นปส.55 (21): ไม่รู้ไม่ชี้


สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีหลักสำคัญคือ“เปิดเป็นหลัก ปิดเป็นข้อยกเว้น มีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้” และ “รัฐรู้อะไร ประชาชนมีสิทธิรับรู้ในสิ่งนั้นได้” และ “ข้อมูลข่าวสารของราชการ ประชาชนยิ่งรู้ ประเทศยิ่งโปร่งใสและพัฒนา”

ย่างเข้าปลายสัปดาห์ที่ 7 ของการฝึกอบรม เท่าที่ได้คุยกับหลายๆคน มีความมุ่งหวังอันหนึ่งว่าจะปรับเรื่องการทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อจะลดน้ำหนักและรอบเอว ดูแล้วแต่ละคนให้ความสนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพกันมาก ผมเองก็น้ำหนักลดไปได้ 2 กิโลกรัม ตอนเช้าทานสลัดผักกับข้าวเหนียวปิ้งสองอัน กลางวันทานข้าวกล้องกับกับข้าวหลากหลาย ตอนเย็นทานสลัดผักสลับกับข้าวกล้องและกับข้าว ไม่สามารถลดมื้อเย็นได้ และมื้อเย็นจะมีอาหารที่หลากหลายและน่าทานมาก ในขณะที่มื้อเช้ามักมีแค่ข้าวต้ม หรือต้มเลือดหมูพร้อมชากาแฟและขนมปังเท่านั้น จากตอนที่ 19 จะเห็นว่าจะผิดหลักการทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ควรจัดมื้อเช้าให้หลากหลายเต็มที่ ส่วนมื้อเย็นเน้นผักหรือผลไม้เป็นหลัก

นึกถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ได้เรียนไปเมื่อวาน หลักการต่างๆกระจ่างชัดมาก แต่คิดว่าในทางปฏิบัติก็ยากมากเช่นกัน เพราะคนต้องเปิดใจ เข้าใจและยอมรับฝ่ายตรงข้าม อาจารย์เอกชัยพูดไว้ว่า “สันติวิธีไม่ใช่วิธีคิด ไม่ใช่วิธีพูด แต่เป็นวิธีทำ” เราต้องใช้สันติวิธีเพราะความรุนแรงทุกชนิดมีต้นทุน การเสวนาพูดคุยเป็นการฟังเพื่อเข้าใจ เปิดรับความคิดผู้อื่น เราก็อาจมีส่วนผิด คนอื่นก็อาจมีส่วนถูก พยายามทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน หาทางทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ และเกิดสถานการณ์ชนะ-ชนะ

ที่สำคัญผู้ปกครองต้องมีธรรม ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม และน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ในหลวงทรงเน้นพัฒนาคน ระเบิดจากข้างใน (ปลุกจิตสำนึก พึ่งตนเองได้ ความพอเพียง ขาดทุนคือกำไร) ทำงานอย่างมีความสุข คุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน บริการรวมที่จุดเดียว ปลูกป่าในใจคน การให้ รู้รักสามัคคี ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาเริ่มจากจุดเล็ก คำนึงภูมิสังคม พัฒนาอย่างองค์รวมครบวงจร/บูรณาการ ไม่ติดตำราทำให้ง่าย มีลำดับขั้นตอน มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก ประหยัดเรียบง่ายได้ประโยชน์ ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ การมีส่วนร่วม ซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน

อาจารย์หมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็ได้กล่าวถึงลักษณะความขัดแย้งในสังคมไทยที่มาจากหลายปัจจัยเช่น ความขัดแย้งบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ความขัดแย้งบนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน การเมือง และสาเหตุความขัดแย้งโดยรวมก็มาจากบุคคล อำนาจ ผลประโยชน์ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ถ้ามีสาเหตุความรุนแรงเช่น การขาดความยุติธรรมในสังคม วัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจ กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย แนวคิดการพัฒนา การขาดความรู้และทักษะและวิธีคิดและการศึกษา

ลักษณะความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ 6 ประการคือความรุนแรงในครอบครัว (เด็ก/สตรี) ในชุมชน (แผนพัฒนา/สิทธิชุมชน) องค์กรอาชญากรรม/ยาเสพติด/การค้ามนุษย์/ค้าอาวุธ จากองค์กรธุรกิจเอกชน (การพัฒนา/ละเมิดผู้บริโภค/คนงาน/ธุรกิจยา) จากรัฐ (สิทธฺพลเมือง/การเมือง) และสงคราม/อาวุธสงคราม)

อาจารย์นิรันดร์ยังได้พูดถึงการคอรัปชั่น 4 ระดับคือระดับข้างถนน (ส่วยทางหลวง) ติดสินบนทางธุรกิจ (ธุรกิจลงทุน/สัมปทาน/โครงการรัฐ) ติดสินบนธุรกิจใต้ดิน (บ่อนพนัน/หวย/ยาเสพติด/ค่าคุ้มครอง) และคอรัปชั่นระดับสูง (ผลประโยชน์ทับซ้อน/ธุรกิจการเมือง/ทุจริตเชิงนโยบาย)

แนวทางสันติวิธีในสถานการณ์ของสังคมไทยปัจจุบัน จะต้องค้นหาความจริง บังคับใช้กฎหมาย (นิติรัฐ/นิติธรรม) การฟื้นฟูจิตสำนึกใหม่สาธารณะ การเยียวยาคนและสังคม การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง และจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (สิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน) ทั้งนี้ “สันติวิธีและสันติภาพคือการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อลดความรุนแรง ในสภาพสงครามไม่มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน” และอาจารย์ได้ยกคำพูดที่น่าสนใจของคุณอนุช อาภาภิรมที่ว่า “หากไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่อาจมีสันติภาพ เมื่อไม่มีสันติภาพ ก็ไม่อาจมีอนาคตที่ยั่งยืนของคนและสังคมได้”

วันพุธที่ 2 มิถุนายน 2553 ช่วงเช้าเรียนวิชาการรักษาความมั่นคงภายในประเทศไทย โดยคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขา สมช. ที่กล่าวถึงความมั่นคงของชาติ 5 กลุ่มคือความมั่นคงทางการเมือง ทางการทหาร ทางสังคม ทางเศรษฐกิจและทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะนี้ไทยเราเผชิญปัญหาความมั่นคงเกือบทุกด้าน เหมือนสงครามล้อมประเทศและรุกเข้ามาในประเทศแล้ว แต่คนไทยยังรู้สึกเฉย วิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่ ธุรกิจหลายประการถูกชาวต่างชาติกว้านซื้อและครอบงำ

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางด้านประเพณีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสีสะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงทางการเมืองและทางสังคม ปัญหาการนำเข้าเทคโนโลยีพร้อมเสพย์ โดยที่ไม่สามารถผลิตเองได้ สะท้อนถึงความอ่อนแอทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

การจะมีความมั่นคงของชาติได้จะต้องมีทั้ง 3 ระดับคือ ระดับบุคคล ระดับรัฐและระดับระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาในหลายๆด้านแล้ว สังคมไทยอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด เหมือนกับคนที่กำลังป่วยเพราะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง (Social Immunodeficiency Syndrome: SIDS) คล้ายๆเอดส์ (AIDS) ซึ่งผมเคยเขียนบทความไว้ใน http://gotoknow.org/blog/practicallykm/6882  

ช่วงบ่าย เรียนวิชา บทบาทของประเทศไทยในเวทีการเองระหว่างประเทศ ศ.ดร. สุรชัย ศิริไกร ไทยมีภาพพจน์ดีในสายตาต่างประเทศมานาน เราเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งในยุคล่าอาณานิคม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็รอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามกับญี่ปุ่นด้วยขบวนการเสรีไทย ช่วงสงครามเย็นเราก็ร่วมกับอเมริกาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ร่วมก่อตั้งSEATO

ในปี ค.ศ. 1967 ไทยก็ร่วมกับสมาชิก 5 ชาติก่อตั้ง ASEAN มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาและสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการขยายความร่วมมือของอาเซียนอย่างกว้างขวาง แต่หลังจากการปราบปรามยาเสพติดที่ส่อไปในทางการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศไทยเริ่มเสียชื่อเสียง การปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้ความเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเสรีหมดไป การพัฒนาประชาธิปไตยหยุดชะงัก การประท้วงของกลุ่มประชาชนต่างๆจนเกิดความรุนแรงก็ส่งผลให้ภาพพจน์ของไทยในสายตาต่างชาติย่ำแย่ลงไปมาก ทำให้ไทยสูญเสียความเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน การลงทุนของต่างชาติลดลงและต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของไทย การพัฒนาประเทศที่ยึดติดกับอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นก็จะต้องมีการปรับตัวไปให้ความสำคัญกับจีน อินเดียและแอฟริกามากขึ้น

ตอนผมเรียนที่เบลเยียม อาจารย์นำเสนอเรื่องประเทศไทยว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เพื่อนๆต่างชาติในชั้นเรียนฮือฮากันมาก แต่เวลาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เขาบอกว่าไม่เห็นมีเขียนเกี่ยวกับประเทศไทย (Thailand) เลย ผมเลยบอกว่า ต้องดูชื่อประเทศสยาม (Siam) เพราะเราเพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศไม่นานนัก และอีกประเด็นเวลาผมนำเสนอว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย หลายๆคนจะค้านว่า มีปฏิวัติรัฐประหารจะเป็นประชาธิปไตยได้ไง

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553 เรียนวิชาวิชาสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดย รศ. ดร. ไชยา ยิ้มวิไล ซึ่งเพิ่งมารับหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี แทนอาจารย์ชาติชายที่หมดวาระแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การแสดงความคิดเห็นและสิทธิในข้อมูลข่าวสารไว้ รวมทั้งมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 ที่มีอยู่ 7 หมวด บทเฉพาะกาลและ 43 มาตราโดยหลักการและแนวคิดของ พ.ร.บ.ฯคือ “เปิดเป็นหลัก ปิดเป็นข้อยกเว้น มีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้” และ “รัฐรู้อะไร ประชาชนมีสิทธิรับรู้ในสิ่งนั้นได้” และ “ข้อมูลข่าวสารของราชการ ประชาชนยิ่งรู้ ประเทศยิ่งโปร่งใสและพัฒนา

เมื่อมีข้อมูลข่าวสาร การได้รับรู้จะทำให้เกิดการตื่นตัว รู้จักสิทธิ-เสรีภาพ-กฎหมาย เกิดการปกป้อง หวงแหน รักษาผลประโยชน์ และนำไปสู่อำนาจต่อรอง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมี 2 ด้านคือในทางการเมือง และในทางพิทักษ์สิทธิประโยชน์

สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “มุ่งสร้างสังคมโปร่งใส พัฒนาภาครัฐ คุ้มครองสิทธิประชาชน” มีภารกิจหลัก 4 ด้านคือพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมการปฏิรูปราชการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส พัฒนาการจัดการข้อมูลข่าวสาร และพัฒนาโครงสร้างและโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างทั่วถึง

แต่อย่างไรก็ตามแม้การขอดูข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิของประชาชน แต่เราก็ต้องใช้ดุลยพินิจในการปฏิเสธการขอดูได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ การบังคับใช้กฎหมาย ความเห็นภายใน ความปลอดภัยของบุคคล ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล และกรณีกฎหมายหรือบุคคลเจ้าของข้อมูลกำหนดมิให้เปิดเผย

ช่วงบ่าย เรียนวิชา งบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน โดย ดร. ดวงตา ตันโช จากสำนักงบประมาณ บรรยายถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 การวิเคราะห์ความเสี่ยง หลักการและแนวคิดการบริหารงบประมาณและองค์ประกอบของ PART อาจารย์กล่าวว่าระบบงบประมาณที่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเนื่องจากผู้บริหารประเทศไม่สามารถใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือในการบริหารนโยบาย กระทรวงมีระบบไม่เอื้ออำนวยให้มีการบริหารและรับผิดชอบอย่างจริงจังและสำนักงบประมาณเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ

ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ (SPBB) มีองค์ประกอบที่สำคัญคือมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานตามผลผลิต ผลลัพธ์ การมอบออำนาจการบริหารจัดการงบประมาณ การเพิ่มขอบเขตความครอบคลุมของงบประมาณ ระบบการติดตามและประเมินผลความสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ และเน้นหลักการธรรมาภิบาล

การบริหารงบประมาณ เป็นกระบวนการจ่ายเงินงบประมาณ มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วนคือการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี การใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่าย การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย และการรายงานผล

PART: Performance assessment rating tool เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของแผนหน่วยงานกับความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผลลัพธ์ ผลผลิต กิจกรรมและงบประมาณอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการประเมินผลเพื่อปรับแผนการดำเนินงานของหน่วยงาน มีองค์ประกอบด้วยชุดคำถามในเรื่องจุดมุ่งหมายและรูปแบบ การวางแผนกลยุทธ์ การเชื่อมโยงงบประมาณกับผลผลิต การบริหารจัดการของหน่วยงาน และการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2553 เดินทางไปศาลปกครองเพื่อเรียนวิชา วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครองของไทยและศึกษาดูงานศาลปกครองด้วย มีอาจารย์สุชาติ เวโรจน์ เลขาธิการศาลปกครองเป็นผู้บรรยายและนำชมศาลปกครอง กระบวนการยุติธรรมของไทยมี 3 ประเภทคือ

ทางอาญา มีการสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจ/ทนายความ/ผู้ต้องหามาเกี่ยวข้อง สั่งฟ้องโดยอัยการ พิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลยุติธรรม บังคับคดีโดยกระทรวงยุติธรรม

ทางแพ่ง การฟ้องและการต่อสู้คดีโดยคู่ความ/ทนายความ/อัยการ พิพากษาคดีโดยศาลยุติธรรม บังคับคดีโดยกระทรวงยุติธรรม

ทางปกครอง มีการฟ้องและต่อสู้คดีของคู่กรณี (ประชาชน/หน่วยงานภาครัฐ) แล้วพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลปกครอง บังคับคดีโดยสำนักงานศาลปกครอง

การจัดองค์กรและการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงเป็นระบบ “ศาลคู่” คือศาลยุติธรรม (ข้อพิพาททางแพ่งและอาญา) ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยมีสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลบริหารจัดการทั่วไป

ศาลปกครอง (ข้อพิพาททางปกครอง) ประกอบด้วยศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองในภูมิภาค โดยมีสำนักงานศาลปกครองดูแลบริหารงานทั่วไป

หลังเสร็จสิ้นการดูงานศาลปกครอง ผมขับรถกลับตากกับพี่เชวงศักดิ์ ก็ได้พูดคุยกันและยอมรับว่า หลายๆเรื่องที่ได้เรียนในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้บริหารในระบบราชการ ทั้งเรื่องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและศาลปกครอง ทำให้ทราบเกี่ยวกับกระบวนการทางศาลปกครองมากขึ้นจากที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลย และผมก็ไม่ค่อยจะสนใจมากนักทั้งๆที่ควรจะสนใจ และอาจสั่งการอะไรผิดพลาดไปได้

อาจารย์ประพนธ์ ผาสุกยืด เคยบรรยายว่า มีผู้บริหารอยู่หลายแบบ บางคนจะสั่งการอะไรก็ต้องรู้เรื่องนั้นอย่างดีก่อนเป็นแบบ “รู้แล้วชี้” บางคนรู้แต่ไม่สั่งการอะไรปล่อยให้ลูกน้องว่ากันไปเอง เป็นแบบ “รู้แล้วไม่ชี้” แต่บางคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่สนใจที่จะศึกษางาน ของเดิมเขาทำอะไรไว้ดีไม่ดีก็ไม่รู้ คอยแต่จะสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ปรับโน่นปรับนี้ สั่งไปเรื่องเป็นพวก “ไม่รู้แล้วชี้” พวกนี้อันตรายมากเพราะเหมือนทำไปเรื่อยเปื่อย ถ้าไม่รู้แล้วอย่าไปสั่งให้วุ่นวายจะดีกว่า เป็นแบบ “ไม่รู้ไม่ชี้” แต่มาถึงสมัยนี้ข้าราชการจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ก็ไม่ได้แล้วเพราะเสี่ยงมาก

หมายเลขบันทึก: 387083เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท