การตอบโต้การทุ่มตลาดในสนามธุรกิจการค้า


"การทุ่มตลาดคือ การสั่งสินค้าเข้ามาขายในบ้านเรา(ประเทศไทย) ในราคาที่ถูกกว่าขายในบ้านเขา(ประเทศผู้ผลิตหรือส่งออก)"เป็นการขายในราคาที่ถูกกว่าที่ขายในบ้านเขา ส่วนจะขายแพงหรือขายถูกกว่าสินค้าที่ขายในบ้านเรา(ประเทศไทย)หรือไม่ ไม่สำคัญ ไม่นำมาพิจารณา

การตอบโต้การทุ่มตลาดในสนามธุรกิจการค้า

ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ นอกเหนือจากการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ที่สำคัญมาตรการหนึ่งคือ มาตรการตอบโต้ คือ ตอบโต้การทุ่มตลาด

จึงต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นก่อนว่า อะไรคือการทุ่มตลาด 

"การทุ่มตลาดคือ การสั่งสินค้าเข้ามาขายในบ้านเรา(ประเทศไทย) ในราคาที่ถูกกว่าขายในบ้านเขา(ประเทศผู้ผลิตหรือส่งออก)"เป็นการขายในราคาที่ถูกกว่าที่ขายในบ้านเขา ส่วนจะขายแพงหรือขายถูกกว่าสินค้าที่ขายในบ้านเรา(ประเทศไทย)หรือไม่ ไม่สำคัญ ไม่นำมาพิจารณา

การทุ่มตลาดถือเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม อาจมีผลดีต่อผู้บริโภคในระยะสั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว เพราะเมื่อมีการทุ่มตลาดเกิดขึ้น ผู้ผลิตภายในประเทศอาจได้รับผลกระทบ อาจต้องลดราคาขายเพื่อสู้กับสินค้าทุ่มตลาด เพิ่มกำลังการผลิตไม่ได้ อาจต้องลดกำลังการผลิต ลดคนงาน ในที่สุดเมื่อไม่มีกำไร หรือประสบการขาดทุน ก็อาจต้องลดขนาดกำลังการผลิตหรือเลิกกิจกรรมไปในที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศไม่มีการขยาย หรือไม่เจริญเติบโต ทำให้คนว่างงานมากขึ้น และอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย เพราะเมื่อผู้ผลิตในประเทศมีน้อยหรือไม่มีผู้ผลิตเลย เพราะต้องเลิกกิจการไป ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ผู้ส่งออกสามารถตั้งราคาขายได้สะดวกขึ้น ทำให้ผู้บริโภคอาจต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น

การตอบโต้การทุ่มตลาดจะกระทำได้ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมภายในและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการทุ่มตลาด ซึ่งทำให้มีข้อต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมภายในคืออะไร การพิจารณาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากการทุ่มตลาดพิจารณาจากอะไร

อุตสาหกรรมภายในตามความหมายของการทุ่มตลาด คือผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันอย่างมาก กับสินค้าทุ่มตลาด ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ คือจะเป็นผู้ผลิตรายเดียวหรือหลายรายรวมกันที่มีผลผลิตรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ของปริมาณการผลิตรวมภายในประเทศ ตัวสินค้ามิได้หมายความเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสินค้าเกษตรหรือหัตถกรรมด้วย สิ่งที่ต้องพิสูจน์ต่อไปคือ เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ผลิตภายในประเทศหรือไม่ ถ้าไม่พบความเสียหายก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ แต่ถ้าพบว่ามีความเสียหายต่อผู้ผลิตภายในประเทศ จะต้องพิสูจน์ต่อว่าเป็นผลเสียหายจากการทุ่มตลาด มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากภาคอื่น เช่น การบริหารงานผิดพลาดเอง เก็งตลาดผิด เก็บสต๊อคสินค้าไว้มากเกินไป เกิดภาระค่าใช้จ่ายและค่าดอกเบี้ย หรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

หลักที่ใช้ในการพิจารณาความเสียหายจากการทุ่มตลาด จะพิจารณาจากปัจจัยสำคัญๆ ดังนี้

-ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการบริโภคหรือการผลิต  

                                                                                                                         -การนำเข้าสินค้าทุ่มตลาด ทำให้ราคาภายในประเทศตกต่ำหรือถูกกดราคา                                

 -การผลิตสินค้า ความสามารถในการผลิต อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงหรือมีแนวโน้มลดลง    

 -ยอดการจำหน่าย ส่วนแบ่งการตลาด กำไร ผลตอบแทนการลงทุนลดลง                                    

 -ปริมาณคงเหลือของสินค้าเพิ่มขึ้น

ข้อที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ จะตอบโต้การทุ่มตลาดด้วยวิธีใด เนื่องจากการทุ่มตลาดเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะส่งสินค้ามาขายในราคาที่ถูกกว่าขายในประเทศของตน จึงต้องทำให้ความไม่เป็นธรรมในด้านราคาหมดไปหรือลดน้อยลง คือ ใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า อากรตอบโต้การทุ่มตลาด ภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นดังกล่าว บวกเพิ่มเข้าไปกับภาษีปกติที่เรียกเก็บอยู่แล้ว 

ภาษีหรืออากรตอบโต้ที่จะเรียกเก็บนั้น จะเรียกเก็บเท่าใด ในหลักการเรียกเก็บได้ไม่เกินส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด

เพื่อความเข้าใจให้ง่าย ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดก็คือ ส่วนต่างของราคาที่ขายในตลาดของผู้ส่งออกกับราคาที่ส่งมาขายในประเทศไทย แต่การเปรียบเทียบราคาทั้งสองเพื่อหาส่วนต่าง จะต้องเปรียบเทียบที่ขั้นตอนการขายขั้นตอนเดียวกัน เช่น หากจะเปรียบเทียบราคาหน้าโรงงานต้องปรับลดองค์ประกอบของราคาที่ขายในตลาดประเทศผู้ส่งออกถอยกลับไปเป็นราคาหน้าโรงงาน โดยปรับลดราคาค่าขนส่งจากโรงงานไปที่ท้องตลาด ปรับลดค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นจากการขนจากโรงงานไปยังท้องตลาดของประเทศผู้ส่งออก

ขณะเดียวกันก็ต้องปรับลดองค์ประกอบการค่าใช้จ่ายจากราคาที่ส่งมาขายในประเทศไทย ให้ถอยกลับไปเป็นราคาหน้าโรงงานด้วย เช่น ต้องปรับลดค่าขนส่ง จากท่าเรือของผู้ส่งออกมายังท้องตลาดที่จำหน่ายในประเทศไทย ปรับลดค่าบริหารจัดการค่าภาษีที่เกิดขึ้นจากการขนส่งมาถึงตลาดในประเทศไทยด้วย แล้วปรับลดค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการจากหน้าโรงงานมายังท่าเรือประเทศผู้ส่งออก เพื่อปรับให้เป็นราคาหน้าโรงงานแล้วใช้ราคาที่ขายในท้องตลาดของผู้ส่งออก ซึ่งปรับเป็นราคาหน้าโรงงานแล้ว ตั้งลบด้วยราคาที่ส่งออกไปขายที่ประเทศไทย ซึ่งปรับเป็นราคาหน้าโรงงานแล้วเช่นเดียวกัน

ผลที่ออกมาคือ ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด แล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยใช้ราคาที่ส่งมาขายที่ประเทศไทยเป็นฐาน เช่น เมื่อคำนวณแล้วมีส่วนเหลื่อมทุ่มตลาด 50% ไทยสามารถเก็บภาษีอากรทุ่มตลาดได้ 50% ส่วนในทางปฏิบัติจะเรียกเก็บภาษีเต็มเพดานสูงสุดหรือไม่ จะเรียกเก็บเท่าใด มีข้อต้องคำนึงถึงผู้บริโภคและประโยชน์ของสาธารณะประกอบด้วย ซึ่งเคยมีสินค้าทุ่มตลาดชนิดหนึ่ง คำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดได้ประมาณ 97% แต่เมื่อคำนึงถึงผู้บริโภคคือ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องใช้วัตถุดิบดังกล่าวในการผลิต จึงมีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเพียงครึ่งหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 39623เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
มีความรู้สึกว่าการทุมตลาด ผลดีต่อผู้บริโภคในระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบในระยะยาวมีมากกว่า ค่ะ
ประเทศไทยคงไม่ค่อยใช้นโยบายนี้มั่งเพราะเป็นอะไรที่ประเทศของเราจะทำอะไรก็ต้องถนอมน้ำใจกันเพราะกลัวผลเสียที่จะตามมา

ปัญหาการทุ่มตลาดนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขี้นมานานแล้วในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท