รัช
อาจารย์ รัชดา เชาวน์เสฏฐกุล

นี่หรือการศึกษาไทย


ทำไมเด็กเก่งไม่เรียนครู

       วันนี้มีโอกาสได้ไปสังเกตการสอนของน้องนักศึกษา Internship สาขาคณิตศาสตรศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น น้องสอนม. 2 เรื่องความเท่ากันทุกประการของสามเหลี่ยมด้านเท่า ในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง 

       ภาพรวมของกิจกรรมใช้ได้ แต่ขาดหลักสำคัญของการสร้างทางเรขาคณิตไป ก็คือน้องไม่ได้ให้วงเวียนไปในซองอุปกรณ์ นักเรียนเลยวาดสามเหลี่ยมจากสันตรง(ไม้บรรทัด) และสร้างมุมโดยใช้ครึ่งวงกลม ทั้งที่ให้เวลาในการสร้างนานพอสมควรที่จะสร้างสามเหลี่ยมสองรูปที่เท่ากันทุกประการได้โดยใช้วงเวียนและสันตรง

     การสอนในครั้งนี้ทำให้มีมุมมองความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับการสอนของครูไทย(ไม่เกี่ยวกับน้องคนที่กล่าวถึงข้างบน)ว่ามีลักษณะเช่นนี้หรือไม่ แล้วมีลักษณะแบบนี้อีกเท่าไหร่กันหนอ เช่น

1.  ความรู้วิชาการไม่เพียงพอ ไม่แน่ใจว่าที่เด็กพูดนั้นถูกหรือผิด 

2. ความรู้ทางกระบวนการสอนไม่แน่น

3. เทคนิควิธีในการนำเข้าสู่สถานการณ์ปัญหาไม่น่าสนใจเพียงพอ ทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องที่ครูต้องการที่จะนำเข้าสู่บทเรียน

4. การอธิบายคำสั่ง หรือการให้คำสั่งในการปฏิบัติงานไม่แน่ชัด คลุมเครือ

5. มีกิจกรรมการเรียนการสอนน้อยทำให้เด็กไม่อยากเรียน เอาแต่พูดๆตามหนังสือ

6. ในห้องเรียนเอาแต่สอน สอน และสอนตามเนื้อหา จนลืมสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละคาบ

7. ไม่มีเทคนิคในการหยิบยกแนวคิดของเด็กมาเป็นประเด็นพูดคุยในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่ความหมายและหาข้อสรุปร่วมกัน

8. การสรุปความในแต่ละครั้งไม่มีความเชื่อมโยงความรู้ในคาบนั้นและคาบต่อๆไป

9. มักจะรีบตัดสินเด็กว่า ที่เด็กพูดมานั้นถูกหรือผิด บางครั้งสิ่งที่ครูคิดว่าผิด แต่อาจจะถูกในมุมมองของเด็กก็ได้ เช่น ครูถามเด็กว่า "สามเหลี่ยมมีด้านกี่ด้าน" ถ้าเป็นท่าน ท่านจะตอบอย่างไร ระหว่าง สาม หรือ สี่ ด้าน เพราะเหตุใด? ถ้าท่านเป็นครู ได้ยินเด็กบอกว่ามี สี่ด้าน แล้วท่านจะทำอย่างไรต่อไป 

10. ครูไทยรู้หรือไม่ว่าคณิตศาสตร์เป็นภาษาสัญลักษณ์ ดังนั้นจึงย่อมมีการแสดงแทน ที่เรียกว่า representaion จากโลกแห่งนามธรรมไปสู่โลกแห่งความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ (3 โลก)

11. ครูไทยสอนเนื้อหาดีแต่ไม่เชื่อมโยงเนื้อหาเก่ากับใหม่

12. แล้วหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนหรือหลักสูตรที่ใช้มีความเหมาะสมเพียงใด ทำไมเด็กนักเรียนที่ประเทศอื่นเขาเรียนแค่ครึ่งวันแล้วกลับบ้านได้แล้ว อย่างมรามาเลย์เซียที่เคยไปดูงาน เขามีสอน 2 กะด้วยซ้ำ เช้าบ่าย และทำไมบ้านเราการบ้านเยอะจัง ทำไมที่อื่นการบ้านแทบไม่มีเลย

13. แล้วทำไมเด็กยังเรียนพิเศษเยอะทั้งๆที่บางโรงเรียนก็ดีมีเด็กสอบได้แพทย์เกือบยกห้อง ก็ยังเป็นห้องที่เรียนพิเศษทุกคน มันเกิดอะไรกับการศึกษาไทย เฮ้อ !

    รู้สึกว่ายิ่งเขียนยิ่งมีปัญหาเยอะ

14. ขอ ตั้งข้อสังเกตสุดท้าย ทำไมเด็กเก่งไม่เรียนครู ถ้าเด็กเก่งเป็นครูก็น่าเชื่อได้ว่าลูกศิษย์ของเค้าก็น่าจะเก่งตามครูของเค้าด้วย ยิ่งถ้าคนเก่งได้มาเรียนด้าน Education ด้วยแล้วการเรียนการสอนของไทยคงไปได้สวยมากกว่านี้ และที่สำคัญเด็กไทย และคนไทยในอนาคตคงจะเก่งขึ้นมากกว่าปัจจุบันนี้แน่นอน รัฐบาลจะได้ไม่ต้องมาเสียงบประมาณมากมายแต่เสียเปล่าแบบนี้ 

วันนี้คงไว้แค่นี้ก่อน มีงานเข้าแล้วค่ะต้องรีบไปดำเนินการ

สวัสดีค่ะ

    

หมายเลขบันทึก: 390531เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2010 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตามมาขอบคุณอาจารย์ การสอนนักเรียนถ้าจะให้ได้ผลดี ต้องเป็นครูที่รู้ปัญหาของนักเรียน รู้ว่านักเรียนผิดพลาดตรงไหน ท่านอาจารย์ เอกวิทย์ ณ ถลาง บอกว่า "ครูไม่เก่งก็สอนให้นักเรียนเก่งได้นะโว้ย" แต่รุ่นผมแปลกกว่าอาจารย์คิด รุ่นผมบอกว่า คนเก่งอยากเป็นครูครับ...อ่านเพิ่มเติมที่นี่นะครับ...

http://gotoknow.org/blog/yahoo/23041

สวัสดีค่ะ..

ยินดีที่รู้จักนะคะและขอบคุณมากที่เข้าไปเป็นแฟนคลับในบันทึก  krugui

ใครว่าคนเรียนครูไม่เก่ง....หูย....คนเป็นครูเก่งที่สุดเลย  เพราะทำอะไรได้ทุกอย่างตั้งแต่ภารโรงยัน ผอ.......ฮา

ส่งรอยยิ้มมาให้มีความสุขกับวันศุกร์นะคะ

รูปแบบการสอนเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมเคยเป็นครู..
ครั้งหนึ่งเดินเข้าสอน แบบไม่มีหนังสือติดมือ  แต่สามารถเขียนกลอนบนกระดาน, ท่องกลอนได้  ขับทำนองเสานะเองได้
นักเรียนตื่นเต้นน่าดู  เขาบอกว่านานเป็นปีๆ แล้วที่ไม่เคยเห็นครูคนไหนมาสอนในสไตล์นี้  นักเรียนชอบกันมาก  ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สนุกกันใหม่  มิหนำซ้ำบางทีเอาความรู้ข้ามระดับชั้นมาสอนผสมผสานกันไป นักเรียนก็เกิดประกายสนใจได้อย่างน่าชื่นใจครับ

 

  • หวัดดีจ้ะอาจารย์รัช
  • คุณมะเดื่อไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับน้องนักศึกษาที่สอนคนนี้นะจ๊ะ
  • แต่จะขอคุยถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับนักศึกษาคนหนึ่งที่พบมาจ้ะ
  • มีน้องนักศึกษา คบ.เอกภาษาไทยคนหนึ่งนำการเขียนรายงานทางวิชกาการมาให้คุณมะเดื่อช่วยดูสำนวนการเขียน และทิศทางของเนื้อหา
  • จริง ๆ แล้วคุณมะเดื่อก็ไม่ได้เรียนมาทางนี้นะจ๊ะ แต่ก็พอจะเข้าใจบ้าง
  • คุณมะเดื่อดูแล้วก็อึ้งนะ...เพราะน้องเขาเล่นเขียนรายงานทางวิชาการโดยใช้สำนวนเหมือนเขียนใน facebook เลยจ้ะ  สรรพนามที่ใช้กับบุคคลก็ไม่ถูก  ติดใช้คำว่า " มัน"  
  • จึงตั้งคำถามถามตัวเองว่า " ครูคนนี้จบเอกภาษาไทย เขียนหนังสือแบบนี้ แล้วลูกศิษย์ในอนาคต จะอ่าน เขียนภาษาไทยกันอย่างไรล่ะเนี่ยะ"  

คล้าย ๆ สำนวน "นี่หรือเมืองพุทธ" นะครับ ;)...

เอางี้ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่คนนับหน้าถือตาว่าเก่งนัก ต้องพยายามสอนอย่างจริงจัง ใช่เวลากับงานสอนเป็นงานหลัก มุ่งมั่นทุ่มเท คิดค้น สอน และ วิจัย หาทางทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งที่ว่า กลับกลายเป็นเด็กเก่งตามวิชาเอก และเก่งทั่วไป บวกจริยธรรมลงไปด้วย สุดท้ายก็จะได้ครูที่ดีขึ้น ไม่มากก็น้อย ลองดูไหมล่ะ

ขอบคุณทุกท่านค่ะ การศึกษาไทย ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ

ข้อสังเกตของอาจารย์ ดีมากเลยครับ และก็ตรงประเด็นกับที่ผมได้่ไปสังเกตการสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน อย่างเรื่อง่ายๆ ที่ีไม่น่ามีปัญหา เช่น การสร้างเส้นขนาน คุณครูสอนจนจบบทเรียน เด็กไม่สามารถสร้างเส้นขนานได้ครับ และ ที่น่าเป็นห่วงมากๆๆๆ คือ คุณครูคณิตศาสตร์หลายท่าน มักจะ "สอนมาก" เมื่อครู "สอนมาก" เด็กก็ "เรียนน้อย" ครับ นั่นคือ ครูสอนอย่างเดียว ตลุยไปให้หมดชั่วโมง โดยไม่สนใจว่าเด็กเขาจะ "เรียน" ไหม ที่ครูสอน

ครู "สอนมาก" ทำให้เด็ก "เรียนน้อย" จากนั้นก็มาบ่นว่าสอนไม่ทันทั้งๆที่สอนเยอะ เพราะครูมัวแต่สอนจนหมดเวลา เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองน้อยจึงทำให้จำได้น้อย สุดท้ายความรู้ก็ไม่ได้ เวลาก็ไม่พอ นี่ล่ะหนาครูไทย และหรือนี่หรือคือการศึกษาของไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท