เพลงพื้นบ้าน ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเยาวชน (ส่วนน้อย) จากครูถึงศิษย์


แม้ว่าจะไม่ฝังลึกเพียงแค่ไปชมให้กำลังใจก็นับว่าได้มีส่วนร่วมแล้ว

เพลงพื้นบ้านที่ฝังอยู่ใน

จิตสำนึกเยาวชน (ส่วนน้อย)

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

เป็นสมบัติของชาติ

จากครูถึงท็อป-ธีระพงษ์กับแป้ง-ภาธิณี

ชำเลือง  มณีวงษ์ (รายงาน)

        เหลือเวลาอีกไม่มากแล้วที่ผมจะเป็นผู้เรียนรู้ โดยศึกษาเอกสารที่เพื่อน ๆ ผู้รู้ทั้งหลายได้ส่งขึ้นไปบนเว็บ Gotoknow.Org เพราะใกล้เวลาที่ผมจะได้อยู่พักผ่อนทั้งกายและใจจริงเสียที เมื่อถึงวันที่ราชการกำหนดให้ คนที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เกษียณอายุราชการ จากประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมได้ถ่ายทอดสู่ตลาดความรู้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รับฟังแง่คิดต่อเติมประสบการณ์ที่ดี อบอุ่นใจในความมีมิตรไมตรี จากผู้ใฝ่รู้ทุกท่านเป็นเวลา 3 ปีเศษแล้วก็ยังนึกเสียดายและคิดถึงหน้ากระดาษที่มีพื้นที่ให้ผมได้ระลึกถึงความทรงจำเก่า ๆ เท่าที่พอจะนำเอามาจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบและบอกเล่าไปยังผู้ที่คิดดี มีความสนใจ

        ผมยอมรับว่าคนเราไม่เหมือนกัน มีลักษณะที่ติดตัวมาแตกต่างกัน แต่เมื่อได้มาเรียนรู้หล่อหลอมความคิดสติปัญญา ทำให้มีความสามารถที่จะแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นอย่างไร  คิดได้ว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีคนที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรเอาเสียเลย ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คิดและกระทำในสิ่งที่ตนเองเพียงคนเดียวว่าถูกต้องอย่างเหนียวแน่น นั่นหมายถึงการไม่เปิดรับความรู้ใส่ตนบ้าง เหมือนอยู่ในโลกที่มืดสนิท ผมได้ชี้ประเด็นทั้งหลายให้เด็ก ๆ ที่ผมสอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ชั้น ม.6 ได้มองโลกในยุคใหม่ว่า เป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

        ถึงแม่ว่าสังคมจะดูสับสน บ้านเมืองมีความขัดแย้งวุ่นวายบ้างก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศ ท่านผู้นำจะได้ปฏิบัติการให้ลุล่วงต่อไป หน้าที่ของครู โดยหลักการสำคัญ คือสอนเด็กให้มีความรู้และอบรมคุณธรรมให้ติดตัวพวกเขาไป ซึ่งเราหวังว่าพวกเขาจะไม่ทำให้ใครต้องได้รับความเดือดร้อน เคารพในสิทธิมนุษยชน (เป็นคนดีของสังคม) ผมดำเนินชีวิตในวงราชการมาเคียงคู่กับความรู้ที่ได้รับจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไม่เคยมีใครมาชักชวนให้ผมไปฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ผมเดินทางไปด้วยตนเอง ไปพบบรมครูหลายสิบท่าน ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้ไปพบ ไปพูดคุยกับท่าน ได้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านติดตัวมาหลายสิบอย่างและที่สำคัญ ผมมักใช้กลอนสดแสดงบนเวทีทั้งหมด ตามที่ผมถนัดตลอดเวลาที่ผ่านมา 40 ปีเศษ ได้รับความเมตตาจากประชาชนในหลาย ๆ สถานที่ทั่วประเทศไทย ไกลแสนไกลแค่ไหนหากท่านให้ความเมตตา ผมจะไปให้ถึงที่นั้นให้จนได้

        ในบทความนี้ผมมีข้อคิดที่อยากส่งผ่านไปยังเยาวชนรุ่นลูกหลานไทยทั้งหลาย ท่ามกลางความเมตตาที่ท่านหลั่งไหลมาให้เด็ก 2 คนที่ติดตามผมมานาน 6 ปี เธอคือ นายธีระพงษ์  พูลเกิด ชื่อเล่นว่า “ท็อป”  อีกคนชื่อ นางสาวภาธิณี นาคกลิ่นกุล ชื่อเล่นว่า “แป้ง” อายุ 17-18 ปี ผมรับเด็ก 2 คนนี้เข้าวงเพลงตั้งแต่เขาทั้งสองคนมาเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2548  ที่ห้องเรียนจัดเป็นห้องปฏิบัติการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง เรียนรู้จากครูผู้สอน จากระบบเครือข่าย (อินเทอร์เน็ต) จากเทปบันทึกเสียง วีซีดีและดีวีดี โดยมีบันทึกการแสดงสดเก่า ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527, 2531, 2537 และต่อ ๆ มา ตัวบุคคลที่เป็นต้นแบบภูมิปัญญาคือผู้ที่ถ่ายทอดความรู้มาให้ผมซึ่งเป็นครูผู้สอนและผมนำเอาความรู้เหล่านั้นส่งต่อไปยังผู้เรียน และนักแสดงหลายรุ่น หลายร้อยคน จนมาถึงปี พ.ศ. 2535 ผมจัดตั้งคณะเพลงพื้นบ้านของโรงเรียน ในนาม วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ รับงานแสดงเรื่อยมา จากจุดเริ่มต้นที่มีงานแสดงเพียง ปีละ 1-3 งาน ค่อย ๆ ขยายวงกว้างออกไปจนในปี พ.ศ. 2542 มีงานแสดง 13 งาน 15 รอบการแสดง ในบางปีมีงานแสดงเข้ามามากเกินกว่า 100 งาน แต่ผมไม่สามารถที่จะรับงานได้หมด ปี พ.ศ.2550 มีงานแสดงที่รับไว้ 90 งาน 110 รอบการแสดง เนื่องจากเด็ก ๆ มีหน้าที่เรียนเป็นหลัก จึงรับงานได้แต่ในเวลากลางคืนกับในวันหยุดราชการเท่านั้น หากจะนับเป็นรอบการแสดงก็มากกว่า 1000 รอบมาแล้ว ส่วนงานทำขวัญนาคก็จะเป็นงานบวชนาคหมู่จำนวนมาก ๆ ในโอกาสสำคัญ มีเข้ามาเรื่อย ๆ

        ท็อป กับ แป้ง เป็นเด็กคู่สุดท้ายที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับครูมาตลอดเวลาที่เขาเรียนอยู่ ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 จากเด็กที่เดินเข้ามาครูในวิชาเพิ่มเติมภูมิปัญญาท้องถิ่นจน เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ได้กลายมาเป็นนักแสดงอาชีพ เป็นพ่อเพลง เป็นแม่เพลงเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ ลำตัด ขับเสภา เพลงแหล่ เพลงไทยเดิมจนถึงการทำขวัญนาค ช่วยแบ่งเบาภาระให้ครูได้มาก อย่างนี้มีน้อยมากที่เยาวชนในยุคปัจจุบันนี้จะสามารถแยกแยะ รับรู้และปฏิบัติได้ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างอย่างนี้ ด้วยความสุขุมนุ่มลึก สุภาพเรียบร้อยเป็นที่ชื่นชมของทุกท่านที่ได้พบในด้านงานแสดงผมยอมรับว่า ณ วันนี้หากเรายังคงเล่นเพลงอีแซวแบบเดิม ๆ ไม่ประยุกต์บ้าง งานหาจ้างวานคงเข้ามาน้อยหรือไม่มีเลยก็ว่าได้

        จำนวนงานแสดงมิได้สำคัญไปกว่า ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เข้าไปฝังอยู่ในชีวิต จิตวิญญาณของเด็กในวงเพลงจำนวน 15-19 คน ที่ในแต่ละปีก็จะมีเด็ก ๆ หมุนเวียนออกจากวงเพลงไปเพราะจบการศึกษา มีเด็ก ๆ รุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ผมจะสรรหาเด็กที่เป็นผู้แสดงนำให้ได้ปีละ 2 คน และแนะนำ ฝึกปฏิบัติหนักกว่าคนอื่น ๆ สำหรับท็อปกับแป้ง เป็นเด็กที่มีน้ำเสียงดีมาก เพราะผมเคยพาเขาไปประกวดร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ ก็ติดอันดับอยู่เสมอ ๆ ตั้งแต่อันดับ 1-3 รางวัลชมเชยก็มี หมายถึงได้ที่ 4-5 ไม่ขอพูดถึงรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอผลงานของพวกเราไปหลายครั้งมากกว่า 100 รายการ ผมสอนเด็กทั้ง 2 คนว่า ให้เรามีความภาคภูมิใจในความเหมาะสมที่ได้รับในวันนี้ การได้รับรางวัลมา 1 ครั้ง มิได้บ่งบอกถึงคุณภาพที่มีระดับตามรางวัลนั้นตลอดไป แต่การได้มาซึ่งรางวัลใน 1 ครั้งบอกได้เพียงว่า วันนั้นเราทำได้ดีที่สุดเท่าที่กฎเกณฑ์ กติกากำหนดมาให้แล้วเราเดินทางตรงประเด็น ในวันข้างหน้ารางวัลนี้อาจตกเป็นของคนอื่น เป็นของทีมอื่น ๆ ก็ได้ ขอให้ทำใจ

        ผมพาท็อปกับแป้งไปประกวดทั้งเพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง แข่งพูดดีที่เรียกว่ากล่าวสุนทรพจน์ ประกวดเพลงกล่อมเด็ก ทุกอย่างเราเริ่มต้นให้เขา มาจบลงตรงพิธีทำขวัญนาค ผมประทับใจในความสามารถของเด็ก 2 คนนี้มาก ไม่ว่าเราจะขึ้นต้นอะไรมาให้เขารับได้ ทำนองเพลงไทยเดิมว่ายาก ต่อเพลงไม่กี่วันก็นำเอาไปร้องออกงานได้ สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ เขามีความตั้งใจ ขยันฝึกซ้อม ไม่ต้องเตือนก็ปฏิบัติ เพลงพื้นบ้านมีกรอบบังคับ ตอนขึ้นต้น ทำนองเพลง และตอนลงเพลง แต่พิธีทำขวัญนาค เป็นการนั่งร้องที่มีโอกาสเคลื่อนไหวได้น้อยมาก เวลา 2-3 ชั่วโมง หากเราไม่ดีพอ ผู้รับฟังก็ไม่อาจทนฟังอยู่ได้ จะต้องฝึกฝนจนสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของผู้ที่จะบวช “นาค” และบิดา – มารดา (เจ้าภาพ) ได้อย่างประทับใจจึงจะไปรอดได้ มิเช่นนั้นก็ฝึกแค่เป็นความรู้ติดตัวเราเอาไว้เท่านั้นเอง แต่ถ้าวันใดที่เรามีพัฒนาการที่ดี บังคับเสียงร้องได้สละสลวย ไพเราะจับใจผู้ฟัง มีหลาย ๆ งานที่เมื่อเด็ก 2 คนนี้ร้องเพลงกล่อมนาคจะมีรางวัลจากความเมตตา สงสารมาเติมกำลังให้พวกเขาแทบทุกครั้ง

ผลงานดีเด่นของท็อป – ธีระพงษ์  พูลเกิด (5 ปีย้อนหลัง)

         

  1. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2549
  2. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2550
  3. รางวัลพ่อเพลงดีเด่น ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี  ปี  2550
  4. รางวัลชนะเลิศ “เสียงดีมีค่าเทอม” รายการชิงช้าสวรรค์ โมเดิร์นไนน์ 30 มิถุนายน 2551
  5. รางวัลคุณภาพดีเด่น ประกวดเพลงเพลงอีแซวเมืองสุพรรณฯ ต้านยาเสพติด โดย ปปส.ภาค 7  เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2551
  6. รางวัลเหรียญทองประกวดละครโรงเล็ก งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคกลาง ปี พ.ศ. 2551
  7. รางวัล ระดับพิณทอง ประกวดวงดนตรีลูกทุ่งยามาฮ่าลูกทุ่งคอนเทสด์ ปี พ.ศ.2551
  8. ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ประพฤติดีมีคุณธรรม กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2552
  9. รางวัลเหรียญทองร้องเพลงลูกทุ่ง (ชาย) เขตพื้นที่การศึกษา 3 ปี (2550-2552)

10. รางวัลเหรียญทองร้องเพลงลูกทุ่ง (ชาย) มหกรรมวิชาการระดับจังหวัด 3 ปี (2550-2552)

11. รางวัลเหรียญทองประกวดร้องเพลงลูกทุ่งงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคกลางและภาคตะวันออก 3 ครั้ง ปี 2550, 2551, 2552 (ชลบุรี, สุพรรณบุรี และลพบุรี)

12. รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย ระดับประเทศ โดย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ปี พ.ศ. 2552

13. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ เยาวชนต้นแบบจังหวัดสุพรรณบุรี 18 กันยายน 2552

14. รางวัลรองชนะเลิศ ประกวดร้องเพลง ที่สถาบัน SBAC เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553

15. รางวัลรองชนะเลิศ ประกวดกล่าวสุนทรพจน์ด้วยสำเนียงเสียงเหน่อสุพรรณบุรี ปี 2553

16. รางวัลรองชนะเลิศ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่งงานอัศจรรย์วันสงกรานต์สุพรรณบุรี ปี 2553

17. รางวัลดีเด่น กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1 ปี 2553

18. รางวัลความสามารถด้นกลอนสดเพลงอีแซวยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2553

19. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ลำตัด ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ.2553

ผลงานดีเด่นของแป้ง – ภาธิณี นาคกลิ่นกุล (5 ปีย้อนหลัง)

           

  1. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2549
  2. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2550
  3. รางวัลแม่เพลงดีเด่น ประกวดเพลงอีแซวงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์จังหวัดสุพรรณบุรี  ปี  2550
  4. รางวัลคุณภาพดีเด่น ประกวดเพลงเพลงอีแซวเมืองสุพรรณฯ ต้านยาเสพติด โดย ปปส.ภาค 7  เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2551
  5. รางวัลเหรียญทองประกวดละครโรงเล็ก งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคกลาง ปี พ.ศ. 2551
  6. รางวัลเหรียญทองประกวดละครโรงเล็ก งานมหกรรมวิชาการจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2552
  7. รางวัลเหรียญเงินประกวดละครโรงเล็ก  งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคกลาง ปี พ.ศ. 2552
  8. รางวัลชมเชย อันดับ 1 ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด 2552
  9. ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ประพฤติดีมีคุณธรรม กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2552

10. รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย ระดับประเทศ โดย สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ปี พ.ศ. 2552

11. รางวัลรองชนะเลิศ ประกวดกล่าวสุนทรพจน์ด้วยสำเนียงเสียงเหน่อสุพรรณบุรี ปี 2553

12. รางวัลดีเด่น กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1 ปี 2553

13. รางวัลพระราชทาน รองชนะเลิศอันดับ 1 ประกวดร้องเพลงกล่อมเด็กงานเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ได้ร้องเพลงกล่อมถวายพระวรชายา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  วันที่ 9-10 สิงหาคม 2553

14. รางวัลความสามารถด้นกลอนสดเพลงอีแซวยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2553

15. รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ลำตัด ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ.2553

        ผมยกขึ้นมาให้เห็นว่า การประกวดแข่งขันมีหลากหลายรางวัล จัดกันในหลาย ๆ สถานที่เพื่อจัดเวทีให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ โดยมีรางวัลเป็นเครื่องรับรองคุณภาพว่า ณ ขณะนั้นเรามีความสามารถในระดับใด บางครั้งลูกศิษย์ของผมผิดหวัง พ่ายแพ้กลับมา ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นมีคุณค่า พวกเราได้เก็บเอามาเป็นบทเรียนในการทำงานต่อไป เพราะเวทีแข่งขันมีอีกมากมาย ที่นั่นยังไม่ใช่เวทีสุดท้าย และในทางกลับกัน ครั้งใดที่เด็ก ๆ ได้รับชัยชนะก็ไม่ควรที่จะแสดงความดีใจจนเกินพอดี เพราะทั้งสมหวังและผิดหวังมันก็เกิดจากตัวเราเป็นคนทำให้มีให้เกิดทั้งสิ้น

        

        

        

         (ภาพรวมรางวัลเกียรติยศ ส่วนหนึ่งที่วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ได้รับจากความสามารถในช่วงเวลาเกือบจะ 20 ปี)

        แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเห็นเด็กๆ ดีใจและเสียใจ ผมกล่าวอยู่เสมอว่า “การแข่งขันมี 2 ทาง สมหวังกับผิดหวัง เราจะต้องเตรียมใจเอาไว้รองรับทั้งสองสถานการณ์” เด็ก ๆ เขาได้ร่วมกิจกรรมแข่งขันกันมาหลายต่อหลายครั้งมีทั้งสมหวังและผิดหวัง ถึงแม้ว่าจะได้รับรางวัลและได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณมา จำนวน 219 รางวัล/ครั้งแล้วก็ตาม ผมก็ยังอยากที่จะให้เด็ก ๆ เขาได้เทียบเคียงความสามารถ งานแสดงบนเวทีในสถานที่ต่าง ๆ ไม่เหมือนกับบนเวทีประกวดแข่งขัน เพราะการประกวดแข่งขันทำให้วงเพลงพื้นบ้านของเรามีการพัฒนาไปได้มาก ต้องเตรียมตัว ต้องเกร็ง ต้องพร้อมใจกันร่วมมือร่วมใจกันทั้งทีมจึงจะประสบความสำเร็จ นักแสดงนักร้องนำต้องเหน็ดเหนื่อยมาก กว่าที่จะได้มาซึ่งสิ่งนั้น ๆ และเหนือยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์ที่ได้รับจะช่วยสอนความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับผู้ที่ใฝ่รู้ได้มีความเข้มแข็งที่จะต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคที่จะเข้ามาอีกมากมายในชีวิตนี้

        ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเพลงพื้นบ้านเป็นสมบัติของชาติ ต้องช่วยกันรักษาเมื่อคนรุ่นเก่าต้องจากแผ่นดินนี้ไป คนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ได้ทันเวลาจึงเป็นตัวตายตัวแทนรับหน้าที่ต่อเนื่องกันไปโดยอัตโนมัติ  แต่ถ้าเยาวชนไม่ให้ความสนใจภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเป็นสิ่งที่ดีก็ต้องลอยหายไปจากแผ่นดินของเรา โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้าน หากเยาวชนพอมีเวลาอยากเห็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้สานต่อเอาไว้บ้าง ไม่ต้องถึงกับอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ อยู่ในจิตสำนึก แม้จะเพียงแค่ไปชมให้กำลังใจก็ยังนับว่าได้มีส่วนร่วมแล้ว

        ติดตามอ่านบทความ "เพลงพื้นบ้าน" จากบล็อกสู่หนังสือ: คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ GotoKnow.org (Blog to Book) ภายใต้โครงการระบบออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้สุขภาวะ ผู้พัฒนาเว็บไซต์ GotoKnow.org ได้ทำการรวบรวมบันทึกที่ควรค่าแก่การเผยแพร่แก่สาธารณะ โดยคัดเลือกบทความจาก บล็อก”เพลงพื้นบ้าน” จำนวน 50 บทความได้ตั้งแต่วันนี้ (12 ธันวาคม 2553)

              คลิ๊กที่เว็บไซต์    http://www.portal.in.th/blogtobook/pages/13297/
                                         http://portal.in.th/folksongs/pages/13142/
หมายเลขบันทึก: 400052เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผม ท็อป-ธีระพงษ์ พูลเกิด เป็นนักแสดงคนหนึ่งที่ฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน มาเป็นเวลา 6 ปี

โดยได้เรียนรู้และฝึกหัดจาก คุณครูชำเลือง มณีวงษ์ ตั้งแต่แรกเริ่ม จนได้รับรางวัล จากการประกวด/แข่งขัน

ดังที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนหลายปี

ภาธิณี นาคกลิ่นกุล

ดิฉัน แป้ง-ภาธิณี นาคกลิ่นกุล ก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ได้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน มาพร้อมกับท็อป-ธีระพงษ์ ได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านเรา จนได้รับรางวัลจากการแข่งขันต่างๆ ขอแสดงความเคารพยกย่องบรมครูและนักเเสดงเพลงพื้นบ้านรุ่นเก่า เอาไว้เป็นแบบอย่างในการฝึกปฎิบัติต่อไปค่ะ

ท็อปและแป้ง

  • ครูเขียนบทความบทนี้ เพื่อที่จะเล่าเรื่องความตั้งใจและการทุ่มเทเสียสละของเธอทั้ง 2 คน ให้สังคมได้รับรู้
  • ครูมีความสุขที่ได้เห็นเธอแสดงความสามารถและอยู่เคียงข้างกับครูมาตลอดระยะเวลา 6 ปี อนาคตข้างหน้าคงเหลือแต่เยื่อใยที่มีต่อกันและความทรงจำที่มิอาจจะลืมได้
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท