การท่องเที่ยวโดยชุมชน กับ ประเด็นศึกษาของนักศึกษาปริญญาโท


“Sustainable Development of Tourism in rural areas: A case study of Mae hong son, Thailand”

ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนผ่าน MSN และอีเมลล์ คุยกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ตอนนี้เรียนอยู่ที่ Bournemouth University ประเทศอังกฤษ เรียนปริญญาโทสาขา Tourism management และกำลังทำ Thesis ในหัวข้อ “Sustainable Development of Tourism in rural areas: A case study of Mae hong son, Thailand”

ในการทำวิทยานิพนธ์ประเด็นนี้ เราจึงได้แลกเปลี่ยน เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) กันหลากหลายประเด็น ส่วนหนึ่งน้องได้มาเก็บข้อมูลที่แม่ฮ่องสอน และได้สัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มนักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องที่แม่ฮ่องสอน

ประเด็นการแลกเปลี่ยนซึ่งผมสนใจก็คือ กระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวของโลก ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ของเขา

สืบเนื่องจาก การประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก หรือ “Earth Summit” เมื่อปี ๒๕๓๕ ที่เมือง ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มีส่วนผลักดันให้เกิดกระแสการท่องเที่ยว ๓ ประการ

๑. กระแสความต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

 ๒. กระแสความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว ในด้าน การศึกษา

๓. กระแสความต้องการพัฒนาคน

จะเห็นได้ว่า “การท่องเที่ยว” ผลักดันให้เกิดสิ่งใดบ้าง? นอกเหนือจากความสนุก เพลิดเพลิน จากการท่องเที่ยว

จากการประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดการปรับตัวของระบบการท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ (Alternative Tourism) และนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism)

ที่แม่ฮ่องสอนเรามีการพัฒนา “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่แรกๆของประเทศไทย ในการพัฒนานำร่อง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้และ กระบวนการมีส่วนร่วม ของชุมชน

น้องเลือกที่จะศึกษา รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่แม่ฮ่องสอน จึงเป็นโอกาสอันดี ที่นักวิจัยแม่ฮ่องสอนจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ และเป็นประโยชน์ในแง่ของการศึกษา

น้องตั้งคำถามว่า จะวิเคราะห์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างไร? มีกรอบคิดอย่างไร? และจะนำเสนออย่างไรในวิทยานิพนธ์ของเขา?

 ผมคิดว่า กรอบคิดที่จะมองการท่องเที่ยวโดยชุมชน น่าจะมองใน องค์ประกอบหลักๆ ๔ ด้าน ต่อไปนี้

 ๑. องค์ประกอบด้านพื้นที่ - - - - > บริบท เป็นอย่างไร? ทุนต่างๆของชุมชนเป็นอย่างไร? ฯลฯ

๒. องค์ประกอบด้านการจัดการ- - - - -> การบริหารจัดการของชุมชนเป็นอย่างไร?ฯลฯ

๓. องค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ-----> ทีกิจกรรมการท่องเที่ยวอะไร? มีกระบวนการเรียนรู้ อย่างไร? ฯลฯ

๔. องค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม ----> ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร? เงื่อนไข ,ระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน? ฯลฯ

 

อธิบายและหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามในองค์ประกอบเหล่านี้ให้แหลมคมชัดและ ลึก ... กรอบคิดตามองค์ประกอบที่ผมยกตัวอย่างมา นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ สามารถนำไปใช้ได้เป็นแนวทางออกแบบการศึกษาชุมชนในประเด็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน”

หมายเลขบันทึก: 38663เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2006 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

สวัสดีครับ คุณจตุพร เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก ๆ เลยครับ ทั้งกับบ้านเราที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและประเทศรอบข้างเราที่กำลังจะถูกพวกเราทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวครับ

ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณจตุพรนิดหน่อยครับ พอดีผมได้อ่านหนังสือแล้วเจอประโยคหนึ่งน่าคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวครับ

ในหนังสือเขียนว่า

"นโยบายของรัฐเองที่ในด้านหนึ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเน้นการพัฒนา (อย่างยั่งยืน) อาจจะมาสู่ความลักลั่นในการใช้ทรัพยากร เช่น การอนุรักษ์วนอุทยานและกีดกันคนไม่ให้ทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเปิดพื้นที่วนอุทยานเหล่านี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน" (Sustainable Ecotoursm) (Bayant and Parnwell, 1996 : 11 -12)

คุณจตุพรมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ

ผมมีความเห็นกลางๆกับประเด็นนี้ครับ อาจารย์ปภังกร...

          รัฐเองต้องทบทวนนโยบาย และควรที่จะจัดการเพื่อ "สิทธิของชุมชน" ที่เขาอยู่เดิม หมายถึง การจัดสรรพื้นที่ทำกิน พื้นที่ใช้สอย ควรจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และตามข้อตกลงร่วมกับชุมชน ว่าพื้นที่ใดสามารถใช้ประโยชน์ได้

ส่วน "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน" (Sustainable Ecotoursm) ผมมองว่า แนวความคิดดี แต่ในทางปฏิบัติและกระบวนการพัฒนาไม่แน่ใจว่าจะยั่งยืนจริงหรือไม่

ผมเห็นด้วยกับการใช้ทุนที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ถ้าจะให้ยั่งยืน ผมก็มองว่าชุมชนที่อยู่ตรงนั้นร่วมบริหารจัดการด้วย

หากเกิดภาพแบบนี้ได้ ผมว่าไปได้ไกลและยั่งยืนด้วยครับ

ในขณะเดียวกัน หากยังลักลั่น ไม่เคลียร์ จะก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะแก้ไข

อาจารย์คงเคยได้ยินนะครับ กรณี จนท.ป่าไม้มีหน้าที่ดูแล และจำกัดเขตพื้นที่ป่าไป ชาวบ้าน นายทุน (บางกลุ่ม)ที่ถูกขัดผลประโยชน์ก็บุกรุกป่าไป (รุนแรงขึ้นเรื่อยๆด้วย) ใช้กำลังและกฏหมายเข้าไปจัดการ บางทีไม่ช่วยอะไรดีขึ้นมา ถามหา ความยั่งยืน ไม่เจอครับ 

การจัดการท่องเที่ยวโดยให้ชุมชนจัดการ และอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์สิ่งดีๆของชุมชนประสบความสำเร็จ ยั่งยืนมีให้เห็นหลายพื้นที่ในประเทศไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท