หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

GTK Camp IV (ตอน ๑๐ - พิธี “เข๊าะต่อ” การขอขมาเทพเจ้ากื่อซาเพื่อเข้าสู่เทศกาลขึ้นปีใหม่)


          ชาวลาหู่เชื่อกันว่า การดำเนินชีวิตของเขาแต่ละคนในรอบปีนั้น อาจจะพลั้งเผลอไปทำให้เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขารวมทั้ง “กื่อซา” เทพเจ้าสูงสุดของชาวลาหู่ไม่พอใจได้ ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่พวกเขาจำเป็นต้องขอขมาลาโทษต่อการกระทำของพวกเขาที่พลั้งเผลอไปทั้งกาย วาจาและใจ ผ่านพิธี “เข๊าะต่อ” ในวันแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๑๒ หลังจากการทำพิธีค๊ะกวูสิ้นสุดไปตั้งแต่เมื่อวาน

          เช้าตรู่วันนี้ปู่จารย์จะประกาศเรียนลูกบ้านให้มารวมกันที่บ้านปู่จารย์ เพื่อประชุมปรึกษาหารือการจัดพิธีนี้ รวมทั้งเป็นการเตรียมการสำหรับการจัดเทศกาล “เข๊าะจา” ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

          พร้อมกันนี้ชาวบ้านก็จะเตรียมเงินมาสมทบเพื่อจัดซื้อหมูเพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันนี้ รวมทั้งการนำข้าวสารจากแต่ละครัวเรือนมารวมกันเพื่อนึ่งเลี้ยงชาวบ้านสำหรับการจัดพิธีในวันนี้

          สำหรับเงินที่ชาวบ้านนำมาสมทบ ส่วนหนึ่งจะนำไปซื้อหมูเพื่อนำมาประกอบพิธีในวันนี้ และอีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหมูและเครื่องใช้อื่น ๆ ในการจัดเทศกาลปีใหม่

          ข้าวที่ชาวบ้านนำมารวมกันจะถูกนำไปแช่ ตอนสาย ๆ แม่บ้านจะนำข้าวนั้นไปนึ่ง โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกไม่มากนัก จะนึ่งเพื่อนำไปถวายเทพเจ้ากื่อซา ซึ่งผู้ใดจะตักไปรับประทานไม่ได้ ส่วนที่เหลือเป็นการนึ่งเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่มาร่วมพิธีที่บ้านปู่จารย์

          ในเวลาไล่เลี่ยกันพ่อบ้านก็จะรวมตัวกันไปซื้อหมู และตกตอนบ่ายก็จะช่วยกันล้มหมูแล้วชำแหละ

          ขณะเดียวกันที่บ้านปู่จารย์ บรรดาแม่บ้านก็จะช่วยกันตระเตรียมสิ่งของที่จะใช้ในพิธีเซ่นไหว้ โดยเฉพาะการฟั่นเทียน เทียนที่ฟั่นจะถูกนำไปจัดเป็นชุด ชุดแรกประกอบด้วยเทียน ๗ คู่ จำนวน ๑ ชุด ชุดที่สองประกอบด้วยเทียน ๔ คู่ จำนวน ๒ ชุด และชุดที่สามประกอบด้วยเทียน ๒ คู่ ซึ่งจะมีจำนวนมากพอสมควร โดยมากจะเป็นการฟั่นเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วย

          ช่วงบ่ายแก่ ๆ หลังจากการฟั่นเทียน แม่บ้านก็จะประกอบอาหารจากหมูที่พ่อบ้านชำแหละมาให้ ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกสำหรับนำไปไหว้กื่อซา จะใส่เฉพาะเกลือเท่านั้น ส่วนที่สองสำหรับเลี้ยงชาวบ้าน สามารถใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถใส่พืชผักลงไปได้

          การประกอบพิธีกรรมในช่วงเย็นจะคล้ายกับพิธีค๊ะกวู คือ ก่อนที่ปู่จารย์จะเริ่มลงมือทำพิธี ชาวบ้านคนหนึ่งจะตะโกนบอกลูกบ้านให้ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านปู่จารย์ จากนั้นปู่จารย์และผู้ช่วยจะร่วมกันร่วมสวดมนต์ โดยมีหมอแคนก็จะเป่าแคนหน่อกู่มาควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ต้นจนจบพิธี

          หลังจากปู่จารย์และผู้ช่วยสวดเสร็จแล้ว ปู่จารย์ก็จะเริ่มต้นรับประทานอาหารเป็นคนแรกแล้วก็จะประกาศให้ชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกัน

          ช่วงหัวค่ำหลังจากที่ชาวบ้านรับประทานอาหารสิ้นสุดแล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งก็จะขึ้นไปบนเรือนปู่จารย์ นำฟืนจากกองไฟในเรือนไปก่อไฟในลานจะคึ โดยจะก่อบริเวณด้านหน้าของเพิงพักในลาน จากนั้นปู่จารย์ก็จะเรียกให้ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านของปู่จารย์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีสวดที่หน้าห้องผี วิธีการเป็นเช่นเดียวกันกับการสวดเมื่อครู่ที่ผ่านมา เมื่อสวดเสร็จแล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งก็จะรับจะโป๊ะคอลอ นำไปวางที่เนินดินกลางลานจะคึ โดยมีหมอแคนเดินเป่าแคนหน่อกู่มานำหน้าไป แล้วปู่จารย์และผู้ช่วยก็ตามไปสวดมนต์ที่บริเวณวาง
จะโป๊ะคอลอ แล้วก็จุดเทียนชุดแรกที่มี ๗ คู่ สิ้นสุดการสวดมนต์ชาวบ้านก็เริ่มเต้นจะคึ รอบเนินดินภายในลาน เวียนทวนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้ ๗ รอบแรกการเต้นจะคึจะใช้เสียงเพลงจากแคนหน่อกู่มา จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นแคนขนาดกลางและขนาดเล็กตามแต่หมอแคน

          การเต้นจะคึดำเนินการไปเรื่อย ๆ กระทั่งเทียนไม้หมดลงก็ต่อด้วยเทียนชุดที่สองซึ่งมี ๔ คู่ หลังจากเทียนชุดนี้ละลายลงก็ต่อด้วยเทียนชุดที่สามซึ่งมีสองคู่ ซึ่งเมื่อเทียนชุดนี้ก็จะต่อด้วยเทียนสองคู่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเลิกการเต้นจะคึ จึงจะต่อด้วยเทียนชุดที่ ๒ ซึ่งมี ๔ คู่

          ๗ รอบสุดท้ายของการเต้นจะคึในค่ำคืนนี้จะเดินสลับกลับไปตามเข็มนาฬิกา แล้วชาวบ้านก็จะนำ
จะโป๊ะคอลอกลับมาวางไว้ที่ห้องผีบ้านปู่จารย์ แล้วปู่จารย์และผู้ช่วยก็จะสวดมนต์อีกรอบหนึ่ง โดยมีหมอแคนเป่าแคนหน่อกู่มาคลอตามไปด้วย เมื่อสวดเสร็จก็จะประกาศให้ชาวบ้านมากินหัวหมูที่ต้มทิ้งไว้ หลังจากที่ชาวบ้านรับประทานหัวหมูร่วมกันแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดพิธีในคืนนี้

หมายเลขบันทึก: 383035เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พิธีพิธีค๊ะกวู เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่  ไปสิ้นสุดคนถึงยามค่ำคืน เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสนุกสนานคละเคล้าปะปนกันไป คงจะเป็นวันหนึ่งที่ชาวบ้านมีความสุขมากเลยนะคะ การเต้นจะคึท่าทางจะสนุกสนานมาก  เคยเห็นชาวเขาเต้นรำตามสารคดี ยังนึกชอบ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่ารัก มีแบบฉบับของชาติพันธุ์

อยากทราบว่า การล้มหมูในพิธีการอันศักดิ์สิทธ์นี้  ไม่ถือว่าเป็นการทำบาปหรือคะ... คุณหนานอย่าหัวเราะครูใจดีนะคะ  ไม่ทราบจริงๆ  ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลความรู้ที่ น่าจะมีการรวบรวมเป็นรูปเล่มจะเป็นประโยช์มากค่ะ

ระลึกถึงค่ะ

 

แวะมาอ่านประเพณีของชาวละหู่ค่ะ..

อ่านแล้วเพลินดีเหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

มีความสุขกับวันสบายๆนะคะน้องหนานเกียรติ

อิอิ บันทึกหลายอันเนาะ มาเยี่ยมก่อนเน้อแล้วจะเรียงลำดับอ่านแต้ๆแหมกำเจ้า

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

น่่าอ่านมาก ๆ แต่เวลามีน้อย....

เลยแค่มาทักทายค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะ

มาอ่านตรงนี้จะงง  กับการต่อเทียน ละสงสัยเลข ๗ และ ๔ จังค่ะ  ต้องไปหาคำตอบให้ได้นะคะ

เทียนชุดแรกที่มี ๗ คู่ สิ้นสุดการสวดมนต์ชาวบ้านก็เริ่มเต้นจะคึ รอบเนินดินภายในลาน เวียนทวนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้ ๗ รอบแรกการเต้นจะคึจะใช้เสียงเพลงจากแคนหน่อกู่มา จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นแคนขนาดกลางและขนาดเล็กตามแต่หมอแคน

วันนั้นที่พวกเราเต้นก็ทวนเข็ม  แต่จะไปตามเข็มตอบ ๗ รอบหลัง...ตอนสุดท้ายของพี่คิมก็จำมา....แบบงง ๆ

จะโป๊ะคอลอ  เอาไปก่อนที่จะเต้นจะคึไม่ใช่หรือคะ..เอ๊ะ ๆ ๆ ๆ ๆ รีบ ๆ จัดวันไปอีกละกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท