KRUJOY (ครูจ่อย)
นาย ทรงศักดิ์ เสือ ภูเก้าแก้ว

วรรณกรรมพื้นบ้าน ๔ ภาค


เหนือ อีสาน กลาง ใต้

  

 

 

 สวัสดีครับ...

  วันนี้ครูจ่อยขอนำตัวอย่างวรรณกรรมพื้นบ้านของไทย ทั้ง ๔ ภาค มาฝาก สำหรับผู้ที่สนใจขอเชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันนะครับ

                                                             ครูจ่อย

 

             วรรณกรรมพื้นบ้าน

 

 ...กะโลง โคลง ค่าว (วรรณกรรมล้านนา)

 

     กำเป๋นหละกุย ลุยเลยเน้อเจ้า

นิ้วมือเฮานี้ เป๋นดีสังก๋า ยกฝ่ามือมา แยงต๋าผ่อจ้อง
หัวแม่มือ มีสองข้อปล้อง แต่บ่เป๋นรอง สักนิ้ว

    ตึงกดตึงก๋ำ ขะย๋ำปั้นหลิ้ว นิ้วแม่มืออั้น มั่นดี
หักหน้าวอกนั้น ตึงกั่นดีหลี โอ้งขะโหล้งมี งว้ายดีลาบส้า
เป๋นแม่แลหัว ในนิ้วตังห้า หัวแม่มือนา ฟังเต๊อะ

    นิ้วมือขาดหัว ขาดแม่มักเลอะ ตึงก๋ำบ่หมั้น สักราย
หัวแม่มือก๊ำ หื้อนิ้วตังหลาย หญุบสังง่ายดาย ก๋ำได้แน่นหมั้น

จ๋าเตียมไป ในเมืองไทยอั้น สามสถาบัน นั้นละ

     ชาติขษัตถา แลศาสนะ ขว้างละบ่ได้ สักอัน
ขอไทยเฮานี้ สามัคคีกั๋น ฮักษ์สถาบัน ไว้มั่นเน้อเจ้า
ส่วนนิ้วตังหลาย ขยายขดเข้า ถัดมาหมายเอา นิ้วจี๊

     ผู้นำตังหลาย ของไทยเฮานี้ หมายเอาตี้หนี้ รัฐบาล
ห่อนได้ก้าจี๊ ต้องมีผะสาน หื้อกุ๊หน่วยงาน ฮ่วมกั๋นสรรค์สร้าง
นิ้วกล๋างสูงยาว สาวเลิ๊กและกว้าง กว๊านกวาดวาดวาง สัปป๊ะ

     คนเฒ่าญิงจาย ตั้งหลายนั้นละ คณะองคะ มนตรี
เปิ้นอาบน้ำฮ้อน มาก่อนหลายปี๋ ประสบการณ์มี สติเตี้ยงหมั้น
เปิ้นตั๊กเปิ้นจ๋า อย่าดันดื้อดั้น ควรอภิวันท์ นอบน้อม

     มาเถิงนิ้วนาง สำอางค์เพียบพร้อม ถ่อมน้อมตั๋วได้ งามดี
นิ้วนางนี้ไซร้ ได้เพศอิตถี คือกุลสตรี เป๋นศรีแห่งบ้าน
นิ้วก้อยโตยมา เก่งกล้าบ่หย้าน ยามเมื่อไหว้วาน ออกฮับ

     ล้วงแคะแกะเก๋า ก้อยเอาบ่นับ เผียบกับหนุ่มเหน้า สาวแลว
หนุ่มสาวเฮานั้น เฮียนมันหื้อแผว เหลี้ยมเอาจ๋นแซว ตะแหลวเมืองหั้น
เป๋นเลือดใหม่ใน เมืองไทยว่าอั้น พัฒนามัน กู่เจื๊อ

     เฮาท่านตังหลาย อย่าได้ก้าเงื้อ เหตุการณ์มันเอื้อ ต้องลุย
นิ้วตังห้านั้น รวมกั๋นแล้วฉุย ก๋ำเป็นหละกุย ลุยเลยเน้อเจ้า ลุยเลยเน้อเจ้า.

 

 ความหมาย...(พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ  ชาวเหนือ ช่วยแปลให้ครูจ่อยด้วยนะครับ จักขอบคุณยิ่ง บางคำยังไม่ค่อยเข้าใจนัก)

 

 ตัวอย่าง
การแต่งวรรณกรรมโคลงภาคเหนือโดย ทนัน ภิวงศ์งาม***
  • ยินดียิ่งแล้ว หลานแก้วมาหา        ชื่อพิมญดา แวะมาเอ่ยถ้อย
    ว่าเปิ้นมีใจ๋ ใคร่เฮียนค่าวสร้อย     ฮักษาฮีตฮอย เก่าก๊ำ
  • เครือออนสุขขี มาดีใจ๋ล้ำ             ตอบโดยบ่อ้ำ อึ้งเลย
    ยินดีแต๊ พิมญดาเหย               มาเฮียนกันเลย เฉลยบอกแจ้ง
    สามตั๋วเหลียว เจ็ดตัวเตียวแถ้ง     วรรณยุกต์แยง ถี่ตั๊ด
  •  เสียงจัตวา ตรีโทเคร่งคัด            สามัญก็ปั้ด เข้าฮอย
    ระบำเสียงนี้ เปิ้นจี๊เป็นฝอย         ต้องหมั่นแยงกอย  ค่อยเฝิกเน้อเจ้า ค่อยเฝิกเน้อเจ้า.
สังเกตเน้อ  (คำแนะนำ)
1. บังคับเสียงวรรณยุกต์ ดังนี้
    ตัวหนังสือสี เขียว      =   เสียงสามัญ
    ตัวหนังสือสี ออน       =   เสียงโท
    ตัวหนังสือสี แดง       =    เสียงตรี
    ตัวหนังสือสี น้ำเงิน    =    เสียงจัตวา
2. มีสัมผัสนอก สัมผัสในโตย สังเกตหื้อดีเน้อ

 

 

...ครูจ่อยสอนผญา (มูลมังอีสาน)

 

 ประวัติ คำผญา

    

      ผญา   มาจากคำปรัชญา หมายถึง คำที่คนโบราณอีสานนำมาเชื่อมต่อกันเช่นเดียวกับที่นักฉันทลักษณ์ไทยนำมาแต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดต่างๆนั้นเอง ซึ่งจะให้ทั้งสาระและความไพเราะ

 

 ผญาสอนสามัญชนทั่วไป

 

               ขั่นสิคอยแต่บุญมาค้ำ    ขั่นบ่ทำกะบ่แมน

             คอยแต่บุญส่งให่             มันสิได้จั่งได๋

             คือจั่งห่ามีอาหารไว้         บ่เอากินมันบ่อิ่ม

            มีลาบขั่นบ่เอาเข่าคุ้ย        ทางท้องบ่ห่อนเต็ม

        

                                ความหมาย 

  • คั่นสิคอยแต่บุญมาค้ำ       หมายถึง      ถ้าจะคอยแต่ผลบุญมาช่วย

  •  ขั่นบ่ทำกะบ่แมน              หมายถึง      ถ้าไม่ทำด้วยตัวเองคงไม่ถูก

  • คอยแต่บุญส่งให่              หมายถึง      คอยแต่ผลบุญช่วยเหลือ

  • มันสิได้จั่งได๋                    หมายถึง      จะได้อะไรขึ้นมา

  • คือจั่งห่ามีอาหารไว้           หมายถึง        เหมือนเรามีอาหารอยู่แล้ว

  • บ่เอากินมันบ่อิ่ม                หมายถึง        ไม่รับประทานก็ไม่อิ่ม

  • มีลาบขั่นบ่เอาเข่าคุ้ย         หมายถึง       มีลาบก้อยถ้าหากไม่รับประทานกับข้าวเหนียว

  • ทางท้อง บ่ฮ่อนเต็ม           หมายถึง      ท้องจะอิ่มได้อย่างไร

 

                                                                       ท. ณเมืองกาฬ

                                                                          17/3/52

  ผญาสอนผู้บริหาร

 

                          ขุนหาญห่าว คองเมือง จั่งเฮืองฮูง

                          ขุนขี่ย่าน แม่นคองบ้าน กะบ่เฮือง

                          ขั่นสิเป็นขุน ให่ถามดู หมู่พวกไพ่

                          ขั่นแม่นไพ่ บ่พ้อม แปงบ้านกะบ่เฮือง

 

 

                                             ความหมาย

 

  ขุนหาญห่าว  คองเมืองจั่งเฮืองฮูง  หมายถึง   ผู้นำที่กล้าหาญจะปกครองบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง

  ขุนขี่ย้าน คองบ้านกะบ่เฮือง          หมายถึง   ผู้นำที่ขี้ขลาดปกครองบ้านเมืองก็ไม่เจริญรุ่งเรือง

  ขั่นสิเป็นขุน ให้ถามดูหมูพวกไพ     หมายถึง     ถ้าจะเป็นผู้นำต้องถามพวกพ้องก่อน

ขั่นแมนไพ บ่พ้อม คองบ้านกะบ่เฮือง       หมายถึง     ถ้าพวกพ้องไม่ยอมรับปกครองบ้านเมืองก็ไม่เจริญรุ่งเรือง

 

...สุภาษิตสอนหญิง (สุนทรภู่)ภาคกลาง

     จงปฎิบัติสามีเป็นที่รัก
สามิภักดิ์โดยเที่ยงไม่เดียงสา
มิให้เคืองขืนขัดเรื่องอัชฌา
ถึงเวลายามนอนผ่อนเอาใจ
     ก้มกราบบาทสามีเป็นที่ยิ่ง
สรรพสิ่งชอบประกอบให้
ตื่นก่อนนอนหลังระวังระไว
ตักน้ำไว้คอยท่าให้สามี
     จะได้ชำระพักตราเพลาเช้า
นวลเจ้าจำไว้เป็นศักดิ์ศรี
หาหมากพันพลูบุหรีดี
.................................
     การกินนอนนั้นเป็นการใหญ่
ระวังระไวอย่าให้ทำเมินเฉย
ของคาวหวานเป็นการของทรามเชย
อย่าละเลยไว้ใจให้ใครทำ
     เป็นสตรีย่อมมีมารยาท
จะทำการก็สะอาดไม่ผลีผลาม
สิ่งใดดีที่ไหนสนใจจำ
ปากคำไม่กระเดื่องให้เคืองใจ
     จัดแจงการบ้านเรือนดูรอบคอบ
ถึงทำชอบผัวว่าชั่วก็นิ่งได้
รักษาตัวกลัวผิดระวังระไว
ตั้งจิตคิดไว้ให้คนชม
     บาลีว่าหญิงดีมีสี่อย่าง
ไม่อำพรางย่อมตรัสบริหาร
สำแดงไว้ให้เห็นเป็นประธาน
จึงพิจารณ์ตามพระพุทธาธิบาย
     หญิงเหล่าหนึ่งเรียกว่ามาตาภริยา
สเน่หาในสามีไม่เหือดหาย
ปฎิบัติเช้าเย็นไม่เว้นวาย
มิไข้หน่ายในการบำรุงบำเรอ
     มารดารักบุตรนั้นฉันใด
เอาใจใส่มิได้แต่งเสนอ
รักสนิทจิตสมัครสามีเธอ
เทียบเสมอเพียงบุตรในอุทร
     ภคินีภรรยานั้นพวกหนึ่ง
เร่งรำพึงคิดคร่ำคำที่สอน
รักสามีเหมือนพี่ร่วมมารดา
โอนอ่อนคำนับน้อมยอมยำเกรง
     ทาสีภรรยาพวกหนึ่งเล่า
ท่านชักเอามาเปรียบเทียบเหมาะเหม็ง
รักสามีเหมือนนายเงินของตนเอง
ต้องยำเกรงเช้าเย็นเป็นนิรันดร์
     สหายิกาภรรยาครบสี่
รักสามีดังสหายผ่อนผายผัน
สงวนอารมณ์มิได้ข่มขี่กัน
สู้อดกลั้นจริงจริงทุกสิ่งเจียว

 

 ...ภาษิตชาวใต้

 

    โดยทั่วไปแล้วภาษิต คือประโยคสั้นๆ ซึ่งบอก ความหมายบางอย่าง

หรือข้อเตือนใจบางอย่างที่เป็นประโยชน์ โดยทั่วไปแล้ว ภาษิต คือคำกล่าวที่ถือเป็นคติเตือนใจให้เป็นคนดี

เช่น

1)อย่าฝากกล้วยไว้กับเด็ก อย่าฝากเหล็กไว้กับช่าง

   การฝากกล้วยไว้กับเด็กเด็กย่อมอดไม่ได้เพราะเป็นของชอบเด็กก็จะกินเสียทำนองเดียวกันถ้าเราฝากเหล็กไว้กับนายช่างนายช่างอาจจะเอาเหล็กไปทำประโยชน์อย่างใดอย่าง

  หนึ่งภาษิตนี้จึงมีความหมายว่า

    อย่าฝากอะไรไว้กับผู้รับที่ผู้รับสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงเพราะเขาจะเบียดบังเอาผลประโยชน์จากของนั้นได้

2) โคนไม่ถึงทราย ปลายไม่ถึงน้ำ

   เปรียบกับคนที่รู้อะไรๆไม่จริงรู้เพียงเลาๆไม่รู้ถึงต้นถึงปลายเหตุที่แท้จริงไปบอกเล่าให้กับผู้อื่นก็จะทำให้เกิดผลเสียหายได้เหมือนเสาไม้ที่ปักอยูในคลอง

   โคนของเสานั้นไม่ถึงทราย(ก้นคลอง)ปลายเสาไม่ถึงน้ำคือต่ำกว่าระดับน้ำเรียกว่าทั้งโคนทั้งปลายไม่ถึงซักอย่าง เหมีอนคนที่รู้อะไรมาไม่ชัดเจน แล้วเที่ยวไปพูดไปบอกเล่าแก่คนอื่น

3) หวีผมแต่พอเกล้า กินเหล้าแต่พอยา

    คนแก่สอนให้บันยะบันยังเข้าไว้จะหวีผมก็เอาแต่พอสวยพองามพอเหมาะสมไม่ใช่เกล้าโล้นหรือหัวล้านก็ยัวเฝ้าหวีอยู่นั้นแหละ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเช่นเดียวกับการกินเหล้าก็ควรกินแต่พอเป็นยาคือกินน้อยๆเพื่อให้กินข้าวกินปลาได้ทำให้เจริญอาหารอย่างนี้เรียกว่ากินเหล้าให้เป็นยา

4)เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง วานแหก

   วาน ในที่นี้คือก้น  สอนให้ทำอะไรพอสมฐานะของตนไม่ใช่พอเห็นผู้อื่นเขาทำอะไรก็เห่อตามเขาอันเป็นสิ่งที่เกินฐานะของตนก็จะเกิดอาการวานแหก

   วานแหก   คือ เดือดร้อนทีหลังโบราณจึงสอนไว้ว่าให้ทำอะไรพอสมควรแก่ฐานะ ไม่จำเป็นต้องตามคนอื่น

5)ยิ่งหยุดยิ่งไกล ยิ่งไปยิ่งแค่

แค่ ก็คือ ใกล้

    ว่ากันตรงๆตัวถ้าเป็นการเดินทางยิ่งเราหยุดเดินบ่อยครั้งเท่าใดเราก็รู้สึกว่าหนทางมันไกลขึ้นถึงจุดหมายปลายทางช้าเหลือเกินแต่ถ้าเรารีบเดินก็จะถึงเร็วขึ้นและรู้สึกว่าหนทางมันสั้นเข้าเช่นเดียวกันในการทำงาน ถ้าเรายิ่งหยุดทำก็จะยิ่งช้าไม่เสร็จเสียที

6)ช้างแล่นอย่ายุงหาง

แล่น คือวิ่ง

ยุงหาง คือ ดึงหาง

    แน่นอนถ้าช้างกำลังวิ่งอย่าได้ดึงหางช้างเข้าเป็นอันขาดเพราะถ้าขืนไปดึงหางช้างเข้าช้างก็จะพาติดไปชนเอาต้นไม้ต้นไร่เจ็บตัวเปล่าๆคนแก่เฒ่าต้องการสอนว่าผู้มีอำนาจวาสนานั้นหากเขาต้องการอะไรอย่างแรงกล้าขึ้นมาแล้วเราผู้น้อยอย่าได้คิดไปขว้างหรือห้ามเขาเลยเพราะจะเจ็บตัวเปล่าๆเข้าทำนองน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง

7)อย่าเอาวานไปเห็งหนามเรียน

วาน คือ ก้น

เห็ง คือ อาการที่นั่งทับ

หนามเรียน คือ หนามทุเรียน

    ถ้าใครเอาก้นของตนนั่งทับลงบนหนามทุเรียนอย่างแรงแน่นอนหนามทุเรียนย่อมแทงก้นให้เกิดอาการเจ็บปวด ภาษิตนี้สอนให้คนที่ชอบยุ่งในกิจของคนอื่นนั้นรังแต่จะเจ็บตัวเปล่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย

8) ใหญ่หมู ใหญ่หมา ใหญ่ขี้พร้านำ้้้เต้า เฒ่าไม่สาไหร

ขี้พร้า คือ ฟักเขียว

น้ำเต้า คือ ฟักเหลือง

ไม่สาไหร คือ ไม่รู้สึกอะไร ไม่มีความรับผิดชอบ

   ภาษิตนี้เปรียบผู้ใหญ่ที่ใหญ่แต่ตัว ใหญ่แต่กาย แต่จิตใจยึดถืออะไรไม่ได้เลยสักแต่ว่าร่างกายใหญ่ แต่ใจเหมือนทารก

9)ต่อหน้าบัง ลับหลังแขก

บัง คือ พี่

แขก คือ คนไทยอิสลาม

    เป็นการสอนว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าเป็นอย่างไร ลับหลังเป็นอย่างนั้น

 

                                                                        จากใจจริง

                                                                                          ครูจ่อย

คำสำคัญ (Tags): #มรดกไทย
หมายเลขบันทึก: 396855เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ พ่อใหญ่ครูจ่อย  ข้อยเป็นคนอิสาน ฮักภาษาอิสาน ไผสิฮ่องหว่าลาวกะบ่เป็นหยัง

ข่อยมีโอกาสได้ไปกายภาษาญี่ปุ่นมาจักหน่อย ภาษาของเผิ่น มีคำถ่อมตน กับมีคำยกย่อง ข่อย กะเลยคีดฮอดภาษาบ้านเฮา กะมีคือกัน อันกะแหม่นหว่า คำหว่า ข้อยกับเจ้า นี่แล้ว...พ่อใหญ่แต่ก่อนสมัยข่อยเป็นนักเรียน อยู่ ร.ร.ปทุมเทพวิยาคารหนองคาย  คำสรรพนามที่หมู่ข่อยใช้กะคือ เจ้ากับข่อย  เป็นภาษาที่เป็นตาฮักอีหลี แต่ซุมื่อนี่ จั๊กสิเป็นจั่งใด๋

เอกลักษณ์ไทยควรอนุรักษ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท