หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

GTK Camp IV (ตอน ๗ - เทศกาลปีใหม่ลาหู่)


        บันทึกที่แล้วผมเล่าเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน  โดยระยะแรกให้เด็ก ๆ ลงไปเก็บข้อมูลตามกระบวนการที่ได้ตระเตรียมไว้ พอไม่ได้ดั่งใจก็ปรับเพิ่มกิจกรรม คือได้เพิ่มเวทีเรียนรู้ขึ้นมา คาดหวังให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเอง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการตั้งคำถามจากพวกผม

        และในบันทึกที่แล้วผมได้นำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านห้วยปลาหลดมาแบ่งปัน

        วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติชุมชนไปแล้ว เราเริ่มกิจกรรมอีกคราวใกล้เที่ยงวัน เพราะต้องไปร่วมกิจกรรมกับเด็ก ๆ ที่วัด ทั้งทำบุญกับพระและปลูกต้นไม้

        ผมทำกระบวนการเดียวกับเมื่อวาน คือชวนคนเฒ่าคนแก่มาร่วมเวทีแล้วผมเป็นผู้ซักถามแล้วเขียนคำตอบ/คำอธิบายลงบนกระดาษปรู๊ฟที่แปะอยู่บนชาร์ทด้านหน้า เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีตั้งคำถามและเรียนรู้เรื่องราวเนื้อหาจากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ไปในคราวเดียวกัน

        เนื้อหาวันนี้คือ “เทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่” เราทำเวทีไปกระทั่งหมดแรงในช่วงเย็นจึงยุติ ข้อมูลที่ได้ยังไม่สมบูรณ์ จึงคุยกันกับพี่คิมว่าอาจจะต้องหาโอกาสมาเยี่ยมเยียนชาวบ้านอีก และฝากให้เด็ก ๆ ได้ทำการบ้านต่อจากนี้

        และนี่คือ เนื้อหาที่ได้จากเวทีครับ...

 

ภาพรวมของเทศกาล

        ชาวลาหู่เรียกเทศกาลนี้ว่า “เข๊าะจา” และ “เข๊าะนอย”

        เป็นเทศกาลที่ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับครอบครัวควบคู่กับการประกอบพิธีกรรมระดับชุมชน ในทำนองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของครอบครัวและชุมชนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตในรอบใหม่ที่จะมาถึงอีกไม่ช้านี้

        ช่วงเวลาที่ชาวบ้านเตรียมการและประกอบพิธีกรรมในเทศกาลนี้กินเวลายาวนานกว่าหนึ่งเดือน

        ก่อนที่จะถึงวันเริ่มต้นเทศกาล ราว ๑๐ วัน ชาวบ้านต่างพากันตระเตรียมล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการหาฟืนมากักตุนไว้ การตัดเย็บชุดใหม่ให้สมาชิกในครอบครัว การเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยังค้างคาอยู่ในไร่ กรณีที่ยังเก็บเกี่ยวไม่หมดก็จะหยุดทำงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ แล้วจะมาดำเนินการต่อได้เมื่อเทศกาลสิ้นสุดลง

        ซึ่งชาวบ้านจะใช้เวลาเตรียมเหล่านี้ราว ๑ สัปดาห์

        จากนั้นในวันแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๑๒ ชาวบ้านจะร่วมกันประกอบพิธีกรรม “ค๊ะกวู” เพื่อเป็นการส่งเคราะห์ส่งผีของหมู่บ้าน พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมระดับชุมชนที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องมาร่วมกันประกอบพิธี

        วันถัดมา ช่วงเช้าชาวบ้านจะจัดเตรียมครกเพื่อตำข้าวปุ๊ รวมทั้งเข้าป่าละแวกหมู่บ้านหากาบไผ่สำหรับมารองวางข้าวปุ๊ ช่วงบ่าย ๆ ชาวบ้านจะไปร่วมพิธี “เข๊าะ-ต่อ” ที่ลานจะคึ เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและอัปมงคลให้ออกไปจากหมู่บ้าน เป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับปีใหม่และสิ่งดีงามที่จะก้าวมาถึงในไม่กี่วันข้างหน้า

        วันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนจะถึงวันเริ่มเทศกาล ๒ วัน เช้าวันนี้จะมีพิธีกรรมที่บ้านปู่จารย์ พ่อบ้านจะไปช่วยกันล้มหมูที่บ้านปู่จารย์ แล้วก็แบ่งเนื้อหมูไปตามบ้านเรือนที่เป็นลูกบ้านของปู่จารย์ ลูกบ้านที่ได้รับหมูแล้วก็จะนำไปต้มแล้วนำไปประกอบพิธีกรรมที่ห้องผีภายในเรือน

        ในวันเดียวกันนี้ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะเริ่มตำข้าวปุ๊ ตำเสร็จแล้วก็จะนำข้าวปุ๊ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านครอบครัวอื่น ซึ่งครัวเรือนที่จะตำข้าวปุ๊และนำไปแลกเปลี่ยนกันนั้นจะต้องเป็นเรือนที่มีห้องผีเท่านั้น แล้วในช่วงบ่ายชาวบ้านก็จะไปรวมกันที่ลานจะคึ

        วันรุ่งขึ้น บางบ้านก็จะตำข้าวปุ๊ต่อ และในช่วงค่ำตัวแทนในครัวเรือนจะนำฟืนไปมอบให้กับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนฟืนระหว่างกันของครัวเรือนที่มีห้องผีด้วย

        วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นต้นไปตลอดทั้ง ๔ วัน จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาล “เข๊าะจา”

        ช่วงสาย ๆ ในวันนี้ชาวบ้านจะไปช่วยกันซ่อมลานจะคึ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายก็จะร่วมกันเต้นจะคึในลานที่ซ่อมแซมเสร็จแล้ว และเต้นไปตลอดทั้งคืนจนสว่าง

        รุ่งขึ้น ชาวบ้านในแต่ละหลังคาเรือนก็จะส่งสมาชิกในบ้านไปรดน้ำดำหัวเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน จากนั้นก็จะไปร่วมกันเต้นจะคึที่ลาน ซึ่งวันนี้ชาวบ้านจะร่วมกันเต้นจะคึจนสว่างเช่นเดียวกับคืนก่อน

        วันขึ้น ๑ เดือน ๑ ซึ่งเป็นวันที่สามของเทศกาลเข๊าะจา ช่วงเช้าจะก็เป็นการออกไปรดน้ำดำหัวเพื่อนบ้านแล้วไปรวมกันเต้นจะคึที่ลานเช่นเดียวกับวันก่อน

        วันนี้ในช่วงบ่าย จะมีพิธี “จะบูถี” เป็นการขึ้นไปเต้นจะคึบนนอกชานเรือนของชาวบ้านในหมู่บ้านที่ประสงค์จะประกอบพิธีนี้ ซึ่งในแต่ละปีจะมีราว ๑ – ๓ หลังคาเรือน การเต้นจะคึบนนอกชานนี้จะเต้นกันแบบรุนแรง คือ จะกระทืบจนพื้นนอกชานพัง เจ้าบ้านจะให้การต้อนรับชาวบ้านที่มาร่วมพิธี

        เสร็จพิธี “จะบูถี” ที่กำหนดไว้ทุกหลังแล้ว ชาวบ้านก็จะกลับไปรวมตัวกันเต้นจะคึที่ลานจะคึต่อ ซึ่งจะเต้นต่อไปจนเช้าของอีกวัน

        ในวันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๑ จะเป็นวันสุดท้ายของเข๊าะจา ในช่วงเช้าชาวบ้านจะมาทำพิธี “จะบูถี” ที่บ้านปู่จารย์ เมื่อเสร็จพิธีคือ นอกชานบ้านปู่จารย์พังเรียบแล้วแล้วก็จะไปรวมตัวกันเต้นจะคึที่ลานจะคึเช่นวันที่ผ่านมา คือจะเต้นไปตลอดทั้งวันจนกระทั่งถึงเช้า

        เช้าวันรุ่งขึ้นหลังผ่านพ้นไปทั้ง ๔ วันแล้ว วันนี้ชาวบ้านจะพักผ่อนอยู่กับบ้านเรือนของตนเอง เป็นอันสิ้นสุดพิธีในเทศกาลเข๊าะจา

        วันรุ่งขึ้นอีกวันเรื่อยไปราว ๒ สัปดาห์ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านในหมู่บ้านทำพิธี “บูตี” และพิธี “หวู่ซากวู” พิธีบูตี เป็นพิธีกรรมที่ทำเพื่อเรียกขวัญให้กับสมาชิกคนในคนหนึ่งในครัวเรือนที่เจ็บป่วยและจิตใจไม่ค่อยสบาย ส่วนพิธีหวู่ซากวู เป็นการทำห้องผีภายในเรือนและทำบุญบ้าน

        นอกจากการทำพิธีบุญทั้งสองอย่างแล้ว หนุ่มสาวชาวลาหู่ที่รักชอบพอกันก็มักจะใช้โอกาสในช่วงนี้จัดพิธีแต่งงาน

        หลังจากผ่านพ้นช่วงนี้ เข้าถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ชาวบ้านก็จะเริ่มต้นตำข้าวปุ๊ เพื่อใช้ประกอบพิธีในเทศกาล “เข๊าะนอย” ในวันรุ่งขึ้น

        ที่มาของเทศกาล “เข๊าะนอย” เนื่องจากในสมัยก่อนผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้านไม่มีโอกาสเข้าร่วมเทศกาล “เข๊าะจา” จึงได้จัดให้มีเทศกาล “เข๊าะนอย” เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชายที่ยังไม่ได้เข้าร่วมมีโอกาสเข้าร่วมเทศกาลนี้ด้วย

        วันเริ่มต้นเทศกาล “เข๊าะนอย” จะตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑ ห่างจากวันเริ่มต้นเทศกาลเข๊าะจา ๑ เดือน ระยะเวลาการจัดพิธีเท่ากันกับเทศกาลเข๊าะจา คือ ๔ วัน กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก ในช่วงนี้ชาวบ้านจะนำข้าวปุ๊ที่ตำนำไปทำบุญกับครัวเรือนของเพื่อนบ้าน ขณะที่คอยต้อนรับเพื่อนบ้านที่จะมาทำบุญและนำข้าวปุ๊มามอบให้

        วันสุดท้ายของเทศกาล คือวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑ จะมีพิธีส่งเคราะห์ส่งผีของหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นการออกจากเทศกาล เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานในฤดูกาลผลิตใหม่ที่จะเวียนมาถึง

        ที่เล่ามาเป็นภาพรวมนะครับ บันทึกหน้า ผมจะลงรายละเอียดแต่ละพิธีเพื่อแบ่งปันครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 382718เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • โอ! รวบรวมเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเล่มเมื่อใด น่าจะเป็นตำราเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมชาวลาหู่ ที่มีประโยชน์มากๆเลยทีเดียว..ที่สำคัญคือเด็กๆในชุมชนได้เรียนรู้
  • ขอบคุณความรู้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • ได้รู้จักคำศัพท์ที่น่าสนใจตั้งหลายคำค่ะ
  • “เข๊าะจา” 
  • “เข๊าะนอย”
  •  “ค๊ะกวู”
  • “เข๊าะ-ต่อ”
  •   “จะบูถี”
  •  “บูตี”
  •  “หวู่ซากวู”
  • จะรออ่านรายละเอียดของแต่ละพิธีนะคะ.

สวัสดีค่ะ

เริ่มลงบันทึกประวัติแล้วนะคะ  อันหลัง ๆ อ่านไม่เข้าใจ  แต่ชอบมาก ๆ พิธี  “จะบูถี”

สวัสดีค่ะน้องหนานมาชมและอ่านข้ามบันทึกก่อนนั้นมา คงจะเรียนรู้ต่อไป และจะรออ่านและโหลดทั้งเล่มเน้อเจ้า

  • สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ
  • การที่ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราว วัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีปฏิบัติ ของชุมชนตนเองเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้พวกเขา
  • ขอบคุณข้อมูลที่มากด้วยสาระ(ภาษาชาวลาหู่ ออกเสียงยากจังค่ะ)

ได้สาระใหม่ๆดีแท้

ขอบคุณค่ะคุณหนานเกียรติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท