หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ความในใจในฐานะ NGOs เล็ก ๆ ที่ฉลาดน้อย


ที่มาของบันทึกนี้เกิดจากแรงบันดาลใจในการแลกเปลี่ยนระหว่างผมกับคุณเอก - จตุพร จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี่ครับ

        มีโอกาสได้ฟังความเห็นของ “คุณคำ ผกา” จากคลิปวิดิโอที่เพื่อนคนหนึ่งส่งมาให้

        ในฐานะเป็น NGOs คนหนึ่ง จึงอดมิได้ที่จะมีความรู้สึกต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น

        อันที่จริง ในทางส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างจะชื่นชอบและชื่นชม “คุณคำ ผกา” อยู่ไม่น้อย ติดตามงานเขียนของเธออยู่เนือง ๆ ที่ชอบมิใช่เพราะสะใจความแรงในงานเขียน แต่ชอบเพราะเธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดแปลกแหวกกระแส กล้าคิด กล้าเขียน ยืนหยัด ตรงไปตรงมา เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยี่หระต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ และทำให้ผมได้ฉุกคิดในเรื่องใหม่ ๆ หลายเรื่อง

        จริง ๆ ก็มีนักเขียนรุ่นใหม่หลายคนที่ชื่อ มีฝีมือ แต่โดยมากก็อยู่ในกระแสหลักไม่รับใช้ทุนก็รับใช้รัฐ  แต่คำ ผกา เท่าที่ผมรู้จัก ไม่ใช่แบบนั้น นอกจากนั้นผมคิดว่าเธอมีจุดยืนอยู่ข้างคนที่เสียเปรียบในสังคมด้วยซ้ำไป

        แต่อย่างไรก็ตาม การชื่นชอบ ชื่นชม มิได้หมายความว่าเห็นด้วยไปกับเธอเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะในคำวิพากษ์ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น จึงเป็นที่มาของการเขียนบันทึกนี้

 

        เนื้อหาที่เธอตอบคำถามการสัมภาษณ์ ในคลิปวีดิโอมีอยู่ ๓ ประเด็น

        ประเด็นแรกเธอกล่าวถึงขบวนการภาคประชาชน เธอมองว่า

        “...ขบวนการภาคประชาชนมันเริ่มหมดพลังไปตั้งแต่... อาจจะเป็นปัญหาเรื่องทุนด้วยที่ทำให้ช่วงหลังขบวนการภาคประชาชนเข้ามารับทุนจากภาครัฐเข้าไปทำงานเคลื่อนไหวมากขึ้น ก็เลยทำให้หมดพลังที่จะตรวจสอบ ถ่วงดุลนโยบายของรัฐ ในขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มองผลประโยชน์ในระยะสั้น คือในแง่ที่จะล็อบบี้ เพื่อที่จะบรรลุผลในโครงการในพื้นที่ที่ตนเองลงไปทำงาน มากกว่าที่จะมองปัญหาเชิงโครงสร้าง...”

        ประเด็นที่สอง เธอกล่าวถึง NGOs

        “...ปัญหาของ NGOs อันแรกเลยคือ Romanticizes ชนบท กับ Romanticizes ชาวบ้าน อันที่สองไป Dramatize ทุนกับโลกาภิวัตต์ คือมองทุนกับโลกาภิวัตน์เป็นผู้ร้ายหมด มองชาวบ้านเป็นพระเอกนางเอกหมด ในขณะเดียวกันก็ใช้ชาวบ้านในฐานะที่เป็น Object of Sympathy คือจะต้องเป็นวัตถุที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นวัตถุแห่งความน่าสงสารเห็นใจ แล้วก็เป็นวัตถุแห่งความจรรโลงใจทางสุนทรียศาสตร์ของการโหยหาชนบทในแฟนตาซีของชนชั้นกลาง...”

        ประเด็นสุดท้าย เธอแสดงความคิดเห็นต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้แม้ผมจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ขอแลกเปลี่ยนในที่นี้ จึงไม่ขอกล่าวถึง

 

        สำหรับสองประเด็นแรกนั้น มีบางประเด็นที่ผมเห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายประเด็นที่ผมไม่ได้คิดเห็นอย่างนั้น

        ผมขอเริ่มต้นจากประเด็นที่สองก่อน

        ผมอาจจะไม่ใช่ NGOs ในความหมายที่คุณคำ ผกา กล่าวถึง แต่ก็นิยามตัวเองว่าเป็น NGOs เมื่อมีคนถามถึงว่าเป็น (ทำงาน) อะไร อีกทั้งมิใช่เป็นนักวิชาการ มิใช่นักคิด นักเขียน...

        ผมเป็นเพียง NGOs เล็ก ๆ และ โง่ ๆ คนหนึ่งที่ศรัทธาในวิถี NGOs

        ผมมองเรื่อง NGOs ขบวนการภาคประชาชน และการเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศของขบวนภาคประชาชน อย่างไร ?

        ประเด็นแรก เรื่อง NGOs กับ ขบวนการภาคประชาชน ทั้งสองแม้มิใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น

        คุณคำผกา มอง NGOs ว่า (๑) มักจะ Romanticizes ชนบทกับชาวบ้าน ในขณะที่ Dramatize ทุนกับโลกาภิวัตต์ (๒) โดยที่ฝ่ายแรกเป็นพระเอกฝ่ายหลังเป็นผู้ร้าย และ (๓) มองเลยไปว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายต้องได้รับความช่วยเหลือ การสงเคราะห์

        ตามความเข้าใจของผมนั้น NGOs ในเมืองไทยมีพัฒนาการมาพอสมควร (จริง ๆ ก็มีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นระบบพอสมควร เคยผ่านตามผมมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้อ่านละเอียด) จากประสบการณ์ของผม ถ้าจะให้แบ่งกลุ่ม NGOs น่าจะเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ

        กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ทำงานเน้นการให้ความช่วยเหลือ/สงเคราะห์ เช่น การให้ทุนการศึกษา การแจกจ่ายเครื่องยังชีพ องค์กรที่ทำงานโดยมากเป็นองค์กรการกุศล และองค์กรทางศาสนา ซึ่งนี่น่าจะเป็นกลุ่ม NGOs ที่คุณคำผกา กล่าวถึงในส่วนที่ (๓)

        กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่เรียกว่าสายวัฒนธรรมชุมชน เป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในศักยภาพชาวบ้าน เชื่อมั่นในรากเหง้าหรือภูมิปัญญาที่สะสมมาแต่อดีต หากย้อนรอยกลับไปหารากเหง้านั้นก็น่าจะเป็นพลังที่จะนำพาให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น NGOs กลุ่มนี้ฝังตัวทำงานเชิงลึกอยู่ในหมู่บ้าน และนี่น่าจะเป็นกลุ่ม NGOs ที่คุณคำผกากล่าถึงในส่วนที่ (๑) และ (๒)

        กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่เรียกว่าสายเคลื่อนไหว ที่มักจะถูกการขนานนามว่า “สายร้อน” ทำงานเคลื่อนไหวในเชิงนโยบาย เช่น ประเด็นที่ทำกิน ป่าชุมชน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ และผมเข้าใจว่าในส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นที่มาของขบวนการภาคประชาชน NGOsที่ทำงานสายนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนฝักใฝ่และสนใจงานด้านวิชาการ มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ ไม่ต้องเอ่ยชื่อก็พอจะนึกออก

        อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น ทั้งสามส่วนมิได้แยกขาดออกจากกัน ทั้งกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองก็มีการเคลื่อนไหวในเชิงนโยบาย/กฏหมายเช่นกัน เช่น กลุ่มที่ทำงานเรื่องเอดส์ซึ่งเดิมมักเป็นงานในเชิงสงเคราะห์แต่ต่อมาก็เคลื่อนไหวในทางกฎหมาย (สิทธิในการเข้าถึงบริการภาครัฐ) เช่นกัน และในองค์กรการกุศลบางแห่งที่เดิมทำงานในเชิงสงเคราะห์เมื่อมีการสรุปบทเรียนแล้วพบว่างานไม่ยั่งยืน ก็เริ่มมาปรับงานให้เป็นในลักษณะการพัฒนามากขึ้น และก็ยังพบอีกว่าปัญหาก็ยังแก้ไขได้ไม่เท่าที่ควรเนื่องจากติดขัดในเชิงโครงสร้างจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวระดับนโยบายหรือโครงสร้าง

        หรือกลุ่มที่สองชาวบ้านในขบวนการสายวัฒนธรรมชุมชนก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเรียกร้อง/เคลื่อนไหวในเชิงนโยบาย เช่น พะตีจอนิ โอโดเชา กำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ฯลฯ ที่ขับเคลื่อนเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น หรือ NGOs รุ่นใหญ่ที่ต่อมาผันตัวเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของรัฐ เช่น ครูแดง (ส.ว.เตือนใจ ดีเทศน์) ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างในหลายประเด็น

        และในกลุ่มสุดท้าย ที่ทำงานเคลื่อนไหวกับมวลชน หลายคนก็ย้อนกลับลงไปทำงานเชิงลึกกับชุมชน เมื่อพบว่าทำงานเคลื่อนไหวมาพักหนึ่งแล้วพบว่าค่อนข้าง “ลอย”

        ถึงที่สุดแล้วการจำแนก NGOs ออกเป็น ๓ กลุ่มดังที่กล่าวมาแล้ว มันก็เป็นเช่นนั้นได้ในเฉพาะช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันการจำแนกเช่นนี้ไม่สามารถอธิบายภาพในปัจจุบันได้

        ทั้งนี้ที่ผมจำแนก NGOs ออกเป็น ๓ กลุ่มนี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่คุณคำ ผกา กล่าวถึง นั่นก็คือ เป็นการหยิบเอาส่วนย่อย ๆ ของขบวนการ NGOs มาอธิบายภาพรวม ซึ่งมิใช่ภาพที่เป็นจริงทั้งหมด

        ประเด็นที่คุณคำ ผกา มองว่า NGOs มักจะ Romanticizes ชนบทกับชาวบ้าน ในขณะที่ Dramatize ทุนกับโลกาภิวัตต์ โดยที่ฝ่ายแรกเป็นพระเอกฝ่ายหลังเป็นผู้ร้าย นั้น คำวิพากษ์นี้ผมได้ยินนมนามมาแล้ว ผมไม่คิดว่าภาพในปัจจุบันนี้จะมีอยู่จริง หรือเป็นภาพรวมทั่วไปแล้ว NGOs ที่ทำงานอยู่ในระยะหลังนี่ ผมไม่เห็นว่ามีใครเข้าลักษณะสุดโต่งอย่างที่คำวิพากษ์กล่าวถึง

        ในประเด็นนี้ จริง ๆ แล้วธรรมชาติของ NGOs นั้น มักจะทำงานกับผู้ที่เสียเปรียบ พูดให้แรงหน่อยก็คือผู้ที่ถูกกดขี่ ซึ่งก็เป็นชาวบ้านในชนบท แต่ชาวบ้านที่ยากลำบากในเมืองก็มี และมี NGOs จำนวนไม่น้อยที่ทำงานกับคนกลุ่มนี้ เช่น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ที่ทำงานกับชาวชุมชนคลองเตย หรือ คุณสมสุข บุญบัญชา ที่ทำงานกับชุมชนแออัด จนกระทั่งขยายงานเติบโตมาเป็น พชม. และ พอช. ตามลำดับ

        ส่วนประเด็นที่มองว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายต้องได้รับความช่วยเหลือ การสงเคราะห์ งานในเชิงสงเคราะห์ก็ยังพอมีบ้าง เพราะมีคนที่ยากจนข้นแค้นยังมีอยู่จริง และจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ แต่องค์กรลักษณะนี้ก็น้อยลงไปมาก

        และคำกล่าวที่แรงมาก ๆ การมองว่าชาวบ้านเป็นวัตถุแห่งความจรรโลงใจทางสุนทรียศาสตร์ของการโหยหาชนบทในแฟนตาซีของชนชั้นกลาง

        จริงอยู่ว่า NGOs ส่วนใหญ่มาจากคนชั้นกลาง แต่ผมไม่รู้คุณคำ ผกา ไปพบ NGOs คนไหนมาจึงสามารถสรุปเหมารวมว่า NGOs มีลักษณะเช่น เพียงแค่มีก็เป็นเรื่องใหญ่ นี่ถึงขั้นสรุปเป็นภาพรวม จึงเป็นคำกล่าวที่ผมค่อนข้างเจ็บปวดในฐานะที่เป็น NGOs คนหนึ่ง

        ผมคิดว่า NGOs ที่คุณคำ ผกา ยกย่องและชมเชยในบทบาทหน้าที่คือ NGOs ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ถ้าให้เดารูปธรรม พี่มด – วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ น่าจะเป็นกรณีหนึ่ง

        แต่คนอย่างพี่มดน่าจะหมด หรือเกือบหมดไปแล้วในสังคมไทย พี่มดจากเราไปสู่ภพหน้าแล้ว ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลืออยู่บ้างก็เข้าไปอยู่กับทุนบ้าง กับรัฐบ้าง ผันไปเป็นนักวิชาการบ้าง เป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน แต่คนที่ยังยืดหยัดต่อสู่ในความหมายที่คุณคำ ผกา กล่าวถึง แม้จะมีน้อยแต่ก็ยังมีอยู่บ้าง เช่น คุณหนูหริ่ง - สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ก็น่าอยู่ในข่ายกลุ่มนี้

        คนรุ่นนั้นเติบโตมาในบริบทและเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงให้เขาเติบโตมาเป็นแบบนั้น แต่ NGOs รุ่นถัดมาอย่างผมและน้อง ๆ ก็มิได้อยู่ในกระบวนการหล่อเลี้ยงและเติบโตเช่นนั้น ต้องแสวงความหมายโดยลำพัง และอย่าถามถึงเลยว่า NGOs รุ่นหลัง ๆ เป็นอย่างไร คนรุ่นเดียวกับผมเรื่อยลงมาถึงคุณคำ ผกา และไล่ลงไปเรื่อย ๆ มีสักกี่คนที่อาทรร้อนใจกับความอยุติธรรมจนผันตัวเองไปอยู่นอกระบบเป็น NGOs ทำงานขับเคลื่อนสังคมตามความคาดหวังที่เป็นที่มาของคำวิจารณ์

        ผมคิดว่า NGOs ในความหมายแบบนั้นเริ่มจางหายไปและจะหมดไปในไม่ช้านี้ ซึ่งบทบาทนี้หากยังมีความสำคัญมันก็จะถูกถ่ายมือไปสู่สถาบันอื่นที่มิใช่ NGOs (ในความหมายเดิม)

        นั่นคือประเด็นที่ผมพยายามแลกเปลี่ยนด้วยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ NGOs

 

        ย้อนกลับไปประเด็นที่ ๑ คือ ประเด็นเกี่ยวกับภาคประชาชน เธอกล่าวว่าภาคประชาชนอ่อนแอลงเนื่องจากการเข้าไปรับทุนจากรัฐ

        ตามความเข้าใจของผมขบวนการภาคประชาชนเกิดขึ้นภายหลังขบวนการทำงานของ NGOs ขบวนการภาคประชาชนเป็นการยกระดับการทำงานของ NGOs ที่พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง หลังจากที่ทำงานมาปีแล้วปีเล่าปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง

        บทเรียนจากการทำงานสรุปให้ NGOs ต้องขับเคลื่อนไปทางนั้น โดยมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นการยกระดับความสามารถทางวิชาการของบรรดา NGOs จำนวนไม่น้อย ก็ทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนเข้มข้นมากขึ้น มีการเสนอวาทกรรมจำนวนมากออกมาต่อสู่ช่วงชิงความหมายจากรัฐ (และทุน) อย่างไม่เคยมีมาก่อน (ผมมีข้อสังเกตว่าในช่วงนั้นนักวิชาการสายเคลื่อนไหวจำนวนมากสนใจแนวคิดเกี่ยวกับวาทกรรม-discourse จนกลายเป็นกระแสที่ค่อนข้างจะเป็นกระแสหลักในแวดวง)

        แต่อย่างไรก็ตามขบวนการภาคประชาชนที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง NGOs กับแกนนำชุมชน/ชาวบ้าน ก็เป็นภาพใหญ่ภาพหนึ่งเท่านั้น แต่ขบวนการภาคประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยก็เกิดขึ้นโดยกลไกของรัฐ เช่น การกำเนิดของกองทุนชุมชน (SIF) รวมทั้งการเกิดขึ้นของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. ที่ทำให้ภาคประชาชนในหลายภูมิภาคเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้มแข็งและยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการริเริ่มจากกลไกรัฐล้วน ๆ ที่ทำให้ขบวนการภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นมาได้ ดังเช่น การทำงานของเหล่าข้าราชการบุคลากร ร.พ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

        ภายใต้การรับรู้ที่ค่อนข้างจำกัดของผม ช่วงที่กองทุนชุมชนเริ่มงานนั้น เป็นภาวะที่แหล่งสนับสนุนทุนจากต่างประเทศเริ่มถอนตัวจากประเทศไทย การแสวงหาทุนทำงานของ NGOs ก็ยากลำบากมากขึ้น การเกิดขึ้นของ NGOs หน้าใหม่ก็ลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามขบวนการชาวบ้าน หรือขบวนการภาคประชาชนก็เริ่มเติบโตขึ้น

        ถึงตรงนี้ผมมีข้อสังเกตหนึ่งว่า ในช่วงปลาย ๆ ก่อนที่แหล่งทุนเริ่มถอนตัวจากประเทศไทย มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ผันตัวเองไปรับทุนมาทำงานในลักษณะ NGOs ซึ่งเริ่มเห็นมามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมักจะเรียกงานพัฒนานี้ว่า “งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม”

        ความสามารถในทางวิชาการที่สามารถเขียนรายงานผลการทำงานด้วยเอกสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แหล่งทุนจำนวนมากยินดีจะให้ทุนมาทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะนี้ได้ผลอย่างยิ่งกับแหล่งทุนในเทศไทยในเวลาต่อมา

        การเกิดขึ้นและเติบโตของแหล่งสนับสนุนในประเทศไทยเริ่มเติบโตมาเป็นลำดับ ในขณะที่ทุนต่างประเทศก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

        สิ่งที่ผมเห็นตรงกันกับคุณคำ ผกา คือ การเข้ามารับทุนจากภาครัฐของภาคประชาชนไปเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่ผมยังไม่มั่นใจว่าเป็นความจริงทั้งหมดคือ การรับทุนเป็นเหตุให้พลังตรวจสอบ ถ่วงดุลนโยบายรัฐของภาคประชาชนอ่อนแอลง ในทำนองว่าเออออไปกับรัฐ เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า

        ผมคิดว่าข้อกล่าวหานี้รุนแรงมาก คุณคำ ผกา เห็นรูปธรรมอะไรมาจึงสามารถสรุปเช่นนี้ได้

        ในความเห็นของผมนั้น ความเข้มแข็งในการตรวจสอบ ถ่วงดุลนโยบายของภาครัฐที่ (ถ้า) เคยมีมานั้น เป็นการทำงานร่วมกันอย่างแนบแน่นของอย่างน้อย ๓ ฝ่าย ฝ่ายแรกคือแกนนำชาวบ้าน ฝ่ายที่สองคือ NGOs และฝ่ายที่สามคือนักวิชาการ

        ในส่วนของแกนนำชาวบ้าน จริงอยู่ว่ามีแกนนำชาวบ้านบางคน ที่เป็นนักล่าโครงการ ทำโครงการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง แต่คนเหล่านี้ก็มิได้อยู่ยืนยง และที่สำคัญมักไม่ค่อยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวภาคประชาชน สำหรับแกนนำตัวจริงเสียงจริงในขบวนการภาคประชาชน ที่เข้ามาร่วมกับรัฐแต่ก็ยังคงทำหน้าที่ของตนอย่างคงเส้นคงวาก็มีจำนวนไม่น้อย

        คงไม่ต้องกล่าวถึง NGOs ที่เข้าถึงทุนของรัฐได้น้อยเต็มที จะมีบ้างที่เข้าไปมีบทบาทในกลไกสนับสนุนทุนของรัฐ แต่เท่าที่ผมรับรู้มาการทำหน้าที่ของเขาเหล่านั้นก็พยายามเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งเป็นการต่อสู้เคลื่อนไหวของภาคประชาชน

        คงมีแต่กลุ่มนักวิชาการ หรือกลไกของรัฐที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนรัฐได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง ซึ่งผมไม่ขอกล่าวถึงว่ามีส่วนทำให้พลังเหล่านั้นลดน้อยลงไปหรือไม่อย่างไร

 

        ทั้งหมดคือสิ่งที่อยู่ในใจและอยากกล่าวถึงครับ

        ในท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ สติปัญญาความสามารถของคุณคำ ผกา สามารถที่จะเข้าใจและแสดงออกได้มากกว่าการบ่งบอกอาการของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เธอเข้าใจได้ไม่ยากหรอกว่าภาพปรากฏทั้งหมดเป็นเช่นไร และอะไรเป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่ภาพนั้น “ความสะใจ” คงมิได้ช่วยจรรโลงให้สังคมดีขึ้นเท่าใดนัก

หมายเลขบันทึก: 383218เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีค่ะ

อ่านช้าๆ ทีละประโยค ทีละประเด็น  แต่คงไม่ขอสรุปหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะได้อยู่ในฐานะที่จะพูดออกมาได้  คงได้แต่เก็บเกี่ยวเป็นข้อมูล เป็นต้นทุนทางความคิด และคงต้องหาเวลาศึกษาเพิ่มเติม  หากว่าจะต้องมีการสื่อสารกับลูกศิษย์ในบทบาทของครู

ขอบคุณบทความ และความในใจในฐานะ NGOs เล็ก ๆค่ะ  ไม่ได้ฉลาดน้อยเลยค่ะ

ไม่แวะมาเยี่ยม น้องๆ ฅ.ฅนบ้านนอกบ้างหรือคะ  ระวังน้องๆ เขาขาดขวัญกำลังใจนะคะ

ระลึกถึงเสมอค่ะ 

 

เอ คำพูด คุณ คำผกา บางส่วนจริง ไม่น้อยครับ แต่ไม่มีอะไร ที่ จริงสมบูรณ์ 100%

ผมว่า ช่วงหลังๆ เรามีการสถาปนา ฮีโร่ ภาคชนบท กัน มากเกินเหตุ มากจน

มี ตัวปลอม หลุดมาเยอะ โดยเฉพาะ พวกแอนตี้ ทุนนิยม ประเภท ติไปหมด พวกนี้

ไม่หลุดกรอบ ความคิดแบบคู่ตรงข้าม ทั้งๆ ที่เป็น ชาวพุทธ น่าจะหลุดง่าย ผมว่า

นาที นี้ NGO ต้องทำงานหนักเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม ว่า NGO คุ้มค่า และจริงใจ

ไหม ต่อมา สื่อมวลชน ต้อง ฉลาดทันชาวบ้าน หาข้อเท็จจริงได้ ไม่ใช่ สื่อ ไม่รู้ลึก

รู้จริง ไป โมเม วีรบุรุษ ภาคชนบทมา เกินจริง เดี๋ยว ชาวบ้าน จะหัวเราะเอา

ที่ อุบลรัตน์ก็มี ชิมิ

   เรียนท่านหนานเกียรติ

    ก็ ต่างคน ต่างความคิดเนาะ คุณยายขอเป็นผู้รับฟังที่ดีก็แล้วกันค่ะ

จริงๆอย่างที่ผมให้ข้อเสนอแนะใน Facebook ครับ ผมไม่อยากให้ความเห็นมากกับคุณคำผกา เพราะ ผมมักให้ความเห้นที่เเรงไปเรื่อยๆ

สังคมที่ใช้สื่อ เเละวุฒิภาวะทางอารมณ์ของคนไทย มักนิยมวาทกรรมที่อ่านแล้วเเรง สะใจ เพราะมันถูกใจความซาดิสต์เล็กๆในใจที่คนไทยทุกคนมีเชื้อ ผมว่าคุณคำผกาเธอใช้ช่องทางนี้

มาเรื่อง NGOs ผมก็เห็นด้วยครับอย่างที่คำผกาเธอบอกไว้ เเต่ก็นั่นอีกหละครับ การพูดเหมารวมผมว่ามันคลุมเครือมากเกินไปที่เราจะยอมรับความจริงที่ซ่อนอยู่ได้ ผมยังเห็นเธอเติมเชื้อไฟด้วยคำพูดที่เก่งกล้าประสาคนมีการศึกษาวาทกรรมงาม มาใช้ตัดสินสังคมอยู่ร่ำไป

ให้กำลังใจคนทำงานเพื่อสังคมครับ เราอาจมีปัญหาที่เกิดจากระบบใหญ่ น้อยที่รอบตัวเรา เเต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เเละควรจะเป็นเช่นนั้นอยู่เเล้ว ขออย่างเดียวค่อยๆเรียนรู้ไป อย่าเกรี้ยวกราดมากนักกับปรากฏการณ์ที่เราเจอใหม่ๆ

ขอบคุณครับ

เคยอ่านงานของคุณคำ ผกา ก็รูปแบบงานเขียนเธอ เป็นเอกลักษณ์อย่างนั้นจริงๆค่ะ

จริงๆมุมมองของภายนอกต่อเอ็นจีโอที่เคยได้ยินมา แบบประมาณว่าพวกNGO = โง่ ก็มีค่ะ ล่าสุดมีเพื่อนที่เคยทำงานทุ่มหัว เทใจให้เอ็นจีโอกลับเปลี่ยนใจด้วยเจอปสก. เลวร้ายจาก ทีมบริหารฯ.. 

ก็คงหลากหลากมุมมองกันไปค่ะ หากแต่ยังเชื่อมั่น ศรัทธางานเอ็นจีโอทั้งหลาย ต้องก้าวข้ามผ่าน และยืนยันในจุดยืนต่อไป มิเช่นนั้นกลุ่มเอ็นจีโอ คงไม่พัฒนาจนทุกวันนี้

สุดท้ายแล้ว คำตอบคงอยู่ที่ผลงานของเอ็นจีโอ ที่เป็นเฟืองหนึ่งในการคานสมดุล เชื่อมประสานทำงาน ระหว่างรัฐ เอกชน เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ขอบคุณค่ะ

พี่ครับ ผมเป็น NGO เหมือนกัน

..ยาย..งงๆๆ...งง...เจ้าค่ะ..กับคำว่า...เอ็น..จี..โอ่...คุณขจิต เป็น NGO.งง...เป็นแบบไม่มีตัว s....ยายธีเป็น ..เป็น เอน..จี้..โอ๋..มิติที่ ๕๕๕...แล้วกัน..อิอิ...เป็นแบบ นอนกั๊บวะเหม็น..อะไรทำนองนั้น...ใครจาว่าโง่ก็ช่าง...ตัวกูของกู..อิอิ(ว่าตัวเอง.).สอนกันให้พึ่งตนเอง..ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...".ความแก่นี้ดี ทำให้ไม่มีแรงด่าใครตีใคร"..ท่าน พุทธทาสกล่าวไว้..เจ้าค่ะ...ยายธี

เป็นความในใจที่.....ไม่ฉลาดน้อยเลย มองกว้าง ต่างมุม และคิดบวกเสมอ

อ่านหมดทุกตัว  แต่ไม่สามารถเม้นได้

เพราะไม่สันทัดเรื่องนี้

เท่าที่สัมผัส  NGOs  เขาทำงานเพื่อส่วนรวม

และช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน  ใช่ไหมคะ

สวัสดีค่ะ

Krudala เคยรู้จักและพูดคุยกับ คนที่ทำงานใน UN. ที่มาประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่

ก่อนที่คณะจะบินไปประชุมที่เวียตนาม

NGO ทำงานในเครือข่ายเดียวกันไหมคะ

  • ตัวเองแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเอ็นจีโอ แต่เมื่อได้อ่านสาระทั้งหมดที่วิพากษ์ข้อเขียนคุณคำ ผกานี้แล้ว เพิ่งรู้..นี่ตัวจริงเสียงจริงอีกคนหนึ่งเลย ชื่นชมหนานเกียรติครับ
  • ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยือนทุกตอนเลยครับ

มาชม

แวะมาอ่านได้หน่อย ๆ อ่านยังไม่จบ แต่เห็นคมในมุมมองดีจัง...

  • แวะมาทักทายก่อนนอนครับท่านหนานเกียรติ
  • ขอให้ท่าน  หลานเฌวา และครอบครัวจงอยู่ดีมีสุขทุกวันครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • วันแม่ที่ใกล้จะถึงนี้ ขอส่งความรักและความระลึกถึงด้วยบทกลอนเพราะ ๆ จาก internet มาฝากกันค่ะ
    สตรีใด…….ไหนเล่า………..เท่าเธอนี้
    เป็นผู้ที่ …………..ลูกทุกคน………บ่นรู้จัก
    เป็นผู้ที่ ……………มีพระคุณ………การุณนัก
    เป็นผู้ที่ …………..สร้างความรัก…..สอนความดี
    เป็นผู้ที่……………คอยสั่งสอน…….เอาใจใส่
    คอยห่วงใย….……เราทุกคน………จนวันนี้
    เปรียบแสงทอง……สว่างล้ำ……….นำชีวี
    เธอคนนี้…………..คือ ” แม่ ”……..ของเราเอง

                                  

ทำดีที่สุดแล้วครับ

สำหรับคำ ผกา ชอบที่ถ่ายภาพครับ สวยดีครับ

สวัสดีครับ

  • ทั้งที่บ้านถ้ำพริกและที่บ้านห้วยปลาหลด เสียดายจริงๆไม่มีเวลาเลย
  • ระลึกถึง ผู้ใหญ่ใจดีชาว G2K ทุกๆท่านเสมอ
  • นำลาบกาฬสินธุ์ มาฝากเป็นอาหารมื้อเที่ยงนะครับ

 

  • อย่าลืมไปสัมผัสของจริงเมื่อมีโอกาส
  • โชคดีมีสุขตลอดไปนะครับ

สวัสดีค่ะ พี่หนาน

ต่างคน ต่างมุมมอง ต่างความคิด

ร่วมกันทำดีเพื่อชาติต่อไปนะคะพี่...

สวัสดีอีกครั้งค่ะ

ขอเชิญร่วมกันรำลึกถึงความรักของแม่ และทำความดีเพื่อแม่รักแม่ทุกวัน และรักตลอดไป  

ให้ความรักที่เรามีแต่แม่หอมฟุ้ง ดอกมะลิขาวสะพรั่งไปทั่วผืนแผ่นดิน บอกรักแม่ให้ดังก้องฟ้านะคะ 

หากจะเอ่ย         ถึงความรัก         ที่ยิ่งใหญ่
จะมีใคร             เทียบเคียงได้     รักของแม่
เมื่อยังเด็ก         ลูกยังเล็ก           ลูกอ่อนแอ
คนที่เฝ้า            คอยดูแล            คือแม่เรา
แม่เฝ้ารัก           แม่เฝ้าห่วง         แม่เฝ้าหวง
เพียงลูกอิ่ม        แม่จะอด            แม่ทนได้
ลูกผิดหัวง          เสียน้ำตา           แม่ปลอบใจ
หากเป็นได้         แม่ขอเจ็บ          แทนลูกเอง
ลูกขอกอด         ขอกราบ            แทบเท้าแม่
ที่แม่ทน             เลียงดู               ให้เติบใหญ่
ลูกขอแทน         ความรัก            ที่แม่ให้
จะตั้งใจ             กระทำตน          เป็นคนดี

                               ….รักแม่ที่สุดในโลกค่ะ

                                   ประพันธ์โดย : แววดาว

 

               

 

                                           " สุขสันต์วันแม่...มีความสุขมากๆ นะคะ "
                                             Mothers day

ร่วมกันถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จุดเทียนชัยถวายพระพร   ขอทรงพระเจริญ...   

 

     ขัตติยะ นารี ศรีสง่า

คู่ราชา องค์ภูมิพล ถกลสมัย

คือนางแก้ว คู่บัลลังก์ จักรีไทย

คือองค์ไท้ ราชินี ศรีแผ่นดิน

      เหล่าไพร่ฟ้า ข้าไทย เปรียบด้วยลูก

ทรงพันผูก ห่วงใย ไม่เคยสิ้น

เสด็จเยือน ทั่วแหล่งหล้า เป็นอาจิณ

เขตคามถิ่น บารมีแม่ แผ่ร่มเงา

      โครงการศูนย์ ศิลปาชีพ ประทีปแก้ว

งามเพริศแพร้ว ยามยล คนขานเล่า

กิจแห่งเบญจ- กัลยาณี มิดูเบา

สมพงศ์เผ่า ประยูรหงส์ วงศ์เทวัญ

      น้อมถวาย บังคม บรมนารถ

แทบเบื้องบาท เอกนารี ศรีไอศวรรย์

ขอพระองค์ ทรงสถิต นิจนิรันดร์

เกษมสันต์ ตราบจิรัฐ ฐิติกาล

                          ประพันธ์โดย ทศพรรษ พชร

 

 

สวัสดีค่ะท่านหนาน

เรื่อง NGOs นี้ไม่สันทัดค่ะ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นแล้วกันนคะ...

ต่างคนต่างความคิด นานาจิตตัง บางครั้งสื่อก็นำเสนอเกินความเป็นจริง ที่บิดเบือนก็เยอะ

แต่ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่ทำความดี ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีวันแม่ค่ะ

             Happy mother's day

มาแวะชื่นชมและเป็นกำลังใจให้คนทำงานที่เข้าใจบริบทของงานและเหตุปัจจัยทั้งหลายค่ะ

มีหลายท่านที่ทำงานเพื่อช่วยชาวบ้านจริง ๆ  แต่ก็มักจะถูกต่อต้านจากคนที่เสียประโยชน์  และเรียกเราว่า  NGO

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นนะครับ

ผมต้ังใจจะเขียนเล่าเรื่องราวของ NGO ในมุมมองผมอีกสักตอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท