ผมเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชนเป็นมือใหม่ของ Gotoknow วันนี้ขออนุญาติแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน รูปแบบของผมก็คือขอความร่วมมือชุมชนในการกำจัดลูกน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์บ้าน วัด โรงเรียน ทำมาก็หลายปี แต่ทีท่าก็ไม่เห็นว่างานจะพัฒนาไปอย่างไร องค์ความรู้ก็ไม่มีอะไรใหม่นอกจากการกำจัดลูกน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ด้วยวิธีกายภาพ เคมี ชีวภาพ ใครที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคงจะทราบดี วิธีการที่ทำก็คือให้ อสม.ออกสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์พร้อมหยอดทรายทีมีฟอส (ทรายอะเบท) และปล่อยปลากินลูกน้ำ แล้วให้ อสม.ส่งรายงานกลับมาว่าพบภาชนะที่มีลูกน้ำมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาคำนวณหาค่าความเสี่ยง โอกาสการเกิดโรคไข้เลือดออกเป็นเท่าใด แล้วรีบเข้าไปดำเนินการหากพบว่ามีค่าความเสี่ยงเกินเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ก่อนอื่นขออนุญาตทบทวนความรู้เรื่องแหล่งน้ำขังที่พบลูกน้ำนำโรคไข้เลือดออกก่อนก็แล้วกันนะครับ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามหลักวิชาการ คือพบในน้ำใสและนิ่ง ภาชนะเหล่านั้นได้แก่ อ่างอาบน้ำ อ่างราดส้วม โอ่งน้ำใช้ ซึ่งเป็นภาชนะที่อยู่ในบ้าน ส่วนนอกบ้าน พบประจำ คือ ยางรถยนต์ อ่างล้างเท้า อ่างปูน เมื่อเรารู้ว่าภาชนะใดที่มีโอกาสเกิดลูกน้ำก็ใส่ทรายทีมีฟอสหรือปล่อยปลาแล้วแต่จะหาได้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ก็ใส่ลงไปในภาชนะดังกล่าว ฟังดูก็น่าจะเรียบร้อยดีเพราะก็รู้อยู่แล้วว่าจะใส่ทรายที่ไหน เมื่อใส่แล้วลูกน้ำก็ตาย แต่ก็นั้นแหละครับ เรื่องง่ายๆกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อพบว่าเมื่อไรก็ตามที่มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก เราเข้าไปสำรวจบ้านก็มักจะเจอลูกน้ำยุงลายโดยเฉพาะในอ่างอาบน้ำ อ่างราดส้วมที่อยู่ในบ้านเสียทุกครั้งไป แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
จากการสอบถาม อสม. ที่เป็นเขตรับผิดชอบ มักจะได้คำตอบว่า “ได้เอาทรายมาใส่ให้แล้วแต่ชาวบ้านไม่ให้ใส่” หรือ “มาแล้วไม่เจอใครบ้านก็ปิดก็เลยเข้าไม่ได้” หรือ “บ้านหมาดุใครจะเข้าหละ” หรือ “ตอนนี้ฉันไม่ว่างก็เลยไม่ได้ใส่” หรือ “ฉันให้ทรายไว้แล้วให้เจ้าของบ้านเอาไปใส่เอง” เป็นต้น
จากการสอบถาม บ้านที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก เราก็ได้คำตอบว่า “ไม่เห็นมีใครมาดูแลเลย” หรือ “ไม่เห็นจะได้ทรายเลย” หรือ “ยุงเยอะมากไม่เห็นมาฉีดพ่นฆ่ายุงเลย”
สิ่งที่ได้เรียนรู้ 1) ปัญหาการสื่อสารระหว่าง อสม.และชาวบ้าน ว่าใครจะดำเนินการกำจัดลูกน้ำ เจ้าของบ้านหรือ อสม. จึงเกิดเป็นช่องว่างการทำงาน 2) ชาวบ้านคิดว่าเป็นหน้าที่ของอสม.จึงรอ อสม.มาดำเนินการทั้งที่เป็นบ้านของตนเอง ซึ่งสิ่งที่ควรเป็นก็คือ เจ้าของบ้านต้องดำเนินการเอง และ อสม.ควรเป็นฝ่ายสนับสนุนความรู้และเทคนิควิธีการ 3) อสม.ขาดการติดตามหากพบว่ามีปัญหา เช่น เมื่อคราวที่แล้วไปไม่พบเจ้าของบ้านก็ควรจะไปพบใหม่ในภายหลัง 4) ความรู้เรื่องยุงลายกับลูกน้ำก็ได้ประชุมชี้แจงไปแล้วโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่เมื่อสอบถามความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกชาวบ้านบอกจำไม่ได้
การแก้ไข การดำเนินงานป้องกันไข้เลือดออก อสม.และเจ้าของบ้านควรประสานงาน เป็นรายครัวเรือนเพื่อลดช่องว่างการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักทั้งหมู่บ้าน อาจใช้เงื่อนไขทางสังคมเข้ามาช่วย เช่น ตัดสิทธิความช่วยเหลือที่พึงได้พึงมี หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามกฎของหมู่บ้านหรือการทำประชาคม หรือการเสริมแรงสร้างการจูงใจ การให้รางวัลบ้านปลอดลูกน้ำยุงลายหากพบว่าบ้านนั้นไม่พบลูกน้ำ คาดว่าหากทำได้ตามนี้เรื่องง่ายๆก็จะเป็นเรื่องง่ายอย่างที่คิด
เล่าได้มองเห็นภาพความจริง ขอให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการนะครับ จะได้เป็นเรื่องง่ายดังคิดครับ
แล้วจากปัญหาข้างต้นเราจะแก้ไขกันอย่างไรดีที่ให้ อสม.และ ชาวบ้านคิดไปในทางเดียวกัน