แนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมการบูชาในพระพุทธศาสนา


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย. 2552.

      ในสังคมพระพุทธศาสนา  เมื่อพูดถึงคำว่า “บูชา”  ชาวพุทธบางส่วนอาจจะเข้าใจกันว่า หมายถึง  การนำเอาดอกไม้ ธูป เทียน ไปสักการะหรือบูชาพระ โดยไม่ได้สนใจความหมายและให้ความสำคัญในเชิงวิชาการเท่าใดนัก  ทั้งที่เนื้อหาสาระของการบูชามีความสำคัญต่อการปฏิบัติตนของชาวพุทธอย่างยิ่งในการแสดงออกถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งจะต้องปฏิบัติตนตามครรลองของพระพุทธศาสนา  และที่สำคัญการบูชาก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาด้วย  ดังเช่นที่ปรากฏในมงคลสูตร นั่นเอง

 

      จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ ตำราและเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ทำให้ทราบความหมายของการบูชา ซึ่งอาจจำแนกเป็นความหมายที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและความหมายตามทัศนะทั่วไป  ดังต่อไปนี้

 

ความหมายของการบูชาในพระไตรปิฎก

      ในพระไตรปิฎก มีการกล่าวถึงการบูชาหลายลักษณะ โดยเฉพาะการบูชาที่มีมาก่อนคำสอนเรื่องการบูชาในพระพุทธศาสนา  เช่น  การบูชาไฟ ด้วยการทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบ ซัดรำ  เติมน้ำมัน  เติมเนยเพื่อบูชาไฟ[1] และการบูชายัญ ซึ่งเป็นการเซ่นสรวงเทพเจ้าด้วยการฆ่าสัตว์ต่าง ๆ [2] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบูชาเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และเป็นกริยาที่แสดงถึงความเคารพ นับถือ ภักดีต่อสิ่งที่เชื่อถือ โดยเอาวัตถุมาเป็นเครื่องบูชา  ส่วนในพระพุทธศาสนานั้น  ความหมายที่แท้ของคำว่า “บูชา”  อาจพิจารณาได้จากคำที่เป็นไวพจน์กันดังปรากฎในพระไตรปิฎกหลายแห่ง อาทิ  ความตอนหนึ่งในมหาปรินิพพานสูตร ว่า

 

      พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ทรงถือเอาของหอมมาลัยและเครื่องดนตรีทั้งปวงกับผ้า    500  คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ และเสด็จเข้าไปถึงพระสรีระพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปถึงแล้ว สักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระสรีระ    พระผู้มีพระภาค  ด้วยการฟ้อนรำ  ขับร้อง  ประโคม มาลัยและของหอม ดาดเพดาน  ผ้า ตกแต่ง โรงมณฑล ยังวันนั้นให้ล่วงไปด้วยประการฉะนี้[3]

    

ข้อความตอนนี้อาจกล่าวได้ว่า  การบูชาเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือด้วยการแสดงออกทางกาย  เช่น  การถวายสักการะโดยการฟ้อนรำ  ขับร้อง  ประโคมดนตรี  และการถวายสักการะด้วยวัตถุต่าง ๆ  

          

       อีกตัวอย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก  ความว่า

 

       ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้า เหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่าน    เหล่านี้  รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่    ต้องทำอัญชลีกรรม  สามีจิกรรม  ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ   ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่  ต้องถวายบิณฑบาต[4] 

 

       ข้อความตอนนี้ แสดงให้เห็นลักษณะของการบูชาที่เป็นเรื่องของการแสดงออกถึงความเคารพนับถือและสักการะ  โดยการกราบไหว้  ให้เกียรติ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้ควรเคารพนั่นเอง  

 

       นอกจากนี้ยังมีบางตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การบูชา เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมด้วยความเคารพนับถืออย่างจริงใจ  เช่น  ความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับการรับครุธรรม  8  ประการของพระนางปชาบดี ว่า 

 

“ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว 100 ปี  ต้องกราบไหว้  ลุกรับ  ทำอัญชลีกรรม  สามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น  ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา  ไม่ละเมิดตลอดชีวิต[5]   

 

       จากตัวอย่างข้างต้นนี้  มีข้อที่พึงสังเกต คือ เมื่อกล่าวถึงการบูชา  มักมีคำว่า  “สักการะ  เคารพ  นับถือ”  ปรากฎพร้อมกับคำว่า “บูชา”  เสมอ ๆ  ซึ่งในพระไตรปิฎก  มีปรากฏคำลักษณะเป็นชุดคำเช่นนี้มากมาย  ทำให้สามารถเข้าใจความหมายของการบูชาได้ชัดเจนขึ้น  เพราะคำเหล่านี้เป็นเสมือนคำไวพจน์ของคำว่า “บูชา” ก็ว่าได้

 

        เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจจะสรุปได้ว่า  การบูชา  ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น  หมายถึง  พฤติกรรมที่แสดงถึงความเคารพนับถือหรือสักการะบุคคลผู้ทรงคุณธรรม เช่น พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และพระธรรมวินัยอันเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อชีวิตนั่นเอง

 

ความหมายของการบูชาตามทัศนะทั่วไป

 

        ความหมายตามทัศนะโดยทั่วไปในที่นี้มุ่งหมายถึงความหมายตามทัศนะของผู้รู้หรือนักวิชาการศาสนา  ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบูชาไว้ ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมมานำเสนอไว้พอเป็นแนวทางให้เห็นความหมายตามทัศนะของท่านนั้น ๆ ดังนี้

 

        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  ได้ให้ความหมายไว้ว่า “บูชา หมายถึง การแสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, การยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือ หรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ”[6]

        จากความหมายตามคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานนี้  ความหมายของการบูชา อาจแบ่งออกเป็น 2  นัย ได้แก่   

        1)  การสักการะด้วยวัตถุอันเป็นเครื่องสักการะบูชาด้วยความเคารพนับถือในบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ

        2)  การยกย่องหรือเลื่อมใสในคุณความดีของบุคคลด้วยความเคารพนับถือ 

       

นอกจากนี้  ยังมีทัศนะของผู้รู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการอื่น ๆ อีกดังนี้

           สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  ได้ทรงนิยามศัพท์คำว่า “บูชา”  ไว้มีความหมายว่า  “การยกย่องเชิดชู  เซ่นไหว้ กราบหรือการแสดงความนับถืออย่างอื่น คือลุกขึ้นยืนต้อนรับ  ให้ที่นั่งที่สมควร  หลีกทางให้เดิน  ตลอดถึงให้สิ่งของหรือรับใช้ด้วยความเคารพนับถือ”[7]

            สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญานวโรรส  ให้ความหมายคำว่า “บูชา” ว่า  หมายถึง   ”การแสดงความคารวะ ความนับถือ ชื่อว่าบูชา แบ่งออกเป็น 2 คือ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา”[8]

           พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)  ให้ความหมายคำว่า “บูชา” หมายถึง “การให้ด้วยความนับถือ  แสดงความเคารพเทิดทูน”[9]

           ดนัย  ไชยโยธา  ให้ความหมายไว้ว่า  “บูชา หมายถึง การแสดงความเคารพยกย่อง  เชิดชู  เลื่อมใสบุคคล ผู้มีคุณความดี มีคุณธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจเรียกว่า บูชา”[10]

           เกษม  บุญศรี  ให้ความหมายคำว่า “บูชา” หมายถึง “การสักการะเคารพนับถือ การสนองคุณ”[11]

           เทพพร  มังธานี  ให้ความหมายคำว่า “บูชา” ว่า  หมายถึง “การทำด้วยความจริงใจด้วยความเลื่อมใสในความรู้ความสามารถและคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลนั้น ๆ” [12]

 

         จากความหมายของ คำว่า “บูชา”  ดังกล่าวนี้  อาจสรุปได้ว่า  การบูชาเป็นการแสดงความเคารพ ความนับถือ  สักการะ  ความเชื่อความยำเกรง  ความจงรักภักดี  ซึ่งเป็นการแสดงออกทางกาย และวาจาด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ที่มีต่อบุคคลหรือสิ่งที่ตัวเองเคารพนับถือ  ด้วยความสำนึกและเทิดทูน  ด้วยความนอบน้อมและด้วยการให้  

 

        เมื่อพิจารณาจากความหมายที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและความหมายตามทัศนะทั่วไปร่วมกันแล้ว  พบว่า ความหมายของการบูชาในพระไตรปิฎกมีเนื้อหาที่กว้างกว่า ความหมายตามทัศนะทั่วไป โดยข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดได้แก่  ความหมายของการบูชาในพระไตรปิฎกนั้นมีการหมายรวมถึงการปฏิบัติตามธรรมะหรือพระธรรมวินัยด้วยความตระหนักถึงคุณค่าแห่งธรรมะนั้น ๆ และเทิดทูนธรรมะนั้นๆ อย่างสูงส่งด้วย  ส่วนจุดร่วมกันของความหมายทั้งสองที่มาก็คือ การบูชาเป็นเรื่องของการแสดงออกถึงความเคารพนับถือในบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพนับถือนั่นเอง 

 


      [1] ที. สี.  9/19/11.

      [2] ม.ม.  13/10/9.

      [3] ที.ม. 10/152/184.

      [4]  วิ.มหา. 5/251/343.

      [5]  วิ.จุลฺ. 7/516/323.

      [6] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2546), หน้า 634

      [7] สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (จวน  อุฏฐายี), มงคลในพระพุทธศาสนา  (กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิ่ง, 2542), หน้า 26 – 27.

      [8] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สารานุกรมพระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539), หน้า 267 – 268.

      [9] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,2533), หน้า 140.

      [10] ดนัย  ไชยโยธา, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ (กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์, 2543), หน้า 125.

      [11] เกษม  บุญศรี, พุทธมงคล เล่ม 1 (กรุงเทพมหานคร: คุรุสภา, 2507), หน้า 68.

      [12] เทพพร  มังธานี, มงคล 38 ประการ (กรุงเทพมหานคร: เลี่ยงเซียง, 2541), หน้า 31.

หมายเลขบันทึก: 401152เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท