายเหตุฯ

ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทสวดมนต์ ฉบับมหากุศล ไม่ปรากฎชื่อผู้จัดพิมพ์ ระบุไว้ว่าสำหรับแจกฟรีเป็นธรรมทานเท่านั้น ห้ามจำหน่าย ไม่สงวนสิทธิ์สำหรับผู้ที่ต้องการคัดลอกเพื่อจัดพิมพ์เป็นธรรมทาน พิมพ์ที่ หจก. สามลดา

ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า

      ข้าพเจ้าเห็นว่าบทสวดพุทธมนต์นี้ดีนัก สวดแล้วสบายใจดี ครั้นจะจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายออกไปก็เห็นจะไม่พร้อมเรื่องกำลังทรัพย์ แต่ก็ยังอยากให้พุทธศาสนิกชน ผู้ใฝ่ในธรรมได้อ่าน ได้ท่องบ่นพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคลของท่านทั้งหลาย และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง อนึ่ง ข้าพเจ้าคัดลอกมาด้วยความระมัดระวังทั้งอักขระไม่ให้ผิดเพี้ยน หากแต่จะเกิดผิดพลาดประการใดขึ้น ขอท่านผู้รู้ได้กรุณาแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุง ให้ผู้คัดลอกต่อๆไปนำไปสวดโดยไม่ผิดเพี้ยน รวมถึงตัวข้าพเจ้าที่สวดอยู่นี้ก็จะได้แก้ไขปรับปรุงตาม

      ผลบุญใดที่เกิดจากการเผยแพร่และสวดบริกรรมพุทธมนต์นี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายเป็นผู้เจริญในธรรม ให้ถึงบทอันเกษม กล่าวคือถึงซึ่งพระนิพพาน ความปรารถนาที่ดีงามของท่านทั้งหลายจงประสบผลสำเร็จโดยพลัน

หมายเลขบันทึก: 403084เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2010 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี ที่ผมชอบฟังมากคือสวดเป็นภาษาบาลีและสวดแปลไทยตาม เด็กๆ จะได้เข้าใจมากขึ้นด้วยครับ

สวัสดีครับ คุณครูหยุย

ผมจะทะยอยพิมพ์ส่งขึ้นมาเรื่อยๆ

ด้วยหวังว่าจะมีการสักบทหนึ่ง ที่มีเด็กๆนักเรียนคิดอยากจะสวดพุทธมนต์นั้น

ซึ่งผมเชื่อว่า การสวดพุทธมนต์นี้ หากเด็กที่สวดเป็นประจำ จะทำให้เกิดสมาธิ

ไม่คิดข้องเกี่ยวกับอบายมุข และส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิตได้ครับ

ดังผมจะีมีตัวอย่างของคนที่มีตัวตนอยู่จริงในปัจจุบันที่เป็นคนธรรมดาแต่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ก็ด้วยการเริ่มต้นจากการสวดมนต์นี้เองครับ

โดยหวังว่า จะเป็นแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนสนใจหันมาสวดมนต์กันมากขึ้นครับ

สวดมนต์ ดีแน่ครับ เด็กตัวเล็กๆ (จากรูป) สมาธิดีจังเลย พิมพ์หนังสือคำยากๆ ภาษาบาลีด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท