เทคนิคการเขียนรายงานการวิจัย


เทคนิคการเขียนรายงาน

ค้นคว้ามาฝากกันค่ะ

เทคนิคการเขียนรายงานการวิจัย 

การเขียนชื่อเรื่องงานวิจัย

1.    กะทัดรัด  มีความชัดเจนในตัวเอง

2.    เห็นลักษณะของตัวแปร  กลุ่มตัวอย่าง  และขอบเขตของการวิจัย

3.    ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาที่เชื่อถือได้ในวิชาชีพนั้น ๆ

4.    เป็นประโยคที่สมบูรณ์  ข้อความ หรือวลีก็ได้

การเขียนความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย

  1. แนวในการเขียนแบ่งเป็น  3  ส่วน  คือ

1.1   เริ่มจากจากสภาพปัจจุบันของสิ่งที่จะวิจัย   

1.2   ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับสิ่งที่จะวิจัย

1.3   แนวทาง หรือ หลักการที่จะแก้ปัญหานั้น

  1. ตรงประเด็น และชี้ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่จะวิจัย  ไม่ควรเขียนเยิ่นเย้อ   และนอกเรื่อง  เพราะจะทำให้ผู้อ่านไขว้เขวได้
  2. มีข้อมูลอ้างอิง  เพื่อความน่าเชื่อถือ   การมีข้อมูลอ้างอิงจะทำให้งานวิจัยมีคุณค่า  และบางครั้งทำให้การเขียนมีความสละสลวย   มีเหตุมีผล
  3. มีความต่อเนื่องกัน  ในแต่ละย่อหน้าผู้เขียนต้องเขียนให้ต่อเนื่องกัน   ห้ามเขียนวกไปวนมา  โดยต้องยึดหลักการเขียนตามข้อ  1
  4. สรุปเหตุผลที่ผู้วิจัยจะศึกษา  ในส่วนสุดท้ายของความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย 

การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย              

1.   สอดคล้อง/สัมพันธ์  กับชื่อเรื่องการวิจัย

2.   ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการศึกษาอะไร  กับใคร  ที่ไหน

3.   ถ้าเรื่องที่วิจัยเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลาย ๆ ตัว  ควรเขียนแยกเป็นข้อ ๆ

4.   ภาษาที่ใช้ต้องเข้าใจง่าย  และแจ่มชัดในตัวเอง

5.   สามารถเก็บข้อมูลได้ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเขียนแล้ว  ผู้วิจัยไม่รู้ หรือไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลได้  จะทำให้การวิจัยประสบความล้มเหลวได้

การเขียนสมมุติฐานการวิจัย

                สมมุติฐานการวิจัย (Research hypothesis) เป็นการคาดคะเนผลของการวิจัยไว้ล่วงหน้า  โดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง  เพื่ออ้างอิงไปยังประชากร  การกำหนด/เขียนสมมุติฐานการวิจัย ควรเขียนหลังจากที่ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรียบร้อย  เพราะจะทำให้ผู้วิจัยมีเหตุผลในการกำหนดสมมุติฐาน 

                    1.   หลักการกำหนดและทดสอบสมมุติฐาน

    1.1  มีข้อมูลพอเพียงเกี่ยวกับตัวแปร และ ความสัมพันธ์ของตัวแปร  จากเอกสารงาน 
   วิจัยที่เกี่ยวข้อง 

   1.2  มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (Samples , not populations, are used.)  

   1.3  ผู้วิจัยต้องการจะใช้วิธีการ การทดสอบสมมุติฐาน

                  2.   หลักการเขียนสมมุติฐานการวิจัย

                      2.1   งานวิจัยจะมีสมมุติฐานการวิจัย เมื่อวัตถุประสงค์การวิจัยเป็นการเปรียบเทียบ  หรือมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบ

                     2.2    ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย

                     2.3    สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป  หรือ มีทฤษฎี   งานวิจัยรองรับ

                   2.4  ถ้ามีข้อมูลสนับสนุนพอเพียง ให้ตั้งสมมุติฐานว่า “สูงกว่า/น้อยกว่า” ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีข้อมูลสนับสนุนน้อย หรือไม่มีข้อมูลสนับสนุน ให้ตั้งสมมุติฐานว่า “แตกต่างกัน”

                   2.5 ใช้คำที่เข้าใจง่าย  ชัดเจน  เป็นข้อความที่คนทั่วไปเข้าใจได้ตรงกัน 

การเขียนตัวแปร

                1.  ตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ (Independent  variable)   เป็นตัวแปรที่เป็นเหตุ (Cause)  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ  ตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น หรือจัดกระทำ  (Treatment)    เช่น   แบบฝึกทักษะ  วิธีสอนแบบบทบาทสมมุติ  เป็นต้น  ตัวแปรต้นจะมีผลต่อตัวแปรตาม    ค่าตัวแปรต้นมีส่วนกำหนดค่าตัวแปรตาม

                2.  ตัวแปรตาม (Dependent variable)  เป็นตัวแปรซึ่งเป็นผลที่เกิดจากตัวแปรต้น  เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการให้เกิดพฤติกรรมนั้น  ๆ    ค่าตัวแปรตาม  ผันแปรตามค่าของตัวแปรต้น 

การเขียนและการระบุตัวแปรในการวิจัย

      การระบุตัวแปรสำหรับการวิจัย  ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่วัตถุประสงค์การวิจัยไม่ได้เปรียบเทียบกัน  หรือ มีลักษณะเปรียบเทียบกัน ให้ระบุเฉพาะตัวแปรที่ศึกษา ไม่ต้องมีตัวแปรต้น และตัวแปรตาม    ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่วัตถุประสงค์มีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบกัน  หรือ เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง  ให้ระบุทั้งตัวแปรต้น และตัวแปรตาม

การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

       นิยามศัพท์เฉพาะ (Definitions of specific terms)   เป็นการให้ความหมายของตัวแปร หรือ คำศัพท์  ที่นำมาใช้ในการวิจัย  ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้อ่านงานวิจัยกับผู้วิจัย   คำที่ควรเขียนเป็นนิยามศัพท์เฉพาะ   ควรเป็นตัวแปร หรือคำที่ผู้วิจัยเขียนบ่อยมากในงานวิจัยครั้งนั้น

                1.    หลักการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

            1.1   ไม่ขัดแย้งกับหลักทฤษฎี  หรือ ข้อเท็จจริงทั่วไป

            1.2   ควรเป็นนิยามที่ผู้วิจัยเขียนขึ้นเอง  โดยศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และทฤษฎี

            1.3   ควรนิยามตามตัวแปรที่จะศึกษา  และ เนื้อหาที่วิจัย

            1.4   มีความชัดเจน  เข้าใจได้ง่าย   และผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกัน

            1.5   ควรเป็นนิยามเชิงปฏิบัติการ (ตัวแปรวัดด้วยอะไร  ผลเป็นอะไร)

2.    เทคนิคการกำหนดนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

        เนื่องจากในการทำวิจัยแต่ละเรื่อง ผู้วิจัยอาจมีคำเฉพาะที่ใช้ในการวิจัย เนื่องจากคำที่ใช้มีความหมายคลุมเครือหรือแปลความได้หลายความหมาย หรือคำบางคำที่ผู้วิจัยคิดว่าถ้าไม่บอก หรืออธิบายคำ นั้น ๆ  ก่อน  อาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นต่อผู้อ่านงานวิจัยได้   จึงจำเป็นต้องให้คำจำกัดความไว้  เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจได้ตรงกับผู้วิจัย  เช่น  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการอ่าน  คำว่า “ทักษะการอ่าน”   ถ้าไม่ทำการนิยามศัพท์เฉพาะแล้ว  ผู้อ่านสามารถคิดได้หลายประเด็น  เช่น  คิดว่าเป็นทักษะการอ่านคำที่ยากมาก ๆ    หรือ  อ่านบทร้อยแก้ว  หรือ อ่านหนังสือพิมพ์  ฯลฯ  ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจัยต้องการให้นักเรียนอ่านคำที่กำหนดให้เท่านั้น  และคำที่ให้อ่าน   ก็เหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียนด้วย

         สำหรับคำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ไม่ค่อยได้ใช้กันแพร่หลาย   ก็ควรนิยามศัพท์ หรือให้คำจำกัดความไว้เช่นกัน   การนิยามศัพท์เฉพาะไม่ควรให้ความหมายที่แตกต่างมากไปจาก   ความหมายโดยทั่วไปของคำนั้น  เนื่องจากจะทำให้  ผู้อ่านตีความหมายของผู้ทำการวิจัยผิดพลาดได้

การเขียนประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

    1. เขียนประโยชน์ที่ได้รับโดยตรงมากที่สุด ไปหาประโยชน์น้อยที่สุดจากการวิจัย

    2. เขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และสิ่งที่วิจัย ไม่เขียนล้อเลียนวัตถุประสงค์  แต่ควรเขียนในลักษณะว่า  เมื่อทราบความแตกต่างแล้ว  จะก่อให้เกิดประโยชน์  ในแง่การเสริมสร้างความรู้ หรือการใช้ผลอย่างไร

     3.ไม่ขยายความเกินความเป็นจริงต้องอยู่ในขอบข่ายของวัตถุประสงค์ที่ศึกษาเท่านั้น

การเขียนเอกสารที่เกี่ยวข้อง

                1.   ควรสรุปเป็นคำพูดของตนเอง   เขียนในลักษณะของการวิเคราะห์มากกว่าที่จะนำเอามาย่อ  แล้วก็เรียงลำดับกัน  

                2.   ควรเขียนให้ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกันตลอดเนื้อหา   ไม่เขียนในลักษณะการนำมาเรียงต่อกัน  

เพราะจะทำให้การอ่านไม่ต่อเนื่องและราบเรียบ   การเขียนต้องให้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎี  แนวคิด  หลักการ และผลงานวิจัย 

                3. ไม่ควรเขียนเรียงตามปีที่พิมพ์/วิจัย  หรือ เรียงตามชื่อผู้เขียน แต่ควรเรียบเรียงใหม่ตามแนวคิด และตัวแปรที่ศึกษา  โดยระบุความสำคัญ และความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ       

                4.   ควรแบ่งกลุ่มหรือประเภทเนื้อหาที่นำมาอ้างอิง  จัดให้เป็นหมวดหมู่   โดยแบ่งออกเป็นประเด็นต่าง ๆ หรือ แยกเป็นหัวเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดเจน

                5.    ทฤษฏี แนวคิด หลักการ และงานวิจัยที่นำมาเขียนหรืออ้างอิง  ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยที่ศึกษาโดยตรง  

                6.    ควรมีการสรุปประเด็นหรือหัวเรื่องที่นำเสนอทุกเรื่อง   ตามแนวคิดของผู้วิจัยเอง  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในหัวเรื่องนั้น ๆ    โดยใช้คำว่า   จากที่กล่าวมาแล้วนั้นสรุปได้ว่า……….  หรือ  จะเห็นได้ว่า………………..  เป็นต้น   ดังตัวอย่าง

                7.    ควรมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง และชัดเจน โดยต้องระบุที่มาของเอกสารว่า   เอกสารชื่ออะไร  ใครเป็นผู้เขียน  พิมพ์ที่ไหน เมื่อไหร่   ตามรูปแบบการอ้างอิง

การเขียนและการกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่าง

            ในการวิจัย  ผู้วิจัยต้องระบุประชากร และกลุ่มตัวอย่าง  ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่างานวิจัยได้ศึกษากับใคร   มีจำนวนเท่าใด

             1.   หลักการกำหนดกลุ่มประชากร คือ  เป็นใคร อยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าใด

             2.   หลักการกำหนดกลุ่มกลุ่มตัวอย่าง คือ เป็นใคร อยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าใด  ได้มาอย่างไร

การเขียน การสร้างและการหาคุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

             1.  การเขียนการสร้างเครื่องมือ  ให้ระบุลักษณะของเครื่องมือ จำนวนข้อ  จำนวนตัวเลือก

             2.  การหาคุณภาพของเครื่องมือ  มีดังนี้

                2.1  ประเภทนวัตกรรมให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมิน และนำไปทดลองใช้ หาประสิทธิภาพของนวัตกรรม 

                2.2  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา  ความยากง่าย    อำนาจจำแนก  และความเชื่อมั่น

                2.3  แบบสอบถามหรือแบบวัดเจตคติ  หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา    อำนาจจำแนก  และความเชื่อมั่น

                2.4  แบบประเมินภาคปฏิบัติ หาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา และความเชื่อมั่น

การเขียนสถิติที่ใช้ในการวิจัย

1.  สถิติบรรยาย  (Descriptive statistics)

      เป็นสถิติที่ใช้ในการสรุปภาพรวมทั้งหมดของการวิจัย โดยนำเสนอในลักษณะบรรยายข้อมูล     ส่วนการนำเสนอข้อมูล  อาจจะเสนอในรูปแบบตาราง  กราฟ  ฯลฯ  สถิติบรรยายที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง   เช่น  ค่าเฉลี่ย   ค่ามัธยฐาน  และ    ค่าฐานนิยม   การวัดการกระจาย  เช่น  พิสัย  ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และความแปรปรวน 

2. สถิติอ้างอิง  (Inferential  statistics)

    การวิจัยส่วนใหญ่จะศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample)   ซึ่งทำการสุ่มมาจากประชากร(Population)  เมื่อได้ผลการวิจัยที่ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างว่ามีผลเป็นอย่างไร  การศึกษากับประชากรก็จะได้ผลอย่างนั้นด้วย   จึงเรียกว่าเป็นการอ้างอิง (Infer)  ไปยังกลุ่มประชากร  สถิติอ้างอิง ได้แก่ t-test,  ANOVA,  Chi-square   เป็นต้น  

หลักการวิเคราะห์ข้อมูล และ การแปลผล

       1.   วิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

      2.    การนำเสนออาจนำเสนอในรูปแบบของตาราง แผนภูมิรูปภาพ    แผนภูมิกง กราฟ เส้นตรง   กราฟแท่ง  ฯลฯ โดยทั่วไปแล้ว นิยมนำเสนอรูปแบบของตาราง รูปแบบที่นำเสนอ จะประกอบด้วย   3  ส่วน คือ    ส่วนหัว (ส่วนที่เป็นชื่อตาราง  แผนภูมิ หรือ กราฟ)  ส่วนเนื้อหา (ส่วนที่แสดงข้อมูล เช่น  ความถี่   ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ฯลฯ)  และ ส่วนที่เป็นการแปลผลหรืออธิบายผลของเนื้อหา

        3.    ควรมีการรวมหลาย ๆ เรื่อง  เพื่อนำเสนอในตาราง/แผนภูมิ/กราฟเดียวกัน  เพราะจะทำให้ไม่สิ้นเปลืองตาราง/แผนภูมิ/กราฟ  

       4.    การแปลผลควรนำเสนอต่อกันไปทีละเรื่อง  เพราะจะทำให้ไม่สับสน

      5.    การแปลผลต้องอธิบายข้อมูลที่นำมาเสนอเท่านั้น  ไม่ควรแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม 

การเขียนการสรุปผล

     1.  สรุปผลตามวัตถุประสงค์การวิจัย  โดยแยกตามวัตถุประสงค์

     2.  นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล มาสรุปอย่างย่อ ๆ

     3.  การสรุปอาจเป็นความเรียงต่อ ๆ กันไป หรือ จะสรุปเป็นหัวข้อก็ได้

การเขียนการอภิปรายผล

        การอภิปรายผล  เป็นการกล่าวผลวิจัย และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม มีหลักการเขียน ดังนี้

        1.    อภิปรายผลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย  โดยแยกตามวัตถุประสงค์

        2.   นำเอาผลการวิเคราะห์ข้อมูลมากล่าวถึง  และแสดงความเห็นเพิ่มเติม  พร้อมทั้งระบุให้เห็นว่าผลการวิจัยมีความสัมพันธ์ หรือสอดคล้อง/ไม่สอดคล้อง กับทฤษฎี หลักการ และงานวิจัยใดบ้าง  เพราะอะไร   แสดงเหตุผลประกอบ

เคล็ดลับในการอภิปรายผล   

      การอภิปรายผลแบ่งเป็น  3  ส่วน

     ส่วนที่  1    คือ  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  เมื่อนำมาเขียนไม่ต้องเขียนคำว่า “จากตาราง  1 พบว่า…”   หรือ นำผลการสรุปผลมาเขียนนั่นเอง

     ส่วนที่ 2    คือ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม    ในส่วนนี้ผู้วิจัยจะต้องแสดงความคิดเห็เพิ่มเติม   ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อดีของการวิจัยนั้น ในส่วนนี้ถ้าผู้วิจัยไม่รู้ว่าจะ           เขียนอะไรลงไปให้นำประโยชน์ของนวัตกรรมนั้น ๆ มาเขียนโดยสรุปเป็นแนวความคิดของผู้วิจัยเอง  และไม่ต้องอ้างอิง

     ส่วนที่  3    คือ   ทฤษฏีหรืองานวิจัยที่สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับการวิจัยของตนเอง ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงทดลอง  งานวิจัยที่จะนำมาเสนอควรเป็นงานวิจัยที่มีตัวแปรต้น  และ ตัวแปรตามเหมือนกัน   แต่ถ้าไม่มีงานวิจัยดังกล่าวก็ควรเป็นงานวิจัยที่มีตัวแปรต้นเหมือนกัน  ส่วนงานวิจัยเชิงสำรวจ งานวิจัยที่จะนำเสนอต้องเป็นงานวิจัยที่มีตัวแปรที่ศึกษาเหมือนกัน

การเขียนข้อเสนอแนะ

 หลักการเขียนข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้

ให้เสนอแนะว่าใคร  หน่วยงานใด ควรจะดำเนินการอะไรต่อไป   ข้อเสนอแนะต้องเป็นข้อเสนอที่ได้จากการวิจัย ไม่ใช่ข้อเสนอแนะในเชิงทฤษฏี ที่ไม่ได้มาจากข้อค้นพบในการวิจัย  และต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย

หลักการเขียนข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไป

เป็นการนำเสนอว่า ถ้าจะมีการวิจัยต่อไป  ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง  หรือควรทำเรื่องอะไรบ้าง   หรือ ควรจะเพิ่มตัวแปรอะไรบ้าง   ควรปรับปรุงวิธีดำเนินการอย่างไร      เครื่องมือในการวิจัยควรใช้แบบไหน 

 

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).

พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

www.igetweb.com/

 

 

หมายเลขบันทึก: 400680เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยากตรง เครื่องมือ สถิติ นี่แหละยังไม่กระจ่าง ทำไปส่วนนี่แหละผิด ๆถูกๆ ผิดซะมากกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท