สมุทรสงครามตอน น้ำตาลมะพร้าว


นี่คืออาชีพที่พวกเขาทำสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและพวกเขายังคงทำมันต่อไปด้วยความภูมิใจในวิถีชีวิตแบบนี้

          ถ้าให้นึกถึงจังหวัดสมุทรสงคราม หลายคนคงนึกถึง หิ่งห้อย หรือไม่ก็สัมโอพันธุ์ขาวใหญ์ แต่ยังมีอีกอย่างที่ชาวบ้านทำกันเป็นอาชีพหลัก คือ การทำสวนมะพร้าว เพราะจะเห็นสวนมะพร้าวตลอดสองข้างทาง ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านได้รับจากการทำสวนมะพร้าวนั้นมีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการขายผลผลิตสด การทำมะพร้าวขาวส่งโรงงานผลิตน้ำกะทิกล่อง และการทำน้ำตาลมะพร้าว

ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว

            1.การทำความสะอาดงวงตาล(จั่นมะพร้าว)และการนวดงวงตาลโดยการแกะมดแมลงที่เกาะงวงตาลออกและรูดดอกออกไป จะทำให้งวงตาลสะอาด ปราศจากแมลงที่จะทำให้น้ำตาลขุ่นเหนียวได้

            2. การนวดงวงตาล ใช้น้ำตาลใสที่ไหลออกจากงวงหลังปาดมาลูบให้ทั่วงวง เพื่อให้น้ำตาลช่วยรัดงวงให้นิ่ม หรืออาจใช้มือนวดเบา ๆ ให้ทั่วจากโคนไปปลายงวง จะทำให้ได้น้ำตาลที่ใสสะอาด

            3. การล้างทำความสะอาดกระบอกรองน้ำตาลใส เพื่อให้กระบอกสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน

4. การปาดงวงตาล ตอนบ่าย – เย็น โดยการปาดบาง ๆ แล้วแขวนกระบอก      เพื่อรองรับน้ำตาลใส

            5. การเก็บน้ำตาลใส จะเก็บในช่วงเก้าโมงเช้า จะทำให้ได้น้ำตาลคุณภาพดี   เพราะถ้าเก็บช้าน้ำตาลอาจเสียได้

            6. การเคี่ยวตาล นำน้ำตาลใส กรองด้วยผ้าขาวบาง เวลาเคี่ยวต้องช้อนฟองออก เมื่อน้ำตาลเดือดฟองยุบจนไม่เหลือฟอง ยกลงแล้วใช้เหล็กกระทุ้งน้ำตาล จะได้น้ำตาลสีเหลืองนวลสวย

7. หยอดน้ำตาลเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือเป็นปึกตามแต่ขนาดหรือรูปแบบที่ต้องการ  ขณะที่น้ำตาลยังร้อน ๆ เมื่อน้ำตาลเย็นจะได้รูปตามที่หยอด

8. เมื่อน้ำตาลเย็นและแห้ง เก็บบรรจุลงถุงพลาสติก ซีนและบรรจุกล่องพร้อมจำหน่าย

 

การทำน้ำตาลมะพร้าวมีขั้นตอนการผลิตที่ใช้เวลานาน และทุกขั้นตอนจะต้องสะอาด ไม่ใส่สารกันบูด โดยจะใช้ไม้พะยอมใส่ในกระบอกรับน้ำตาลกันบูดแบบธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และทุกขั้นตอนล้วนเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสิ้น น้ำตาลมะพร้าว ถ้าจะให้สีสวย ไม่เหลืองเข้ม รสชาติหวานหอม ต้องดูแลน้ำตาลให้ดี ตั้งแต่จั่นมะพร้าว กระบอกรองน้ำตาลใส ไปจนถึงการเคี่ยวน้ำตาล ซึ่งจะต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่ถูกต้องอันเป็นความรู้ที่สั่งสมกันมา แต่บรรพบุรุษสืบทอดให้แก่รุ่นลูกหลาน

เราได้มีโอกาสไปดูหิ่งห้อยที่ “บ้านหิ่งห้อยรีสอร์ท” และได้เยี่ยมชมการเคี่ยวน้ำตาลตอนกลางคืนที่ “บ้านน้ำตาล” ซึ่งเราได้ลองทำตอนตีน้ำตาลด้วยไม้ที่คล้ายๆ ที่ตีแป้งแต่ไม้ที่นี่ยาวและใหญ่กว่า ขอบอกหนักด้วย มองดูเผิ่นๆแล้วจะง่ายมากท่าทางไม่ยาก แต่ถ้าท่านได้ลองทำแล้วล่ะก็ อาจจพยอมแพ้ไปตาม ๆ กันเลย คงทำสู้คนที่ทำประจำทำทุกวันไม่ได้ เพราะนี่คือวิถีของคนในชุมชนนี้ พวกเขายังทำให้เรารู้สึกว่าพวกเขารักและภูมิใจในทรัพยากรของเขา และนี่คืออาชีพที่พวกเขาทำสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและพวกเขายังคงทำมันต่อไปด้วยความภูมิใจในวิถีชีวิตแบบนี้

หมายเลขบันทึก: 391929เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท