"ระบบประกันสุขภาพ" : คือทางออกของการบริหารจัดการสุขภาพประชากรต่างด้าว??


แล้วนโยบายที่ชื่อว่า "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" มันถ้วนหน้าสมชื่อรึเปล่า??

จากการเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ "การบริการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว ครั้งที่ 1" (Healthy Migrants - Healthy Thailand) วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ซึ่งจัดโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ PATH, IRC, มูลนิธิรักษ์ไทย และ IOM

ชื่อบันทึกข้างต้นเป็นชื่อเดียวกับหัวข้อที่ใช้ในห้องสัมมนาย่อย ห้องที่ 2 ซึ่งมีวิทยากรเข้าร่วมทั้งหมด 5 ท่าน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม, ตัวแทนจากกรมควบคุมโรค, ตัวแทนจากโรงพยาบาล และตัวแทนจากสาธารณสุขจังหวัด

ประเด็นของการสัมมนาก็ไม่พ้นเรื่อง "ระบบประกันสุขภาพ" ดังที่เขียนไว้เป็นชื่อของบันทึก

การสัมมนาเริ่มต้นจาก..ส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็คือ ตัวแทนจากโรงพยาบาลและตัวแทนจากสาธารณสุขจังหวัด กล่าวถึงภาพรวมของการทำงานของตนว่า ครอบคลุมส่วนใดบ้าง? มีการบริหารจัดการสุขภาพของประชากรต่างด้าวอย่างไร? และมีปัญหาอย่างไรเกิดขึ้นบ้าง? (เรียกได้ว่า..เริ่มต้นที่ฝ่ายปฏิบัติการก่อน)

โดยสรุปแล้ว (ซึ่งค่อนข้างโล่งอกเมื่อได้ฟัง) ตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร ก็ได้ยืนยันหนักแน่นถึงการรักษาพยาบาลตามหน้าที่ที่ควบคู่ไปกับหลักจริยธรรมและมนุษยธรรมต่อทุกๆ คนที่เข้ารับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างด้าว และแรงงานต่างด้าวที่ทั้งขึ้นทะเบียน หรือไม่ขึ้นทะเบียน เมื่อพวกเขามีปัญหาด้านสุขภาพก็ต้องทำการรักษาก่อนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ เรื่องงบประมาณก็มีปัญหาบ้าง แต่เมื่อเทียบกันแล้วก็ไม่ได้แตกต่างมากนักจากการรักษาพยาบาลในรูปแบบการสงเคราะห์ ในสมัยที่ยังไม่มีนโยบาย 30 บาท

เมื่อมาถึงส่วนกลาง (ฝ่ายนโยบาย) โดยเริ่มจาก..ตัวแทนกรมควบคุมโรค ก็ได้รับการยืนยันที่น่าสบายใจอีกครั้งว่า ในส่วนของกรมการควบคุมโรคนั้น มีนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในส่วนของปัญหาก็มีบ้างในแง่ของการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งควรที่จะเข้าถึงประชาชนให้มากกว่านี้ และในแง่ของคนต่างด้าวเอง ซึ่งไม่กล้ามารับการบริการ

องค์กรจากส่วนกลางต่อไป คือ ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ท่านยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า..จาก "พรบ.หลักประกันสุขภาพ 2545" ได้ระบุว่า มีไว้เพื่อคนสัญชาติไทย (???) ซึ่งเดิมทีงบประมาณจะถูกจัดสรรในรูปของ "เงินอุดหนุนรายปี" จากแผนงานที่เสนอไป แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีการปฏิรูประบบสุขภาพ งบประมาณที่ได้ก็จะออกมาในรูปของ "เงินประกันต่อหัว" เท่ากับจำนวนประชากรที่อาศัยในแต่ละเขตที่ให้บริการ (???)

อย่างไรก็ดี ท่านได้กล่าวถึง "กลไก" อีกอันหนึ่งในการประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวที่ขึนทะเบียนแล้ว และบรรดาผู้ติดตาม อันได้แก่ พ่อ, แม่, สามี, ภรรยา และบุตร ซึ่งก็เทียบได้กับการประกันสุขภาพที่คนไทยทั่วไปได้รับ โดยที่แรงงานต่างด้าวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้เอง ในราคา 1,300 บาท ซึ่งเงินกองนี้ทางจังหวัดสามารถจัดเก็บและนำมาใช้ได้เอง โดยไม่ต้องส่งกลับไปที่ส่วนกลางเพื่อจัดสรรกลับคืนมายังจังหวัด (แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องส่งกลับไปใช้ในการบริหารจัดการที่ส่วนกลาง)

ฟังดูเผินๆ ก็เหมือนจะยุติธรรมดี!!!

แต่พอคิดไปคิดมาอีกหนึ่งรอบ..ก็เกิดเป็นคำถามที่คับข้องใจ

"แล้วแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนล่ะ?? แล้วพวกถือบัตรสีอีกล่ะ?? จะมีหลักอะไรที่จะประกันสุขภาพให้พวกเขาบ้าง??"

ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า..การให้บริการสุขภาพแก่ผู้ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพและไม่มีเงินจ่ายเอง ดังเช่นกลุ่มที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็คงจะนำปัญหา "การขาดทุน" มาสู่สถานพยาบาลไม่มากก็น้อย ประเด็นของ "จริยธรรมและมนุษยธรรม" ของการให้บริการด้านสุขภาพ จึงถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป

แล้วนโยบายที่ชื่อว่า "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" มันถ้วนหน้าสมชื่อรึเปล่า??

สุดท้าย คือ ตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งท่านก็ได้ออกมาตอกย้ำปัญหาที่ยังค้างคาและคับข้องใจของข้าพเจ้า ให้ยิ่งหนักไปกว่าเดิม...ท่านกล่าวว่า..ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่จะสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้นั้น จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ คือ 1. ใบอนุญาติทำงาน (Work Permit) 2. หนังสือเดินทาง (Passport) นั่นก็หมายความว่า..จะต้องเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วและพิสูจน์สัญชาติแล้วเท่านั้น (???)

จึงทำให้เห็นได้ชัดว่า กลุ่มคนที่จะเข้าถึงบริการนี้ยิ่งแคบลงไปอีกหลายเท่าตัว

สุดท้ายจึงขอย้อนกลับไปที่ชื่อบันทึก..

"ระบบประกันสุขภาพ" : คือทางออกของการบริหารจัดการสุขภาพประชากรต่างด้าวจริงหรือ??

หมายเลขบันทึก: 38225เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท