วันนี้ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ดิฉันเข้าร่วมประชุมในเวทีเครือข่ายการสร้างและใช้ความรู้เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เรื่อง Mind-Body Medicine ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมี ฯพณฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานที่ประชุม และ รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผู้จัดการชุดโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการที่ประชุม มีผู้เข้าประชุมรวม ๑๓ คน
ผู้ที่ทบทวนวรรณกรรมและนำเสนอในครั้งนี้คือ นพ.วิโรจน์ เจียมจรัสรังษี จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอวิโรจน์ตั้งชื่อหัวข้อเรื่องได้น่าสนใจว่า "การหวนคืนแห่งสัมพันธภาพของกายและจิตในเวชปฏิบัติ The Revival of Mind-Body Connection in Medical Practice" วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องนี้มี ๓ ข้อคือ
๑. เพื่อทราบรูปแบบต่างๆ ของกิจกรรมในกลุ่ม Mind-body medicine (MBM) ที่มีการนำมาใช้ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง |
๒. เพื่อทราบกลไกทางชีววิทยา ที่อธิบายหรืออาจอธิบายฤทธิ์ของกิจกรรมในกลุ่ม MBM ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง |
๓. วิเคราะห์ประสิทธิผล ข้อเด่น ข้อด้อย และความรู้ที่ยังขาดอยู่ของกิจกรรมในกลุ่ม MBM ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง |
เนื้อหาการนำเสนอประกอบด้วย ความเป็นมาและความหมายของ MBM ประเภทของมาตรการในกลุ่ม MBM กลไกการออกฤทธิ์ของ MBM หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของ MBM คุณหมอวิโรจน์เรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบ ติดตามและทำความเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ใจเย็น แม้จะมีผู้เข้าประชุมให้ความเห็นเพิ่มเติมหรือขัดจังหวะการนำเสนอเป็นระยะๆ แต่คุณหมอก็ยังมีท่าทีสงบและสามารถดำเนินการนำเสนอต่อจนครบตามที่เตรียมมา
ดิฉันได้ขออนุญาตคุณหมอวิโรจน์นำ PowerPoint (มี ๘๙ สไลด์) ที่เป็นไฟล์ pdf มาเผยแพร่ในบล็อก แต่ปรากฎว่าไฟล์มีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถอัพโหลดได้ ลองทำเป็น zip file แล้วก็ยังใหญ่เกินไปอยู่ดี (ท่านใดสนใจไฟล์นี้ กรุณาแจ้งมาและให้ e-mail address ด้วยนะคะ จะลองส่งไปให้ หรือถ้าอาจารย์ ดร.จันทวรรณอ่านพบช่วยแนะวิธีอัพโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ด้วยค่ะ)
ในด้านการรักษาถือว่า MBM เป็น complementary medicine มีอยู่หลายประเภท แต่ที่คุณหมอวิโรจน์นำมาเสนอในรายละเอียดมี ๓ อย่างคือ การทำสมาธิแบบ Transcendental Meditation (TM) การทำสมาธิแบบ Mindfulness และเทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation technique) เทคนิคต่างๆ เหล่านี้เข้าได้กับหลักทางศาสนา
ประสิทธิผลของ MBM จากงานวิจัยต่างๆ พบว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนว่า MBM ได้ผลดีในกลุ่ม After myocardial infarction และกลุ่มมะเร็ง ในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผลการวิจัยมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ส่วนในกลุ่มเบาหวานยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปผลได้
แม้จะฟังการบรรยายว่าเทคนิควิธีการทำสมาธิแบบ TM, แบบ Mindfulness และเทคนิคการผ่อนคลาย มีขั้นตอนการฝึกการทำอย่างไรบ้าง ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่รู้ เข้าข่าย "ไม่ทำ ไม่รู้" เหมือนกับเรื่อง KM เลย ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ไม่รู้ว่าการเข้าสมาธิเป็นอย่างไร อย่างไหนที่เรียกว่าเกิดการผ่อนคลาย ต้องอาศัยความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติมาแล้ว (คุณน้ำคงช่วยบอกได้)
ท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ตั้งคำถามกับดิฉันว่าในกรณีผู้ป่วยเบาหวานมีหลักฐานการใช้ MBM อย่างไรบ้าง
ดิฉันตอบว่าในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เราไม่ปฏิเสธความสำคัญของจิตใจ และมีการใช้ Cognitive Behavioral Intervention หลายรูปแบบ แต่เรายังไม่เคยรวบรวมไว้ว่ามีใครใช้อะไรที่ไหนบ้าง ดิฉันคิดเอาเองว่าผู้ป่วยเบาหวานอาจจะมีวิธีการของตนเอง เราน่าจะรวบรวม "ความรู้ปฏิบัติ" ในเรื่อง Mind-Body ของผู้ป่วย
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร กล่าวสรุปในตอนท้ายการประชุมว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะส่งเสริมให้มีการปฏิบัติ MBM (อย่างยั่งยืน) เพราะโรคเรื้อรังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้วย เรายังขาดความรู้เรื่องวิธีการ implement ทั้งในผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และใน rehabilitation ซึ่งต้องคิดออกมาให้เป็นรูปธรรม
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘