หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

GTK Camp IV (ตอน ๙ - พิธี “ค๊ะกวู” การส่งเคราะห์ส่งผีหมู่บ้าน)


          บันทึกนี้ผมจะนำรายละเอียดของ พิธี “ค๊ะกวู” หรือพิธีการส่งเคราะห์ส่งผีหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพิธีแรกในเทศกาลปีใหม่ของลาหู่ ความหมายของพิธีกรรมนี้คือการปัดเป่าสิ่งร้าย ๆ ออกไปจากชุมชน เพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามาในปีใหม่

 

          ก่อนจะเริ่มต้นเทศกาลเข๊าะจา ชาวบ้านทั้งหมดในหมู่บ้านจะร่วมกันประกอบพิธีส่งเคราะห์ส่งผีหมู่บ้าน (ค๊ะกวู) เพื่อปัดเป่ารังควาญหรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยปู่จารย์และผู้ช่วยปู่จารย์จะกำหนดวันทำพิธีแล้วแจ้งให้ชาวบ้านทราบ และก่อนถึงวันรุ่งขึ้นที่จะประกอบพิธีชาวบ้านจะนัดไปประชุมพูดคุยที่บ้านปู่จารย์เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรม รวมทั้งการเรี่ยไรออมเงินเพื่อหาซื้อหมูและวัสดุต่าง ๆ ที่จะใช้ในการประกอบพิธี และจะต้องเป็นหมูที่ตอนแล้ว ตัวใหญ่พอที่จะเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านได้ สำหรับหมูที่จะใช้ประกอบพิธีจะเป็นหมูตัวผู้ กรณีที่ฆ่าหมูไปแล้วพบว่าไม่ใช่หมูตอนก็ต้องฆ่าหมูตัวใหม่

          วันประกอบพิธี ในช่วงเช้าที่บ้านปู่จารย์ สมาชิกในบ้านจะคั่วข้าวเปลือกเหนียวให้เป็นข้าวตอก และต้มน้ำชา ๑ กา จากนั้นปู่จารย์ก็จะนำข้าวตอกและน้ำชา ๑ แก้ว ไปบูชาที่ห้องผีในบ้านพร้อมกับสวดมนต์ทำพิธี เสร็จแล้วก็จะออกมาประกาศให้ชาวบ้านรับทราบ ชาวบ้านก็จะนำสิ่งของต่าง ๆ ประกอบด้วย เทียน ขี้ผึ้ง ฝ้ายสำหรับทำไส้เทียน ข้าวสาร และเงินสมทบที่จะนำไปซื้อหมูและวัสดุอื่น ๆ  นำไปสมทบกันที่บ้านปู่จารย์ ชาวบ้านบางคนที่ยังไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาจากบ้านก็สามารถมารับประทานร่วมกันกับเพื่อนบ้านคนอื่นที่บ้านปู่จารย์ได้

          เช้าวันนี้แม่บ้านในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่บ้านปู่จารย์ บางคนก็จะนำสิ่งของมาสมทบแล้วอยู่ต่อเพื่อช่วยเตรียมงาน ช่วงเช้างานที่เตรียมจะเป็นการนึ่งข้าว

          หลังรับประทานอาหารกลางวันแล้ว แม่บ้านที่รวมกันอยู่ที่บ้านปู่จารย์จะช่วยกันฝั้นเทียน ซึ่งเทียนที่จะใช้ในพิธีนี้จะแตกต่างจากเทียนที่ใช้ในพิธีทั่วไป กล่าวคือจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเทียนราว ๑ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ ศอก

          สำหรับพ่อบ้านบางคนก็จะรวมตัวกันออกไปตัดไม้ไผ่แล้วนำกลับมาสานเป็นเสื่อ (ข่อต้าปิ) ที่บริเวณลานจะคึ เสื่อที่สานจะมีขนาดความกว้าง ๑ x ๑ เมตร จำนวน ๒ ผืน เมื่อสานเสื่อเสร็จแล้วชาวบ้านคนหนึ่งก็จะส่งเสียงตะโกนประกาศให้ชาวบ้านรับทราบ

          ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณจากลานจะคึ ก็จะนำสิ่งของ ประกอบด้วย ขี้เถ้าจากเตาไฟ ข้าวสุก พืชผักต่าง ๆ เศษผ้าจากการตัดเย็บชุด เทียน ๑ คู่  นำไปกองรวมที่เสื่อที่เตรียมในลานจะคึ ซึ่งจะต้องรอให้ปู่จารย์นำวัสดุเหล่านี้มาวางเสียก่อน การวางสิ่งของที่เตรียมไปจะต้องวางลงบนเสื่อโดยเฉลี่ยให้เท่า ๆ กันทั้งสองผืน

          เมื่อชาวบ้านทุกครัวเรือนนำสิ่งของซึ่งถือว่าเป็นอาหารผี (นีอ่อกือ) แล้ว ช่วงบ่ายแก่ ๆ ใกล้เย็น
ปู่จารย์จะทำพิธีไล่ผีจากบ้านปู่จาร์ยไปยังลานจะคึ แล้วก็จะมีหมอผีอีกราว ๓ คนร่วมกันสวดทำพิธีอยู่รอบกองดินในลานจะคึ ในระหว่างนั้นชาวบ้านก็จะหิ้วข่อต้าปิทั้งสองอัน อันหนึ่งจะใช้ชาวบ้านหิ้ว ๒ คน ทางด้านปลายทั้งสองข้าง แล้ววิ่งไปรอบ ๆ กองดินขณะที่ปู่จารย์และหมอผีกำลังสวดทำพิธี โดยจะวิ่งวนทวนเข็มนาฬิกา จำนวน ๗ รอบ แล้ววิ่งออกจากประตูลานจะคึ ชุดหนึ่งจะวิ่งไปยังทางเข้าที่ต้นหมู่บ้าน และอีกคนหนึ่งจะวิ่งไปที่ทางอีกด้านหนึ่งบริเวณท้ายหมู่บ้าน เพื่อทิ้งข่อต้าปิที่มีอาหารผีในบริเวณนั้นต้นและท้ายหมู่บ้าน

          หลังจากที่ทิ้งข่อต้าปิเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะออกมาจากลานจะคึ ผู้ชายก็จะไปช่วยกันล้มหมูที่บ้าน
ปู่จารย์ แล้วก็นำไปต้ม

          การต้มหมูจะแบ่งเป็นสามส่วน

          ส่วนแรกเป็นการต้มเพื่อเลี้ยงผี จะใช้เนื้อหมูบริเวณลำตัวต้มใส่เกลือเท่านั้น จะไม่มีเครื่องปรุงอื่นใดปะปนในอาหารนั้นโดยเด็ดขาด

          ส่วนที่สองเป็นการต้มเพื่อเลี้ยงชาวบ้านที่มาร่วมพิธี การต้มหมูจะใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ ได้ เช่น พริก เกลือ แต่จะใส่พืชผักลงไปด้วยไม่ได้

          ส่วนที่สามเป็นหัวหมู จะเหลือไว้ยังไม่ต้มปรุงเป็นอาหารในช่วงนี้  

          หมูที่ต้มส่วนแรกจะนำไปเลี้ยงผีที่ห้องผีในเรือนของปู่จารย์ โดยจะตักแบ่งเป็น ๗ ถ้วย มีข้าวที่หุงไว้ต่างหาก ๗ ถ้วย มีเทียน ๗ คู่ พร้อมกับเครื่องเซ่นบูชาอื่น ๆ เช่น ข้าวตอกวางไว้บนข่อต้าปิ บริเวณหน้าห้องผี ของทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้ที่นั่น

          ก่อนที่ปู่จารย์จะเริ่มลงมือทำพิธี ชาวบ้านคนหนึ่งจะตะโกนบอกลูกบ้านในหมู่บ้านว่า บัดนี้จะได้เวลาประกอบพิธีแล้ว ขอให้ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านปู่จารย์ ชาวบ้านก็จะเริ่มทยอยมาสมทบเพื่อร่วมพิธี

          การทำพิธี จะมีปู่จารย์เป็นผู้นำ มีผู้ช่วยปู่จารย์ร่วมสวดมนต์ทำพิธีด้วย ในระหว่างที่ปู่จารย์และผู้ช่วยสวดมนต์อยู่นั้น หมอแคนก็จะเป่าแคนควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ต้นจนจบพิธี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที

          แคนที่หมอแคนเป่านั้น เป็นแคนหลวง ลาหู่เรียกว่า “หน่อกู่มา” ซึ่งเป็นแคนที่มีไว้ใช้ในการประกอบพิธีกรรม จะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าแคนทั่วไป

          หลังจากปู่จารย์และผู้ช่วยสวดเสร็จแล้ว ปู่จารย์ก็จะรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นหมูหม้อเดียวกันกับที่นำไปไหว้ รวมทั้งข้าวก็เป็นหม้อเดียวกันที่นำไปไหว้ เมื่อปู่จารย์รับประทานอาหารคือหมูและข้าวอย่างละคำแล้ว ก็จะประกาศให้ชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกัน

          ช่วงหัวค่ำหลังจากที่ชาวบ้านรับประทานอาหารสิ้นสุดแล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งก็จะขึ้นไปบนเรือนปู่จารย์ นำฟืนจากกองไฟในเรือนไปก่อไฟในลานจะคึ โดยจะก่อบริเวณด้านหน้าของเพิงพักในลาน

          จากนั้นปู่จารย์ก็จะเรียกให้ชาวบ้านมารวมกันที่บ้านของปู่จารย์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีสวดที่หน้าห้องผี เช่นเดียวกันกับการสวดเมื่อครู่ก็คือ ในขณะที่ปู่จารย์และผู้ช่วยสวดมนต์นั้น หมอแคนก็จะเป่าแคน “หน่อกู่มา” คลอตามไปด้วย แล้วก็จุดเทียนเล่มใหญ่ที่ชาวบ้านช่วยกันฟั่นเมื่อตอนกลางวัน

          เมื่อปู่จารย์และผู้ช่วยสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็จะนำ “จะโป๊ะคอลอ” เป็นภาชนะทรงกลมก้นลึก ซึ่งใส่เครื่องเซ่นบูชาต่าง ๆ ไว้ภายใน มอบให้ลูกบ้านคนหนึ่งนำไปวางที่เนินดินกลางลานจะคึ ซึ่งขณะเดินไปนั้นหมอแคนก็จะเป่าแคนเดินนำหน้าไป จากนั้นปู่จารย์และผู้ช่วยก็จะตามไปสวดมนต์ที่บริเวณวางจะโป๊ะคอลอ

          จากนั้นก็จะเริ่มเต้นจะคึ รอบเนินดินภายในลาน โดย ๗ รอบแรกการเต้นจะคึจะใช้เสียงเพลงจากแคน “หน่อกู่มา” จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นแคนขนาดกลางและขนาดเล็ก

          ในระหว่างนั้นผู้หญิงที่อยู่ที่บ้านปู่จารย์ ก็จะนำกาน้ำชาและหมากไปส่งที่ลานจะคึ และผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังอยู่บ้านปู่จารย์ก็จะนำหัวหมูที่เหลือไว้มาต้ม แบบเดียวกันกับการต้มเลี้ยงผี คือใส่เกลือเพียงอย่างเดียว ไม่ใส่เครื่องปรุงอื่น ๆ การต้มหัวหมูนี้จะมีวิธีการสับชิ้นส่วนเป็นการเฉพาะและจะต้มให้ชิ้นส่วนบริเวณคางหมูคงอยู่ในสภาพเดิม

          การเต้นจะคึที่ลานจะคึดำเนินการไปเรื่อย ๆ กระทั่งเทียนละลายลงเหลือราว ๔ นิ้ว ก็จะเต้นจะคึวนกลับจากเดิมคือจากทวนเข็มนาฬิกาไปเป็นตามเข็มนาฬิกาจำนวน ๗ รอบ แล้วชาวบ้านคนหนึ่งก็นำจะโป๊ะคอลอ กลับไปยังที่บ้านปู่จารย์

          เมื่อจะโป๊ะคอลอนำมาวางไว้ที่ห้องผีบ้านปู่จารย์แล้ว ปู่จารย์และผู้ช่วยก็จะสวดมนต์อีกรอบหนึ่ง โดยมีหมอแคนเป่าแคนหน่อกู่มาคลอตามไปด้วย เมื่อสวดเสร็จก็จะประกาศให้ชาวบ้านมากินหัวหมูที่ต้มทิ้งไว้

          การต้มหัวหมูจะต้องตั้งอยู่บนเตาไฟตลอดไม่ยกลง กระทั่งเมื่อชาวบ้านกลับมาจากการเต้นที่ลานจะคึ ก็จะยกลงนำมารับประทานร่วมกัน สำหรับคางหมูนั้นจะมอบให้กับหมอแคนเป็นผู้รับประทาน

          หลังจากที่ชาวบ้านรับประทานหัวหมูร่วมกันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดพิธีค๊ะกวู หรือการส่งเคราะห์ส่งผีหมู่บ้าน

หมายเลขบันทึก: 383032เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีเจ้า หนานเกียรติมาคนแรกแล้วบ๋อ..อิอิ..เข้ามาเวลานี้ถึงจะเจอกั๋นน้อ แล้วจะอ่านต่อเน้อ ไปแร่ะ ..

สวัสดีค่ะ

ย้อนมาชมพิธี  พิธี “ค๊ะกวู”  การปัดเป่าสิ่งร้าย ๆ ออกไปจากชุมชน เพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่จะเข้ามาในปีใหม่  ถือว่าเป็นกุลโลบายในการสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน  (ใช่หรือเปล่า?  ก็บทราบคะ)

ขอบคุณมากค่ะ

 

ว้า...มาบ่ตันน้องมะตูมซะแล้ว...

ตามมาอ่านวิถีธรรมชาติที่ไม่ได้ไปรบกวนสิ่งแวดล้อมเลย 

แล้วจะตามอ่านอีกเน้อเจ้าน้องหนานเกียรติ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท