ศักราช
อาจารย์ ศักราช ลุงปั๋น ฟ้าขาว

๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน


มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่

ข้อเสนอ ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่จ.แม่ฮ่องสอน

                  การนำเสนอ ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัยของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เป็นกระแสทำให้เกิดความเคลื่อนไหวให้จังหวัดต่าง ๆ หาแนวทางการตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอรูปแบบการตั้งมหาวิทยาลัยต่อหน่วยงานทั้งภาคการเมือง และภาคราชการที่เกี่ยวข้อง

                   จังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้จัดเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นในเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยครั้งที่ ๑ เมื่อวันพุธที่  ๒๕  สิงหาคม  ๒๕๕๓ ส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการการตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฮ่องสอนขึ้น และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษารูปแบบของการตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาในเบื้องต้นถึงรูปแบบจากการตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยาและมหาวิทยาลัยนครพนม  ในฐานะผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่จะศึกษามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  มีข้อเสนอรูปแบบใหม่ของมหาวิทยาลัยจากการประมวลความคิดเห็นในเวทีระดมความคิดเห็นที่ผ่านมา

                 จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนมีแนวชายแดนติดกับประเทศสหภาพพม่า มีข้อจำกัดในการติดต่อคมนาคมจากสภาพเส้นทางระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัดมีความยากลำบากในการเดินทาง  ประชากรส่วนใหญ่ยากจน มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์มีวิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจาก ๘ จังหวัดในภาคเหนือหรือล้านนาโดยทั่วไป  ในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการบริการทางการศึกษาของรัฐทั่วถึง ยังขาดมหาวิทยาลัยในจังหวัด มีเพียงวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ยังเปิดสาขาวิชาได้ไม่ครอบคลุม และยังไม่สนองต่อความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร จึงเป็นปัจจัยในการขาดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ตามมา และทำให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงยังขาดกำลังคนอันเป็นพลังหลักในการพัฒนาในทุกภาคส่วน เป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ได้ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างต่อเนื่อง

   การริเริ่ม ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะขจัดปัญหาด้านต่าง ๆ ของจังหวัดได้ และรูปแบบใหม่ของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดแม่ฮ่องสอนควรมีลักษณะโดยสรุปดังต่อไปนี้

                  ๑. ควรเป็นมหาวิทยาลัยในแนวทางของการให้การศึกษาแบบราชประชานุเคราะห์ เนื่องเพราะทุกพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรที่ยากจนและประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่    ไทใหญ่ ปกากะญอ(กระเหรี่ยง) มูเซอ ลีซอ  ปะโอ ปะด่อง จีนยูนนาน ม้ง ลัวะ เป็นต้น ถ้าเป็นแนวทางนี้อาจจะขอพระราชทานใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยราชประชานุเคราะห์แม่ฮ่องสอน” ซึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวนถึง ๓โรงเรียน

                  ๒. การจัดหลักสูตรและสาขาวิชาควรเริ่มตั้งแต่ ปวช.,ปวส.ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ไม่มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเปิดทำการสอน เช่น  สาขาวิชาโครงการพระราชดำริศึกษา  ชาติพันธุ์ศึกษา พม่าศึกษา สาละวินศึกษา  ชายแดนศึกษา  ไทใหญ่ศึกษา เป็นต้น ตลอดถึงการเปิดสอนวิชาชีพระยะสั้นเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการกำลังแรงงานในระดับปฏิบัติ และหากประสงค์จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นแบบต่อเนื่องได้ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัยในด้านมานุษวิทยา สังคมวิทยา และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

                  ๓. หากเป็นมหาวิทยาลัยตามแนวทางมหาวิทยาลัยราชประชานุเคราะห์ รัฐควรให้บริการการศึกษาในลักษณะให้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งสามารถทำเป็นโครงการนำร่องของประเทศได้ และจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการบริการสังคมหรือการเป็นรัฐสวัสดิการอีกทางหนึ่งด้วย

                  ๔. ควรรวมเอาสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสายอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในจังหวัดรวมกัน เช่น วิทยาลัยแม่ฮ่องสอนสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง และวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน เข้าด้วยกันเป็นมหาวิทยาลัย  เพื่อลดการลงทุนด้านอาคารสิ่งก่อสร้างและบุคลากรของรัฐบาล ตลอดถึงเป็นการบูรณาการการจัดการศึกษาที่มีอยู่เดิมกับการสร้างหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่จะเปิดขึ้นใหม่

                ๕. โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ ควรให้ชาวบ้าน ภูมิปัญญาในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาในสภามหาวิทยาลัย  เพื่อการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาตั้งแต่การสรรหาอธิการบดีจากคุณสมบัติความเป็นมืออาชีพให้ความสำคัญและเข้าใจอัตลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงการกำหนดแนวทางเพื่อคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่  โดยกำหนดให้มีศูนย์การศึกษานอกมหาวิทยาลัยในทุกอำเภอไปพร้อมกัน กล่าวคือ ไม่เพียงแต่เปิดบริการการศึกษาสาขาวิชาต่าง ๆ นอกที่ตั้งเท่านั้น แต่เป็นศูนย์บริการการศึกษาด้านวิชาชีพที่จะพัฒนาชุมชน พัฒนาจังหวัดในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

                  ความเป็นไปได้ ของการตั้งมหาวิทยาลัยจะรูปแบบใดก็ตาม หากผู้บริหารการศึกษาสังกัด  ต่าง ๆ ไม่เห็นความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษาแก่พลเมืองร่วมกัน ตลอดถึงขาดการสร้างความเข้าใจอย่างผสมกลมกลืนกันแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการขับเคลื่อน หรือพลังในการไปสู่เป้าหมายของการตั้งมหาวิทยาลัยจะลดน้อยลง ทำให้ระยะเวลาของความสำเร็จจะยืดยาวออกไปอีก  ในเรื่องนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช  วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประกาศไว้แล้วว่า พร้อมที่สนับสนุนทุกรูปแบบในการตั้งมหาวิทยาลัย และพร้อมที่จะถ่ายโอนทรัพย์สิน อาคารสิ่งก่อสร้าง และบุคลากรให้แก่มหาวิทยาลัยแม่ฮ่องสอนทันที

   อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใส่ใจต่อการศึกษาในพื้นที่พิเศษอย่างเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความด้อยโอกาสในเกือบทุกด้านรัฐบาลควรเร่งให้บริการโดยการลงทุนด้านการศึกษาให้มากขึ้น และให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษในเชิงสงเคราะห์ต่อพลเมืองอันเป็นรูปแบบใหม่ของการตั้งมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ถือว่ารัฐบาลได้สร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ ทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองในพื้นที่ที่ขาดโอกาสดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการเพิ่มมิติพลังความเข้มแข็งแก่พลเมือง เป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติได้ การลงทุนการศึกษารัฐบาลต้องมองว่าพื้นที่ไกลปืนเที่ยงที่มีพลเมืองยากจน และห่างไกล การคมนาคมระหว่างจังหวัด อำเภอ หมู่บ้านที่มีความยากลำบาก รัฐบาลยิ่งต้องให้ความสนใจและกล้าที่จะตัดสินใจเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นปึกแผ่นให้แก่พลเมืองของประเทศ

                นอกจากนั้น การตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ รัฐต้องไม่มองว่าต้องมีพื้นที่หรืออาคารขนาดใหญ่และต้องมีตัวป้อนเพื่อเข้าเรียนจำนวนมาก  แม้นมีนักศึกษาไม่กี่ร้อยคนหรือไม่กี่พันคนแต่เป็นคนในพื้นที่ในจังหวัดของตนเองได้มีโอกาสเรียนฟรี และจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดของตนเอง  จะทำให้เกิดนักการเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเห็นการทุ่มเท เสียสละคิดสร้างสรรค์เพื่อจังหวัดของตนเอง ย่อมส่งผลต่อความเจริญในทุก ๆ ด้าน เป็นพลังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 393947เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หาเอกลักษณ์ให้พบ หาความสัมพันธ์กับพื้นที่ให้เจอ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ควรเปิดและเป็นประโยชน์ครับ

เห็นบทความนี้แล้วชอบ มันสอดคล้องกับหลักสูตรท้องถิ่น มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดที่ให้คนในจังหวัดเป็นผู้มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตของตนเองแล้วพัฒนาศักยภาพโดยคนในจังหวัดเอง เด็กๆก็ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกล เป็นการกระตุ้นบุคลากรทางการศึกษา (ที่มากกว่าครู)ให้หันมารับผิดชอบบทบาทของตนเอง และเป้าหมายอยู่ที่เด็ก ไม่ใช่อยู่ที่ช่องทางทำมาหากินหรือผลประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท