นปส.55 (55): จุดหมายปลายฝัน


แม๊กซ์เวลล์ กล่าวว่า “ประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอจะเป็นครูที่ดีได้ สิ่งที่จะเป็นครูที่ดีได้คือประสบการณ์ที่ผ่านการประเมินผลแล้ว”

(55): จุดหมายปลายฝัน

ชีวิตหลังฝึกอบรมผ่านไปอย่างยุ่งวุ่นวายกับหลายงานที่ประเดประดังเข้ามา แต่ก็พอรับมือไปได้ สถานการณ์ไข้เลือดออกที่ขึ้นสูงติดอันดับสองของประเทศ การระบาดของอหิวาตกโรคในพื้นที่ชายแดนและในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย สัดส่วนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่สูงขึ้นในหลายอำเภอ ทำให้ต้องติดตามและวางมาตรการควบคุมป้องกันอย่างใกล้ชิด

ผมทบทวนองค์ความรู้จากหนังสือ “มองโลก 360 องศา “The 360 Leader” สร้างอิทธิพลรอบทิศไม่ยึดติดตำแหน่งหน้าที่” เขียนโดย John C. Maxwell แปลโดยจิรายุทธ์ ประเจิดหล้า และเรียบเรียงโดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ซึ่งให้ประโยชน์อย่างมาก ทอม มัลลินส์ กล่าวว่า “ผู้นำย่อมต้องเป็นผู้จัดการที่ดี แต่ผู้จัดการส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่ดีเสมอไป” ส่วนจอห์น แม๊กซ์เวลล์ กล่าวไว้ว่า “ เมื่อใดมีผู้นำที่ดีอยู่ คุณจะมีทีมงานที่ดีขึ้น ผู้นำที่ดีไม่เพียงดึงคุณสมบัติดีๆของลูกน้องออกมาเท่านั้น ยังดึงคุณสมบัติที่ดีของผู้นำคนอื่นออกมาด้วย และยกระดับมาตรฐานการทำงานและการทำงานเป็นทีมให้สูงขึ้น

แม๊กซ์เวลล์ยังเขียนไว้อีกว่า “จะเป็นผู้นำให้ได้ต้องทำมากกว่าการบริหาร” โดย ผู้นำคิดระยะยาว ผู้นำมองสิ่งต่างๆด้วยมุมมองที่กว้างกว่า ผู้นำผลักดันข้อจำกัดออกไปอย่างสร้างสรรค์ ผู้นำให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรม ผู้นำเรียนรู้ที่จะไว้ใจสัญชาตญาณ (จอยส์ บราเธอร์ กล่าวว่า “จงไว้วางใจลางสังหรณ์ของคุณ โดยปกติลางสังหรณ์มีรากฐานมาจากข้อเท็จจริงที่เก็บอยู่ใต้จิตสำนึก” และแม๊กซ์เวลล์เสริมว่า “ยิ่งคุณให้ความสำคัญกับเรื่องนามธรรมมากกว่ารูปธรรมและหลักการมากกว่าการลงมือปฏิบัติแล้ว คุณจะยิ่งมีข้อมูลเก็บไว้ใช้ในอนาคตมากขึ้น”) ผู้นำมอบหมายอำนาจให้ผู้อื่น และผู้นำมองตนเองเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง (ชาร์ล การ์นิลด์ กล่าวว่า “ผู้ที่ประสบความสำเร็จสูง...ไม่มองความสำเร็จเป็นระบบหยุดนิ่ง และไม่มองเป็นสถานที่พักผ่อนซึ่งให้ใครยึดติด รู้สึกว่าสมบูรณ์แล้ว เสร็จสิ้นแล้ว”)

วันที่ 16-17 สิงหาคม 2553 เป็นวันนำเสนอรายงานของนักศึกษาโครงการหมออนามัยติดปีก ที่โรงพยาบาลแม่สอด จัดทำเป็นรายกลุ่มๆละ 2-3 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ รายงานการดูแลผู้ป่วยรายบุคคลแบบองค์รวม (Individual Holistic care) รายงานการดูแลชุมชนแบบองค์รวม (Holistic community care) และรายงานวิจัยการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to research) โดยมีอาจารย์วิพากษ์ 4 คนคือ อาจารย์หมอทวีศักดิ์ นพเกสร อาจารย์หมอวิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ อาจารย์หมอวัสนา ศรีวิชัยและผม แต่ละกลุ่มนำเสนอได้ดีมาก

วันที่ 18 สิงหาคม 2553 ผมไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การบริหารกลยุทธ์เชิงรุก” ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก เป็นครั้งแรกที่ผมบรรยายเรื่องนี้โดยไม่นำเสนอด้วย Explicit knowledge (สไลด์บรรยาย) แต่พูดโดยใช้ Tacit knowledge ก็ได้รับการตอบรัยที่ดีมาก การพูดโดยไม่ใช้สไลด์เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ช่วงทานอาหารกลางวันเจออาจารย์หนึ่ง ครูแพทย์แผนไทยของผม ท่านได้แจ้งผลสอบใบประกอบโรคศิลป์ภาคทฤษฎีปีนี้ว่าผมผ่านผดุงครรภ์ไทย แต่ตกเวชกรรมไทย และต้องสอบปฏิบัติผดุงคครภ์ไทยในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็เจอทั้งสมหวังและผิดหวัง

วันที่ 19 สิงหาคม 2553 ผมได้ไปนำเสนอเรื่อง การฝึกอบรมพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน ในการประชุมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้อพยพระดับชาติที่โรงแรมโฟว์วิง กรุงเทพฯ ช่วงบ่ายเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง คศน. ศึกษารายละเอียดได้ที่ http://www.wasi.or.th

วันที่ 20 สิงหาคม 2553 เป็นวันสอบวิชาภาคทฤษฎีของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “หมออนามัยติดปีก” ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก และเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการในช่วงบ่าย

วันที่ 23 สิงหาคม 2553 มีเวลาอยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และที่โรงพยาบาลสามเงา ได้พูดคุยปรึกษาหารือเรื่องงานโรงพยาบาลสามเงาที่ผมไปรักษาการผู้อำนวยการอยู่กับคุณหมอชัยทัต (พี่ปึง) ที่เป็นเสมือนผู้อำนวยการตัวจริงเพราะอยู่ทำงานประจำที่โรงพยาบาลมากกว่าผมและเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่หลังจากที่ห่างหายไปหลายเดือน พี่ปึงเป็นคนเก่ง มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับโรงพยาบาลสามเงามาก สามารถนำแนวคิดสำคัญๆลงสู่การปฏิบัติได้จริง

วันที่ 24 สิงหาคม 2553 ผมเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ในวิชา เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชุมชนและอาชีวเวชศาสตร์ ปี 4-6 ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ในฐานะผู้รับผิดชอบรายวิชานี้ของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผมช่วยสอนมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ดูที่ http://www.tsm-mec.org/html/index.php

วันที่ 25-27 สิงหาคม 2553 เข้าอบรมหลักสูตร “การบริหารงานสหกรณ์ออมทรัพย์ยุคใหม่” ที่สันนิบาตสหกรณ์ออมทรัพย์ กรุงเทพฯ ทำให้ได้แนวทางในการบริหารงานสหกรณ์มากขึ้นและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ สุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับผมมากในตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตากจำกัด ดูที่ http://www.tako.moph.go.th/takmoph/cooper/

วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากที่ผมร่วมเป็นกรรมการอยู่และประชุมคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านตาก ที่ผมเป็นประธานอยู่ มีเงินมูลนิธิเกือบ 6 ล้านบาท เป็นการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากคนใหม่ (นพ. วิทยา พลสีลา) เป็นครั้งแรก หลังจากคุณหมอสุวิชัย สุทธิมณีรัตน์ ผู้อำนวยการคนก่อนลาศึกษาต่อและได้คุยกับปู เกี่ยวกับนักศึกษาอนุปริญญาการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนตากที่ผมเป็นหัวหน้าหน่วยจัดโรงพยาบาลบ้านตาก ดูแลอยู่ จัดการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ดูที่ http://www.takcc.ac.th/ 

วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ช่วงเช้าเป็นการประชุมประจำเดือนคณะกรรมการวางแผนและประเมินผลสาธารณสุขตาก ช่วงบ่ายมีการประชุมคณะกรรมการฯสหกรณ์ออมทรัพย์สาสุขตาก หลังจากนั้นผมต้องศึกษาเอกสารงานนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขเร่งรัดติดตาม 8 เรื่องเพราะผมต้องไปร่วมประชุมเร่งรัดติดตามงานโดยท่านปลัดกระทรวงฯแทนท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากในวันพรุ่งนี้ เช่น โรงพยาบาล 3 ดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทอง การเยียวยาผู้ประสบการบาดเจ็บจากการชุมนุม การทำแผนยุทธศาสตร์ตำบล โครงการไทยเข้มแข็ง สถานการณ์ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่และการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผมใช้เวลาทบทวนมากเพราะหายไปอบรมซะ 4 เดือนและบางเรื่องผมก็ไม่ได้ดูแลเอง คืนนี้กว่าจะได้นอนเกือบตีสอง

วันที่ 1 กันยายน 2553 ผมตื่นแต่เช้า นั่งรถเข้ากรุงเทพฯเพื่อร่วมประชุมเร่งรัดนโยบายให้ทันในเวลาบ่ายโมงตรง (ใช้เวลาเดินทาง 4.5-5 ชั่วโมง) ในการประชุมนี้ผมได้มีโอกาสนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนานักบริการปฐมภูมิโดยนำหมออนามัยที่สมัครในมาฝึกอบรมหลักสูตร 4 เดือนครึ่งตามโครงการหมออนามัยติดปีกเพื่อให้มีศักยภาพในการบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้มากขึ้น และเรียนปรึกษาเรื่องเชิญท่านปลัดกระทรวงฯมามอบประกาศนียบัตร ซึ่งท่านก็รับปาก เสร็จการประชุมราว 1 ทุ่ม ผมก็รีบกลับตากถึงบ้านห้าทุ่มกว่า ลูกๆหลับหมดแล้ว ผมหลับไปอย่างอ่อนเพลีย

วันที่ 2 กันยายน 2553 ผมกับทีมอีก 2 คน (สุธาทิพย์ งานระบาดฯและพี่สถิตย์ งานควบคุมโรค) ออกนิเทศติดตาม กำกับงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกเฉพาะกิจ โดยเน้น 5 ประเด็นคือ การวิเคราะห์สถานการณ์ของโรค การป้องกันโรค การควบคุมโรค การวินิจฉัยและการรักษา และการสุ่มสำรวจสถานพยาบาลปลอดลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสุ่มสถานีอนามัย 1 แห่ง วันแรกนี้ผมออกนิเทศที่อำเภอสามเงาในช่วงเช้าและบ้านตากในช่วงบ่าย

ขณะนิเทศอยู่พี่แบนโทรมาแสดงความยินดีที่ผมได้รางวัลเรียนดีที่ 1 และรางวัลมนุษยสัมพันธ์ดีเด่นด้วย เมื่อวานพี่ป๋องก็โทรมาแสดงความยินดีเช่นกัน และผมเองก็เพิ่งทราบเพราะไม่ได้ตรวจสอบผลการฝึกอบรมเลย รายชื่อผู้สำเร็จการศึกษาทั้งรุ่น 54 และ 55 ดูได้ที่ http://www.ic.moi.go.th/icmoi/index.php?option=com_content&view=article&id=56:nps55name&catid=1:latest-news&Itemid=18

วันที่ 3 กันยายน 2553 ผมกับทีมออกนิเทศไข้เลือดออกต่อที่อำเภอท่าสองยางในช่วงเช้าและอำเภอแม่ระมาดในช่วงบ่าย การออกนิเทศติดตามทำให้พื้นที่มีความกระตือรือร้นในการควบคุมป้องกันโรคมากขึ้น ขณะเดินทางกลับพี่นัดก็โทรมาแสดงความยินดีด้วย พิธีมอบประกาศและรายละเอียดได้ลงไว้ในเว็บไซต์ของวิทยาลัยมหาดไทย ดูที่ http://www.ic.moi.go.th/icmoi/index.php?option=com_content&view=article&id=55:pragardnps54&catid=1:latest-news&Itemid=18

วันที่ 4 กันยายน 2553 ผมเข้ากรุงเทพฯด้วยรถยนต์พร้อมกับพี่เวง มีพี่สมชายขับรถให้ ออกเดินทางตอนบ่ายสาม เพื่อไปรับประกาศนียบัตรการสำเร็จการฝึกอบรม ขณะนั่งรถไปพี่เหนอ พี่เอื้องก็โทรมาแสดงความยินดี ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯเร็วไปหนึ่งวันเพราะต้องไปเป็นอาจารย์สอบโครางร่างวิทยานิพนธ์นิสิตปริญญาโท สาขาพยาบาลศาสตร์ มสธ. สามคน ก่อนจบการฝึกอบรมได้มีการถ่ายรูปเพื่อจัดทำหนังสือรุ่น สามารถดูร่างคร่าวๆของหนังสือได้ที่  http://tw4art.multiply.com/photos/album/21 ผมกับพี่เวงถึงกรุงเทพฯราวสามทุ่ม เข้าพักที่โรงแรมพีเจวอเตอร์เกต ประตูน้ำ

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2553 ผมไปเป็นอาจารย์ร่วมสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิต 3 คน ที่ทำเรื่องน่าสนใจและพยายามประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในงานวิจัย เสร็จแล้วก็อยู่ช่วยวิพากษ์ต่ออีก 2 คน รวมเป็น 5 คน มี รศ. ดร. บุญทิพย์ สิริธรังศรี เป็นผู้รับผิดชอบหลัก กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจก็เกือบ 4.30 น. แล้ว กลับที่พัก ผมคิดว่าการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ทำให้ผมได้เรียนรู้อย่างมาก

ผมนั่งทบทวนแนวความคิดเกี่ยวกับผู้นำ 360 องศา ที่ได้อ่านจากหนังสือที่กล่าวข้างต้น ที่เน้นการเป็นผู้นำด้วยการมีอิทธิพลต่อผู้อื่นมากกว่าการมีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่ง ยิ่งเป็นผู้นำระดับกลางด้วยแล้ว มีประโยชน์มากเพราะไม่มีอำนาจเต็มในการสั่งการ เนื้อหาในหนังสือจึงโดนใจผมมากเพราะผมดำรงตำแหน่งระดับรองในองค์กร ไม่ใช่ผู้นำสูงสุด แม๊กซ์เลล์ กล่าวว่า “ผู้นำระดับกลางขององค์กร ต้องมีความสามารถแก้ปัญหาได้ดีเป็นพิเศษเนื่องจากมีอำนาจและทรัพยากรน้อยกว่า...ต้องคุ้นเคยกับการทำผลงานให้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง

ผู้นำระดับล่างและผู้นำระดับกลาง ต้องช่วยแบ่งเบาภาระของผู้นำ โดยการ “ทำงานของตนเองให้ดีก่อน เมื่อเจอปัญหาจงหาทางแก้ บอกเรื่องที่ผู้นำจำเป็นต้องรู้ ไม่ใช่บอกเรื่องที่ผู้นำอยากฟัง ทุ่มเทสิ่งต่างๆมากเป็นพิเศษ สนับสนุนความคิดของผู้นำเมื่อไรก็ตามที่ทำได้ ช่วยทำงานแทนผู้นำเมื่อไรก็ตามที่ทำได้ และถามผู้นำว่า คุณจะแบ่งเบาภาระได้อย่างไร”

วงจรแห่งการเป็นผู้นำ เริ่มต้นจากห่วงใย (สนใจผู้คน) การเรียนรู้ (ทำความรู้จักผู้คน) การเห็นคุณค่า (นับถือผู้คน) การมีส่วนช่วย (เพิ่มคุณค่าให้ผู้คน) การแสดงความคิดออกมาเป็นคำพูด (ทำให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจ) การเป็นผู้นำ (มีอิทธิพลต่อผู้คน) และการประสบความสำเร็จ (ได้รับชัยชนะพร้อมกับคนอื่น) แม๊กซ์เวลล์ ยังกล่าวอีกว่า “ประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอจะเป็นครูที่ดีได้ สิ่งที่จะเป็นครูที่ดีได้คือประสบการณ์ที่ผ่านการประเมินผลแล้ว” และ “แม้วิสัยทัศน์บอกผู้คนว่าต้องไปที่ไหน แต่วัตถุประสงค์คอยบอกว่าเหตุใด เขาควรต้องไปที่นั่น”

การเป็นผู้นำ 360 องศา ต้องสามารถเป็นผู้นำบุคคลระดับบน บุคคลระดับเดียวกันและบุคคลระดับล่าง ได้อย่างราบรื่น หลักการเป็นผู้นำบุคคลระดับล่าง ต้องเดินเข้าหาผู้คน มองคนทุกคนว่าได้สิบคะแนนเต็ม พัฒนาทีมงานแต่ละคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่ฐานะพนักงาน จัดคนให้ทำงานตรงกับจุดแข็ง ปฏิบัติตามพฤติกรรมที่คุณปรารถนา ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และให้รางวัลในการสร้างผลงาน

หลักการเป็นผู้นำบุคคลระดับเดียวกัน ต้องเข้าใจ ฝึกฝน ตลอดจนปฏิบัติตามวงจรแห่งการเป็นผู้นำให้ครบถ้วน เน้นการส่งเสริมผู้นำระดับเดียวกันให้มากกว่าจะแข่งขันกับเขา เป็นเพื่อนที่ดี หลีกเลี่ยงการหาผลประโยชน์ในที่ทำงาน รู้จักคนให้กว้างขวางขึ้น ยอมให้ความคิดที่ดีที่สุดเป็นฝ่ายชนะ และอย่าแสร้งเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบ

หลักการเป็นผู้นำบุคคลระดับบน ต้องนำตนเองให้ดีเยี่ยม แบ่งเบาภาระของผู้นำ เต็มใจทำสิ่งที่ผู้อื่นไม่เต็มใจ จะเป็นผู้นำให้ได้ต้องทำมากกว่าการบริหาร ทุ่มเทสร้างความสัมพันธ์ เตรียมพร้อมทุกครั้งเมื่อต้องใช้เวลาของผู้นำ รู้ว่าเมื่อใดควรเดินหน้าเมื่อใดควรถอย เป็นบุคคลที่คนอื่นต้องขอความช่วยเหลือ และทำให้ตนเองดียิ่งขึ้นในวันพรุ่งนี้

ในการทำงานของผมกับผู้บังคับบัญชา ในฐานะที่ผมเป็นรองฯ ผมจะยึดถือหลัก 3 ข้อคือ "ปกป้องเจ้านาย ไม่ล้ำเส้นเจ้านาย และช่วยเจ้านายทำงานให้ดีที่สุด"

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553 ตื่นเช้า แต่งชุดขาวปกติ เข้ารับประกาศนียบัตรจากนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร เข็มวิทยฐานะ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 54 และรุ่นที่ 55 เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูรายละเอียดได้ที่http://www.ic.moi.go.th/icmoi/index.php?option=com_content&view=article&id=57:closenps5455&catid=1:latest-news&Itemid=18

ผมเดินทักทายพี่ๆเกือบทุกคน ขอบคุณที่พี่ๆให้คะแนนและโหวตให้ผม บรรยากาศชื่นมื่นมากๆเพราะห่างกันไปกว่าสามสัปดาห์ เสียงคุยจึงดังขโมงโฉงเฉง หลายคนบอกว่าน่าจะนัดให้เจอกันสัก 1 วัน ก่อน จะได้พูดคุยกันได้เต็มที่

หลังจากลงทะเบียนแล้วก็เข้าไปในห้องจัดงาน เข้าแถวตามที่กำหนดไว้ รับมอบประกาศนียบัตรรุ่น 54 ก่อน ต่อด้วยรุ่น 55 ผมเข้าไปรับสามรอบคือรับประกาศฯ รับโล่รางวัลเรียนดีที่ 1 และรับโล่มนุษยสัมพันธ์ดีเด่น หลังจากนั้นประธานรุ่น 54 กล่าวนำคำปฏิญาณตน 3 ข้อ คือ

  1. ข้าพเจ้าจะรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  2. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรมและเสียสละ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญของประเทศชาติ
  3. ข้าพเจ้าจะดำรงตน ให้เป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี มีคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการที่ดี

หลังจากนั้น รัฐมนตรีฯได้ให้โอวาท ซึ่งผมคิดว่ามีเนื้อหาใจความที่ดีมากและท่านให้บัตรแข็งเคลือบพลาสติกที่มีตัวภาษาจีนมา 2 คำ อ่านว่า หาญ หยั่ง (Han Yang) หมายถึงคุณลักษณะที่ดี 6 ประการ คือ “การมีสติปัญญา การมีความอดกลั้น การมีความอดทน การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา การรู้จักให้อภัยและอโหสิ และการมีคุณธรรม” เสร็จพิธีทางรุ่นได้จัดเลี้ยงมื้อกลางวันที่บุฟเฟ่ต์สนามม้านางเลิ้ง หลังจากนั้นก็แยกย้ายกัน ผมเดินทางไปที่สมุทรสงครามเพื่อเข้าประชุมต่อในวันพรุ่งนี้

การฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง 4 เดือนกว่าๆ นอกจากจะได้ฟังบรรยาย คำบอกเล่า ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ยังทำให้ผมมีเวลาอ่านหนังสือได้หลายเล่ม เช่น Human Touch ของอาจารย์ธีระชัย เชมนะสิริ หนังสือคำสอนจากนานห้างเทียม โชควัฒนา หนังสือความทุกข์มาโปรด ความสุขโปรยปรายของ ว. วชิรเมธี และที่สำคัญมากเล่มหนึ่งคือ “ความสุขของกะทิ ตอน ในโลกใบเล็ก” ของงามพรรณ เวชชาชีวะ ที่เป็นตอนที่สามตอนจบ ผมได้อ่านอย่างดื่มด่ำทั้งสามตอน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกที่ดีมาก

นักปกครองระดับสูง จะต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้บริหาร (ผู้จัดการ) ซึ่ง “ผู้นำเน้นเรื่องคน (People) ผู้จัดการเน้นกระบวนการ (Process)” อาจารย์สุรพันธ์ ปุสสเด็จ กรรมการกำกับทิศ คศน. เคยพูดเรื่องผู้นำว่า ต้องมี 3E คือ “Energy, Energize, Execute หรือ มีพลัง ทำให้คนอื่นมีพลัง และบริหารจัดการเป็น” ซึ่งจะทำให้ผู้นำสามารถทำภารกิจสำคัญ 3 ประการได้คือ ฝัน ขายความฝัน และประคับประคองความฝันให้เป็นจริง

 ในที่สุด ผมก็สามารถทำภารกิจที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัครเข้ารับการอบรมคือการเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง เพื่อ “แบ่งปัน” สิ่งดีๆที่ได้รับแก่กันและกันบนโลกที่เต็มไปด้วยการ “แข่งขัน” ซึ่งกำหนดไว้ในใจว่าจะเล่าให้เท่ากับรุ่นคือ 55 ตอน (รุ่น HA-HA ฮาฮา หรือเฮฮา) เริ่มจากตอนที่ 1 “ไฟฝันบันดาล” http://gotoknow.org/blog/practicallykm/362181 ถึงตอนที่ 55 “จุดหมายปลายฝัน” นี้ และผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง การเขียนบันทึกแต่ละตอนผมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการทบทวนเรื่องราวต่างๆที่จะเขียน

ผมเคยเขียนเล่าแบบนี้ไปครั้งหนึ่งเมื่อคราวไปเรียนโทที่เบลเยียมในชื่อ “หมอบ้านนอกไปนอก” ตอนที่ 1 "เด็กบ้านนอก" ที่ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/126609 ไปถึงตอนที่ 101 "วิหคคืนรัง" ที่ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/265111

ผมขอขอบคุณท่านมานิต วัฒนเสน (ปลัดฯมหาดไทย) ท่านอาจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ (อดีต ผอ. สถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี) และท่านศุภโชค เลาหะพันธ์ (ผอ. สถาบันดำรงราชานุภาพ) ที่ให้โอกาสรับผมเข้าฝึกอบรม ท่านสามารถ ลอยฟ้า (ผู้ว่าฯตาก)และท่านนายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา (นายแพทย์ สสจ.ตาก) ที่อนุมัติให้ผมเข้าฝึกอบรม ขอบคุณเพื่อนร่วมรุ่นทุกคน ขอบคุณภรรยาและลูกๆที่ยอมสูญเสียเวลาอยู่ใกล้ชิดกันและขอบคุณโรงพยาบาลสามเงาที่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมครั้งนี้ สำหรับท่านที่สนใจสมัครเข้าอบรมดูได้ที่เว็บ http://www.ic.moi.go.th/icmoi/ สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 398651เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เพียงอ่านตารางเวลาในแต่ละวัน ก็เหนื่อยแล้ว พักผ่อนด้วยครับ

กราบขอบพระคุณครูหยุยมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท