การเรียนการสอนในคลินิก


   สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการฝึกภาคปฏิบัติของนักเรียนพยาบาล ได้ประชุมกลุ่มย่อยกับนักเรียน 8 คน โดยให้เล่าความรู้สึกในการฝึกปฏิบัติในหอผู้ป่วย ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับ และให้ลองประเมินตนเองว่ามีจุดใดที่ควรพัฒนา นักเรียนทั้ง 8 คน เล่าแล้วสรุปความได้ดังนี้

       1. ความรู้สึกต่อการฝึกปฏิบัติและสิ่งที่ได้เรียนรู้ นักเรียนส่วนใหญ่ตอบตรงกับวัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติ มีบางกรณีที่ไม่เจอผู้ป่วยจริงเนื่องจากไม่มีผู้ป่วยที่เป็นโรคนั้นขณะฝึก จึงทำการประชุมปรึกษาเชิงเนื้อหา (conten conference) จุดนี้จึงทำให้คิดว่านักเรียนแต่ละชุดจะได้ประสบการณ์ไม่เท่ากัน เนื่องจากข้อจำกัดตรงนี้ การประชุมปรึกษา ย่อมให้ผลดีน้อยกว่าการได้ศึกษาจากผู้ป่วยจริงและเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (learning by doing) เป็นสิ่งที่เก็บไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไร? จะติดต่อแหล่งฝึกอื่นเพิ่มเพื่อให้นักเรียนได้ประสบการณ์ครบ? หรือจะมีวิธีการอื่นอย่างไร

      2. จุดที่ควรพัฒนาของตนเอง

      นักเรียนทุกคนเห็นตรงกันว่า "ยังขาดในส่วนความรู้ภาคทฤษฎีที่จะนำมาใช้จริงในการฝึกปฏิบัติ" ได้แลกเปลี่ยนกับนักเรียนว่าความรู้เป็นสิ่งที่พัฒนา เพิ่มเติมได้ สามารถหาได้ตลอดเวลา แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือวิธีการเรียนรู้ต่างหาก ปกตินักเรียนจะได้รับผู้รับบริการ 1 รายไว้ในความดูแล และต้องศึกษา case ก่อนฝึกปฏิบัติจริง 1 วัน โดยมีงานที่เรียกว่า Daily nursing care plan ส่วนที่หาได้ค่อนข้างยากและไม่ละเอียดคือ พยาธิสรีรภาพของโรค ได้ให้กำลังใจนักเรียน และสอบถามวิธีการเรียนรู้ การค้นคว้าความรู้ในระยะเวลาอันจำกัดคือ 1 คืน ก่อนที่จะมีการเรียนการสอนในวันถัดไป พบว่า นักเรียนทุกคนใช้วิธีการหาความรู้จากตำราเฉพาะ 2-3 เล่ม ซึ่งเป็นภาษาไทย เป็นตำราที่ค่อนข้างเก่า เป็นตำราทางการพยาบาล แต่ไม่ค้นคว้าจากตำราทางการแพทย์ในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือพยาธิสรีรวิทยา กายวิภาคและสรีรวิทยา ความรู้เกี่ยวกับโรค พอดีกับนักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า

      "มีการเตรียมตัวมาแต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่หนูรู้ครูก็ไม่ถาม ครูเลือกถามในสิ่งที่หนูไม่รู้" ซึ่งได้สะท้อนความคิดของตัวเองกับนักเรียนว่า วิธีการเรียนรู้นั้นค้นมาแต่ตำรา 2-3 เล่มนั้นใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า "ใช่" ได้ถามว่ามีการเรียนรู้จากช่องทางอื่นหรือไม่ เช่น อินเตอร์เน็ต ฐานของมูล วารสาร และตำราอื่น ๆ ส่วนใหญ่ตอบว่า "ไม่" ได้บอกกับนักเรียนว่า "ครูคาดว่านักเรียนน่าจะศึกษาจากหนังสือเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นข้อความรู้ที่มีมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากจึงถามในส่วนนั้น จึงทำให้นักเรียนรู้สึกว่าครูถามในสิ่งที่พวกเราไม่รู้" นักเรียนมีท่าทีตั้งใจฟัง และคิด

     นักเรียนคนหนึ่งพูดว่า "ขาดความรอบคอบ เลินเล่อ" อีกคนกล่าวต่อว่า "ไม่มั่นใจในความรู้ ทำให้ทำตามสิ่งที่พี่ ๆ (ที่หอผู้ป่วย) ทำกัน (เช่น การบันทึกอาการทางระบบประสาท) จึงได้สะท้อนว่า "เพราะอะไรจึงรู้สึกว่าขาดความรอบและไม่มั่นใจ" นักเรียนตอบว่า "ขาดสติ ทำอะไรเร็ว ลุกลี้ลุกลนค่ะ" "ไม่รู้ว่าการวัดรูม่านตาทำอย่างไร เห็นพี่บันทึกจึงบันทึกเหมือนของพี่" (ได้ดูนักเรียนตลอดขณะปฏิบัติและเห็นทำอย่างนั้น ได้แนะนำแก้ไขขณะฝึกมาแล้ว" และเสริมว่านอกจากการไม่รู้ของเราจะไม่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ ก็มีผลเสียต่อผู้รับบริการได้ พยาบาลต้องมีคุณธรรมจริยธรรม การกระทำนี้แม้ไม่ตั้งใจ แต่จะเกิดเพราะความไม่รุ้ ดังน้น จึงต้อง ศึกษาให้ถ่องแท้ นักเรียนให้สัญญาว่าหากไม่รู้อะไรจะศึกษาให้เข้าใจ หากไม่เข้าใจจะถามจากผู้รู้ทันที

     "ขาดบุคลิกของความเป็นพยาบาล" นักเรียนคนที่พูดนี้มีบุคลิกสดชื่น แจ่มใส อารมณ์ดีเสมอ ชอบพูดให้ผู้ป่วยขำ ซึ่งนักเรียนคิดว่าเป็นบุคลิกภาพที่ไม่ดี เพื่อนในกลุ่มลงความเห็นว่าพยาบาลก็ควรเป็นคนแจ่มใส ไม่เครียด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า

    "ยังไม่สามารถวิเคราะห์จากการอ่านวิจัยที่คัดสรรมาเพื่อใช้กับการเรียนการสอนในคลินิกได้ (evidence based nursing)" ซึ่งข้อความนี้ ก้เห็นด้วยกับนักเรียน คิดหาสาเหตุว่าอาจเกิดจากยังไม่ได้เรียนวิชาวิจัย แต่พอคิดอีกทีการนำผลการวิจัยมาใช้นั้น เป็นการให้อ่านสรุปเนื้อหา โดยเน้นผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย แต่ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจน ทำให้คิดว่าจะต้องมีการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 395626เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท