ทำไม...ทำไม...ทำไม...


“ทำไมนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก” คิดหาสาเหตุได้มากมายบ้างก็ว่าเพราะบกพร่องทางการเรียนรู้ ถามต่อว่าทำไมบกพร่องทางการเรียนรู้ เพราะพ่อแม่ก็บกพร่องทางการเรียนรู้ เคยสอนมาแล้วทั้งตระกูลบกพร่องเหมือนกันหมด...

         เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาร่วมกับคณะครูประวัติศาสตร์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ของเรา ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างเส้นทางที่รถบัสของเราผ่านไปนั้นก็ได้เห็นป้ายโฆษณาหน้าบ้านหลังหนึ่ง น่าสนใจมาก นับเป็นป้ายโฆษณาที่ผมยอมรับว่าแปลกใหม่ไม่เคยเห็นมาก่อนทั้งๆ ที่ข้อความหรือสินค้าที่โฆษณานั้นเป็นเรื่องเก่าๆ ที่พบเห็นกันจนคุ้นชินมานานแล้ว

ครับ...ตามที่ท่านเห็นในภาพนี้นั่นแหละครับ เจ้าของบ้านนี้เค้ารับสอนนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออก แวบแรกที่เห็นป้ายนี้ผมก็นึกชื่นชมในความคิดของผู้ประกอบการรายนี้ว่าช่างมีไอเดียที่บรรเจิดจริงๆ คงจะหาลูกค้าได้มากมายทีเดียว แต่มาคิดอีกทีว่ากลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นใครกันนะ อายุเท่าไร กำลังเรียนชั้นอะไรกันบ้างและส่วนใหญ่มีลักษณะของความบกพร่องทางสมอง ที่หลายคนชอบเหมาเอาว่าเป็นพวก LD หรือไม่...ผมสอบถามคนรู้จักก็ได้ทราบว่าผู้ประกอบการมีลูกค้าเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เป็นส่วนใหญ่ มีบ้างที่เรียนในระดับมัธยมต้น นักเรียนทุกคนสมองปกติ ทุกคนที่เข้ามารับบริการและจบออกไปจากสถาบันนี้อ่านออกทุกคนรับประกันได้ นับว่ากิจการกำลังไปได้สวยทีเดียว
       ต่อกรณีนี้ เรา (ผมหมายถึงท่านผู้อ่านที่เป็นครูเหมือนผม) ในฐานะของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคงต้องหาคำตอบที่อาจจะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับปรากฏการณ์ของปัญหานักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก ที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญของการจัดการศึกษาของไทยในเวลานี้ เท่าที่ทราบแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่หลายคนบอกว่าด้อยพัฒนาก็ไม่มีปรากฏการณ์เช่นว่านี้

การตั้งคำถาม “ทำไม” เพื่อหาคำตอบที่ต้องการสำหรับประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เป็นวิธีการหนึ่งที่หลายหน่วยงานนำมาใช้ แต่คำถาม “ทำไม” เพียงคำถามเดียวอาจไม่นำไปสู่คำตอบ จึงควรจะต้องถามว่า “ทำไม ทำไม ทำไม” เพื่อสืบหาสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา เราอาจจะต้องถามคำถาม “ทำไม” แตกสาขาออกไปจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ...จนอาจจะถึง 5 ทำไม หรือ 5 Whys (ตามภาพด้านล่าง) หรือจนค้นพบต้นตออันเป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง วิธีการนี้บริษัทรถยนต์โตโยต้าคิดค้นและนำมาใช้แก้ปัญหาในกิจการของบริษัทอย่างได้ผลและปัจจุบันได้นำมาใช้ในหลายๆ วงการโดยเฉพาะวงการการศึกษา

 

 เมื่อได้สาเหตุที่คิดว่าเป็นต้นตอของปัญหาแล้วก็ควรนำไปหาวิธีการหรือแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยประเด็น “นักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก” เราเพิ่มคำถาม “ทำไม” ไว้ข้างหน้าประเด็นก็จะได้คำถาม “ทำไมนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก” คิดหาสาเหตุได้มากมายบ้างก็ว่าเพราะบกพร่องทางการเรียนรู้ ถามต่อว่าทำไมบกพร่องทางการเรียนรู้ เพราะพ่อแม่ก็บกพร่องทางการเรียนรู้ เคยสอนมาแล้วทั้งตระกูลบกพร่องเหมือนกันหมด...หากใช้การวิเคราะห์สาเหตุแบบนี้ก็จะนำไปสู่ทางตันในการแก้ปัญหาและไม่อาจแก้ปัญหาได้ การหาสาเหตุของปัญหาจึงควรตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลตามความเป็นจริง  การโยนบาปให้ผู้อื่นไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้

        ยังมีปัญหาในการจัดการศึกษาอีกหลายประเด็นที่ต้องการการหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและมีลักษณะเฉพาะของแต่ละแห่งแต่ละที่ตามบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ, โรงเรียนไม่ผ่านมาตรฐานฯ, นักเรียนคิดวิเคราะห์ไม่เป็น, ครูไม่ใช้หลักสูตรฯ ในการสอน, ครูไม่ยึดมาตรฐานหลักสูตร ตัวชี้วัดในการสอน, โรงเรียนไม่มีการประเมินคุณภาพภายใน, ขาดการนิเทศภายในโรงเรียน, ครูผู้สอนไม่ได้รับการนิเทศ ฯลฯ ลองชักชวนเพื่อนครูในโรงเรียนเพื่อมีส่วนร่วมกัน จับประเด็นมาใส่คำถาม “ทำไม ทำไม ทำไม” ท่านจะพบหนทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ที่อาจจะมาในรูปของโครงการ กิจกรรมของโรงเรียนหรือหน่วยงาน อันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีที่มาที่ไป ไม่ใช่การนั่งเทียนคิดโครงการรายวันออกมากลายเป็นภารกิจที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา ทำไปก็ไร้ผล เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาเปล่าเปล่า...อ้อ! เกือบลืมโจทย์สำคัญสำหรับการศึกษาไทยวันนี้ "ทำไมนักเรียนจึงตีกัน"  บอกข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดก็ได้ว่า นักเรียนไทยเป็นนักเรียนประเทศเดียวในโลกที่ทำร้ายกันเพราะต่างสถาบัน ช่วยระดมสมองหน่อยครับ...ทำไม...ทำไม...ทำไม...

หมายเลขบันทึก: 392057เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 06:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เด็กที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กหลายคนอ่านเขียนไม่คล่อง เหตุมาจากสมองทึบส่วนหนึ่ง(ตรวจทางแพทย์แล้ว) สอง..ขาดการผ่านหลักการสอนที่ดี ผมแก้โดยให้ครูใช้แบบเรียนเร็วใหม่และเน้นการสะกดเขียนคำสั้นๆ ได้ผลในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

สวัสดีค่ะ

เห็นป้ายแล้ว น่าตกใจนะคะ

ทำไม

เรียนคุณครูหยุยครับ

ขอบคุณครับ...สำหรับปัญหาเด็กสมองปกติหรือค่อนข้างช้าแต่อ่านไม่ออกนั้น ผมพบว่าวิธีสอนอ่านของคุณครูมีผลต่อการอ่านออกของเด็กอย่างสำคัญทีเดียวครับ แม้ประสบการณ์ทางภาษาจะมีส่วนอยู่มากแต่หากได้คุณครูที่มีวิธีสอนที่ดี เหมาะสมกับแนวทางการเรียนรู้ของเด็กแล้วคงจะไม่มีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการอ่านเลยครับ

เรียน คุณณัฐรดา ครับ ช่วยหน่อยนะครับ จะทำอย่างไรดี...ช่วยหาคำตอบจากการใช้ศิลปะมาช่วยฝึกอ่านเขียนจะดีไหมครับ

การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ ผมเคยแก้ปัญหามาร่วม 25 ปี ได้บ้างไม่ได้บ้างครับ การย้ำคิดย้ำทำ ก็เป็นวิธีหนึ่งครับ

ท่าน ศน.เฉลิมชัย ครับ...เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ สมัยก่อนคุณครูท่านก็ใช้วิธีนี้กันมาก เราเรียกว่า จ้ำจี้จ้ำไช และก็ได้ผลทุกรายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท