Sufficiency Economy & Self - sufficiency Economy


ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มีความหมายและนัยที่กว้างกว่า Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) ในมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระบวนการในระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือน Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่ช่วยเติมเต็มให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

            ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าปรัชญาทั่ว ๆ ไป นัยของปรัชญามีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้รู้ทางเศรษฐกิจและปรัชญา ให้ความหมายและแนวความคิดหลากหลาย มีทั้งเหมือนและต่างกันออกไปบ้าง แต่ บทสรุปของนัยทางตรรกะก็สะท้อนออกมาในทางที่เทิดทูนอัจฉริยภาพทางด้านเศรษฐกิจองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์มีคุโณปการอย่างหาที่สุดไม่ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่นำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่โอบอุ้มไปด้วยภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 

                ยังมีข้อถกเถียงและวิวาทะกันอยู่พอสมควรใน Sufficiency Economy และ Self - sufficiency Economy ในระยะแรก ๆ ว่า เป็นแนวความคิดเดียวกันหรือไม่ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจในตรรกะของทั้ง  Sufficiency Economy และ Self - sufficiency Economy ก่อน ถึงจะวิเคราะห์ได้อย่างถึงแก่นแท้

 

            ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลปัจจุบัน ทรงนำเสนอ “ทฤษฎีใหม่” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดทอนความเสี่ยงอันเกิดจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ และความผันผวนทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้เกษตรกรยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับปรัชญาของพุทธศาสนาในประเด็น การยึดหลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ทั้งระดับปัจเจกชน ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับภาครัฐ อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลัก พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) และเศรษฐศาสตร์แบบคานธี (Gandhian Economics) โดยในประเด็นของการอยู่พอดีกินพอดี และการพึ่งตนเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสนับสนุนการพึ่งตนเองชนิดสุดโต่ง ถึงระดับที่ภาคครัวเรือนต้องผลิตทุกสิ่งทุกอย่างอันจำเป็นต่อการครองชีพเอง การใช้ความชำนาญพิเศษในการผลิตยังคงมีอยู่ เพียงแต่มีการกระจายการผลิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ การซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างครัวเรือนยังคงมีอยู่ ในทำนองเดียวกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ให้ข้อเสนอแนะในการปิดประเทศ การค้าระหว่างประเทศยังคงมีตามปกติ เพียงแต่มิได้เน้นการผลิตเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อการส่งออกมากเกินไป   

             ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) เนื่องจาก สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ เพราะเป็นหลักแห่งความเป็นจริงเสมอ โดยมุ่งเน้นพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืน” ของทุกมิติทางสังคม โดยหลักแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนและทุกองค์กร เนื่องจาก “ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ที่สำคัญคือ

                 ประการแรก ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ

 

                ประการที่สอง ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

                     - ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมี ผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

                     - ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและที่สำคัญต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

                    - ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

 

           ประการที่สาม ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักการปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติ 

  

          ประการที่สี่ การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อย่างรวดเร็ว

              เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ จากการดำเนินเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

      

       Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) เป็นรูปแบบของกิจกรรมและกระบวนการทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในการพึ่งพาตัวเองในทางสุดโต่ง ผลิตเพื่อให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง กิจกรรมทางเศรษฐกิจในขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนแทบจะไม่มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการพึ่งพาตัวเองก่อนจะเป็นสิ่งที่ดี และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ รากฐานของมนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพา เกื้อกูลกัน Self - sufficiency Economy จึงไม่เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน ถึงแม้ว่าความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจะมีดุลยภาพ แต่ความสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองกลับถูกผลักออกไปจากวงโคจรของวิถีของการพึ่งพา เกื้อกูล เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

 

                ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มีความหมายและนัยที่กว้างกว่า Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) ในมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระบวนการในระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือน Self - sufficiency Economy (เศรษฐกิจพึ่งตัวเอง) เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีใหม่ : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่ช่วยเติมเต็มให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเสมือน ศูนย์กลาง ของความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism)   กับ เศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง (Self - sufficiency Economy) โดยทำงานผ่านกลไกของ ความพอประมาณ   ความสมเหตุสมผล   ความสมดุล  และ  ภูมิคุ้มกัน  ที่ขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีมนุษย์และธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาร่วมกัน

 

หมายเลขบันทึก: 395631เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท