นโยบาย Medical Hub กับการประกันชีวิต (อีกสักครั้ง)


นโยบาย Medical Hub ทำให้เกิดการตื่นตัวของการพัฒนาการให้บริการของสถานพยาบาลโยเฉพาะส่วนของเอกชน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนนิยมไปใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนมากกว่า ลูกค้าประกันสุภาพส่วนใหญ่ก็นิยมไปใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนเช่นกัน

 

 

 

นโยบาย Medical Hub กับการประกันชีวิต

ยุคสมัยของการให้บริการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลทุกวันนี้แข่งขันกันที่บริการครับ เห็นได้ชัดจากการที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการให้บริการ ทั้งการให้บริการที่ดีขึ้นและการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่คลอบคลุมแทบทุกด้านมากขึ้น

นับเป็นเรื่องที่ดีของการรักษาพยาบาลในบ้านเราที่การบริการด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้รับการปรับปรุงพัฒนาดียิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายผลดีก็จะไปตกอยู่ที่ผู้รับบริการ ก็คือคนเจ็บคนป่วย บางครั้งยังรวมไปถึงญาติๆของผู้ป่วยอีกด้วย แต่ก็น่าเสียดายตรงที่ว่าสถานพยาบาลที่ตื่นตัวในเรื่องของการปรับปรุงการให้บริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นสถานพยาบาลเอกชนซะมากกว่า ส่วนสถานพยาบาลของรัฐนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะยังติดขัดเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการให้บริการของสถานพยาบาลของรัฐด้วยครับ เลยทำให้สถานพยาบาลของรัฐยังไม่มีกรตื่นตัวในเรื่องนี้สักเท่าไหร่

ในส่วนของสถานพยาบาลของเอกชนนั้น จะเห็นเรื่องของการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่มองว่างบประมาณที่ใช้ปรับปรุงบริการถือเป้นการลงทุนในการดึงให้คนไข้เข้ามารักาที่สถานพยาบาลของตนให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงสถานที่ของสถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล คลินิกหรือสถานพยาบาลประเภทอื่นๆ ต่างก้หันมาปรับปรุงสถานที่ให้น่าเข้ามากขึ้นผิดจากเมื่อก่อนที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีแต่กลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและกลิ่นยา บรรยาการศก้ดูแล้วน่าสลด น่ากลัวมากกว่า แต่ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆดังๆนั้น ไม่เหมือนเดินแล้วครับ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากจะไม่มีกลิ่นยาฆ่าเชื่อมาแตะจมูก แล้ว สถานที่ยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่เหมือนโรงแรมมากกว่าโรงพยาบาลด้วยซ้ำ บางโรงพยาบาลยังมีร้านอาหารดังๆอย่างแมคโดนัลด์ โอบองแปง สตาร์บั๊ค ไปเปิดให้บริการด้วย

เวลาเดินเข้าไปเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะมีความกระตือรือร้นในการเข้ามาให้บริการ บางที่แทบจะอุ้มขึ้นเตียงด้วยซ้ำไป แพทย์พยาบาลก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เวลาหมอตรวจก็ใส่ใจมากขึ้น พูดคุยถามไถ่กับคนไข้มากขึ้น เรียกได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนเดี๋ยวนี้ใช้หลักการตลาดในการให้บริการเต็มที่เลยทีเดียว

การพัฒนาด้านบริการดังกล่าวของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาคหรือ Medical Hub นั่นเองครับ เพราะการที่ประเทศไทยจะสามารถเป็น Medical Hub ได้จะต้องปรับปรุงเรื่องของสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลให้มีการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่ระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันได้ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น  หรือแม้แต่สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ตื่นตัวในเรื่องนี้กันพอสมควรเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะปรับปรุงการให้บริการพื้นฐาน อย่างเรื่องของสถานที่แล้ว ห้องพักรักษาตัวของคนไข้ก็ปรับปรุงให้ดูดี กว้างขวางสะดวกสบาย บางที่หรูหราไม่แพ้ห้องพักของโรงแรมเลยทีเดียว เรื่องการให้บริการของบุคลากรนั้นแทบไม่ต้องเป็นห่วงเพราะคนไทยได้ชื่อว่ามีใจรักเรื่องการให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งต่างชาติต่างชื่นชอบเรื่องการให้บริการของคนไทยมาก นับเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของโรงพยาบาลบ้านเราเลยทีเดียว ส่วนเรื่องของความน่าเชื่อถือของบุคคลากรทางการแพทย์อย่าง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัดหรือบุคคลากรฝ่ายอื่นๆนั้น ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าของประเทศอื่นเช่นกัย แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือการรักษาจากคนไข้จากต่างประเทศเป็นอย่างดีเช่นกัน  ทำให้ที่ผ่านมามาคนไข้ชาวต่างชาติยอมบินมารักษาถึงที่ประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเมื่อคิดค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วอาจถูกกว่าที่อื่นในระดับการให้บริการเดียวกัน

โรงพยาบาลเอกชนเองต่างก็เร่งพัฒนาการรักษาของโรงพยาบาลของตนให้โดดเด่น และมีการประชาสัมพันธ์ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของตนในเรื่องเฉพาะโรคมากขึ้น ด้วยการตั้งศูนย์การดูแลรักษาเฉพาะโรค ขึ้นมาในโรงพยาบาล เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคทางเดินอาการ ศุนย์โรคผิวหนัง เป็นต้น เพื่อยกระดับให้โรงพยาบาลมีความน่าเชื่อถือ และเชี่ยวชาญในโรคนั้นๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งแข่งขันกันตั้งศูนย์การรักษาเฉพาะโรคขึ้นมาก็คือการดึงเอาบุคคลากรทางการแพทย์ที่เก่งๆมารักษาประจำโรงพยาบาลของตน ซึ่งแพทย์ พยาบาลที่เก่งๆแทบทั้งหมดส่วนใหญ่มักเป็นอาจารย์แพทย์ที่สอนอยู่ตามโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆนั่นเอง หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นแพทย์ที่ได้ศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับการรักษาโรคเฉพาะทางต่างๆและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญก็จะถูกดึงตัวมาอยู่ตามโรงพยาบาลเอกชน เพราะมีค่าตอบแทนสูง โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลทั่วไป จึงขาดแคลนแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นหากใครที่ต้องการได้รับการรักษาที่ดีกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ต้องมาที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว โดยต้องยอมรับเรื่องของค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า

เพื่อเป็นการหาวิธีการที่จะลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว บางคนจึงตัดสินใจทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตหรือประกันภัยที่รับประกันสุขภาพด้วย

ดังนั้นนโยบาย Medical Hub จึงมีผลทางอ้อมให้คนไทยทำประกันสุขภาพเพิ่ม เพราะจากข้อมูลของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งพบว่าลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพส่วนใหญ่ นิยมไปรักษากับสถานพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะยอมรับในเรื่องของการให้บริการที่ดีและความสะดวกสบายของโรงพยาบาลเอกชนนั่นเอง แต่เพราะค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างสูง จำเป็นต้องหาวิธีการในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย คนส่วนใหญ่จึงเลือกซื้อประกันสุขภาพไว้ ซึ่งนอกจากจะสามารถแบ่งเบาภาระด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพแล้ว ยังได้รับความสะดวกเวลาไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตแทบทุกแห่งต่างร่วมมือกับสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าประกันสุขภาพขอตน เช่น ร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนในการให้บริการลูกค้าที่ไปรักษาโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินเอง เป็นต้น บางแห่งอาจมีส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าของบริษัทประกันหรือมีช่องทางพิเศษในการให้บริการ เป็นต้น เมื่อคนเห็นว่าการทำประกันสุขภาพไว้กับบรัทประกัน ทำให้ได้รับความสะดวกสบายกว่า ก็นิยมทำประกันกันมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อบริษัทประกันเห็นว่าลูกค้านิยมใช้บริการที่สถานพยาบาลเอกชนเป้นจำนวนมาก ก็ยิ่งต้องแสวงหาความร่วมมือกับสถานพยาบาลให้เข้ามาร่วมเป็นสถานพยาบาลเครือข่ายของบริษัทเพื่อนำมาเป็นจุดแข็งที่สามารถใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดให้คนสนใจมาทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังเปิดคลินิกไว้สำหรับรักษาโรคทั่วไป โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาลเอกชน หากคนไข้รายใดที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล คลินิกก็จะส่งต่อคนไข้ไปที่โรงพยาบาลแม่ของคลินิคทันที เป็นการสร้างช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่เป็นคนไข้มากขึ้นนั่นเอง คนไข้เองก็จะคุ้นเคยกับชื่อคลินิกและชื่อของโรงพยาบาลไปพร้อมกัน เวลาเจ็บป่วยก็จะนึกถึงโรงพยาบาลนั้นๆมากกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ เป็นต้น นอกจากการเปิดคลินิกเพื่อส่งต่อคนไข้ให้โรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังเข้าไปซื้อกิจการหรือถือหุ้นในโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลของตนอีกด้วย

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 354 แห่ง มีจำนวนเตียงคนไข้รวม 36488 เตียง แบ่งเป้นโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพ 103 แห่ง จำนวนเตียงรวม 15343 เตียงหรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ที่เหลือจะกระจายอยู่ตามต่างจังหวัด โดยพบว่าตลาดการรักษาสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนมีมูลค่าตลาดกว่าแสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขมิใช้น้อยที่ โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งต่างก็หวังจะดึงเม็ดเงินให้เข้ามาเป็นรายได้ของตนให้มากที่สุด

ปัจจุบันถึงแม้ว่าคนไทยจะตื่นตัวเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น แต่ยังมีการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพกันค่อนข้างน้อย  ส่วนใหญ่ยังไม่มีประกันสุขภาพ หรือมีแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริง ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนมีการปรับปรุงเรื่องคุณภาพการรักษาและการให้บริการ ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการรักษาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องปรับเพิ่มค่ารักษาและค่าบริการของโรงพยาบาลให้สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่คนส่วนใหญ่จะต้องหาวิธีในการรับมือกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว คนที่ยังไม่มีก็อาจต้องมองหาวิธีอย่างการเลือกทำประกันสุขภาพไว้ ส่วนคนที่มีประกันสุขภาพแล้ว ก็ต้องทบทวนว่าประกันที่มีอยู่คลอบคลุมค่าใช้จ่ายที่แท้จริงหรือยัง เพราะเมื่อโรงพยาบาลปรับเพิ่มค่ารักษาในแต่ละปี ประกันสุขภาพที่เคยทำไว้เมื่อปีก่อนๆอาจไม่เพียงพอกับค่ารักษาในปัจจุบันและก็จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับค่ารักษาในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับประกันชีวิตและประกันภัยในการขยายตลาดประกันสุขภาพซึ่งกำลังมีการตื่นตัวเนื่องจากนโยบาย Medical Hub ด้วยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 390032เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2010 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท