ระบบดูแลนักเรียน...ตอนเยี่ยมบ้านต้องเอาอะไรไปบ้าง


นักเรียนที่ฉันไปเยี่ยมบ้านคนนี้เรียนหนังสือเก่ง

เธอไม่มีแม่ อาศัยอยู่กับพ่อ และเธอมีหน้าที่ต้องดูแลย่าที่ป่วยด้วยโรคชรา

เพราะพ่อต้องออกไปทำงานแต่เช้า และกลับมืด

เธอร่าเริงในบางครั้งและค่อนข้างจะใจร้อน

ถ่ายภาพโดยkrutoiting

สถานที่..บ้านริมคลองหลวง แก้มลิง

หน้าที่และภาระการรับผิดชอบหลังเลิกโรงเรียนในแต่ละวันยังคงเป็นของครูประจำชั้น

ที่จะต้องติดตามดูแลชีวิตหลังเลิกเรียนของผู้เรียนตัวน้อยๆของครู 

  โดยครูประจำชั้นผู้ทำหน้าที่เสมือนครูแนะแนวของนักเรียน

จะทำควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนในชั้นเรียน

เพียงแต่การทำงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น

ได้กำหนดตารางการทำงานเป็นอย่างน้อย  ครั้ง / 1 ภาคเรียน

ซึ่งการทำงานนี้เราเรียกว่าระบบการดูแลนักเรียน

หัวใจของการดำเนินงานมีดังต่อไปนี้

1.การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล

2.การคัดกรองนักเรียน

3.การส่งเสริมและพัฒนา

4.การป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข

5.การส่งต่อ

หลายวันมานี้ เพื่อนครูพากันออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียนของเรา

ครูพากันออกเยี่ยมบ้านเป็นคู่ๆ อิอิ คู่ชีวิตครูส่วนใหญ่สอนโรงเรียนเดียวกัน

แต่สำหรับฉันพิเศษกว่าคู่อื่นเพราะคู่ฉันอยู่ไกลกันคนละตำบลคนละโรงเรียน

เขาจึงต้องมาช่วยฉันทำงานได้กำไรประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้นค่ะ

การเยี่ยมบ้านครั้งนี้ก็เพื่อทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล

ฉันได้จัดเตรียมแบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน แบบรายงานการเยี่ยมบ้าน

แบบสรุปผลการเยี่ยมบ้านสำหรับการเยี่ยมบ้านของครูในครั้งนี้ด้วย

ก่อนครูจะออกไปเยี่ยมบ้านครูควรมีกระบวนการ 2 อย่าง

ที่นอกเหนือจากสื่อที่จัดทำขึ้นคือ

กระบวนการแรกคือ การเตรียมตัวก่อนเยี่ยมบ้านคือ

การเตรียมความพร้อมของครูเอง

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลนักเรียน แฟ้มประวัตินักเรียน สมุดบันทึกการเยี่ยมบ้าน

หมายเลขโทรศัพท์ผู้ปกครองนักเรียน กล้องถ่ายรูปถ้ามีเอาติดตัวไปด้วยค่ะ

  แล้วก็แผนผังการเดินทาง รวมทั้งพาหนะเดินทาง

ในการจัดทำโครงการครั้งนี้ฉันได้เสนอของบประมาณค่าเดินทางสำหรับครูไว้ด้วย

เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครูที่บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนและไม่มีรถส่วนตัว

เพราะค่ารถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่โรงเรียนของฉันมันแพงจริงๆ

กระบวนการที่สองคือ  

การเยี่ยมบ้าน ครูควรนำทักษะในการสื่อสาร มาสร้างสัมพันธภาพที่ดีเพื่อค้นหาปัญหา 

ที่แท้จริง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใสเรา เห็นอกเห็นใจนักเรียนและ ครอบครัว 

โดยใช้ทักษะแนะแนว เช่น ทักษะการให้บริการด้านจิตวิทยา    

และมีความพร้อม ที่จะนำข้อมูลจาก ประวัตินักเรียน แผนผังญาติพี่น้อง  ผู้ใกล้ชิด

ภาพนี้ถ่ายโดยเด็กหญิงกี้ คนที่ยืนอยู่ในภาพแรกข้างบนค่ะ

 

เมื่อมีข้อมูลที่สามารถบันทึกลงบนแบบเยี่ยมบ้านแล้ว

ครูยังสามารถใช้แบบบันทึกเป็นกุญแจไขปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน

เพราะได้ออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกในการทำงาน

เอื้อให้ครูได้ง่ายต่อการบันทึกข้อมูลที่ครูสัมผัส

ขณะเดียวกันครูยังสามารถทำการคัดกรองผู้เรียนได้

ด้วยการใช้แบบคัดกรองสอบถามนักเรียน

บ้านหลังสุดท้ายที่ฉันไปเยี่ยม

เล็กและแคบมากไม่มีที่นั่งสนทนาเลย

เด็กน้อยอาศัยอยู่กับพ่อสองคน

บางวันเธอต้องไปอาศัยบ้านญาติที่มีหลังคาติดกัน

เพื่อนอนหลบฝนที่ตกลงมา

ฉํนเพิ่งรู้วันนี้เองว่าทำไมเธอจึงขาดเรียนเมื่อวันที่ฝนมาเยือน

เราเลยขยับออกมาสนทนากันริมถนนค่ะ

เพื่อนบ้านช่วยกันปูเสื่อให้ได้นั่งคุยกัน

วันนี้จึงเป็นวันที่ฉันได้สรุปข้อมูลการเยี่ยมบ้านได้รวดเร็วกว่าที่คิด

ด้วยความร่วมมือของเพื่อนร่วมงานที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 389729เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2010 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)
  • พี่ครูต้อยครับ
  • ดีจังเลย
  • ทำให้ระลึกชาติได้ว่า
  • ในอดีตเคยขับมอเตอร์ไซด์
  • ไปเยี่ยมนักเรียนทั้งโรงเรียน
  • ไม่รู้ทำได้ไง
  • ฮ่าๆๆๆ
  • ขอชื่นชมการทำงานของพี่
  • เอาหมู่บ้านน้ำทรัพย์มาฝากครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/390171

เป็นภาพบรรยากาศแห่งความทรงจำดีๆ มากๆ เลยค่ะพี่ต้อย เคยไปส่งนักเรียนช่วงเข้าค่ายครูดอยระยะสั้นๆ แต่คุ้นกับไปเยี่ยมบ้าน ในชุมชนมากกว่าค่ะ  หากแต่ความประทับใจคงใกล้เคียงกัน ... พี่ต้อย รักษาสุขภาพนะคะ อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยจัง ;)

  • สวัสดีครับคุณครู
  • เป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ การจะทราบปัญหา ต้องเข้าถึงแหล่งของปัญหา โดยเฉพาะการไปเยี่ยมบ้านว่านักเรียน กินอยู่อย่างไรบ้าง  เรียกได้ว่า เข้าถึงและเข้าใจครับ 

Ico32

ขอบคุณค่ะ

วันที่พี่ไปเยี่ยม

มีบ้านหนึ่งพี่ตกใจหมดเลย รู้สึกแย่มากๆ

สงสารเด็กน้อยที่ต้องเผชิญเรื่องเสี่ยง

พี่กลับมาบ้านพร้อมกับโจทย์ที่ยากที่สุดในชีวิต

ทุกวันนี้พี่ไม่รู้จะแก้โจทย์นี้อย่างไร

และก็เป็นกังวลกับเด็กมาก

บ้านหลังนี้เดียวดายอย่างน่าใจหาย

มิน่าที่เด็กน้อยขาดเรียนบ่อย

ความอบอุ่นภายในกระต๊อบหลังน้อยพี่มองไม่เห็น

พี่ก้าวไปยืนหน้าบ้านเด็กแล้วก็ไม่กล้าเดินเข้าบ้าน

มันห่อเหี่ยวใจพิลึก เป็นกระต๊อบที่เล็กขนาดกว้าง 2เมตร ยาวเมตรกว่าๆ

ภายในบ้านมีกองหนังสือเด็ก และที่เห็นใหญ่เต๊ะตาก็คือมุ้งกางเกือบเต็มห้อง

แต่พี่ก็อยากได้ข้อมูลเพื่อหาทางช่วยเหลือเด็ก

ก็เลยไปนั่งคุยกันที่ริมถนนโดยมีญาติของเด็กมาร่วมวงด้วย

โดยไม่มีแม่ของเด็กเมื่อคุยไปสักพักก็ถึงบางอ้อ

มันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม

 

Ico32

ขอบคุณค่ะ

ปีนี้ไปเจอสภาพครอบครัวแบบเด็กน้อยข้างบนแล้วใจหายแว๊บเลย

เด็กน้อยผู้หญิงทำไมไม่มีแม่ นี่ก็เป็นโจทย์ที่หนักหัวมากสำหรับพี่

พี่ยังงงอยู่นะนั่งดูรูปที่ไปเยี่ยมบ้านแล้วก็ดูหน้าเด็กน้อยทุกวัน

จะวางแผนช่วยเหลืออย่างไร ดียังเป็นเรื่องที่ต้องแก้โจทย์

พี่คงต้องลงไปเยี่ยมอีกครั้งค่ะ และคิดว่าจะร่วมวางแผนอนาคตใกล้ๆของเด็กก่อน

แล้วสำรวจความพร้อม(ใจ) ว่าผู้ปกครองพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับพี่ไหม

น้องปูมีไอเดียอะไรช่วยแนะนำพี่ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

Ico32ชำนาญ เขื่อนแก้ว

ขอบคุณค่ะ

เยี่ยมบ้านเหมือนเยี่ยมใจนะคะ

ไม่เคยทราบ ก็ได้ทราบ

ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น

ไม่เคยเจอก็ได้เจอ

โจทย์ใหญ่ที่ตามมาคือ

จะช่วยเหลือ และร่วมวางแผนอย่างไรดี

ขอบคุณค่ะที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรมเยี่ยมบ้าน

  • ที่โรงเรียนของผม   คุณครูก็กำลังออกเยี่ยมบ้านนักเรียนครับ
  • ฝันดีครับ

สวัสดีครับ..

เข้ามาเยี่ยมชม..คุณครูเยี่ยมบ้านครับ

อึ้งเลยครับ..

Ico32

ขอบคุณค่ะ

เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆค่ะ

ทำให้ครูได้รู้จักเด็กอย่างลึกทีเดียว

เอาภาพภารกิจของครูอนุบาลที่โรงเรียนมาฝากค่ะ

เด็กบางคนมีปัญหาก้าวร้าว หากครูลงเยี่ยมบ้านจะทราบข้อมูลที่สามารถนำมา

วิเคราะห์แก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวได

พี่คิดว่าการแก้นิสัยในกรณ๊ที่ครูพบว่ามีแนวโน้ม

จะก้าวร้าว เช่นเอาแต่ใจตัวเอง

ไม่เอื้อเฟื้อ ขอโทษไม่เป็น

หากพบในปฐมวัยครูจะแก้ไขทันทีค่ะ

หลายคนอาจคิดว่ารอให้โตก่อน

ซึ่งก็มักจะสายเกินไป

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะพี่ครูต้อย
  • การออกเยี่ยมบ้านนักเรียน
  • เป็นอีกภารกิจหลักของครูที่ปรึกษา
  • ซึ่งอยู่ในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
  • ปัญหาที่ได้พบได้เห็นก็มากมายหลากหลายกันไป
  • ชื่นชมพี่ครูด้วยนะคะที่อยากหาทางช่วยเหลือเด็กจนสุดความสามารถ
  • ขอให้ประสบผลนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะพี่.

สวัสดีครับ คุณครูต้อย

อ่านบันทึกคุณครูแล้ว..ให้ความรู้สึกดีมาก

และตอบได้เลยครับว่า ตอนเยี่ยมบ้านลูกศิษย์

คุณครูต้องเอา "ใจ" ไปครับ

ขอบคุณครับ

Ico32

ที่หนักใจเพราะเกิดควบคุมความรู้สึกตัวเองไม่ได้

ไม่อยากเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับลูกศิษย์เลย

แต่ก็ต้องเจอ ก็ยอมรับค่ะว่าสะเทือนใจ

แต่เด็กน้อยจะโชคดีในเร็วๆนี้แล้วค่ะ

แม้จะเป็นรางวัลเพียงเล็กน้อยจากคนข้างเคียงของพี่

ที่มอบให้เพราะเธอเป็นเด็กมีน้ำใจงาม

พี่มั่นใจว่าอย่างน้อยเธอก็จะรู้สึกดีว่า

สังคมไม่ได้ทอดทิ้งเด็กดี

ขอบคุณค่ะ

คุณครูต้อย ครับ

ถ้ามีอะไรที่ผมพอจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กๆได้
รบกวนคุณครูช่วยบอกหน่อยนะครับ
E-mail: [email protected]

ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ครับ

Ico32

ขอบคุณค่ะน้องครูแป๋ม

วันนี้เอาเด็กน้อย 10 ไปรับทุนจากเจ้าอาวาสวัดสหกรณ์โฆสิตาราม

ที่โรงเรียนของพี่ชั้นป.1-ป.6 มี 12 ห้องเรียน

คุณครูประจำชั้นจะเป็นผู้คัดเด็กรับทุน

ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมีการเสียสละ 2 ห้อง

เพราะรายการนี้ มีทุนให้เพียง 10 ทุน

ชั้นเรียนที่เด็กน้อยข้างบนอยู่ขอสละสิทธิ์

และวันนี้เธอยังมาร่วมงานแสดงมุติตาจิต

และช่วยเป็นกำลังใจให้เพื่อนที่ร่วมรำอวยพร

เอารูปมาฝากด้วยค่ะ

 เสื้อสีฟ้าเธอเป็นเจ้าของบ้านหลังน้อย

ส่วนเด็กน้อยชุดผ้าลายสก็อต ก็เป็นเจ้าของบ้านค่ะหลังแรกของบันทึกนี้ค่ะ

Ico32

ขอบคุณค่ะน้อง

ดีใจแทนเด็กน้อยนะคะ

ครูต้อยจะเจตนารมย์ของอ.นุ

เรียนให้ผู้ใหญ่รับทราบ

น้องเจ้าของกระท่อมหลังน้อยนั่น

เธอไม่มีแม่แล้ว เธอต้องรอแมม่อีก 15 ปีจะได้พบกัน

ส่วนน้องเจ้าของบ้านจากที่ดูภายนอกหลังใหญ่ แต่ภายในมีเพียงที่นอนม้วนเล็กๆ

ที่น้องนอนกับย่าที่ป่วยกระเสาะกระแสะมานานค่ะ

และแม่ของน้องก็เสียชีวิตจากการป่วยไปแล้ว

แล้วพี่จะเมล์กลับตามที่ให้ไว้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

คิดถึงตอนปั่นจักรยานไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียน...

สิ่งแรกที่ประทับใจคือการต้อนรับจากผู้ปกครองและเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้ปกครอง...

แต่...ปัญหาที่ตามมาก็คงคล้ายๆของพี่คือ  ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาให้บางคน...

Ico32

ครูนอกจากทำการสอนแล้วการช่วยเหลือเด็กก็เป็นงานที่ละไม่ได้

ครูไม่ได้เป็นครูเพียงสอนหนังสือตามที่หลายคนเข้าใจเท่านั้น

จิตวิญญาณของครูทำให้ครูทำงานหนัก...และลืมดูแลสุขภาพตัวเอง

ครูจำนวนหนึ่งจึงต้องจากไปก่อนเวลาอันควร

หลายคนวางงานประจำแล้วก็มาซ่อมแซมสุขภาพตัวเอง

โอกาสพาตัวเองไปพบความสุขตามเส้นทางแห่งธรรมนั้นไม่มี

เพราะผลจากตรากตร่ำทำงานเพื่อศิษย์

ใกล้วันเกษียณแล้วทำให้นึกเป็นห่วงเพื่อนครู

หากครูสามารถเตรียมตัวก่อนและหลังเกษียณ

ครูจะมีความสุข ไม่เหงา เพราะผลบุญที่ครูทำสะสมไว้

กำลังคิดว่าเกษียณแล้วจะทำอะไรได้บ้าง

ขอบคุณค่ะ

เรียนครูต้อย

ขอชื่นชมในการ"บริการสังคม" ของครูต้อยแบบไม่รู้จักเหน็ด ไม่รู้จักเหนื่อย อย่างสูงครับ หลังครูต้อยเกษียณแล้ว เดี๋ยวผมมีงานให้ทำครับ (ไม่ได้พูดเล่นครับ)

เสนอ

เรียนคุณsaner rattanavalee

คงไม่ใช่งานเดินตามนักกอล์ฟนะคะ

สงสัยแล้วซิจะให้ครูต้อยไปทำอะไร

กันยาหน้าขอเออรี่แน่ค่ะ

แล้วงานนั้นจะรอครูต้อยหรือไร

แต่อย่างไรครูต้อยก็ขอขอบคุณค่ะ

 

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคุณครูทุกๆท่าน

ที่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างดีเยี่ยม

การเยี่ยมบ้าน เป็นงานที่เข้าถึงข้อมูลอย่างดีเยี่ยม

เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์

ต้องถูกอบรมฝึกฝนกันมา เพื่อค้นหาข้อมูล

เพื่อประเมิน วิเคราะห์ หาแนวทางช่วยเหลือ

แต่วันนี้ดีใจจังมีคนช่วยเราแล้ว

โดยเฉพาะครูต้อย อิอิ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

Ico32

น้องแหม่มจ๋า งานอย่างนี้คุณครูแนะแนว คุณครูที่ปรึกษา

คุณครูประจำชั้นต้องทำกันทุกคนค่ะ

เราทำกันเป็นระบบคะ เรียกว่าระบบการติดตามนักเรียน

การเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ครูทุกคนควรทำ เพราะนั่นหมายถึงการเข้าถึงลูกค้า อิอิ

ที่จริงงานแบบนี้ ครูเขาทำกันมานานมาก หลายชั่วอายุคนเลยหละ

ยิ่งเป็นคุณครูสมัยก่อน ส่วนตัวพี่เองก็เคยถูกคุณครูเยี่ยมบ้าน อิอิ

เพราะเป็นนักร้องเพลงประสานเสียงของโรงเรียน

เมื่อต้องไปทำงานคุณแม่ไม่อนุญาตขึ้นมาเฉยเลย

คุณครูก็ลงมาเยี่ยมที่บ้านหาสาเหตุค่ะ มาอ้อนวอนว่าได้ฝึกจนเก่งแล้ว

ขอสักงานหนึ่ง คุณแม่บอกว่ากลัวลูกหลงทางกลับบ้านไม่ถูก

คุณครูบอกว่าไปกันทั้งคณะ และคุณครูจะส่งนักเรียนบ้านไกลก่อน

แม่จึงไม่ตกลงค่ะ........... ฮาไหม

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 54 ไปเยี่ยมบ้านโดยมีมูลนิธิสันติสุขร่วมทางไปด้วย

เสียดายที่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะฝ่ายบริหารได้เปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ให้

ไม่ได้เป็นครูประจำชั้น และครูแนะแนวแล้ว แต่ยังคงทำเหมือนเดิม

เพราะรู้สึกกังวลกับอนาคตเด็กที่น่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง

หรือน้องแหม่มคิดยังไง..ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ

*** ไปเยี่ยมบ้านักเรียนหลายวันต่อเนื่อง ได้พบเห็นความเป็นอยู่ของนักเรียนบางคนแล้ว เกิดความทุกข์ค่ะ

*** ได้แต่ช่วยดูแลไปตามสภาพ การสื่อสารดีขึ้นแต่ทำไมหลายครอบครัวเด็กและคนชราถูกทิ้งอย่างอ้างว้าง

Ico48 กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อคิด

หรือมันกำลังจะถึงทางตันแล้ว

คงไม่ใช่แน่ค่ะ ..คงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

  • เท่าที่มีประสบการณ์ เด็กๆส่วนใหญ่ที่ครูเห็นว่าแต่งตัวดีๆ มีมอเตอร์ไซด์ใหม่ๆขับ พอไปเยี่ยมบ้านจริงๆ จึงเห็น จึงรู้ ว่าเขาไม่ได้พร้อมอย่างที่เราเห็นเขาที่โรงเรียนครับ 
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆนี้ครับ

สวัสดีค่ะ พี่ต้อย

ครูอ้อยไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ที่คุณพ่อเป็นช่างซ่อมรถยนต์ของครูอ้อย

พบว่า  พวกเขาต้องไปทำการบ้านกับครูที่สอนพิเศษ  เขาเรียนกันมาก  เรียนตลอดเวลา

ต่างจาก  นักเรียนของพี่ต้อย ไหมคะ

แล้วจะมาแลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

Ico48

เป็นเช่นนั้นจริงๆค่ะมีมอไซด์ มือถือแต่ยากจน

พี่เองไม่ทราบเกิดอะไรขึ้นกับเด็กของเรา

วันศุกร์ที่ผ่านมานี้ไปเยี่ยมอีกราย..งงมาก

เพราะเด็กแต่งกายสะอาด เรียนดี

พอไปถึงบ้านขาอ่อนเลย

พื้นบ้านเด็กทำให้ต้องย่องเบาๆกลัวตกใต้ถุน

พวกเขานอนรวมกันในพื้นที่ว่างผืนน้อย

ไม่เกิน 2 เมตร เขานอนกันยังไง มันแคบมาก

แต่เด็กๆมีความสุข ยกเว้นลูกสาวคนโตค่ะ

ขอบคุณค่ะ

Ico48

น้องครูอ้อย..นอนดึกเหมือนกันนะคะ

เด็กๆของพี่ไม่เรียนพิเศษค่ะ เพราะไม่มีเงินไปเรียน

อีกอย่างแม้ครูจะจัดสอนก็ไม่เรียน

เพราะขืนมานั่งเรียนจะไม่มีรถกลับบ้าน

แล้วก็ต้องกลับไปช่วยงานบ้าน เสี้ยงน้องค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนนะคะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

  • สวัสดีค่ะพี่ครูต้อย
  • จากประสบการณ์การเยี่ยมบ้านที่ผ่านมาหลายๆครั้ง และทุกครั้งก็จะพบปัญหาที่คล้ายๆกันกับบันทึกของพี่ครู คือ..ขาดทุกอย่าง
  • ขอบคุณเรื่องราวมากๆเลยค่ะ

Ico48

ขาดทุกอย่างเป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนคุณภาพชีวิต

มนุษย์เกิดมามีกรรมเป็นของตัวเอง...เป็นความเชื่อส่วนตัวของพี่เอง

(อิอิ...........แต่... โปรดใช้วิจารณญาณ)

และสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของคำว่าเสมอภาคค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาลปรร.นะคะ

ขอบคุณคุณเพ็ญศรีค่ะ วันนี้ได้ย้อนกลับมาอ่านบันทึกของตัวเองอีกครั้ง หลังจากได้ร้างลาจากการเป็นครูหันมาเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลสมุทรสาคร เนื่องจากได้ขอเออรี่ก่อนอายุครบ 60 ปี และที่รพ.นี้เองได้มีโอกาสเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้มีปัญหาทางสังคม ผู้ยากไร้ ไปพร้อมกับงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ด้วยความอนุเคราะห์จากคุณอรชร อ่อนโอภาส นักสังคมผู้เสียสละกายใจให้กับงานด้วยความมุ่งมั่น และก้าวใหม่ของการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริงของเธอ เราจึงรู้ว่ามีอีกหลายหน่วยงานราชการ และเอกชนที่มีจิตพิศุทธิ์เอื้อ ต่อการพัฒนาคุณภาพเพื่อนมนุษย์ และที่สำคัญทำให้เรามีมุมมองโลกมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการเยียวยานักเรียน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสย้อนกลับไปทำหน้าที่ครูประจำชั้นอีกแล้ว เวลาที่เรียนรู้มันไม่สัมพันธ์กับความต้องการนำความรู้มาใช้งาน ตรงจุดนี้ทำให้เกิดแนวคิดว่า น่าจะได้มีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน ในการวางแผนร่วมกัน เรียนรู้ และมีเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จึงจะเกิดความสมบรูณ์ด้วยปัจจัยหลายประการ อีกทั้งยังช่วยให้รัฐได้ใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขอบคุณอีกครั้งที่มามอบดอกไม้แห่งความคิด ขอบคุณค่ะ

มาให้กำลังใจและชื่นชมพี่ครูต้อยค่ะ

คิดถึงเสมอนะคะ

ขอบคุณค่ะ น้องครูอรวรรณ กำลังใจคือพลังที่หนุนนำให้เกิดเรื่องราวดีๆและสวยงาม สิ่งที่คุณครูเยี่ยมบ้านทุกท่านจะนำติดตัวไปเมื่อต้องเยี่ยมบ้าน คือความรักและความกรุณา ไม่ตรีจิตที่ส่งผ่านรอยยิ้มและดวงตาที่เอื้ออาทร คือความปรารถนาของลูกศิษย์ทุกคน ขอบคุณคุณน้องครูอรวรรณ และครูทุกท่านผู้เอื้ออาทรด้วยหัวใจของแม่พิมพ์ และวงการศึกษาขาดครูผู้เปรียบเสมือนปูชนียบุคคลที่ดีงามไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท