เขียนโดย อาจารย์ ดร.เทียมยศ ปะสาวะโน
ในการศึกษาเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาบันเทิง ประกอบด้วย การนำปัจจัยต่างๆ ของจิตวิทยาการศึกษา การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน กิจกรรมและแนวคิดเรียนปนเล่น มาวิเคราะห์จำแนกตามองค์ประกอบของรูปแบบ คือ บริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลิตผล ส่วนการสังเคราะห์รูปแบบของศูนย์ศึกษาบันเทิงจะดำเนินการศึกษาจากตัวอย่างของศูนย์ศึกษาบันเทิงในประเทศ โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร ศึกษาดูงาน และตรวจเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการกำหนดรูปแบบศูนย์ศึกษาบันเทิงแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้จะนำข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์มากำหนดส่วนผสมระหว่าง Entertainment (ความบันเทิง) กับ Education (เนื้อหาวิชาการ) ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปของสื่อแต่ละชนิด เพื่อประโยชน์ในการจัดสภาพแวดล้อม และจัดหาสื่อที่เหมาะสมมาใช้ในศูนย์ศึกษาบันเทิง โดยจะใช้เป็นกรอบกำหนดขอบข่าย ทิศทาง และแนวทางในการพัฒนารูปแบบและการดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกันตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแบบจำลองระบบใหญ่และระบบย่อยประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงาน ผลิตผล และข้อมูลย้อนกลับ เพื่อเป็นกลไกให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบศูนย์ศึกษาบันเทิงมี 4 ประการคือ
1. Knowledge คือความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในศูนย์ศึกษาบันเทิง เป็นความรู้นอกห้องเรียนที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดี และมีความสุขในการเรียน เป็นการแสดงให้เห็นว่าการที่บุคคลจะได้รับความรู้นั้น ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดเสมอไป
2. Enjoy with Environment ความสนุกสานเพลิดเพลินคือแกนหลักในการจัดสภาพแวดล้อม เป็นการออกแบบ (Design) สภาพแวดล้อมทางการเรียนให้เกิดความหลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เช่น การจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ การเล่นโทนสีภายใน การวางตำแหน่งของแสงไฟ เป็นต้น โดยจะทำการสำรวจความต้องการก่อนนำมาสรุปเป็นแบบที่สำเร็จรูปพร้อมจะนำออกมาใช้งาน
3. Entertainment เป็นการนำเอาความบันเทิงเข้ามาผสมไว้กับการเรียน ตามแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าผู้เรียนมีโอกาสคิด ทำ สร้างสรรค์ ด้วยอารมณ์สุนทรีย์และเพลิดเพลิน โดยทำการผสมผสานข้อมูลความรู้ในด้านต่างๆ เข้ากับความบันเทิง มีเจตนาเป้าหมายชัดเจน นำเสนอผ่านสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคคลได้รับความรู้ มีทัศนคติ และพฤติกรรมไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ผู้สอนจะช่วยจัดบรรยากาศ และกิจกรมการเรียนรู้ร่วมกัน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านความสามารถทางสติปัญญา อารมณ์ สังคม ความพร้อมของร่างกายและจิตใจ สร้างโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ดังนี้
3.1 Technology เป็นการนำเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ต อินทราเน็ต มัลติมีเดีย ฯลฯ เพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการที่มีความชอบแตกต่างกัน
3.2 Relax หมายถึงการผ่อนคลาย ตามแนวคิดที่ว่า การผ่อนคลายทำให้เกิดสมาธิและปัญญา ช่วยให้เรียนอย่างมีความสุข ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป โดยการพักสายตา พักอิริยาบถ รวมถึงการนั่งเล่น การฟังเพลง การอ่านหนังสือในมุมที่เงียบสงบ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการผ่อนคลายทั้งสิ้น
4. Learners ยึดหลักแนวคิดที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการออกแบบศูนย์ศึกษาบันเทิง ซึ่งจะคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา พื้นฐานความรู้ ความสนใจ โดยนักศึกษามีอิสระในการควบคุมการเรียนและเล่นของตนเอง ค้นคว้าหาความรู้ตามความถนัด เลือกสื่อและรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตนเองได้ เช่น สามารถควบคุมทั้งเนื้อหา ลำดับของการเรียนรู้ และการทำแบบทดสอบ เป็นต้น รวมถึงได้ทำกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ถักทอความคิด พิชิตปัญหาร่วมกันอีกด้วย (อาชัญญา รัตนอุบล และคณะ, 2549: 2-5)
เมื่อบูรณาการแนวคิดดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถสังเคราะห์จนได้รูปแบบศูนย์ศึกษาบันเทิง ที่ตรงกับคำย่อในภาษาอังกฤษว่า “KEEL” ซึ่งเป็นคำพ้องเสียง (Homophony) กับคำว่า KILL ในบริบทของศูนย์ศึกษาบันเทิงนี้หมายถึง การกำจัดความเครียดในการเรียนให้หมดไป คงเหลือแต่ความสนุกเท่านั้น โดยคำนี้ได้ถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างศูนย์ศึกษาบันเทิง เพื่อเป็นต้นแบบของการศึกษาแนวใหม่ ที่เน้นความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างไร้ขีดจำกัด ดังรูป
รูปแบบศูนย์ศึกษาบันเทิง (KEEL model)
เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.เทียมยศ ปะสาวะโน
ตำแหน่ง: อาจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
เอกสารอ้างอิง
ชลาภรณ์ สุวรรณสัมฤทธิ์. 2551. การพัฒนาแบบจำลองศูนย์ความรู้ทางเทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา สำหรับครูมัธยมศึกษา. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาเทคโนโลยีการศึกษา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เทียมยศ ปะสาวะโน. 2553. การพัฒนาศูนย์ศึกษาบันเทิงเพื่อเสริมการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษา,
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
กำลังสนใจด้านนี้ครับ ...อยากอ่านฉบับเต็ม ...ติดต่อที่ไหน ครับผมมมมม
ขอบคุณมากครับสำหรับความสนใจ ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ (Thesis ฉบับเต็ม, ไฟล์ pdf) http://www.4shared.com/office/msjZM4AZ/Thesis_DrTiamyod_full_text.html หรือถ้าโหลดไม่ได้ ก็ติดต่อที่อีเมล์ tiamyod@hotmail.com ครับผม