การเขียนกรอบความคิดการวิจัย(Conceptual Framework)


การเขียนกรอบความคิดการวิจัย(Conceptual Framework)

การเขียนกรอบความคิดการวิจัย(Conceptual Framework)  

การเขียนกรอบความคิดการวิจัย เป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นปัญหามากสำหรับนักวิจัยมือใหม่ เพราะจะเกิดความสับสน แม้ว่าจะได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาแล้วก็ตาม เพราะในงานวิจัยแต่ละเล่มก็จะเขียนกรอบความคิดการวิจัยไว้หลากหลายรูปแบบ วันนี้จึงได้รวบรวมหลักการเขียนกรอบแนวคิดการวิจัยที่ผู้ทรงคุณวุฒด้านนี้ท่านได้เขียนไว้มาฝาก จะได้เขียนกรอบความคิดการวิจัยได้อย่างมั่นใจ 

­กรอบความคิดการวิจัย(Conceptual Framework)  มีการใช้คำกันอยู่หลายคำ เช่น กรอบแนวคิด(บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2549, หน้า 39) กรอบความคิดในการวิจัย(สุวิมล  ว่องวาณิช,2551 หน้า 1, สุวิมล ติรกานันท์, 2546, หน้า 35) กรอบแนวคิดในการวิจัย(วรรณี แกมเกตุ, 2551, หน้า 67) กรอบความคิดการวิจัย (รัตนะ  บัวสนธ์, 2552, หน้า 79)

หลักการเขียนกรอบแนวคิดการวิจัย

สิน  พันธุ์พินิจ(2553, หน้า 339) กล่าวว่า การเขียนโครงการวิจัย ต้องเขียนกรอบแนวคิดการวิจัยให้ชัดเจน กรอบแนวคิดเป็นความคิดรวบยอดของการวิจัยที่สรุปมาจากแนวคิดทฤษฎี ต้องชี้ให้เห็นว่ามีกรอบที่ศึกษาตัวแปรอะไรบ้าง อะไรเป็นตัวแปรอิสระ อะไรเป็นตัวแปรตาม และจะศึกษาความแตกต่าง หรือความสัมพันธ์ เมื่อเขียนแนวคิดเชิงพรรณาแล้วอาจลองเขียนกรอบแนวคิดการวิจัยให้เป็นรูปธรรมด้วย

รัตนะ  บัวสนธ์(2552, หน้า 79) อธิบายไว้ว่า กรอบความคิดการวิจัยนั้น ก็คือ กรอบเชิงทฤษฎีที่ลดรูปลงมาเพื่อใช้สำหรับการวิจัยเรื่องนั้นๆนั่นเอง กล่าวคือ ในขณะที่กรอบเชิงทฤษฎีนั้นได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัย หรือความสัมพันธ์ของปัจจัย หรือตัวแปรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับปัจจัย หรือตัวแปรตาม หรือปรากฏการณ์ที่นักวิจัยต้องการศึกษา ซึ่งปัจจัยหรือตัวแปรที่กล่าวนี้มาจากทฤษฎีแนวคิดและผลงานวิจัยต่างๆ แต่เมื่อจะดำเนินงานวิจัยนักวิจัยได้ปรับลดตัวแปรบางตัวลง หรือทำให้ตัวแปรบางตัวคงที่ แล้วปรับกรอบเชิงทฤษฎีใหม่ จะได้เป็นกรอบความคิดการวิจัยเพื่อใช้สำหรับการวิจัยเรื่องนั้นเท่านั้น หากเปลี่ยนเรื่องดำเนินการวิจัยใหม่ โดยใช้กรอบเชิงทฤษฎีอื่นก็ต้องสร้างกรอบความคิดการวิจัยใหม่อีกเช่นกัน

บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์(2549, หน้า 39-40) กล่าวว่า กรอบแนวคิดการวิจัย เป็นภาพพจน์ที่เป็นแนวคิดในการวิจัยเรื่องนั้น การกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย จะต้องเริ่มจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  วิเคราะห์ประเด็นปัญหา กำหนดปัญหาการวิจัยให้ชัดเจน และหาแนวทางการค้นหาคำตอบ จากนั้นประมวลเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยเรื่องนั้น จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้

1. ปัญหาหลักที่ต้องการวิจัยคืออะไร  และอะไรเป็นปัญหาที่ต้องการทราบกันแน่

2. อะไรเป็นตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ ตัวแปรแทรกและตัวแปรควบคุม ตัวแปรต่างๆที่นำมาศึกษามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร

3. ข้อมูลที่จะใช้ในการวิจัยเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง แหล่งข้อมูลอยู่ที่ไหนและจะเก็บรวบรวมมาได้อย่างไร

4. การหาคำตอบในการวิจัยนั้น สามารถใช้ระเบียบวิธีวิจัย หรือแบบการวิจัย(research design) ในลักษณะใดได้บ้าง และจะเลือกใช้การวิจัยแบบใด ทำไมจึงเลือกแบบนั้น

5. มีแนวคิดและทฤษฎีอะไรบ้างที่สนับสนุนการวิจัยในปัญหานี้

6. มีข้อตกลงเบื้องต้นในการทำวิจัยเรื่องนี้หรือไม่ มีอย่างไรบ้าง

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวนำมาประมวลรวมเป็นกรอบแนวคิดโดยพยายามนำเสนอในลักษณะเป็นรูปธรรม ซึ่งมักจะทำเป็นแผนผังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษา ประกอบการอธิบาย

สุวิมล ว่องวาณิช(2551, หน้า 5) กล่าวว่า การนำเสนอกรอบความคิดการวิจัย ควรนำเสนอในบทที่ 2 ของรายงานการวิจัย เพราะต้องเสนอกรอบความคิดซึ่งเป็นผลจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่ที่พบโดยทั่วไป มักจะพบว่ามีการนำเสนอกรอบความคิดของการวิจัยในบทที่ 1  ซึ่งไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอในบทที่ 1 อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านหรือแม้แต่นักวิจัยเองเข้าใจภาพรวมของผลการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้น กรอบความคิดการวิจัยที่นำเสนออาจจะทำให้เกิดความสงสัยในเรื่องของแนวเหตุผลในการกำหนดตัวแปรมาศึกษา เพราะความรู้ที่รองรับยังนำเสนอไม่เพียงพอ

รูปแบบการเขียนกรอบความคิดการวิจัย

สุวิมล  ติรกานันท์(2546, หน้า 35) กล่าวว่า เมื่อผู้วิจัยได้ทบทวนเอกสารต่างๆเรียบร้อยแล้ว ควรนำรายละเอียดเกี่ยวกับตัวแปรที่ต้องการศึกษามากำหนดกรอบความคิดในการวิจัย เป็นการกำหนดขอบเขตของการวิจัยและทำให้เกิดภาพสรุปสุดท้ายของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา เป็นผลรวมความคิดของนักวิจัยเข้ากับเรื่องราวทฤษฎีต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นแนวความคิดของผู้วิจัยที่ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์มาพิสูจน์ความถูกต้องหากไม่ได้แสดงกรอบแนวคิดในการวิจัยไว้ในส่วนท้ายของการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่มักนำเสนอไว้ท้ายบทที่ 2 จะทำให้รายงานการวิจัยขาดความต่อเนื่อง  กรอบแนวคิดในการวิจัยสามารถนำเสนอกรอบความคิดในการวิจัยได้ใน 3 รูปแบบ คือ

1. แบบบรรยาย

เป็นการใช้ถ้อยคำบรรยายความเกี่ยวเนื่อง  ลำดับก่อน-หลัง และความสัมพันธ์ของตัวแปร ลักษณะนี้ไม่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านมากนัก

2. แบบฟังชั่นทางคณิตศาสตร์

วิธีนี้นิยมใช้ในการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์  เป็นการพยายามอธิบายเรื่องราวทั้งหมดด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์  เช่น

Y = f(P, Q, R, S)

Y =  การติดเชื้อเอดส์ของเด็กวัยรุ่น

P = ความรู้เรื่องเอดส์

Q = ค่านิยม

R = ฐานะทางบ้าน

S = อิทธิพลของเพื่อน

จากฟังชั่นที่กำหนด หมายความว่า การติดเชื้อเอดส์ของเด็กวัยรุ่นขึ้นอยู่กับ หรือมีความสัมพันธ์กับตัวแปร เรื่องความรู้เรื่องโรคเอดส์ ค่านิยม  ฐานะทางบ้าน และอิทธิพลของเพื่อน

3. แบบแผนภูมิ

เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ต้องการศึกษาแสดงลำดับการเกิดก่อนหลังของตัวแปร นอกจากนี้แผนภูมิที่สร้างขึ้นยังสามารถแสดงความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งนำไปสู่การใช้เทคนิคทางสถิติที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ต่อไป

ตัวอย่างที่ 1

 

 

จากตัวอย่างที่ 1 ตัวแปรความรู้ ค่านิยม ฐานะทางบ้าน และอิทธิพลเพื่อน แต่ละตัวมีผลต่อการติดเชื้อเอดส์ของเด็กวัยรุ่นโดยตรง

 

 

  จากตัวอย่างที่ 2 ตัวแปรอิทธิพลของเพื่อนมีผลต่อค่านิยม และส่งผลต่อไปยังการติดเชื้อเอดส์ของเด็กวัยรุ่น ส่วนตัวแปรความรู้และฐานะทางบ้านมีผลต่อค่านิยม และส่งผลต่อการติดเชื้อเอดส์ของวัยรุ่น ในขณะเดียวกันตัวแปรความรู้ ฐานะทางบ้านก็มีผลโดยตรงต่อการติดเชื้อเอดส์ของวัยรุ่น

สุวิมล ว่องวาณิช(2551, หน้า 12) ได้นำเสนอตัวอย่างการกำหนดกรอบความคิดของการวิจัยว่า ต้องมีการบรรยายข้อความก่อนนำเสนอแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในการวิจัย ในคำอธิบายดังกล่าวต้องมีการอ้างอิงที่มาของแนวคิดหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงให้เห็นตัวแปรที่ศึกษา โดยปกติจะกำหนดตัวแปรตามไว้ทางขวามือ ตัวแปรที่ส่งผลหรือตัวแปรที่อธิบายความสัมพันธ์(ตัวแปรอิสระ)จะอยู่ทางซ้ายมือ

...

จากการวิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับคุณสมบัติของครูที่จะสามารถเป็นนักวิชาการด้านการวิจัยและประเมิน สรุปได้ว่าประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ วัฒนธรรมการวิจัยและประเมินสมรรถภาพการวิจัยและการประเมิน ตามกรอบความคิดของการวิจัยในแผนภาพ 1 นอกจากนี้ผลการวิจัยของสุวิมล ว่องวาณิช,  อาภรณ์ บางเจริญพรพงค์ และอวยพร เรืองตระกูล(2543) พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลหลายตัว เช่น อายุ ระดับการศึกษา สังกัด มีผลต่อทักษะการประเมิน ในแผนภาพ 1 จึงกำหนดกรอบความคิดของการวิจัยว่า ความเป็นครูมืออาชีพของครูขึ้น น่าจะอยู่กับปัจจัย 3 กลุ่ม คือ ปัจจัยส่วนบุคคลที่เป็นภูมิหลังของครู (อายุ สังกัด ระดับการศึกษาที่สอน ขนาดโรงเรียน เพศ สถานภาพ) ปัจจัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเฉพาะกับการวิจัยและประเมิน  ได้แก่  ความรู้สึกต่อการวิจัยและประเมินของครู และระดับของการได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ/ประสบการณ์ด้านการวิจัยและประเมินด้วยวิธีการต่างๆและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ได้แก่  ระดับของความเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ใช้ความรู้เป็นฐานของการพัฒนา(knowledge-based)

  

แผนภาพที่ 1 กรอบความคิดของการวิจัย

 

   

  

นอกจากการนำเสนอกรอบความคิดการวิจัย 3 รูปแบบดังกล่าว วรรณี  แกมเกตุ(2551, หน้า 83) กล่าวว่า การนำเสนอกรอบความคิดการวิจัย เพื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยมีความเข้าใจความคิดของนักวิจัยว่า  ในการวิจัยแต่ละเรื่องนั้น นักวิจัยมีกรอบความคิดเป็นอย่างไร สามารถนำเสนอได้หลายแบบ  ได้แก่  แบบพรรณนาความ  แบบแผนภาพ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์  แบบตาราง แบบรูปภาพ และแบบผสมผสาน  สนใจรายละเอียดอ่านได้ในหนังสือ  “วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์” ของวรรณี  แกมเกตุ(2551)

ข้อควรระวังในการเขียนกรอบความคิดการวิจัย

รัตนะ บัวสนธ์(2552, หน้า 81) กล่าวว่า กรอบความคิดการวิจัย (Conceptual Framework) จะแตกต่างจาก กรอบการวิจัย(Research flow chart) หรือเรียกว่า กรอบการดำเนินการวิจัย หมายถึง แผนภูมิที่เขียนขึ้นในลักษณะเป็นผังไหล(flow chart) แสดงให้เป็นถึงขั้นตอนกิจกรรมและผลที่ได้รับจากการดำเนินงานวิจัย ในแต่ละขั้นตอนเพื่อสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยได้เกิดความคิดรวบยอด(concept) เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของการดำเนินงานวิจัยเรื่องนั้นๆ  ในเรื่องนี้ สุวิมล ว่องวาณิช(2551, หน้า 14) กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำประการหนึ่ง คือ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนักวิจัย ที่มักนำขั้นตอนของการวิจัยมาสร้างเป็นแผนภาพ เชื่อมโยงขั้นตอนการทำงานวิจัย ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดปัญหาวิจัย การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงาน แผนภาพดังกล่าวนี้ไม่ใช่กรอบความคิดของการวิจัย แต่เป็นแผนภาพที่แสดงขั้นตอนการวิจัย ดังตัวอย่าง

 

 

  แผนภาพการดำเนินงาน

(ไม่ใช่กรอบความคิดของการวิจัย)

 

วรรณี  แกมเกตุ(2551, หน้า 83) กล่าวว่า ข้อควรระวังก็คือ กรอบแนวคิดไม่ใช่ข้อสรุปของการวิจัย แต่เป็นเพียงแนวทางในการแสวงหาข้อมูลหรือคำอธิบายเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการที่จะวิเคราะห์หาข้อสรุป แม้การมีกรอบแนวคิดการวิจัยจะมีประโยชน์อยู่มาก แต่การมีกรอบแนวคิดการวิจัยก็อาจเป็นข้อจำกัดในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆได้เช่นกัน หากการกำหนดกรอบแนวคิดนั้นไม่รัดกุม หรือเป็นกรอบแนวคิดที่ไม่สมเหตุสมผล นั่นหมายความว่า การทำความเข้าใจกับสิ่งที่ต้องการศึกษา หรือการอธิบายตัวแปรตามโดยใช้ตัวแปรอิสระที่กำหนดไว้นั้น อาจจะขาดประสิทธิภาพ ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่มีน้ำหนักในการอธิบายที่น่าพอใจนักเนื่องจากนักวิจัยจะมองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญกับตัวแปรอิสระอื่นๆซึ่งอยู่นอกกรอบแนวคิดที่กำหนดไว้

เอกสารอ้างอิง

บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2549).  ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพมหานคร : จามจุรีโปรดักท์.

รัตนะ บัวสนธ์.(2552). ปรัชญาการวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วรรณี  แกมเกตุ. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์.(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิมล  ติรกานันท์. (2546). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ : แนวทางสู่การปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิมล  ว่องวาณิช. (2551). เทคนิคการสร้างกรอบความคิดของการวิจัย : ข้อบกพร่องที่พบบ่อย. เอกสารประกอบการบรรยายในงาน Thailand Research Expo 2008 วันที่ 16 กันยายน 2551 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร.โดย ส่วนส่งเสรอมและพัฒนาการวิจัย ภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.).

 

 

หมายเลขบันทึก: 399800เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชัดเจนมากค่ีะ  ขอบคุณค่ะ  

ดีมากๆเลยค่ะขอบคุณค่ะ เข้าใจดีเลย

เข้าใจมากขึ้นเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท