ประวัติอำเภอบางระกำ


ประวัติอำเภอบางระกำ

ถิ่นฐานบ้านเกิดอำเภอบางระกำ 

 

การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

            ในอดีตมนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ที่มีแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง หรือทะเลสาบ อยู่บริเวณใกล้เคียง เพราะพื้นที่ดังกล่าวจะมีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมแก่การดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังสะดวกในการหาอาหารจำพวกสัตว์และพืช ที่มีอยู่ในน้ำและบนบก ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ที่จะมาเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง และยังไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่าที่ดุร้ายมากนัก

             การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในแต่ละท้องที่ของประเทศไทย ย่อมมีการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป จากชุมชนขนาดเล็ก รวมกันหลายๆชุมชน เป็นชุมชนขนาดใหญ่และกลายเป็นชุมชนเมืองในที่สุด  แต่การพัฒนาดังกล่าวย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เพราะมนุษย์ยังต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการดำรงชีวิต เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยหรือเป็นตัวกำหนด เช่น การประกอบอาชีพหรือการสร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงและเหมาะสมกับสภาพท้องที่ เป็นต้น

           ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนควรจะต้องเรียนรู้หรือศึกษาประวัติความเป็นมาของถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เพื่อจะได้ แนวความคิดจากในอดีต นำมาปรับปรุงใช้ในปัจจุบันและหาทางป้องกันในอนาคต อีกทั้งยังต้องการให้ทุกคนได้มีความตะหนัก มีความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

 

 ประวัติอำเภอบางระกำ 

 

           บางระกำเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ( ระหว่าง พ.ศ.1999-ไม่ปรากฏ ) เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงมาผนวชอยู่ที่วัดจุฬามณีในปี  พ.ศ.2007

 

  พระปรางวัดจุฬามณี 

         

              ได้มีชุมชนหนึ่งอาศัยอยู่ตามเรือนแพ  ลำแม่น้ำยม  ประกอบอาชีพทางการประมง  ซึ่งคาดว่าจะเป็นประชากรรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอบางระกำ  

               หลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนเริ่มปรากฏให้เห็นในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาระหว่าง  พ.ศ.  2112-2133     ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามกับประเทศพม่า จึงปรากฏชื่อสถานที่ต่างๆตามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงคราม เช่น แหล่งผลิตและรวบรวมศาสตราวุธเพื่อเตรียมการรบกับพม่า จึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “ ชุมแสงสงคราม ”  

 

  

พระบูชาและพระเครื่องทีได้จากวัดชุมแสงสงคราม(วัดปากคลอง)

 

         “ อำเภอชุมแสงสงคราม” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449   โดยมีขุนเผด็จประชาดุลย์ เป็นนายอำเภอคนแรก   ภายหลังได้ย้ายสถานที่ตั้งอำเภอใหม่ โดยได้ย้ายมาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ที่ตำบลบางระกำ   มีลักษณะเป็นเรือนแพ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แพหลวง”  ตั้งอยู่เหนือศาลเจ้าพ่อดาบทอง    แต่เมื่อถึงในฤดูน้ำหลาก   น้ำจะเอ่อล้นท้วมตลิ่ง   ทำให้ราษฎรซึ่งต้องใช้เรือในการสัญจรไปมา   ทำให้ลำบากในการติดต่อราชการ  

                 

 รูปศาลเจ้าพ่อดาบทอง

 

                   นายอำเภอสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าควรย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งอยู่บนพื้นที่เนิน ที่บ้านท่าโก  ตำบลบางระกำ  ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน  4  กิโลเมตร   เพื่ออำนวยความสะดวกให้ราษฎรในการเดินทางมาติดต่อกับทางราชการ         แต่ปรากฏว่าราษฎรต้องได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น  เพราะไม่มีถนน            ประกอบกับมีบ้านเรือนคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อย  และสัตว์ป่าดุร้ายชุกชุม   ราษฎรต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร   จึงได้มีการร้องเรียนให้ย้ายที่ว่าการอำเภอ   กลับมาตั้งยังที่ว่าการอำเภอเดิม 

 

                     วันที่   24   เมษายน   พ.ศ. 2460  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชโองการให้เรียกชื่ออำเภอตามชื่อตำบล  ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ   จึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอชุมแสงสงครามมาเป็น “อำเภอบางระกำ”   ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                     ในปี  พ.ศ. 2474   หลวงพิณพลราษฎร์ นายอำเภอขณะนั้น  เห็นความเดือดร้อนของราษฎรในการเดินทางไปติดต่อราชการที่บ้านท่าโก    จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งยังริมฝั่งขวาของแม่น้ำยม ใกล้กับวัดสุนทรประดิษฐ์   หมู่ที่  7   ตำบลบางระกำ  จนถึงปัจจุบัน 

                   

 ภูมินาม   ข้อสันนิษฐานความเป็นมาของชื่อ   “บางระกำ”   ซึ่งเป็นทั้งชื่อตำบลและอำเภอ    มีผู้ให้ความเห็นไว้   2   กระแส  ดังนี้

          กระแส 1  ที่มีชื่อนี้เข้าใจว่าแต่เดิมท้องที่ตำบลและอำเภอนี้เป็นท้องที่กันดาร การเดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลกไปอำเภอบางระกำ      เป็นไปด้วยความระกำลำบากอย่างยิ่ง     จึงได้เรียกกันว่า “วังระกำ”  ต่อมาได้เพี้ยนเป็น  “ บางระกำ”

         กระแส  2  ที่มีชื่อนี้เพราะสมัยก่อนบริเวณนี้มีต้นระกำขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า “บางระกำ”

    

          “ ต้นระกำ”  มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร เป็นไม้โตช้า ลำต้นมีสีดำ มีกิ่งก้านสาขา ดกมาก ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมคมยาวประมาณ  2-3   เซนติเมตร ใบและฝัก  รูปร่างคล้ายใบและฝักของต้นมะขาม ดอกมีสีชมพู   คล้ายดอกจามจุรีหรือฉำฉา ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะและน้ำท่วมขัง

 

 

 

 

มีต้นระกำก็ต้องมีมันนก เป็นของคู่กัน 

               ในฤดูแล้งชาวบ้านจะต้องออกไปหาฝืนมาเผาถ่านเพื่อเก็บไว้ใช้ในการหุงต้มทำอาหารเนื่องจากสมัยก่อนนั้นต้องใช้เตาถ่านกันทุกครัวเรือน  และต้นไม้ที่ชาวบ้านนิยมตัดนำมาเผาถ่านมากที่สุดได้แก่ ต้นระกำ   ซึ่งคุณสมบัติไม้ระกำนี้เมื่อเผาเป็นถ่านแล้ว   จะเป็นถ่านไม้ที่แกร่งและเป็นเชื้อเพลิงที่ดีมาก   เวลาชาวบ้านไปตัดไม้ระกำผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านจะได้กลับมาทำเป็นอาหารก็คือ “มันนก”     มันนก มักชอบขึ้นอยู่ในป่าระกำ ชาวบ้านจะสังเกตได้จากการดูเถาที่เลื้อยขึ้นมา  ส่วนใหญ่แล้วเถามันนกจะอาศัยลำต้นและกิ่งก้านของต้นระกำในการยึดเหนี่ยว  ชาวบ้านจะใช้เสียมขุดนำเอาหัวมันนกนำกลับมาทำเป็นอาหาร   ทำได้ทั้งอาหารหวานและอาหารคาว    ทำเป็นอาหารคาว เช่น แกงเรียงมันนก  อาหารหวานได้แก่น้ำกะทิมันนก  และที่ง่ายที่สุดก็คือ   มันนกต้มจิ้มกับน้ำตาลทราย  มันนกที่ที่ขุดได้จากป่าระกำจะมีเนื้อแน่นและเหนียวกว่ามันนกที่ขุดได้จากป่าไม้ชนิดอื่น

               บางระกำ  นอกจากจะมี “ต้นระกำ” จำนวนมากแล้ว ยังมีพืชอีก 2 ชนิด  ซึ่งถ้าไม่กล่าวถึงไว้ในที่นี้ก็คงจะต้องนับวันเลือนหายไป กับคนรุ่นเก่า  เยาวชนรุ่นหลังก็คงไม่มีใครได้รู้จัก ได้แก่ “ พงระกำกับเห็ดระกำ ” ซึ่งธรรมชาติให้มาเป็นของคู่กัน

             

พงระกำกับเห็ดระกำ

                      พงระกำ    พงระกำเป็นหญ้าตระกูลหนึ่งมีลักษณะลำต้นแข็งมีขนาดใหญ่ประมาณนิ้วมือ( เส้นรอบวงประมาณ   6-7  เซนติเมตร) สูงประมาณ  2   เมตรเศษ   ขึ้นแตกหน่อเป็นกอๆ อย่างหนาแน่นกินพื้นที่กว้างใหญ่จนเต็มท้องทุ่ง  ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ   โดยเฉพาะบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำยมเช่นเดียวกับต้นระกำ

                   ในป่าพงระกำนี้  จะมีสัตว์หลากหลายชนิดชอบอาศัยอยู่ เช่น นก หนู หมูป่า เต่า และงู   เมื่อถึงกลางฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม    ชาวบ้านจะเริ่มออกหาของป่าทีอยู่ในป่าพงระกำ   โดยเฉพาะมีเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวบ้านมากได้แก่  “ เห็ดระกำ ”

                    เห็ดระกำ   มีลักษณะหลายรูปแบบ  เช่น  รูปกลม  รูปแบน    รูปรี    ผิวมีสีขาว  ไม่มีหมวก   บางต้นมีขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่บ้าน   ชอบขึ้นเฉพาะที่โคนต้นพงระกำที่ทับถมกันเป็นเวลานานเท่านั้น เห็ดบางลูกจะขึ้นอยู่บนยอดพงที่แตกใหม่ดูขาวสะอาดและสวยงามยิ่งนัก  

          ชาวบ้านเวลามุ่นหาเห็ดก็ต้องระวังอันตรายจากสัตว์ป่าดังที่กล่าวมา    เพราะสัตว์ป่าเหล่านั้นก็จะออกมาหากินเห็ดระกำเป็นอาหารเช่นกัน โดยเฉพาะเต่า และหมู่ป่า แต่ที่ชาวบ้านกลัวมากที่สุดได้แก่ งู กับช้าง   งูชอบอาศัยและวางไข่อยู่บนยอดพงระกำที่ปกคุมเข้าหากันอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะงูจงอาง   ส่วนช้างนั้นชาวบ้านเล่าว่าเวลามุ่นป่าระกำอยู่นั้นจะมองขึ้นไปบนท้องฟ้าไม่เห็นเลยเนื่องจากความหนาแน่นของพงระกำที่ปกคลุม   ดังนั้นชาวบ้านจะมองไม่เห็นอะไรเลยแม้ช้างตัวใหญ่ก็ตาม และในขณะหาของป่า    ต้องคอยสังเกตหาต้นไม้ใหญ่   เพื่อปีนขึ้นไปดูทิศทางเพื่อหาทางกลับบ้านให้ถูกหรือไม่ก็ต้องมุ่นกลับทางเดิม

                        เห็ดระกำนี้ชาวบ้านจะนำมาปรุงอาหาร ซึ่งจะมีรสชาติมันเหมือนน้ำกะทิมะพร้าวช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้น  เช่นถ้านำมาใส่ในแกงเรียงฟักทองจะทำให้น้ำแกงมีสีขาวข้นเหมือนใส่กะทิสด  แต่ถ้านำมาใส่กับผัดบวบก็จะทำให้น้ำผัดบวบมีน้ำสีขาวข้นและมีรสชาติมันอร่อยขึ้น จะรับประทานดิบๆก็ได้    จะมีรสชาติมัน     โดยเฉพาะต้นที่อยู่บนยอดพงจะสะอาดรับประทานดิบได้เลย  ถ้านำมาปิ้งรับประทานกับน้ำพริกจะอร่อยมาก   หรือจะนำมาต้มยำก็อร่อยเช่นกัน  ชาวบ้านถ้าเก็บเห็ดมาได้จำนวนมาก   ก็จะนำมาร้อยพวงด้วยตอกไม้ไผ่  มัดเป็นวงกลมห้อยไว้ให้แห้งเก็บเพื่อไว้รับประทานได้นาน   เวลาจะนำมารับประทานก็จะนำมาแช่น้ำให้อ่อนนุ่มเสียก่อนจึงจะนำมาปรุงเป็นอาหาร   

                 เห็ดระกำนี้ปัจจุบันนี้หาดูได้ยากมากเนื่องจาก“ พงระกำ ” ได้ถูกตัดทำลายไปหมด ซึ่งในช่วงแรกชาวไร่ตัดต้นพงระกำไปทำค้างถั่ว  หรือนำลำต้นมาขัดสานเป็นฝาบ้านให้ความคงทนได้เป็นอย่างดี   ปลวกไม่รบกวนอีกด้วย   แต่ปัจจุบัน พงระกำ ถูกชาวไร่ชาวนาไถทิ้งเพื่อ  ใช้ต้องการพื้นที่ในการทำไร่ทำนาหมด ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นหลังคงไม่มีใครได้รู้จักหรือได้ยินคำว่า  “พงระกำและเห็ดระกำ” อีกต่อไป

    

 นอกจากในป่าพงระกำ จะมีเห็ดระกำยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มักจะพบในป่าระกำได้แก่

“ ดอกดิน ”

          

 ดอกดิน 

 

              ดอกดิน      ดอกดินเป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือนกาฝาก  อาศัยอยู่ตามรากไม้ รากไผ่ หรือรากหญ้าที่มีสภาพชุ่มชื้น     ลำต้นเป็นเง้าขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน  ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กที่โคนกอ สังเกตได้ยาก     ดอกผุดจากลำต้นใต้ดินมีจำนวน   1-2   ดอกต่อเหง้า  ก้านดอกตรงกลางยาว 10-20  ซม. ดอกมีลักษณะเหมือนดอกบัวตูมหรือเป็นถ้วยคว่ำ เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง สีของก้านดอกและกลีบดอกด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแกมชมพู มีลายเส้นเล็กๆตามแนวยาวของก้านดอก เมื่อแก่จัดกลีบนอกจะขยายออกทำให้มองเห็นกลีบดอกชั้นในซึ่งมีสีม่วงเข้ม กลีบดอกบาง มีเกสรตัวเมียสีเหลือง

กลีบดอกชั้นในมีสาร“ออคูบิน”  อยู่ และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว   ดอกสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นขนมได้ โดยนำดอกมาโขลกผสมกับแป้งข้างเหนียวหรือ (แป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งมันสำปะหลัง) กะทิ และน้ำตาลแล้วโรยด้วยมะพร้าวขูดเคล้าเกลือเล็กน้อยนำไปนึ่ง จะได้    “ขนมดอกดิน”       ที่มีสีน้ำเงินเข้มเกือบดำมีรสชาติหวานมันและได้กลิ่นหอมของดอกดิน   แม่ค้าที่มีอาชีพทำขนมในบางระกำบอกว่าดอกดินที่เก็บได้จากป่าพงระกำเมื่อมาทำขนมจะให้กลิ่นหอมกว่าดอกดินที่เก็บได้จากป่าไผ่  

                ทั้ง  “เห็ดระกำ”  และ “ดอกดิน”  ปีหนึ่งจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเฉพาะในช่วงฤดูฝน

                 วิถีชีวิตของชาวบ้านบางระกำในอดีตนั้นมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายโดยพึ่งพาธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์  ในน้ำมีปลา ในไร่นาก็มีอาหารให้เก็บเกี่ยว  กินใช้ไม่รู้จักหมด เมื่อมีมากก็เก็บไว้กินไว้ใช้ในวันหน้า หรือแบ่งปันแลกเปลี่ยนอาหารกัน       คนบางระกำมีปลาร้า      ปลาเกลือ    ปลาย่าง  ปลาจ่อม     ปลาเจ่า  น้ำปลาปลาสร้อย  จะนำอาหารดังกล่าวใส่กระบุงแล้วหาบไปแลกกับข้าวสารกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง   เช่นตำบลปลักแรด    ซึ่งไม่ค่อยมี อาหารประเภทปลา แต่จะมีผลผลิตจากข้าวได้เป็นจำนวนมากเพราะพื้นที่ตำบลปลักแรดอยู่ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงจึงเหมาะกับการทำนา   แต่ชาวบ้านตำบลบางระกำอยู่ติดกับแม่น้ำ  น้ำจะท่วมขังทุกปีจึงไม่เอื้อกับอาชีพทำนา     จึงเหมาะสมกับอาชีพทางการประมงมากกว่า   

               ดังนั้นเราจะเห็นว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านบางระกำในอดีตนั้น   สอดคล้องกับปรัชญาพระราชทาน  “เศรษฐกิจพอเพียง”   ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน   ที่ให้แนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันให้น้อมนำ   ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ   ให้เหมาะสมในแต่ละครอบครัวและชุมชน 

     

 

 

อำเภอบางระกำในปัจจุบัน 

คำขวัญอำเภอบางระกำ           

หลวงพ่ออินทร์ล่ำค่า  ยอดน้ำปลา ปลาสร้อย    สุนัขน้อยพันธุ์บางแก้ว 

สัญญาลักษณ์ประจำอำเภอ     รูปช้าง 

ลักษณะที่ตั้ง 

     อำเภอบางระกำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพิษณุโลก ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำยม  หมู่ที่ 7 ตำบลบางระกำ  ระยะทางจากจังหวัดพิษณุโลก  ถึงที่ว่าการอำเภอบางระกำ  17  กิโลเมตร

เนื้อที่                   

อำเภอบางระกำ มีเนื้อที่ประมาณ  992.043  ตารางกิโลเมตร  หรือ 620,026.87 ไร่ 

อาณาเขตติดต่อ 

ทิศเหนือ            

ติดต่อกับ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพรหมพิราม 

จังหวัดพิษณุโลก

ทิศตะวันออก     

ติดต่อกับอำเภอเมืองพิษณุโลก

ทิศใต้               

ติดต่อกับอำเภอสามง่ามและอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร

และอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

ทิศตะวันตก        

ติดต่อกับอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยและอำเภอลานกระบือจังหวัดกำแพงเพชร

ลักษณะภูมิประเทศ    

         พื้นที่          พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเอียง ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม ตอนบนและตอนล่างเป็นที่สูง  หรือมีลักษณะเหมือนท้อง กระทะ

         สภาพดิน    ดินโดยทั่วไปเป็นดินทราย

แหล่งน้ำ        แม่น้ำยมนี้มีต้นน้ำอยู่ในท้องที่จังหวัดเชียงราย คือ เกิดจากเขาขุนยวม ในอำเภอปง จังหวัดเชียงราย ไหลลงทางทิศใต้ เข้าเขตจังหวัดแพร่  และเข้าสู่เขตจังหวัดสุโขทัย ผ่านอำเภอศรีสัชชนาลัย, อำเภอสวรรคโลก, อำเภอศรีสำโรง, อำเภอเมืองสุโขทัย,   อำเภอกงไกรลาศ      แล้วจึงเข้าเขตจังหวัดพิษณุโลกที่ตำบลชุมแสงสงคราม,ตำบลบางระกำ และตำบลวังอิทก    เข้าเขตจังหวัดพิจิตร  ผ่านอำเภอโพทะเล   เข้าเขตจังหวัดนครสวรรค์ โดยไหลลงไปบรรจบกันกับแม่น้ำน่านที่ตำบลเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์  รวมแล้วแม่น้ำยมมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ     550  กิโลเมตร  ในส่วนที่ผ่านอำเภอ

บางระกำ   มีความยาวประมาณ   60     กิโลเมตร   

              แม่น้ำยม   ถือว่าเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้กับผู้อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นอย่างมาก ได้แก่อาชีพการทำประมง และอาชีพการเกษตร

              บึงตะเค็ง   เป็นแหล่งรองรับ  และกักเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอำเภอบางระกำ  ให้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกับชาวบ้านรอบบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก   อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาโดยธรรมชาติ ที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอ   และมีตำนานความเป็นมาที่น่าศึกษาและค้นคว้าอย่างยิ่ง

               

สภาพภูมิอากาศ 

          เป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู คือ

          ฤดูร้อน         เริ่มตั้งแต่ เดือนเมษายน         -         เดือนมิถุนายน

          ฤดูฝน           เริ่มตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม      -         เดือนกันยายน

          ฤดูหนาว       เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม            -         เดือนธันวาคม

การปกครอง   มีการปกครอง 2 ลักษณะ คือ (  ข้อมูลปี  2551 )

1. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองเป็น   11   ตำบล  142  หมู่บ้าน ดังนี้

     ตำบลบางระกำ   ตำบลหนองกุลา   ตำบลพันเสา   ตำบลชุมแสงสงคราม   ตำบลท่านางงาม

     ตำบลบ่อทอง   ตำบลบึงกอก   ตำบลปลักแรด   ตำบลนิคมพัฒนา   ตำบลคุยม่วง   ตำบลวังอิทก

2. การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเขตการปกครอง เป็น   3   เทศบาล   10   องค์การบริหารส่วน 

    ตำบล

    2.1 เทศบาล

          2.1.1    เทศบาลตำบลบางระกำ

          2.1.2    เทศบาลตำบลปลักแรด

          2.1.3    เทศบาลตำบลพันเสา

     2.2 องค์การบริหารส่วนตำบล

          2.2.1   องค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ

         2.2.2    องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุลา

         2.2.3    องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม

         2.2.4    องค์การบริหารส่วนตำบลท่านางงาม

         2.2.5     องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง

         2.2.6     องค์การบริหารส่วนตำบลบึงกอก

         2.2.7     องค์การบริหารส่วนตำบลปลักแรด

        2.2.8      องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมพัฒนา

        2.2.9     องค์การบริหารส่วนตำบลคุยม่วง

        2.2.10    องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก

 

สภาพเศรษฐกิจ

             ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชที่การเกษตรประมาณ 469,996 ไร่ อยู่ในเขตบริการระบบชลประทานโครงการพลายชุมพล เขื่อนนเรศวร 3 ตำบลได้แก่ตำบลท่านางงาม ตำบลวังอิทก และตำบลบางระกำ พื้นที่นอกจากนี้อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำฝน

     ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ “น้ำมันดิบ” บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานขุดเจาะได้บริเวณ “หลุมปรือกระเทียม” หมู่ที่  2   ตำบลบึงกอก  สามารถผลิตได้ประมาณ 100 บาเรลต่อวัน

 

การคมนาคม 

             การติดต่อระหว่างอำเภอ-จังหวัด ใช้ทางหลวงหมายเลข  1065  มีรถโดยสารประจำทางตลอดวันการติดต่อภายในอำเภอส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง 

 

วัฒนธรรมประเพณี 

              อำเภอบางระกำ เป็นที่อยู่ของประชาชนที่อพยพมาจากภาคต่างๆหลายพื้นที่มาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนและได้ปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน     ตามแบบบรรพบุรุษเช่นประเพณีการเสนเรือน

ของชาวไทยโซ่ง ส่วนใหญ่อพยพมาจากแถบจังหวัดราชบุรี  นครปฐม  ลพบุรี สุพรรณบุรี   มาอยู่ในพื้นที่ตำบลบางระกำ ตำบลบ่อทอง ตำบลวังอิทก ตำบลพันเสา  ประเพณีแห่บั้งไฟของชาวโคราชส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอยู่ในพื้นที่นิคมพัฒนา ตำบลหนองกุลา แต่การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปกับวัฒนธรรมไทยทั่วไป เช่นประเพณีลอยกระทง  สงกรานต์  วันขึ้นปีใหม่ วันเข้าพรรษา  เป็นต้น

 

 

สินค้าชุมชน  11  ตำบลของอำเภอบางระกำ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 388665เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท