ของดีแม่กลอง


ของดีแม่กลอง


          วันนี้ (10 ก.ย.48) เป็นวันเสาร์   สกว. จัดทัวร์แม่กลอง   ตอนเช้าไปชมตลาดน้ำท่าคา   แล้วไปฟังบรรยายภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัยท้องถิ่นแพรกหนามแดง   ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ด้วย   ตอนเย็นชมตลาดน้ำอัมพวา


          ผมกับหมออมราไปร่วมเฉพาะครึ่งแรก   จึงได้ “ของดีแม่กลอง” มาฝากดังนี้
1.      ตลาดน้ำท่าคา   บ้านคลองศาลา   หมู่ที่ 2  ต.ท่าค่า  อ.อัมพวา  จ.สมุทรสงคราม   ใครอยากเห็นตลาดน้ำที่เป็นวิถีชีวิตจริง ๆ  ไม่ใช่จัดไว้โชว์นักท่องเที่ยวควรมาชมที่นี่   ผมมีรูปมาให้ดูกันด้วย
2.      กลุ่มแกนนำชุมชนแพรกหนามแดง   นำโดยคุณปัญญา  โตกทอง,  คุณสมบูรณ์  แดงอรุณ,  คุณบรรเทา,  คุณปรีชา  บุญสมหวัง  เป็นต้น   ได้ดำเนินการวิจัยท้องถิ่น (สนับสนุนโดย สกว.)  จนสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านต้นน้ำ (น้ำจืด – ทำสวน นา)  กับชาวบ้านปลายน้ำ (เลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติ) ลงได้   สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน   มีการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน   เพิ่มความเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา   จนขณะนี้เป็นที่ศึกษาดูงานจากที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ   ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้   มีผู้มาดูงานถึง 4 คณะ   อย่างในวันนี้นอกจากคณะ สกว. – สคส. 20 คนแล้ว   คณะที่มาดูงานหลักคือนิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ 70 คน  นำโดย ผศ. ปัณรส  มาลากุล ณ อยุธยา
3.      คุณสุรจิต  ชิรเวทย์   ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม   ผู้อุทิศตนศึกษาค้นคว้าและทำงานเพื่อสังคมเต็มเวลา   ท่านผู้นี้ผมยกย่องให้เป็น “ปราชญ์ 3 น้ำ”  คือรู้เรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรมของ “ดินแดน 3 น้ำ” (คือน้ำจืด  น้ำกร่อย  น้ำเค็ม) ดีเยี่ยม   ผมยุให้ สกว. ภาคทำวีซีดีการบรรยายของคุณสุรจิตออกจำหน่าย   และเป็นภาคบังคับให้ผู้ต้องการมาดูงานที่แพรกหนามแดงต้องดูมาก่อน   จะได้ประหยัดเวลาดูงาน   และมีเวลา ลปรร. มากขึ้น   มีเวลาลงไปดูพื้นที่มากขึ้น


          คุณสุรจิตบรรยายอย่างผู้รู้รอบจริง ๆ  ผู้ฟังจะทึ่งและสอบถามว่าคนนี้เรียนจบอะไร   คำตอบคือนิติศาสตร์  ธรรมศาสตร์   เดิมเคยเป็นผู้จัดการธนาคาร   ผมถามคุณปัญญาว่าในการบรรยายนี้คุณสุรจิตได้อะไร   คำตอบคือไม่ได้เงินค่าตอบแทนเลย  


          วันนี้ผมเอาของดีเมืองแม่กลองมาฝาก 3 ประการ   ก่อนจะจบขอฝากของดีประการที่ 4  คือคำขวัญที่ติดไว้ในห้องประชุมของชุมชนแพรกหนามแดง


·       คุณธรรม 5 ประการ
1.      มีความซื่อสัตย์ต่อกัน
2.      มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม
3.      มีความรับผิดชอบร่วมกัน
4.      มีความเห็นอกเห็นใจกัน
5.      มีความไว้ว่างใจซึ่งกันและกัน


·       ขอเตือนให้ท่านคิดดูว่า
คนที่อยู่ใกล้เรา เราไม่ช่วย
แต่กลับไปช่วยคนที่อยู่ไกล ๆ
เมื่อเราเป็นทุกข์ด้วยเรื่องใด ๆ
ผู้ช่วยเราก็คือคนอยู่ใกล้เราเอง


·       อุดมการณ์ของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
จะทำการสิ่งใดต้องใจมั่น
ร่วมแรงแข็งขันไม่หวั่นไหว
เลิกเป็นคนเห็นแก่ตัว  เร่งกลัวภัย
แยกกันตาย  รวมกันอยู่  คิดดูเอา


·       คติเตือนใจ  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งที่บุคคลไม่ควรเข้าใกล้ 4 ประการ”
1. บุคคลไร้ยางอาย      2. หญิงชายไร้สัจจะ
3. พระที่ไร้ศีล             4. กำแพงหินที่ผุพัง


·       ไม่ชอบปิดทองหลังพระ
แล้วพระจะดูสวยได้อย่างไร
รักพ่อแม่ควรดูแลแต่ตอนอยู่
ไม่ใช่ดูแลตอนแน่นิ่ง

·      


·       กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคือ
1. ได้ร่วมคิด    2. ได้ร่วมตัดสินใจ        3. ได้ร่วมทำ     4. ได้ร่วมกันตรวจสอบ
5. ได้ร่วมกันรับประโยชน์


·       คนเราเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะเป็นและมีได้
ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ
สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว


·       การขอโทษนั้นมิใช่การพ่ายแพ้
จะเป็นการอ่อนแอก็หาไม่
การขอโทษนั้นคือการขออภัย
เป็นความกล้าอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์

 

 คุณปัญญา และแกนนำชุมชนแพรกหนามแดง   

 

คุณสุรจิต ชิรเวทย์ ปราชญ์แม่กลอง  

 

ตลาดน้ำท่าคา 


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         10 ก.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #km#ท้องถิ่น#ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 3808เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2005 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท