อย่าข้ามขั้นตอนที่ไม่แน่ใจเป็นอันขาด ต้องตรวจสอบให้ชัด เพราะในวงการนี้มีคนคอยเอาเปรียบระดับ “เซียนวิชามาร” อยู่มากมาย พลาดเมื่อไหร่เจ็บตัวเมื่อนั้น
จากวิญญาณแห่งความเป็น “ครู” บทเรียนที่ได้รับ และประสบการณ์การเข้ามาในวงการพระเครื่อง
จนได้ผลเชิงประจักษ์ มีพระเครื่องแท้ๆ สวยๆ มาไว้ในครอบครอง ตามที่ตั้งใจไว้อย่างมากมายและเกินเป้าหมายที่วางไว้แต่เดิม
ทำให้ผมกลับเริ่มคิดถึงขั้นตอนที่ควรจะเป็น
สำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่อง แต่ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไรดี
จึงจะสามารถลดปัญหา เวลา ค่าใช้จ่าย และเรียนรู้ได้เร็วที่สุด
ตามความสนใจ กำลัง และความสามารถของแต่ละคน
ทำให้ผมได้ประเด็นที่พอจะสรุปได้ ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ท่านอาจจำเป็นและควรต้องกำหนดประเภทของพระที่ท่านจะใช้ศึกษาเป็นหลักเสียก่อน ที่จะช่วยให้ท่าน
- มีกรอบในการศึกษาที่ไม่กว้างเกินไปในระดับการเริ่มต้น และ
- สามารถรวบรวมข้อมูลได้ง่าย ทั้งจากเอกสารและจากบุคคลต่างๆที่มีความสนใจ หรือมีข้อมูลตรงกัน
- สามารถสรุปบทเรียนการเรียนรู้ได้เร็ว ที่อาจจะขยายไปสู่พระกลุ่มอื่นๆได้ในระยะต่อๆไป
ขั้นที่ ๒ ท่านควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับที่มา การสร้าง การใช้ การเก็บ การแตกกรุ และวิวัฒนาการของพระกลุ่ม หรือประเภทนั้นๆ
- ทั้งจากบุคคลและเอกสารต่างๆ แบบผสมผสาน
- เพราะถ้าศึกษาจากข้อมูลจากแหล่งหรือประเภทเดียวการพัฒนาการจะช้า
- ควรได้ทั้งฐานข้อมูลจากเอกสาร และคำแนะนำที่ดี (Expert advices) จากคนที่สนใจพระในกลุ่มเดียวกัน
ขั้นที่ ๓ การเริ่มดูพระแท้ในกลุ่มนั้นจากบุคคลที่เชื่อถือได้
- ยังไม่ควรเข้าไปในตลาดพระเครื่อง หรือนำพระเครื่องที่มีเข้าไปให้ใครดูในตลาดพระ
- เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่สับสนจาก “นักต้มตุ๋น” ที่มักมีแฝงอยู่ในตลาดพระทุกแห่ง
- จะคอยตีเก๊ เพื่อให้ท่านไขว้เขวหลงทาง
- ที่อาจจะทำให้ท่านปล่อยพระแท้ในราคาพระเก๊
- เสนอขายพระเก๊ ในราคาพระแท้ให้ท่าน
- ที่จะทำให้ท่านเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียความรู้สึก และเสียกระบวนการเรียนรู้ได้ โดยไม่จำเป็น
ขั้นที่ ๔ หลังจากรู้จักและจำเนื้อ พิมพ์ และตำหนิพระเครื่องที่สนใจได้แล้ว ให้ลองหาโอกาสไปศึกษาตามบ้านหรือร้านขายพระเครื่องที่มีพระแท้ๆไว้ให้ดู ที่อาจจะมีพระโรงงานปนอยู่บ้าง ที่ไม่น่าจะมากนัก
- จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับการแยกพระแท้ๆ ออกจากพระโรงงานได้ง่ายขึ้น
ขั้นที่ ๕ ลองเดินเข้าไปในตลาดพระเครื่อง (โดยไม่นำเงินเข้าไปด้วย) ไปดูเพื่อการเรียนรู้
- เลือกศึกษาเฉพาะพระที่ศึกษามาแล้ว
- ลองสอบถามคนขาย เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่ม
- นำข้อมูลที่ได้มากลั่นกรอง และจัดเป็นชุดความรู้เกี่ยวกับพระนั้นๆ
- ข้อควรระวังที่สำคัญมาก ก็คือ อย่านำข้อมูล หรือคำพูดของคนในตลาดพระมาใช้โดยตรงเป็นอันขาด ให้เก็บมาวิเคราะห์ ประมวลให้ชัด แล้วจึงนำไปสรุปเป็นความรู้ไว้ใช้งานอีกทีหนึ่ง
- ข้อควรระวังนี้ต้องทำให้ได้ มิเช่นนั้นจะถูกหลอกให้หลงทางได้โดยง่าย
ขั้นที่ ๖ ถ้ามีพระที่มั่นใจอยู่บ้างแล้ว ให้นำมาศึกษาให้ชัด แล้วลองแขวนขึ้นคอหรือพกพาไปในตลาดพระ
- ลองให้เขาช่วยวิจารณ์ เพื่อเลือกพันธมิตรและเครือข่ายในการเรียนรู้
- จากการวิจารณ์ของแต่ละคน จะทำให้เราเริ่มแยกแยะได้ว่าใครเป็นคนที่เป็นเพื่อนที่ดี มีความรู้ และมีคุณธรรมพอที่จะคบกันต่อไปได้
- ใครที่พูดฟังดูแล้วไม่จริงใจ หรือชอบตีเก๊โดยไม่อธิบายชัดๆ หรือแนะนำดีๆ อย่าไปหาหรือคุยเป็นครั้งที่สอง
ขั้นที่ ๗ เริ่มทดสอบสายตา โดยการเดินผ่าน ดู ตรวจสอบ และแยกแยะว่าพระองค์ใดควรจะแท้ หรือควรจะเก๊
- แล้วเริ่มประเด็นการวิพากษ์กับคนที่พอจะคุยกันได้
- แต่อย่าเพิ่งซื้อ เพราะต้องตรวจสอบราคาก่อน
- ว่าตลาดระดับไหน ราคาเท่าไหร่ ในระดับความสวยงามขนาดไหน
ขั้นที่ ๘ ตรวจสอบฝีมือ โดยการแยกแยะเฉพาะพระที่มีเนื้อถูกต้อง พิมพ์ถูกต้อง และตำหนิครบ แล้วต่อรองราคาตามข้อมูลที่รวบรวมมาแล้ว
- อย่าใจอ่อนกับคำพูดของคนขาย
- อย่าเชื่อนิทานใดๆ เกี่ยวกับพระองค์นั้น
- ยึดหลักให้ชัดตามที่เคยเห็น และศึกษามา
-
อย่าแสดงความอยากได้ แต่ให้แสดงว่าไม่อยากได้ เพียงอยากลองเชิง
-
ต่อรองแบบไม่ต้องเกรงใจ ตามข้อมูลราคาที่มีในใจ เพราะถ้าขาดทุน เขาไม่ขายให้อยู่แล้ว
- ขอคำรับรองการคืนหรือแลกเปลี่ยนพระ พร้อมเงื่อนไขการคืน ระยะเวลา และรายละเอียดที่จำเป็น
- ถ้าไม่ได้ ไม่ต้องซื้อ และไม่ต้องกลับไปอีกเป็นครั้งที่สอง
ขั้นที่ ๙ นำพระที่ได้มาตรวจสอบตามตำรา และขอให้ผู้รู้ช่วยดูให้อีกครั้ง
- จะช่วยให้เราพัฒนาฝีมือ และสายตาได้เร็ว
- ถ้าไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ให้รีบนำกลับไปคืน หรือเปลี่ยนใหม่ทันที
ขั้นที่ ๑๐ สรุปบทเรียนของตนเอง และร่วมกับผู้รู้ในสายเดียวกัน
- เพื่อการพัฒนาสายตาและฝีมือให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
-
ทั้งความเป็นพระแท้ และราคาที่ควรจ่ายในแต่ละระดับตลาด ความงาม และความสมบูรณ์ของพระ
ขั้นที่ ๑๑ ขยายขอบเขตความรู้ให้ครอบคลุมพระกลุ่มที่อยู่ในความสนใจ
- โดยการศึกษาจากเอกสาร การสรุปบทเรียน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ขั้นที่ ๑๒ ขยายความรู้ไปสู่กลุ่มพระใกล้เคียง ที่อยู่ในความสนใจ
- โดยการเริ่มจากขั้นที่ ๑ ข้ามขั้นตอนที่เข้าใจแล้ว
- จนมาถึงขั้นที่ ๑๒ เป็นวงจรไปเรื่อยๆ ในทุกกลุ่มที่ขยายใหม่
- อย่าข้ามขั้นตอนที่ไม่แน่ใจเป็นอันขาด ต้องตรวจสอบให้ชัด เพราะในวงการนี้มีคนคอยเอาเปรียบระดับ “เซียนวิชามาร” อยู่มากมาย พลาดเมื่อไหร่เจ็บตัวเมื่อนั้น
ขอให้ลองปฏิบัติดู แล้วท่านน่าจะเรียนรู้มาก เจ็บตัวน้อย และประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ขอให้โชคดีครับ