วิญญูชน คน ครู แพทย์


วิญญูชน คน ครู แพทย์

วันนี้ขอพูดเรื่องนามธรรมสักหน่อยนึง วาระนี้มีบริบทแวดล้อมที่ทำให้อยากหวนกลับมาคำนึงถึงอะไรที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวสักนิด เพราะมันดูเลือนๆ สั่นๆ หวั่นๆ กลัวๆ เป็นความรู้สึกที่แพร่กระจาย ยิ่งด้วย mode ของสื่อที่ไปได้ง่าย ไกล และข้อสำคัญ เร็ว ด้วยแล้ว

หนังสือดี น่าสนใจครับ

Kotler พูดถึงเรื่อง Marketing 3.0 โดยเริ่มที่ Rational Marketing เป็นยุคหนึ่ง คนขายสินค้าโดยใช้เหตุใช้ผลนำ เป็นยุค focus group ยุคแห่งการศึกษาว่าด้วย demand และ supply (อุปสงค์และอุปาทาน) แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นยุคปัจจุบันเป็นยุคสอง คือ Emotional Marketing คนขายสินค้าโดยสร้างความต้องการเทียม ผ่านทางอารมณ์ คนซื้อไม่จำเป็นต้องมีความต้องการเริ่มแรก หรือมีเพียงเล็กน้อย และถูกกระตุ้น ยั่วเย้า กระเซ้า แหย่ ด้วยกลยุทธ์มากมายต่อกามผัสสะโดยธรรมชาติของคน ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้โดยง่าย เป็นยุคค้าที่เสรี (ของคนค้า) สุดๆ จนกระทั่ง Kotler ในช่วงปลายของชีวิตนักการตลาดมองเห็นความเฉา เน่า ยากแก่การเยียวยา หันมานึกถึงยุคสามของการตลาด หรือ Spiritual Marketing การตลาดเพื่อประโยชน์ของผู้ขาย มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้

ผมโดนใจในเรื่องของยุคสอง Emotional Marketing นี่แหละ เพราะคิดว่าเป็นตัวจักรสำคัญของการตลาดปิศาจ ที่อาศัยธรรมชาติด้านลบเกือบครบเครื่องของคนมาสร้างทุน สร้างกำไร การใช้สื่อที่เน้น "กระตุ้นเย้าแหย่" กิเลศหรืออารมณ์ฐานต้นๆ ได้แก่ การอยู่เพื่ออยู่รอด ความต้องการการยอมรับ การถูกรัก การมีหน้ามีตา มีฐานะ (ดูมีฐานะ) คุ้ยแคะแกะเกาที่ Maslow แถวๆฐาน ได้แก่ ความต้องการทางสรีระ และการรู้สึกปลอดภัย มั่นคงในชีวิต แค่นั้นก็สามารถควบคุมกลุ่มคนจำนวนมากได้

สามเหลี่ยมของ Abraham Maslow

ที่จริงก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าหากว่าไม่ได้คำนึงว่าศักยภาพทีี่แท้ของมนุษย์ในระดับที่สูงไปกว่านั้น ได้แก่ self esteem หรือความรู้สึกมั่นใจ มั่นคง ในตนเอง มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ตอบคำถามประเภทเราคือใคร เราทำอะไร เพื่ออะไรได้ หรือไปถึงระดับสุดท้ายคือ self actualization เชื่อมโยงชีวิตกับการอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างไร้ตะเข็บ เราอาจจะมอง marketing 2.0 หรือ emotional marketing เป็น "ตัวทำแท้งจิตมนุษย์" ให้ตายทั้งกลมอยู่ตรงบันไดขั้นล่างนี่เอง

ในยุคนี้เองที่สายวิชาชีพที่ผมทำงานอยู่ กำลังเผชิญกับความท้าทายในสมดุลใหม่ของชีวิต นั่นคือทั้งบทบาทในอาชีพ ความเป็นแพทย์ ซึ่งงานส่วนหนึ่งผสมผสานความเป็นครู ในฐานะทางสังคมที่มีความเรียกร้องความเป็นวิญญูชนอย่างสูงเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คน และสมดุลกับความเป็นคน ความเป็นมนุษย์เหมือนๆคนธรรมดาๆ ที่อาจจะมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องการความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต เช่นเดียวกับทุกๆอาชีพ

อาจจะนับเป็นจินตนาการส่วนตัว (แต่คิดว่ามีคนเห็นด้วยเยอะพอสมควร) ที่ว่าในอาชีพนี้ มันมี "ส่วนประสม" ในทั้งสี่ด้านที่กล่าวมาข้างต้นเป็น "อุดมคติ" ในการเป็นแพทย์ นำมาจากทั้งปรัชญาแห่งวิชาชีพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่าด้วย "ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับหนึ่ง" หรือที่ว่า "เราไม่เพียงต้องการให้เธอเป็นเพียงแพทย์ แต่เรายังต้องการให้เธอเป็นมนุษย์ด้วย" หรือที่ว่า "ความสำเร็จที่แท้ไม่ได้อยู่ที่การเรียน หากแต่อยู่ที่การนำเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ" ทำให้ผมเชื่อว่าคุณสมบัติทั้งสี่ประการ "วิญญูชน คน ครู​ แพทย์" นั้น เป็นส่วนผสมที่พอใช้ได้

สิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราพูด ควรจะสอดคล้องกัน (Kandhi's saying, "The true happiness is when what you think, what you say, and what you do are in harmony".)

ตอนที่เราเรียนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพนั้น เราต้องพูดเรื่องวิถีการใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ แน่นอนในที่สุดเราก็มาเจอกับ "ตอ" ใหญ่คือพฤติกรรมที่ไม่พึงปราถนา อันเป็น "โรคเรื้อรัง" แฝง ที่เราไม่ได้เรียกเป็นโรค ก็เลยไม่ค่อยได้ทำการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ หากเป็นพยาธิกำเนิด หรือพยาธิสรีระกำเนิดก็ว่าได้ เช่น การขับรถขณะมึนเมา (เมาไม่ได้เป็นโรค ความประมาทก็ไม่มี DRG เหมือนกัน) การกินไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ออกกำลังกายให้เพียงพอ และ "ตอ" ที่ใหญ่กว่า ก็คือนอกเหนือจากองค์ประกอบภายในคนเหล่านี้แล้ว ยังมีการโหมกระหนำ่ของ marketing 2.0 หรือ emotional marketing ในตัวเสริมพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาเหล้า บุหรี่ การใช้ชีวิตที่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ปรนเปรอกามผัสสะทั้ง 5 ทั้ง 6 ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้

เป็นหน้าที่ของหมอเหมือนกันที่เราต้อง "เท่าทัน" ใน marketing 2.0 นี้ เพราะถ้าเรายังขืนมะงุมมะงาหรากับ rational marketing คือใช้แต่เหตุผล ตรรกะ ในการทำ health promotion อยู่ ก็คงจะพ่ายแพ้ในสงครามฟื้นฟูสุขภาพ

และทั้งนี้ทั้งนั้น เราเอง ต้องไม่ใช่ผู้เล่นที่นำเอาการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ทางอารมณ์มาเล่นเสียเอง

ดังนั้น แพทย์จึงจะต้องมีจริยวัตรในการพูดจา แนะนำ ให้ความรู้ เพื่อเกิดปัญญา เกิดโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ใช้ศาสตร์แห่งการสื่อสารในการยั่วยุอารมณ์ การใช้ provocative language การใช้การขยายความให้เกินจริง เกิดอารมณ์มากกว่าเกิดการใคร่ครวญ

ในยุคนี้ิยิ่งสำคัญที่สุด

ในส่วนสมดุลของความเป็นมนุษย์ แพทย์เองก็สามารถตระหนักได้ว่าเราเองไม่ได้เป็นแพทย์ตลอดเวลา เราเองก็ป่วยได้ เจ็บได้ เป็นคนไข้ได้ เราเองก็ถูกคุ้มครองด้วยระบบรัฐ ระบบอะไรต่างๆ ไม่ต่างจากประชาชนทั่วๆไป ไม่ได้เป็นอภิสิทธิชน หากแต่อยู่ใน "ประชาชน" เป็น citizen คนไทยธรรมดาๆเหมือนๆกันกับคนอื่นๆ เราสามารถที่จะแสดงออกเมื่อไรก็ตามที่ภาวะความต้องการพื้นฐานทางสรีระ ทางความมั่นคงปลอดภัย เมื่อถูกคุกคามและเรียกร้องการปกป้องตามสิทธิเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งสามารถแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ

ในระดับ Marketing 3.0 คือ Spiritual Marketing นั่นเป็น "มาตรฐาน" ที่ถูกคาดหวังหรือไม่?

เราควรใช้ข้อมูลเพื่อสร้างปัญญา ไม่กระตุ้นเน้นที่อารมณ์ความรู้สึก ความกลัว มากจนกลายเป็นยับยั้งการร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อแก้ไขปัญหา ลดหรือตัดขาดจากการสนทนาเจาะที่บุคคลแต่หันไปหาการพูดจากันบนตัวความคิด ความรู้สึก ความเห็น ซึ่งจะลดการเผชิญหน้า การด่วนตัดสินลงไป

สมดุลของ "วิญญูชน คน ครู แพทย์" จะไม่เกินเลยไปกว่าที่เราจะเข้าถึงได้

หมายเลขบันทึก: 385448เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 01:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับ พรบ ใหมอย่างไรคะ

พ.ร..คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=31576

พี่แก้วครับ

กม.ทุกฉบับมีผลกระทบต่อทั้งความคิดและความรู้สึกของประชาชนในลักษณะต่างๆกัน เราไม่พึงพิจารณามุมใดมุมหนึ่งเพียงด้านเดียว หากแต่กม.ในระบอบประชาธิปไตยนั้น พึงยึดเอาประโยชน์ของประชาชนทุกฝ่ายเป็นหลัก นั่นคือ ไม่ได้ดูแค่ดียังไง แต่ต้องดูว่ามันส่งผลอื่นๆที่ไม่ได้คิด (โดยคนร่าง) หรือไม่ และอย่างไร หลังจากค้นพบผลกระทบที่ว่าแล้ว การปรับเปลี่ยนแก้ไข ก็จะมาจากเสียง feedback เหล่านี้ ไม่ใช่การยืนกรานแต่เหตุผลเริ่มแรกว่าทำไมเขียนมาแบบใดแบบหนึ่ง

สิ่งสำคัญก็คือ การแสวงหา "จุดร่วมและทางออก"

ไม่มีใครชอบถูก isolate และที่แน่ๆการ "ไม่ถูกรับฟัง" นั้นเป็นการทำร้าย violence ในสังคมอย่างหนึ่ง หากถูกกระทำเยอะๆ ในที่สุดการใช้ปัญญาก็จะถูกบีบด้วยอารมณ์มากเข้าๆ การแสดงออกแบบอารมณ์นำ ก็เกิดขึ้น ซึ่งไม่ช่วยอะไรต่อทุกฝ่าย การแสดงออกทางอารมณ์มีตั้งแต่ เลิก debate แบบเหตุผล แต่ใช้ระบบเก่าของการหาเสียง ได้แก่ การ discredit ฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งในปัจจุบัน ระบบนี้ advance ไปถึงขนาดไม่ต้องมีหลักฐาน evidence อะไรเลย หากแค่การกล่าวหาลอยๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามกลับต่้องเป็นคนพิสูจน์ว่าไม่ใช่ (แทนที่ผู้กล่าวหาต้องรับภาระพิสูจน์ว่าใช่แต่แรก) ไปจนถึงการอภิปรายที่ใช้เสียงดัง เสียงมาก และ emotional provacative method

ในปัญหาที่เกิดขึ้น ก็แปลกดีที่มีกลุ่มผู้เป็น stake-holders แทนที่จะช่วยกันร่าง กลับต่างคนต่างร่าง มันมีการแบ่งฝ่ายแต่แรก กม.ที่ร่างออกมา ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปแบบ one fact/one view เพราะมันมาจาก one us/one them ตั้งแต่ต้นแล้ว มี deficit ของการได้รับฟังประเด็น ความทุกข์ ความคิด ความเห็นมาก่อนที่ร่างแล้วเสร็จ พอจะมาแก้ก็เกิดความรู้สึกแพ้ชนะ ได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะของคนนั้นได้เพิ่ม ของคนนี้ถูกตัดออก

มีการ exaggerate หลักฐานต่างๆให้เป็นไปในลักษณะพยากรณ์ที่มากขึ้นหลายสิบ หลายร้อยเท่า จากหนึ่งเป็นร้อย จากสิบเป็นทั้งหมด เราพบได้ในการทะเลาะกันแบบใช้อารมณ์ที่จะมี stereotyping และ generalization เป็นเครื่องมือสำคัญในการทะเลาะกัน

ในกรณีเช่นนี้ มีหนทางที่พอจะเป็นทางออกได้ก็คือ หา platform ใหม่ที่เป็น neutral ground และทำอย่างที่ควรจะทำแต่แรก ก็คือ stake-holders ที่จะถูกกระทบทุกฝ่ายมานั่งด้วยกัน สนทนากัน ฟังกัน และช่วยกันร่าง เป็น "ร่างของเรา" มากกว่าเป็น "ร่างของเอ็ง ร่างของข้า ร่างของมัน" ให้มากมายหลายฉบับ ทำงานร่วมกันโดยหยุดกล่าวหา characters ฝ่ายตรงกันข้าม เปิดหัวใจ และปิดต่อมคลางแคลงใจ ทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของเพื่อนมนุษย์ ของชาติบ้านเมือง ดูแลสิทธิส่วนบุคคลอย่างเสมอภาค

ที่จริง กม. ทุกฉบับมันก็ควรทำแบบนี้ทั้งสิ้น ว่าไหมครับ

 

 หนูคิดว่า ครูและแพทย์ในยุค Marketing ที่ 3.0 หรือ 3.11 ก็ตาม น่าจะมีใจที่เปิดกว้างคะ ถึงแม้วิทยาการจะเปลี่ยนไป แต่ครูที่ดี ก็น่าจะเป็นเหมือนแพทย์ตามพระราชดำรัสสมเด็จพระราชบิดา..ถือประโยชน์นักเรียน เป็นอันดับหนึ่ง  ประโยชน์(และอัตตา)ตนเป็นอันดับสองคะ :)

มารับความรู้ ทำความเข้าใจค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท