ใบความรู้ที่ 2 เรื่อง วัสดุห้องสมุด


วิชาการใช้ห้องสมุด

วัสดุห้องสมุด

 

สาระสำคัญ          

วัสดุห้องสมุดมีไว้เพื่อการอ่านและการศึกษาค้นคว้า ซึ่งห้องสมุดได้จัดหา  รวบรวม  จัดเก็บ เพื่อให้บริการในห้องสมุด  วัสดุห้องสมุดแบ่งออกเป็น 2  ประเภท  คือ  วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed  materials)  และวัสดุประเภทไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Non-Printed  Materials)

 

จุดประสงค์การเรียนรู้

               1. อธิบายความหมายของวัสดุห้องสมุดได้                

               2.  บอกประโยชน์ของวัสดุห้องสมุดได้

               3. จำแนกประเภทของวัสดุห้องสมุดได้        

               4. จำแนกวัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ได้                  

               5. จำแนกวัสดุประเภทที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ได้           

               6. บอกวิธีการระวังรักษาวัสดุห้องสมุดได้        

1. ความหมายของวัสดุห้องสมุด         

               วัสดุห้องสมุด  (Library  materials)  หรือ วัสดุสารนิเทศ  (Information  Resources) หมายถึง วัสดุที่ใช้เพื่อการอ่านและการศึกษาค้นคว้าทุกรูปแบบ ทุกสาขาวิชา  ซึ่งห้องสมุดได้จัดหามา และจัดเก็บรวบรวมเอาไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ในห้องสมุด 

2. ประโยชน์ของวัสดุห้องสมุด

               วัสดุห้องสมุดมีความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้า เสริมสร้างปัญญา ของคน  ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

               2.1  เป็นบันทึกแห่งภูมิปัญญาของมนุษย์ ใช้สืบทอดความคิด  ความรู้  เรื่องราวต่าง ๆ ศิลปวัฒนธรรม  อารยธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งต่อ ๆกันมา ซึ่งวิชาความรู้เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของสังคมมนุษย์

               2.2  ความรู้  ข้อมูล  ข่าวสาร จากวัสดุห้องสมุดซึ่งมีอยู่หลายชนิดหลายรูปแบบ ช่วยขจัดความไม่รู้ในเรื่องต่าง  ๆ  และสร้างสติปัญญา

               2.3  ข้อมูลจากวัสดุห้องสมุดที่ถูกต้อง  ครบถ้วน และทันเวลาจะช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขาดสารนิเทศอาจทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจ ดังนั้นผู้บริหารยุคใหม่จึงควรมีข้อมูลหรือวัสดุห้องสมุดเพียงพอแก่การวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดต่างๆ

               2.4  ความรู้  ข้อมูลต่างๆ  จากวัสดุห้องสมุดก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและการพัฒนาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์  และสังคมศาสตร์

               2.5 ความรู้จากทรัพยากรสารนิเทศบางชนิดก่อให้เกิดความจรรโลงใจ ความซาบซึ้ง  เกิดความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิด และทำแต่สิ่งที่ดีงามมีคุณค่าแก่การ ดำเนินชีวิต

               2.6  หนังสือบางเรื่อง โสตทัศนวัสดุบางชนิดทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความตึงเครียด  ช่วยให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีผลสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ไม่น้อยไปกว่าความต้องการด้านอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่การเลือกใช้สารนิเทศที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

3. ประเภทของวัสดุห้องสมุด

               วัสดุห้องสมุดมีอยู่มากมายหลายรูปแบบนั้น พอจะแบ่งตามลักษณะที่ปรากฏได้  2  ประเภทใหญ่ ๆ คือ

3.1   วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์  (Printed materials)

3.2  วัสดุประเภทไม่ใช่สิ่งพิมพ์  (Non-Printed Materials)

4. วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed Materials)

               วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์  หมายถึง วัสดุที่สามารถใช้บันทึกข้อมูล  ความรู้  ความคิด เรื่องราวต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร สารนิเทศทุกชนิดที่ตีพิมพ์ลงกระดาษโดยการตีพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ประเภทต่างๆ  ห้องสมุดจำแนกวัสดุตีพิมพ์  ดังนี้

4.1  หนังสือ (Books)คือ  สิ่งพิมพ์ที่เกิดจากความรู้ความคิดด้วยสมอง สติปัญญาและประสบการณ์ของมนุษย์ จากการศึกษาค้นคว้าและจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างถาวร โดยเฉพาะหนังสือ   ที่เป็นวรรณกรรมอันมีค่าที่เกิดจากมันสมองอันปราดเปรื่องของผู้เขียน ย่อมให้คุณประโยชน์อันล้ำค่าแก่ผู้อ่าน แหล่งความรู้ที่มนุษย์สามารถศึกษาค้นคว้า ส่วนใหญ่จะได้จากหนังสือ แม้ว่าวิทยาการปัจจุบันจะผลิตความรู้ในรูปของสื่อใหม่ ๆ เช่น  ไมโครฟิล์ม  เป็นต้น แต่วัสดุดังกล่าวก็ถ่ายทอดความรู้มาจากหนังสือ  ฉะนั้น หนังสือ  คือ  สิ่งที่รวมความรู้ที่มีคุณค่า ความสำคัญของหนังสือยังมีมากสำหรับการศึกษาวิจัย ทั้งในสถาบันการศึกษาและการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นที่ยอมรับกันว่า หนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ประเทศใดมีสถิติคนอ่านหนังสือมากจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  หนังสือเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของหนังสือแล้ว สามารถแบ่งหนังสือได้เป็น  2  ประเภท  คือ

                     4.1.1  หนังสือสารคดี  (Non– Fiction  Books) เป็นหนังสือที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้สาระความรู้ที่เป็นวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ  เป็นหลัก  เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากความรู้ ความคิด  และข้อเท็จจริง (fact) เพื่อให้สาระความรู้โดยเฉพาะ  ได้แก่  หนังสือตำรา (textbooks)  หนังสือความรู้สาขาต่าง ๆ  เช่น ปรัชญา  ศาสนา  สังคมศาสตร์  ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์  ศิลปะ  และวรรณคดี   เป็นต้น อาจแบ่งหนังสือสารคดีเป็นประเภทย่อย ๆ  ได้อีกตามหน้าที่(function)  ของหนังสือ  คือ

               4.1.1.1  หนังสือแบบเรียนหรือตำรา (Textbooks)  คือ หนังสือประเภทหนึ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อหรือคู่มือในการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ และระดับการศึกษาต่าง ๆ

               4.1.1.2  หนังสือความรู้ทั่วไป (General  Book)เป็นหนังสือที่เสนอเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ไม่เฉพาะเจาะจงความรู้สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้อ่านและผู้สนใจทั่วไป

               4.1.1.3  หนังสือคู่มือครู  หลักสูตร ประมวลการสอน  โครงการสอน (Curriculum  Laboratory) หนังสือประเภทนี้ห้องสมุดจะจัดแยกไว้ต่างหากจากหนังสืออื่น ๆ

               4.1.1.4  หนังสืออ้างอิง (Reference  Book) เป็นหนังสือที่ใช้อ่านค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการเพียงตอนใดตอนหนึ่งเฉพาะตอนที่ต้องการ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม  ให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด  เช่น  พจนานุกรม สารานุกรม  ดรรชนี  หนังสือรายปี  เป็นต้น

      4.1.2  หนังสือบันเทิงคดี(Fiction) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียนและอาศัยประสบการณ์ จำลองชีวิตเพื่อให้ความเพลิดเพลินและแง่คิดคติต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต  ได้แก่  นวนิยาย นิทาน  รวมเรื่องสั้น หนังสือการ์ตูน หนังสือที่เขียนเพื่อมุ่งให้ความบันเทิง

ประโยชน์ของหนังสือ

               มนุษย์ได้รับประโยชน์จากหนังสือด้วยการอ่าน แต่หนังสือไม่มีอิทธิพลพอจะบังคับให้ใครอ่านได้  ฉะนั้น จึงต้องรู้จักเลือกอ่านเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล หนังสือสามารถให้คำตอบแก่ผู้ไม่รู้ในด้านต่าง ๆ  เช่น

               1.  ความรู้ทางการวิชาการ เป็นความรู้ที่ส่วนมากจะได้รับจากในห้องเรียนผ่านผู้สอนซึ่งถ่ายทอดมาจากหนังสือประเภทตำรา แต่การศึกษาในปัจจุบันความรู้เฉพาะในชั้นเรียน ไม่สามารถให้ผู้เรียนรู้กว้างไกลทันเหตุการณ์ปัจจุบันได้ จำเป็นที่ต้องอ่านหนังสือประเภทวิชาการอื่น ๆ        เพื่อส่งเสริมความรู้และความคิดให้ลึกซึ้งเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงขึ้น การแสวงหาความรู้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง หนังสือจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ใฝ่ในการศึกษา ได้พัฒนาไม่มีวันสิ้นสุด จะเห็นได้จากผู้ทรงคุณวุฒิล้วนแต่เป็นนักวิชาการที่ต้องศึกษาค้นคว้าตลอดเวลา

               2.   ความรู้ทางอาชีพ การประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องรู้จักปรับปรุงให้งานก้าวหน้ากว่าผู้อื่น โดยเฉพาะความรู้ในวิชาชีพจะพัฒนาตลอดเวลา จากการเปลี่ยนแปลง ทางธรรมชาติและเหตุการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ความรู้เดิมในการประกอบอาชีพย่อมล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ จำเป็นต้องปรับปรุง  ฉะนั้น ความสนใจในเรื่องการศึกษาค้นคว้าจากการอ่านหนังสือเพื่อนำความรู้มาใช้กับอาชีพ ย่อมนำความเจริญก้าวหน้าไปไกลกว่าผู้อื่นการศึกษาจากหนังสือ ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพได้อย่างดี

               3.  ความรู้เรื่องของชีวิต การดำรงชีวิตปัจจุบัน เป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องแก้ไขตลอดเวลา เพื่อการอยู่รอด ปัญหาจะเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน  จนกระทั่งเข้านอนในแต่ละวัน เป็นปัญหาทั้งส่วนตัว  ครอบครัว  การงาน ตลอดจนประเทศชาติ ผู้มีประสบการณ์ชีวิตจะถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะหนังสือ ทั้งทางวิชาการและบันเทิง  เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ศึกษา ฉะนั้นผู้สนใจการอ่านจะได้รับความรู้และความสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคลได้ มนุษย์มีจำนวนมหาศาล  ปัญหาก็มีจำนวนเท่าเทียมกัน การเป็นนักอ่านจะช่วยสร้างวิจารณญาณให้ผู้อ่านนำความรู้ที่ได้ จากหนังสือไปใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างดีในทุกๆ ทาง  ทั้งทางวิชาการหรือทางอาชีพดังกล่าวมาแล้ว ตลอดจนการดำรงชีวิตในสังคม เพื่อการอยู่อย่างสุขสบายและการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั้น ๆ

               4.  ความจรรโลงใจ เป็นการเสริมสภาพจิตใจให้แจ่มใส มีชีวิตกระตือรือร้นไม่ท้อถอยซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ความจรรโลงใจช่วยยกระดับความคิดให้พัฒนา วิธีการที่จะปฏิบัติได้ดังกล่าว มนุษย์เลือกได้ตามความถนัด  เช่น การเล่นหรือฟังดนตรีหรือการอ่านหนังสือ  เป็นต้น หนังสือจึงช่วยสร้างความจรรโลงใจให้มนุษย์ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงการอ่านหนังสือเล่มที่ถูกใจสนองความต้องการช่วยแก้ปัญหาที่คับข้องใจ ความจรรโลงใจก็จะเกิดแก่ผู้อ่านได้

               สรุปแล้วประโยชน์จากหนังสือมีหลายประการ ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามสภาพแต่ละบุคคลที่จะเลือกสนองความต้องการและนำไปใช้กับชีวิตของตนเป็นการประหยัดเวลาในการศึกษาค้นคว้าและใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนั้นๆ  ได้คุ้มค่า

คุณค่าของหนังสือ

               วิทยาการปัจจุบันกว้างไกล แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นแต่ความรู้ที่อยู่ในรูปหนังสือยังเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ การศึกษาค้นคว้ายังคงอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเป็นหลัก ถ้าเปรียบเทียบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ระหว่างประเภทโสตทัศนวัสดุกับหนังสือ หนังสือยังคงได้เปรียบกว่า  ดังนี้

               1.  หนังสือสะดวกต่อการใช้ สามารถอ่านได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดสถานที่ ซึ่งต่างกับโสตทัศนวัสดุที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยการใช้ และมีสถานที่เฉพาะ  เช่น  ภาพยนตร์ แถบภาพ หรือแถบเสียง  เป็นต้น

               2.  หนังสือให้รายละเอียด เนื้อหาได้มากและลึกซึ้งกว่าสื่ออื่น ๆ

               3.  หนังสือราคาถูกกว่า ถ้าเปรียบเทียบในคุณภาพเดียวกัน  แต่หนังสือที่ราคาสูง คุณภาพและประโยชน์จะมากกว่าสื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะคุณค่าในด้านอนุรักษ์ความรู้

               4. หนังสือช่วยสื่อความหมายและถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง เพราะเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเร้าให้เกิดความอยากทดลองปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้อ่านสามารถทบทวนตามได้  โดยไม่เร่งรีบ ต่างกับการใช้สื่อประเภทภาพยนตร์  หรือแถบภาพ ซึ่งต้องปฏิบัติให้ทันในเวลาจำกัด

               5. หนังสือจะส่งเสริมการสร้างนิสัยรักการอ่าน และศึกษาค้นคว้าได้มากกว่าสื่ออื่น ๆ เพราะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดอารมณ์และความคิดคล้อยตาม

               6.  การเก็บและบำรุงรักษาหนังสือจะสะดวกกว่าสื่ออื่นๆ  เพราะไม่ต้องมีเทคนิคและวิธีการที่ซับซ้อน

               7.  แม้ปัจจุบันวัสดุย่อส่วนต่าง ๆจะอนุรักษ์หนังสือเก่าไว้ได้ แต่ก็ยังอาศัยรูปแบบจากต้นฉบับหนังสือเดิม และวิธีการใช้ก็ยุ่งยากมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการอ่านจากหนังสือ

               สรุปแล้วหนังสือจะให้ประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

               1.  อธิบายเรื่องไม่รู้ให้กระจ่างได้ในขอบเขต และความสามารถของแต่ละบุคคล

               2.  ส่งเสริมความใฝ่รู้ให้แก่ผู้อ่านจากภาษาที่เข้าใจง่าย และรูปเล่มที่ดึงดูดความสนใจ

               3.  หนังสือจะบันทึกเรื่องราวในอดีตเป็นประวัติศาสตร์ สนับสนุนให้มีการศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางต่อไป

               4.  หนังสือจะกล่อมเกลาจิตใจผู้อ่านให้เกิดอารมณ์สุนทรี และประทับใจกับบุคคลและเหตุการณ์บางอย่าง

               5.  ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน  และส่งเสริมให้การอ่านเป็นความจำเป็นของชีวิต เมื่อต้องการทราบและแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิธีการแสวงหาคำตอบจากหนังสือ

               6.  หนังสือเป็นเพื่อนคลายเหงา ช่วยให้ผู้อ่านรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

หมายเลขบันทึก: 388668เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีมากเลยค่ะอ่านแล้วความรู้แน่นมากเลยค่ะ

ดีจร๊ ซีไม@มิน 55555555

สุดสวยยยยยยยย !

ขออนุญาตนำไปใช้อ้างอิงนะคะขอบคุณคะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท