สร้างคน และส่งเสริมความริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้คน : รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม


รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม เป็นผู้อำนวยการของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้อำนวยการคนที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๓๑-๒๕๓๗ ต่อจากศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ผู้อำนวยการคนแรกนับแต่สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน เมื่อปลายปี ๒๕๒๕ เพื่อเป็นเครือข่ายทางวิชาการสนับสนุนการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานขึ้นในประเทศไทย ผมเคยทำงานอยู่ที่สถาบันดังกล่าวกว่า ๒๐ ปี รวมทั้งในช่วงที่อาจารย์ไปเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งในห้วงเวลานั้น ท่านเป็นผู้บริหารหน่วยงานระดับคณะและสถาบันซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานย่อยภายในระบบโครงสร้างมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเพียงคนเดียว ที่ได้รับการเลือกสรรให้เข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย สื่อสะท้อนภาวะผู้นำและคุณลักษณะที่หาได้ยากหลายอย่างในตัวท่าน 

ผมชอบฟังอาจารย์เล่าประสบการณ์การทำงานและเรื่องราวโดยรอบต่างๆ รวมทั้งชอบถามให้อาจารย์ถ่ายทอดสิ่งต่างๆให้พวกเราได้ฟัง ทำให้ได้เห็นเส้นทางชีวิตการงานที่น่าประทับใจของอาจารย์หลายอย่างมาก ครั้งที่ได้ความซาบซึ้งมากก็เมื่อที่พวกเราในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ได้รวมใจอาสาทำหนังสือและจัดงานอำลาอาลัยให้ท่านเมื่อท่านเกษียณและสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ผมนำเอาเรื่องราวชีวิตของอาจารย์มาทำบทสื่อเพื่อเล่าและนำเสนอด้วยสไลด์ดิสโซล์ฟ-มัลติวิชั่น

งานที่จัดให้ท่านในครั้งนั้น เป็นการจัดในตอนเย็น ช่วงที่จะเป็นกิจกรรมเชิดชูเกียรติอาจารย์นั้นยังไม่มืดค่ำ แต่เครื่องฉายภาพสไลด์ในยุคนั้นไม่มีกำลังส่องสว่างสำหรับฉายภาพในสภาพที่ห้องยังมีแสงสว่างอยู่ได้ จึงเป็นครั้งแรกที่ผมหาวิธีฉายภาพสไลด์ในเวลากลางวันโดยใช้เทคนิคที่คิดทำขึ้นเอง ซึ่งผู้ได้ชมไม่รู้จักปัญหาทางเทคนิคสื่อและคงไม่ได้สังเกตว่าในยุคนั้นจะไม่เคยมีใครได้นั่งชมการฉายภาพขึ้นจอในห้องที่ไม่มืด จึงไม่ได้สังเกตว่าทำไมสถาบันของเราสามารถนำเสนอเรื่องราวของอาจารย์ด้วยสื่อสไลด์ได้ในเวทีจัดงานที่ควบคุมแสงไม่ได้และยังไม่มืดค่ำ อีกทั้งคงไม่ทราบเบื้องหลัง 

วิธีทำก็คือ ทำตรงข้ามกับวิธีฉายภาพทั่วไป โดยการฉายภาพแบบทั่วไปนั้น จะฉายขึ้นจอสะท้อนภาพให้ผู้ชมเห็น เรียกทางเทคนิคว่าการฉายแบบสะท้อนบนจอ (Screen Reflected Projection) ซึ่งเครื่องฉายภาพในยุคนั้น มีขีดจำกัดมาก เมื่อฉายแบบสะท้อนขึ้นจอ กำลังส่องสว่างจะลดลงอีก จึงต้องใช้ห้องที่มืดหรือฉายกลางคืนที่ควบคุมแสงสว่างได้ เมื่อนำมาฉายตอนกลางวัน วิธีที่จะไม่ลดกำลังส่องสว่างวิธีหนึ่งก็คือ ทำให้แสงจากเครื่องฉายพุ่งเข้าหาผู้ชมโดยตรงไม่ต้องสะท้อนกลับแบบฉายขึ้นจอ จอภาพที่จะต้องใช้ จะต้องตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างเครื่องฉายภาพกับผู้ชม ดังนั้น จึงต้องเป็นจอที่มีคุณสมบัติสำหรับทำหน้าที่ให้ได้ ๒ อย่างคือ (๑) เป็นม่านรับภาพ เหมือนกับที่เห็นวิธีจากการใช้ม่านน้ำหรือม่านควันสำหรับฉายแสงเลเซอร์ในยุคต่อมากระทั่งปัจจุบัน และ (๒) ยอมให้แสงผ่านได้ ซึ่งก็ต้องไม่มากเกินไปจนกระทบต่อสายตาและสุขภาพในการเห็นของผู้ชม แล้วก็ไม่น้อยเกินไปจนคุณภาพของภาพที่ปรากฏขาดสีสันและความชัดเจน 

ในทางทฤษฎีและทางเทคนิคของเทคโนโลยีฉายภาพสไลด์ยุคนั้น วิธีดังกล่าวนี้จะสามารถทำได้ โดยมีเทคนิคเฉพาะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าการฉายออกมาจากหลังจอ  (Rear Screen Projection) เทคนิคการฉายแบบนี้ ภาพที่จะฉายต้องใส่กลับข้างซ้ายขวาหมด และต้องใช้จอฉายแบบฉายทะลุจากข้างหลังได้ แต่ยุคนั้น จอแบบนี้ไม่มีทั่วไปในท้องตลาด คงจะสามารถสั่งจากต่างประเทศได้อย่างเป็นการจำเพาะ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันเองก็ไม่เคยมี แต่ผมเรียนศิลปะและรู้จักกระดาษไขกับวิธีฉายหนังตะลุง จึงไปซื้อกระดาษไขเขียนแบบอย่างหนามาปะติดต่อกันหลายๆแผ่นแล้วทำเป็นจอขนาดใหญ่สำหรับฉายภาพจากด้านหลังจอ เป็นเทคโนโลยีการศึกษาแบบทำเองด้วยมือจากวัสดุที่เคยใช้ทำงานศิลปะ

จากนั้น จึงนำเอาเครื่องฉายไปฉายจากด้านหลังจอภาพ ให้ลำแสงจากเครื่องฉายส่องเข้าหาผู้ชมโดยตรง นอกจากนี้ ก็ขอเรียบเรียงและเป็นบรรณาธิการหนังสือจัดพิมพ์เรื่องราวของอาจารย์ รวมทั้งขอทำกราฟิคให้สวยงามอย่างศิลปะของหนังสือ พอถึงช่วงงาน ก็เป็นโฆษก พิธีกร และผู้คอยดูแลกิจกรรมต่างๆของเวทีให้ดำเนินไปตามที่พวกเราวางแผนไว้ให้เป็นเครื่องคารวะสร้างความประทับใจแก่อาจารย์และทุกคนที่ร่วมงานอย่างดีที่สุด จึงนอกจากจะเป็นการได้ทำงานให้ลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ทุกอย่างก็ทำให้ได้อยู่กับรายละเอียด ได้เรียนรู้ชีวิตการงานอาจารย์ และได้ความซาบซึ้งใจมาก รวมทั้งทำให้ผมได้ตระหนักไปด้วยว่า ในบางสถานการณ์ ท่ามกลางสภาพโดยทั่วไปของสังคม ที่เหมือนกับไม่มีวิธีคิดวิธีแก้ปัญหานั้น ความรู้และประสบการณ์ต่างสาขาวิชาชีพผสมผสานกันหลายๆอย่างด้วยความเข้าใจต่อจุดหมายที่ต้องการ ก็ช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกอันหลากหลาย ให้เราทำสิ่งต่างๆขึ้นมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีมาก

อาจารย์เป็นแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณพ่อของอาจารย์นั้นเป็นผู้ว่าราชการของจังหวัดต่างๆหลายแห่งซึ่งทำให้อาจารย์และครอบครัวพ่อแม่ต้องย้ายไปตามการปฏิบัติราชการของคุณพ่ออยู่ตลอดเวลา  

ในช่วงวัยเด็กและวัยกำลังศึกษาเล่าเรียนนั้น อยู่ในช่วงภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา อาจารย์ต้องย้ายที่เรียนไปทั้งในจังหวัดภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งไปอยู่ที่พระตะบองซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ในมณฑลหนึ่งของประเทศไทยและคุณพ่อของอาจารย์ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นพ่อเมืองของที่นั่น คนในรุ่นอาจารย์นั้นเรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นนักเรียนรุ่นนายพลโตโจ ซึ่งเป็นรุ่นที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย เด็กนักเรียนได้อาสาเป็นทหารอาสาเป็นจำนวนมากและผู้ที่อยู่ในระยะการสอบไล่ปีสุดท้ายของช่วงชั้นต่างๆในระดับต่ำกว่ามหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้รับการยกให้เป็นผู้จบการศึกษาทั้งหมดเพราะตกอยู่ในภาวะสงครามแรมปี ประสบการณ์ทางสังคมร่วมกันของคนรุ่นนั้นจึงเป็นที่มาของ 'นักเรียนรุ่นนายพลโตโจ'....ชื่อแม่ทัพญี่ปุ่นที่บัญชาการรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาคนหนึ่ง

 Large_dryawarat2

                                                ภาพที่ ๑ :  รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม

อาจารย์เคยเป็นอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาชีวสถิติ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีลูกศิษย์ลูกหาหลายรุ่นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งกล่าวได้ว่าในทุกภูมิภาคของโลก นอกจากนี้ก็เป็นอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานเชิงนโยบายระดับประเทศ และองค์กรความร่วมมือทางสุขภาพระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง ซึ่งเมื่อผสานกับความเป็นผู้นำทางวิชาการและผลงานวิจัยที่สำคัญในอีกหลายเรื่อง ก็ทำให้อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการสาธารณสุขของประเทศและในเวทีนานาชาติ

 Large_dryawaratandco

                          ภาพที่ ๒ : จากซ้าย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ๒๕๔๘-๒๕๕๒ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม อดีตผู้อำนวยการสถาบัน ๒๕๓๑-๒๕๓๗ คุณพิชญ์สินี เพียรอนุกูลบุตร นักวิชาการศึกษา และผู้เขียน 

 

ผมนั้นมีความประทับใจ ได้ความเมตตา และได้อาจารย์เป็นเสมือนครูแห่งชีวิต ที่เป็นเหตุให้มีความผูกพันและเคารพรักเป็นอย่างยิ่งต่ออาจารย์หลายอย่างหลายวาระ และเท่าที่ได้ทำงานอย่างที่เป็นมาทุกวันนี้นั้น กล่าวได้ว่าอาจารย์มีส่วนอย่างยิ่งทั้งในความเป็นแรงบันดาลใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งสิ่งหนึ่งในความริเริ่มของอาจารย์ในความเป็นแรงบันดาลใจต่อผมมากนั้นก็คือ การนำเอาการวิจัยแบบ Community-Based Research :CBR มาเผยแพร่ส่งเสริมในประเทศไทยให้กับการทำงานสุขภาพในระดับชุมชน ทั้งงานวิจัยสร้างทฤษฎีจากชุมชนและประสบการณ์ผู้ปฏิบัติ หรือ Grounded Theory Research การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม หรือ Particpatory Action Research : PAR และการวิจัยปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อสร้างพลังองค์กรการจัดการตนเองของชุมชน หรือ CO-PAR : Community Organizing Through Particpatiry Action Research

ก่อนหน้านี้ งานวิจัยแนวนี้แพร่หลายในประเทศไทยอยู่ในหมู่นักวิชาการด้านส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน การบุกเบิกเครื่องมือทางวิชาการที่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรมและมิติการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ผสมผสานอยู่ในความเป็นการวิจัยด้วย เข้ามาสู่การพัฒนาสุขภาพในสังคมไทย จึงเป็นแง่มุมหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อการชี้นำการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสุขภาพที่ขยายกรอบไปสู่ All for Health และ Health for All ซึ่งระเบียบวิธีการวิจัย ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมการทำงานความรู้ก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ทันกับความจำเป็นดังกล่าวไปด้วย อาจารย์ทำให้สถาบันและมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้นำดังกล่าวนี้ของประเทศ

ก่อนหน้านั้น ผมรู้จักงานของเปาโลแฟร์,  ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ และคาลจุง ในแง่ที่เป็นด้านการพัฒนาการศึกษาสำหรับ Powerless Group และ Specific Population Group ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนยากจนในชนบทและในเมือง กลุ่มความสนใจนอกกระแสหลัก กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนย้ายถิ่น กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์อิสระ รวมทั้งการได้ศึกษางานจิตวิทยาการศึกษาของหม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย เมื่อครั้งเรียนอยู่ปริญญาตรีสาขาเวชนิทัศน์ศิริราช

แต่หลังจากนั้นอีกกว่า ๑๐ ปีในขณะที่ทำงานเป็นพนักงานตัวน้อยๆของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน งานของอาจารย์ก็ทำให้ได้รู้จักอีกมิติหนึ่งของงานแนวนี้ คือ การเป็นวิธีวิทยาเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในขอบเขตที่กว้าง สำหรับทำให้งานสาธารณสุขและในทุกประเด็นปัญหา แปรไปสู่การเรียนรู้ พัฒนาคน แล้วสร้างพลังปัจจัยด้านคนให้กลับมาเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหา ซึ่งในท่ามกลางสภาพแวดล้อมของยุคนั้นที่สังคมไทยและสังคมโลกมุ่งเน้นการพัฒนาแบบมุ่งความมั่งคั่งทางรายได้เศรษฐกิจนั้น การคำนึงถึงวิถีการดำรงอยู่อย่างพอประมาณของคนส่วนใหญ่ซึ่งเสียเปรียบอยู่ในโครงสร้างการพัฒนาของสังคมในลักษณะดังกล่าว ก็เป็นวิธีคิดที่ผมประทับใจและร่วมออกแบบการทำงานของตนเองให้ร่วมผสมผสานเสริมกำลังการปฏิบัติในแนวทางดังกล่าวด้วย แม้ในสภาพที่ขาดคน ขาดปัจจัยดำเนินการ และต้องบุกเบิกริเริ่มทำกันเองอีกมากมาย ผมต้องทำเองแม้กระทั่งตู้ดูฟิล์มและสไลด์ ขาตั้งลำโพง เครื่องฉาย อุปกรณ์สื่อและระบบเครื่องเสียงห้องประชุมทุกห้องของสถาบัน ซึ่งหลายอย่างก็กลับมีประสิทธิภาพดีและสอดคล้องกับการใช้งาน อย่างไม่สามารถจัดหาได้จากตลาดและด้วยงบประมาณของราชการ

คราใดที่ผมได้กลับไปทำงานหรือไปบรรยายในห้องประชุมของสถาบัน โดยเฉพาะหอประชุมใหญ่ ซึ่งผมออกแบบและจัดการติดตั้งระบบเสียงใหม่ทั้งหมดแทนชุดเก่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในความภูมิใจเล็กๆของผม เนื่องจากทั้งหมดได้ทำมาตั้งนานแล้วนับแต่ยุคอาจารย์เป็นผู้อำนวยการ แต่ยังใช้การได้อย่างดีมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว ใครทำงานทางด้านนี้เป็น ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยมหิดลของเรากับทุกแห่ง ก็ย่อมจะรู้ดีว่าไม่เคยมีระบบเสียงห้องประชุมที่ใช้การได้อย่างดีเป็นเวลานานอย่างนี้ อย่างดีในที่นี้ หมายถึงมีความเหมาะสมกับการจัดกิจกรรมวิชาการ ใช้ไมโครโฟนเพื่อการพูดคุยกันได้เป็นจำนวนมากโดยไม่หอน เสียงกระจายทั่วห้องประชุมโดยไม่ดังและไม่ค่อยเกินไป มีความชัดเจน เพราะ สดใส รับสัญญาณเสียงจากการใช้สื่อได้ทุกชนิด ซึ่งในยุคนั้น  เครื่องเสียงห้องประชุมตามห้องประชุมต่างๆ เท่าที่ได้เห็นทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดนั้น ไม่สามารถจะทำได้อย่างระบบเสียงของสถาบันเลย

ระบบเสียงที่ติดตั้งมาพร้อมกับการสร้างห้องประชุมนั้น เป็นระบบที่ดีมากอย่างยิ่ง แต่มันเหมาะสำหรับการใช้เสียงในงานที่ไม่ใช่กิจกรรมวิชาการ อีกทั้งเมื่อต้องบำรุงรักษาและปรับปรุงให้ใช้งานได้อยู่เสมอ ความที่เป็นของดีก็ทำให้การดูแลรักษาที่ต้องใช้เทคนิคและเครื่องมือที่ซับซ้อนไปด้วย เมื่อเราเพียงขอเสนอการตรวจซ่อมบำรุงจากภาคเอกชน จำเพาะค่าตรวจและบำรุงรักษา ก็ต้องใช้เงินงบประมาณเกือบครึ่งล้านบาท มิพักที่จะต้องคิดซื้อและติดตั้งระบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมซึ่งจะต้องใช้เงินเป็นหลายล้านบาท ทว่า หน่วยงานของเราไม่มีเงินในส่วนนี้พอ ผมได้ขออาสาอาจารย์ทำการปรับปรุงและประกอบชิ้นส่วนทำขึ้นเองทุกห้องประชุมด้วยเงินงบประมาณที่ต่ำกว่าการซ่อมของเดิมด้วยซ้ำ แต่ก็กลับใช้การได้เป็นอย่างดีมาจนบัดนี้ หากคิดเป็นตัวเงิน โดยเพียงประมาณการเอาจากการที่สถาบันได้เคยให้เอกชนมาทำการประเมินและเสนอราคาการปรับปรุงระบบเสียงห้องประชุมและคอยซ่อมบำรุงรายปีทั้งสถาบันจำนวน ๖-๗ ห้อง จะเป็นเงินประมาณ ๖-๗- แสนถึง ๑ ล้านบาทต่อปีแล้ว ความสามารถแก้ปัญหาและใช้การได้กว่า ๑๐ ปีมาแล้วของเราอย่างนี้ สามารถทำงานประจำเทียบเป็นมูลค่าได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท ไม่นับผลสืบเนื่องจากประสิทธิภาพของการใช้งานซึ่งทำให้การทำงานต่างๆดีขึ้นอีกมากมาย

อาจารย์อบรมและพัฒนานักวิจัยในแนวนี้ขึ้นจากคนทำงาน ทั้งในภาครัฐและในองค์กรพัฒนาเอกชน ทั่วประเทศ อีกทั้งจัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติไปด้วยโดยสนับสนุนให้เกิดโครงการวิจัยขนาดเล็กให้แก่คนทำงานทุกสาขาที่ทำงานสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับชุมชน ทรัพยากรทางวิชาการระดับผสมผสานกับภาคปฏิบัติการดังกล่าวนี้ กระจายออกไปมีส่วนในการพัฒนาของสาขาต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งในทรรศนะผมแล้ว นับว่าเป็นการลงทุนเพื่อสร้างคน ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลังของการแก้ปัญหาและพัฒนาความสร้างสรรค์ต่างๆได้อยู่ไม่น้อย

 Large_dryawaratandaihdstaffs

                          ภาพที่ ๓  :   หมอช้าง : แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวนิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คนปัจจุบัน ๒๕๕๒-ปัจจุบัน และน้องๆเจ้าหน้าที่ของสถาบัน กับรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม เนื่องในงานครบรอบ ๒๕ ปีของสถาบันและได้เชิญอาจารย์มาร่วมบรรยายพิเศษ ร่วมกับผู้อาวุโสของสถาบันอีก ๓ ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต และนายแพทย์จำรูญ  มีขนอน

 

ผมได้ทำงานหลายอย่างมาก เพื่อต่างร่วมระดมพลังความรู้และความเชี่ยวชาญต่างสาขาให้เป็นแรงบวกเสริมพลังความริเริ่มของคนส่วนน้อยแต่มุ่งทำสิ่งยากๆเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบุกเบิกการพัฒนาหลักสูตรและโครงการเสริมศักยภาพด้านสื่อ การนำเสนอ และการถ่ายทอดความรู้ให้กับครูอาจารย์ ตลอดจนคนทำงานสุขภาพและนักพัฒนาในทุกสาขาทั่วประเทศ พร้อมทั้งทำเวทีประชุมวิชาการและเวทีแสดงผลงานประจำปี ยิ่งไปกว่านั้น ในปีหนึ่งก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งของอาจารย์ สถาบันก็ได้โควตาให้ร่วมส่งบุคลากรไปเข้าเวิร์คช็อปการวิจัยชุมชนหลักสูตร CO-PAR ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีกลุ่มผู้ที่มีความพร้อมและสามารถไปร่วมเวิร์คช็อปดังกล่าวได้หลายคน ผมเองนั้น มีความสนใจด้วยตนเองมาก่อนหน้านั้นมากพอสมควร อีกทั้งเคยผ่านการอบรมหลักสูตร CBD/PHC : Community-Based Development and Primary Health Care ซึ่งก็เป็นหลักสูตรนานาชาติทางด้านการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน แต่ก็ไม่ได้สนใจและไม่ได้คิดถึงเลย ด้วยเพราะอาวุโสน้อยและงานของผมนั้นก็ไม่เกี่ยวกับงานวิจัยโดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนและให้บริการทางวิชาการเสียมากกว่า

แต่ผมก็จำวันซึ่งที่ประชุมกรรมการบริหารพิจารณาเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะในขณะที่ที่ประชุมได้ร่วมกันนำเสนอบุคลากรต่างๆขึ้นมาเพื่อพิจารณาอย่างกว้างขวางกันพอสมควรแล้ว เมื่อถึงคราต้องสรุปและตัดสินใจ อาจารย์ก็ค่อยๆบอกว่า สำหรับครั้งนี้ ดิฉันขอให้คุณวิรัตน์ไป ซึ่งก็ผิดคาดกันทั้งห้องประชุม โดยเฉพาะผม เพราะไม่เห็นมีใครนำเสนอและอภิปรายมาถึงผมให้เห็นเค้าลางบ้างก่อนหน้านั้นเลย แต่ก็ทำให้ผมเกิดพลังความตั้งใจอย่างที่สุด กระทั่งเป็นคนแรกที่นำกลุ่มคนไทยที่ไปเข้าร่วมเวิร์คช็อปในหลักสูตรต่างประเทศของสถาบัน ให้กลับมาพร้อมกับทำรายงานในเชิงสังเคราะห์บทเรียนมิติต่างๆมานำเสนอต่อสถาบัน ทำให้ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการของอาจารย์ กับอาจารย์ สนับสนุนให้ผมได้นำเสนอบทเรียนดังกล่าวนั้นแก่ชาวสถาบันอาเซียนในที่ประชุมบริหาร พร้อมกับหลังจากนั้น ก็เป็นแนวปฏิบัติให้กับคนสถาบัน รวมทั้งผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ได้รับทุนการศึกษาดูงานจากสถาบัน ในการที่จะต้องทำรายงานมานำเสนอหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ การที่อาจารย์เจาะจงให้ผมได้ไปร่วมเวิร์คช็อปดังกล่าวนั้น ได้สร้างทั้งความประทับใจและความประหลาดใจแก่ผมเองมาก จนแม้กระทั่งทุกวันนี้

และนับตั้งแต่ครั้งนั้น ผมก็ยิ่งได้ใช้ประสบการณ์และความรู้ทำงานให้กับสถาบันและมหาวิทยาลัยได้มากพอสมควร โดยเฉพาะในด้าน Community-Based Research นั้น ผมคิดว่าได้ไปร่วมถ่ายทอดประสบการณ์สร้างคนและช่วยงานในส่วนที่ผมสามารถบูรณาการกับพื้นฐานความถนัดของผมได้ ให้แก่คณะและหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคของประเทศ

หลักสูตรการอบรมสื่อ การถ่ายภาพ การทำโครงการและการบริหารจัดการโครงการปฏิบัติการทางสื่อ การทำงานสร้างสรรค์ เขียนบทและผลิตสื่อ การสร้างศักยภาพการนำเสนอถ่ายทอดความรู้ ของสถาบัน ทั้งเพื่อกิจกรรมพัฒนาคน สร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม พัฒนาการเรียนการสอน พัฒนานักวิจัย พัฒนางานบริการวิชาการเพื่อสังคม และเพื่อนำไปทำงานบริหารจัดการองค์กร ที่ผมและคณะได้บุกเบิกดำเนินการขึ้นเหล่านี้ ได้เป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานสำคัญๆหลายแห่งในการนำไปพัฒนาคนทำงานความรู้ ผู้สอนและบรรยาย หัวหน้างานและผู้บริหารจัดการโครงการปฏิบัติ บุคลากรด้านโสตทัศนศึกษา เวชนิทัศน์ และคนทำงานสนับสนุนทรัพยากรทางวิชาการ ที่งานสื่อ การสื่อสารเรียนรู้ และการนำเสนอเพื่อบริหารจัดการความร่วมมือ จะนำไปเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข สำนักงานข้าราชการพลเรือน ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์อาจจะไม่ทราบว่าความต้องมีน้ำอดน้ำทนหลายอย่างมากต่อการที่จะทำงานอย่างที่ได้ทำมากมายในระยะต่างๆที่ผ่านมานั้น ผมทำด้วยความสำนึกในความเป็นครูแห่งชีวิตผมของอาจารย์และศรัทธาต่อความริเริ่มหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากชีวิตการงานของอาจารย์นั่นเอง ทำงานเป็นปฏิบัติบูชาและน้อมคารวะเป็นกตเวทิตาต่ออาจารย์อยู่ตลอดไปด้วยการนำเอาไปใช้ทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มากที่สุดในทุกโอกาส

ต่อมา นอกจากผมจะภูมิใจที่ได้ร่วมสานต่อสิ่งที่อาจารย์และคนรุ่นก่อนริเริ่มไว้เพื่อส่งไม้กันรุ่นต่อรุ่นให้สถาบันเป็นหน่วยทางวิชาการด้านสุขภาพชุมชนของประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างน้อยก็มีคนทำงานแนวดังกล่าวนี้อย่างไม่ขาดตอนกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว อีกทั้งในบางแง่ของการพัฒนาเครื่องมือทางวิชาการและวิธีวิทยาการวิจัย ผมก็ได้มีโอกาสพัฒนาต่อยอดการทำงานในแนวนี้ของอาจารย์ ให้สามารถใช้ทำงานยืดหยุ่นกับข้อจำกัดและช่องว่างของคนสาขาต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะการได้เดินออกไปทำงานเป็นทีมกับคนต่างสาขาและทำให้งานศิลปะกับงานปฏิบัติการทางสื่อไปเสริมกำลังให้กับสาขาการทำงานอื่นให้สามารถเข้าถึงการปฏิบัติของชุมชนและผู้คนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเป็นเครื่องมือและวิธีการปฏิบัติการวิจัย รวมทั้งเป็นเครื่องมือจัดการความรู้และบริหารจัดการความมีส่วนร่วม สร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในมิติใหม่ๆซึ่งจะช่วยเสริมพลังให้กับปัจเจกและหน่วยงาน ให้ทำงานพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ เพื่อมีกำลังข้ามข้อจำกัดและเพิ่มพูนความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุจุดหมาย ซึ่งชุมชนและสังคมก็ย่อมได้รับผลดีจากการดำเนินงานต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้น 

ก่อนที่จะขอย้ายจากสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนและมาขอทำงานสักระยะหนึ่งอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นี้ ผมในฐานะรองผู้อำนวยการสถาบันและคนที่หมู่เพื่อนเห็นว่าเป็นคนเก่าแก่คนหนึ่ง กับท่านอาจารย์ศิริกุล : ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์ ในฐานะผู้อำนวยการของสถาบัน ก็อยากจัดงานให้กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเก่าก่อนซึ่งเป็นทุนทางวิชาการและเป็นความสง่างามของสถาบันมาจนถึงทุกวันนี้ ได้มาพบปะกับคนรุ่นใหม่ๆของสถาบัน 

อาจารย์ศิริกุลได้พาผมไปขอคุยความคิดให้อาจารย์ฟังพร้อมกับของานเขียนเพื่อมาทำหนังสือเผยแพร่ แล้วแต่อาจารย์อยากจะเขียนถ่ายทอด แต่เดิมนั้น อาจารย์ก็แบ่งรับแบ่งสู้เพราะมีภาระงานมาก อีกทั้งไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วที่จะมีคนช่วยพิมพ์และทำบรรณาธิกรให้ได้อย่างที่ใจคิด อาจารย์ขอเวลาสัก ๒-๓ สัปดาห์และขอให้ผมคอยติดตามเอาเองเป็นระยะๆ ซึ่งท่านอาจารย์สิริกุลกับผมก็คิดไว้เป็นเบื้องต้นว่า ก็ดีเหมือนกันที่จะได้เป็นโอกาสไปรับประทานข้าวกับอาจารย์ให้อาจารย์นึกถึงพวกเราเองทางอ้อม

แต่ผมก็ไม่ทันได้ทำอย่างที่ตั้งใจดังกล่าวนั้น เพราะหลังจากนั้นเพียง ๒-๓ วัน อาจารย์ก็โทรศัพท์และ mail มาหา ให้ผมไปรับต้นฉบับหนังสือเกือบ ๑๐๐ หน้า เพื่อมาจัดอาร์ตเวิร์คและเขียนการ์ตูน อาจารย์อยากให้ผมเขียนการ์ตูนประกอบให้ทั้งเล่ม ผมนั้นแสนจะดีใจและช่างตื่นเต้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไปรับแล้วก็เลยได้ทราบจากการเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานของอาจารย์เองว่า อาจารย์ได้นั่งพิมพ์ด้วยตนเองในเครื่องคอมพิวเตอร์  ซึ่งอาจารย์บอกว่าในชีวิตไม่เคยทำเลยและคิดว่าตนเองไม่น่าจะทำได้ แต่ตอนนี้ อาจารย์บอกว่ากำลังสนุก สนุกกับการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน สนุกกับการลองหัดท่องเข้าไปในโลกไซเบอร์ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่อาจารย์เพิ่งได้ลองทำ

ผมเขียนการ์ตูน ให้น้องๆจัดเล่ม และนำกลับมาบรรณาธิกรเองภายในสองวันแล้วก็นำกลับไปให้อาจารย์ดู อาจารย์ดูมีความสุขมาก มันเป็นการย่อยทั้งงานวิชาการและประสบการณ์ตลอดชีวิตมาเขียนลงหนังสือเกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้สูงวัย เขียนอย่างอาจารย์แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักสาธารณสุข  นักประชากรศาสตร์ นักชีวสถิติ นักสาธารณสุขชุมชน และผู้ที่ผ่านประสบการณ์อันรอบด้านหลายห้วงความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาสร้างเป็นแนวพัฒนาตนเองสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ทำให้อ่านง่ายและสอดคล้องกับความจำเป็นหลายมิติของชีวิต เพราะตกผลึกจากชีวิตจิตใจในห้วงที่อิ่มเต็มและสมบูรณ์พร้อมที่สุด.

หมายเลขบันทึก: 400935เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2013 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดียามเช้าค่ะอาจารย์

อยากเห็นหนังสือการ์ตูนของอาจารย์แล้วซีคะ

อากาศเปลี่ยนแปลง อาจารย์คงสุขภาพดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ..พี่อ่านด้วยความตื้นตันใจในหลายๆมุม..ทั้งชื่นชม รศ.พญ.เยาวลักษณ์ และ อาจารย์วิรัตน์ ที่ต่างเห็นคุณค่าต่อกันจนรังสรรค์สิ่งดีๆเป็นการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง...จะคอยติดตามผลงานเหล่านี้นะคะ..

..พี่มีเพื่อนร่วมรุ่นที่รร.ราชินี ชื่อ ภารดี ปรปักษ์ขาม รูปร่างขาวท้วม คล้ายๆท่านมากค่ะ..เห็นนามสกุลนี้ จึงนั่งรำลึกถึงมิตรภาพดีๆที่มีต่อกัน ไม่เคนลืมเลย

        

                งานศิลป์สร้างสรรค์ของเยาวชนกล้าใหม่-ใฝ่รู้ ปี ๕

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • ขอบพระคุณครับ
  • คิดอยู่เหมือนกับครับว่าประเดี๋ยวจะถ่ายรูปแล้วนำมาโพสต์รวบรวมไว้ด้วยครับ
  • ตอนนี้สุขภาพโดยรวมพอไหวครับ แต่เมื่อเจอฝน กลัวที่สุดก็เป็นหวัดน่ะแหละครับ
  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ
  • งานศิลปะของเด็กๆดูสวยงามมากเลยนะครับ
  • เรื่องราวในสองรูปนี้เหมือนกันเลยนะครับ
  • มีรถไฟกับรถรางตีลังกา ชาวบ้านใส่บาตร กระต่าย
  • แสดงว่าให้โจทย์เดียวกันแล้วให้สร้างสรรค์ตามจินตนาการของแต่ละคน
  • แต่การใช้สีและรูปแบบการจัดองค์ประกอบนั้นเห็นสไตล์ที่แตกต่างกันได้ลยละครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์

    • ภาพความทรงจำระหว่างที่ได้เข้าทำงานที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน (ชื่อเดิม) นั้น จำได้ว่าเข้ามาทำงานในฐานะ บัณฑิตอาสาสมัคร (บอก.) ในขณะที่ท่านอาจารย์หมอเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม เป็นผู้อำนวยการ ถึงแม้จะไม่กี่เดือนหลังจากนั้นท่านก็เกษียณอายุราชการ .. จะถือว่าเป็นการทำงานแรกในชีวิต ที่ได้ก้าวออกมาจากการเป็นคุณครูสอนหนังสือให้กับโรงเรียนของครอบครัว (Comfort Zone) แต่ได้รับการต้อนรับ และดูแลจากท่านอาจารย์หมอเยาว์ และพี่ๆ นิเทศน์จากสถาบันฯ เป็นอย่างดีคะ ...
    • ภาพของผู้ใหญ่ใจดี ที่ติดตา ติดใจ และติดอยู่ในความทรงจำมีอยู่ ๒ ท่าน คือ ท่านอาจารย์หมอกระแส ชนะวงษ์ และท่านอาจารย์หมอเยาว์ นี่หล่ะค่ะ ..
    • ภาพการกลับมาเยี่ยมสถาบันฯ ของอาจารย์ หลังจากที่ดิฉันได้ลาออกไปเรียนหนังสือจนจบ และกลับมาทำงานโครงการที่สถาบันฯ ก็ได้พบท่านอาจารย์อีกครั้ง ท่านอาจารย์ไม่เคยลืมลูกศิษย์ และน้องๆ ที่ทำงานเดิมของท่าน ..
    • ภาพของท่านที่ส่งยิ้ม และเดินมาหาเรา พร้อมจับมือ จูงมือพาเดินไปที่โต๊ะอาหาร เพื่อพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข และถามถึงเพื่อนๆ ในสมัย บอก.
    • "แด่ เหมียว Old บอก. ขอให้ความสุขนะคะ" เป็นข้อความที่ท่านอาจารย์หมอเยาว์ฯ เขียนให้ในหนังสือ ชีวิตหลังวัยเกษียณ ที่มีภาพการ์ตูนประกอบเนื้อหาของอาจารย์วิรัตน์ ยังจดจำได้ไม่ลืมเลือนคะ ..
    • มีแต่ภาพของความทรงจำที่ดีคะ ..
    • ทราบว่าในขณะนี้ท่านอาจารย์หมอเยาว์มีสุขภาพที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก จึงขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายที่ท่านอาจารย์หมอเยาว์ให้ความเคารพ ขอให้ท่านอาจารย์หมอเยาว์มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรงคะ ..
    • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกหน้านี้ของอาจารย์ด้วยนะคะ ..

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • ผมจำภาพอย่างที่อาจารย์ณัฐพัชร์ย้อนความให้รำลึกได้ครับ มักเห็นอาจารย์รับการทักทายของอาจารย์เหมือนน้องๆหรือลูกหลานที่สนิทสนม
    • มีหลายท่านได้บอกให้ทราบเหมือนกับครับว่าอาจารย์ไม่สบาย แล้วก็ช่วยกันกระตุ้นให้ผมเขียนอีกด้วย ด้วยเชื่อว่าจะเป็นทางหนึ่งในการได้เยี่ยมคารวะโดยไม่ไปรบกวนอาจารย์กันให้มากนัก เพราะอาจารย์อาจจะได้เข้ามาดูทางอินเตอร์เน็ตในช่วงที่นั่งพักผ่อน
    • แต่เดิมนั้นผมเขียนหมายเหตุไว้เผื่อว่าอาจารย์จะได้เข้ามาอ่านเหมือนกัน แต่เกรงคนจะไปเยี่ยมอาจารย์เยอะเลยดึงออกไปแล้ว
    • งั้นก็เชิญทุกท่านเขียนให้อาจารย์นะครับ อาจารย์เคยบอกครับว่าชอบอ่าน
    • งั้นอาจารย์ณัฐพัชร์มีรูปการณ์ตูนในหนังสือให้ไหมเนี่ย

    สวัสดีคะอาจารย์

    • แหม๋ เหมือนกด atm เลยนะคะอาจารย์ขา ..
    • เลยต้องรีบค้นหนังสือของอาจารย์หมอเยาว์กันยกใหญ่ แล้วก็หาเจอคะ จึงได้รู้ว่าชื่อหนังสือที่อาจารย์หมอเยาว์เขียน คือ หลังเกษียณ ๑๕ ปี ยังอยู่ดี หรือ ไฉน ..
    • ภาพการ์ตูนลายเส้นของอาจารย์วิรัตน์ประกอบเรื่องเล่าของอาจารย์หมอเยาว์ แล้วอดขำไม่ได้คะ อาจารย์เขียนเรื่องได้น่ารัก แต่มีประโยชน์มากๆ คะ ..
    • ไม่มี scanner คะ ใช้วิธีถ่ายภาพด้วยกล้องคะ เลือกเฉพาะที่มีภาพการ์ตูนลายเส้นของอาจารย์วิรัตนคะ ..

                              IMG_1685-1.jpg picture by waweeme

                              IMG_1691-1.jpg picture by waweeme

                              IMG_1694-1.jpg picture by waweeme

                              IMG_1698-1.jpg

                              IMG_1707-1.jpg

                              IMG_1695-1.jpg

                              IMG_1702-1.jpg

                              IMG_1711-1.jpg

    • อ่านแล้วก็สนุก ได้ความรู้ และเกร็ดชีวิตมากมายครับ
    • ตอนเขียนการ์ตูนก็สนุก
    • อาจารย์เห็นแล้วก็ชอบใจมากครับ
    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชรครับ ทำให้สมบูรณ์ครบถ้วนเลยละครับ
    พิชญ์สินี เพียรอนุกูลบุตร

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    เห็นบรรยายภาพที่ 2 แล้วขออนุญาตสะกดชื่อใหม่ดังนี้นะค่ะ พิชญ์สินี เพียรอนุกูลบุตร (ตัวจริง เสียงจริง สวยจริง ต้องสะกดอย่างนี้นะค่ะ 55555) เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ช่วงวันเกิดของอาจารย์คุณหมอเยาวรัตน์ ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมอาจารย์ที่บ้าน แต่ก็เปลี่ยนใจกระทันคิดว่าน่าจะไปทำบุญสร้างกุศลให้อาจารย์ดีกว่า จึงตัดสินใจชวนลูกจูน ไปปฏิบัติธรรม จุดหมายปลายทางคือ บนเขาพุทธโคดม จ.ชลบุรี สองแม่ลูกรีบเก็บเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวนิดหน่อย ใส่เป้คนละใบ แล้วรีบออกจากบ้านทันที ไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ไม่ต้องแปลกใจนะค่ะว่าทำไมงานนี้ลูกจูนเต็มใจไปด้วยอย่างยิ่ง เพราะตอนที่ทำหนังสือให้อาจารย์ น้องจูนก็อาสาช่วยออกแบบปกด้วยจึงรู้สึกรักและผูกพันกับอาจารย์ไปด้วย หลังการปฏิบัติธรรม ก็จะอุทิศบุญกุศลและแผ่เมตตาขอให้อาจารย์สุขภาพดีขึ้น และหายวันหายคืนไว ๆ ค่ะ ทุกครั้งที่ไปทำบุญก็จะนึกและแผ่เมตตาให้อาจารย์ผู้มีพระคุณทุกครั้ง คิดถึงอาจารย์ค่ะ

    สวัสดีครับน้องพิชญ์สินี

    • เปลี่ยนให้ถูกต้องแล้วละนะครับ นี่สงสัยเขียนผิดไปหลายแห่งอีกด้วยแหละ
    • เขียนอีกได้นะครับ อันที่จริงอยากเชิญชวนให้พวกเราชาวอาเซียน เข้ามาเขียนคนละนิดละหน่อย เขียนเป็นความชื่นชูใจแก่อาจารย์น่ะ
    • ด้านหนึ่งก็เผื่อว่าอาจารย์จะเข้ามาอ่าน พวกเราเยอะเกินไป หากพากันไปเยี่ยมอาจารย์ นอกจากจะไม่เป็นความสะดวกแก่อาจารย์แล้ว ก็จะเป็นการรบกวนอีกด้วย เยี่ยมเยือนและคารวะอาจารย์ทางนี้ก็จะเหมาะสมดีกว่า
    • และอีกด้านหนึ่ง ก็จะหาโอกาสดึงออกมาเรียบเรียงและทำเป็นหนังสือสวยๆง่ายๆไปกราบคารวะอาจารย์นะครับ

    สวัสดี ครับ อาจารย์

    ช่วงที่ผมเรียน...ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว

    สมัยนั้น อาจารย์รำไพ สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชา

    ...

    ได้อ่านบันทึกที่อาจารย์เขียนถึงท่าน ทำให้รู้สึกใกล้ชิดตัวตนท่านมากขึ้น

    ...

    ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ

    สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
    รุ่นทันท่านอาจารย์ ดร.รำไพนี่ ก็นานแล้วเหมือนกันนะครับ
    ดูเหมือนว่าผมจะเคยทันได้ทำงานที่อาจารย์ได้ไปช่วยงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน
    ของที่ทำงานเดิมผมน่ะครับ

    อาจารย์เยาวรัตน์ป่วยนะคะ ล้ม ตอนนี้เดินไม่ได้และพูดไม่ได้ด้วยค่ะ

    ขออาราธนาคุณพระรัตนไตรรักษา
    ให้อาจารย์หายเร็วๆครับ
    ขอบคุณคุณน้ำหวานด้วยครับ 

    ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อคืนย่างเข้าสู่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ขอนำเพลง ๑ ใน ๑๐๐ มาร่วมกันฟังรำลึกถึงท่านและน้อมคารวะต่อคุณงามความดีของท่าน เพลงหนึ่งในร้อยนี้เป็นเพลงหนึ่งที่ท่านอาจารย์หมอเยาวรัตน์ชอบ และท่านศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต เคยพาผมและพวกเราชาวสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันร้องมอบให้แก่ท่าน ยอดผู้หญิงเก่งของชาวสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และวงการสาธารณสุขของประเทศ 

    ขอร่วมแสดงความไว้อาลัยแด่ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ด้วยความเคารพค่ะคนดีมีความสามารถ สิ่งที่ท่านฝากไว้คงจะจารึกอยู่ในใจของผู้คนที่เคยแวดล้อมท่านเป็นอย่างดี 

     

    สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์
     
    ไม่รู้จักท่านอาจารย์มาก่อน อ่านรายละเอียดแล้วทึ่งท่านมาก ๆ ค่ะ
     
    และขอร่วมแสดงความไว้อาลัยแด่ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ด้วยความเคารพค่ะ 
     
     
     
    ปล. อยากเห็นหนังสือการ์ตูนของอาจารย์ด้วยคนค่ะ

    สวัสดีครับดร.โอ๋-อโณครับ
    ขอน้อมคารวะที่มาร่วมกับทุกท่าน แสดงความรำลึกถึงและกล่าวไว้อาลัยแด่ท่านอาจารย์ครับ

    สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ
    หนังสือที่ท่านอาจารย์เขียนและมอบให้สถาบันฯจัดพิมพ์เผยแพร่นั้น น่าจะยังคงเหลือยู่นะครับ ขอได้ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาครับ

    ขอบคุณคุณ krutoom ที่แวะมาเยือนครับ  

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท