ทำไมต้องการให้มีคนจนในประเทศ


 

          “การที่เจ้าหนี้ปล่อยเงินให้ท่านกู้หรือขายสินค้าเงินเชื่อให้กับท่านนั้น ไม่ใช่เพราะว่า เจ้าหนี้มีความรักหรือความห่วงใยท่าน แต่มันเป็นการการทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ที่มีกำไรเป็นดอกเบี้ย 

          เมื่อท่านใช้หนี้ก่อนกำหนด เจ้าหนี้ก็เสนอเงินก้อนใหม่ให้อีก เพราะถ้าท่านเลิกกู้หรือเลิกจนเมื่อไร เจ้าหนี้ก็จะไม่มีกำไร เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้ส่วนใหญ่บางรายเขาก็จะมีคาถาท่องประจำใจว่า “ห้ามตาย ห้ามโต ห้ามรวย ห้ามหมดความยากจนตลอดไป โอมเพี้ยง จน จน จน ขอให้จนตลอดไป” เพื่อธุรกิจของเจ้าหนี้จะได้จำเริญต่อไป”

(บทความตอนหนึ่งจากหนังสือ Love Ocean: Principles of Love Ocean หน้า 56 โดยประเสริฐ เพชรชื่นสกุล)

          ผมชื่นชอบเนื้อหาในส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเนื้อหาที่เรียกว่า “กระแทก” ใจผู้อ่าน เราจะยอมรับได้เพียงใดครับว่า “เรื่องของการกู้หนี้ยืมสิน” กลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอย่างมหาศาล ท่ามกลางความเดือดร้อนของผู้ที่ยากจน

          จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ธุรกิจสินเชื่อ เครดิตต่างๆ จึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก็เพียงเพราะต้องการกำไรจากความกระหายใคร่อยากของคน ผู้ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจการใช้จ่าย หรือการดำเนินชีวิตด้วย “น้ำเงิน” ก็ย่อมตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเช่นนี้เป็นวัฏจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื้อหาดังกล่าวยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า “นี่คือพัฒนาการของประเทศไทย” ที่ยังคง Concept อมตะ ไม่มีวันตายที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” คือ ยังไม่ได้มีการกระจายความร่ำรวยให้ทั่วถึงทั้งประเทศ มองเพียงแค่ “กรูต้องได้มากที่สุด กรูต้องเป็นที่หนึ่ง ใครเป็นคู่แข่งกับกรู เมิงต้องสูญสิ้นจากวงการ”

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบางรัฐบาลจึงไม่ต้องการให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนรู้ หรือโอกาสขยายการศึกษาหรือกระจายรายได้ที่ถูกต้อง โดยใช้ความรู้ดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยไม่ต้องง้อต่างประเทศ แต่เพราะคง Concept ดังกล่าวไว้อยู่กับตัว หรือาจจะมีกลุ่มก้อนที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจสินเชื่อ

เพราะหากประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้ ความสำคัญของตนก็จะหมดไป การบริหารจัดการเศรษฐกิจจึงมีขึ้นเฉพาะในเขตเมืองหลวงเท่านั้นและหลงผิดคิดไปว่า “นี่คือการพัฒนาประเทศไทย”

ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ ดังนั้นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ อัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของประชากรในประเทศจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการโหมโฆษณาถึงสินเชื่อยี่ห้อต่างๆ

ประชาชนเองอาจจะไม่รู้ว่า สินเชื่อที่เกิดขึ้นนั้น คือ “การนำเงินจากอนาคตของตัวเองมาใช้จ่าย” ซึ่งเป็นผลลัพธ์ระยะยาวที่หลายคนมองข้าม เพียงเพราะว่าต้องการผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีการโฆษณา

โดยเฉพาะกับสินค้าที่โฆษณาว่า “ท่านที่มีบัตรเครดิตของ XXX จะได้รับส่วนลดถึง 20% ยิ่งทำให้ความโลภเต็มตา มองไม่เห็นผลกระทบที่จะตามมา ในที่สุดก็เป็นเหยื่อของบริษัทสินเชื่อต่างๆ อย่างช่วยไม่ได้

เบื้องหลังของสินค้าที่กล้าลดราคาได้สูง ก็เพราะแท้ที่จริงยังมีกำไรอยู่แต่อาจจะไม่มากเหมือนกับราคาขายจริง เนื่องจากเป็นการตกลงผลประโยชน์ระหว่าง “ตัวสินค้าและบริษัทสินเชื่อ” ซึ่งจะนำส่วนลดของเรา มาเป็นรายได้เมื่อถึงกำหนดเวลาปันผลกำไร ผู้ที่เสียผลประโยชน์คือ “ผู้บริโภค”

สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ “ของฟรี ของถูก” ไม่มีในโลก หากเราหวังเพียงส่วนลดนิดหน่อยกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปในอนาคต เท่ากับเป็นการใช้ชีวิตอย่างประมาท ใช้จ่ายเกินกำลังที่จะแบกรับไหว

ช่วงปลายเดือนของทุกเดือนเราอาจจะเห็นประชาชนจำนวนมากยืนเป็นแถวยาวเพื่อรอ “ชำระหนี้” ต่อบริษัทสินเชื่อต่างๆ อย่างอบอุ่น แสดงว่า “ธุรกิจสินเชื่อยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ”

การนำพาตัวเองให้หลุดออกจากกรอบของความยากจน คือ “อย่าคิดกู้เงินเกินฐานะกำลังของตนเอง และอย่านำเงินในอนาคตใช้สนองความต้องการในปัจจุบัน” ที่สำคัญคือ “อย่าหลงคารมผู้ที่จะปล่อยสินเชื่อใดๆ” ตราบใดที่เงินยังอยู่ในกระเป๋าของเราก็คือเงินของเรา จงคิดไตร่ตรองให้ดี ก่อนที่จะนำเงินของเราออกจากกระเป๋าไปให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ได้พิจารณา

เราเคยคิดบ้างไหมว่า “หากวันหนึ่งที่เราเกิดตกงานหรือไม่มีรายได้ประจำขึ้นมาจะทำอย่างไร?” สิ่งที่จะตามมาคือ “การตามไล่ล่าทวงหนี้จากบริษัทสินเชื่อหรือกลุ่มใต้ดิน” เพราะเราไม่มีเงินจะใช้ เนื่องจาก “นำเงินล่วงหน้า” มาใช้จนหมดแล้ว อาจจะเคยได้ยินว่า “ท่านได้ใช้เงินเกินวงเงินที่กำหนดแล้ว” เมื่อนั้นผู้ที่แย่จะเป็นเรา เพราะเงินเดือนของเรา จะถูกเขาเอาไป ตั้งแต่เงินเดือนยังไม่ทันออกมาถึงมือเราด้วยซ้ำ

หากเราสามารถยืนหยัดดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่คิดพึ่งพาองค์กรเหล่านี้ เมื่อนั้นหนี้สินของคนในชาติจะลดลงอีกหลายเท่าตัว ระบบสินเชื่อเงินกู้ล้มละลาย ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่งดงามเปี่ยมความสุข

“เมื่อความจนยังวนเวียนในประเทศ ธุรกิจสินเชื่อก็จะยังคงอยู่เพราะมีคนต้องการใช้จ่ายเกินตัว ไม่รู้จักความพอดี วงจรอุบาทว์จึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ เพื่อตอบสนองความต้องของมนุษย์”

บทความโดย พัฒนะ มรกตสินธุ์ (The TrainerPatt)

หมายเลขบันทึก: 395635เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้รับรู้ความคิดเห็นจากท่านแล้วรู้สึกเห็นใจคุณครูในประเทศที่หลายรัฐบาลได้ให้นโบบายแก้ปัญหาหนี้สินครู แต่ปฏิติจริงมีแต่ให้ครูเป็นหนี้เพิ่มหรือก็แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้รายใหม่ ก็คงเป็นเพราะคนที่แก้ปัญหาหนี้สินครูก็คือกลุ่มธุรกิจสินเชื่อนี่เอง มีการนำเงินในอนาคตของครูมาให้กู้อย่างสนุกมือ แม้กระทั่งเงินฌาปนกิจศพ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกลายเป็นสหกรณ์กู้ทรัพย์ครูเป็นแล้ว

สวัสดีครับ  ด้วยความหัวใสของคนชอบขยายผลการเอาเปรียบคนอื่น จึงกลายขยายความทุกข์ให้คนที่ขาดความยั้งคิดตกหลุมพรางเป็นทาสเงินอย่างไม่มีสิ้นสุด  โดยเฉพาะเราชาวครูทั้วประเทศที่พยายามแก้ตัวให้หลุดจากการใช้เงินในอนาคต หันมาใช้เงินในปัจจุบันแทน   ข้อความ บทความของท่านน่าจะนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 16 มกราคม ที่จะถึงนี้น่าจะดีมาก ๆ เพื่อเพื่อนครูบางส่วนจะได้ตระหนกในกระบวนการสารพัดวิธีการสร้างหนี้สินว่าเป็นอันตรายที่ไม่มีวันยุติ  ขอบคุณที่นำความห่วงใยมาแบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท