Workshop RMKM จ.สงขลา : ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว


ทาง สคส. จะไม่เน้นการบรรยายแนวคิด ทฤษฎีการจัดการความรู้ให้ แต่จะเน้นแนวทางการจัดการความรู้มาที่การลงมือปฏิบัติจริง และเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเล่าเรื่อง การบันทึก การสกัดแก่นความรู้จากความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ของแต่ละคนมากกว่า
Workshop ตลาดนัดความรู้ด้านการจัดการงานวิจัย : ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว
                สำนักวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัด  Workshop ตลาดนัดความรู้ด้านการจัดการงานวิจัย  เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐  มิถุนายน  ๒๕๔๘  ที่โรงแรม เจ.บี.  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  โดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ (สคส.)  ได้รับเชิญเป็นวิทยากร
                ก่อนที่จะเริ่ม workshop  ในวันที่ ๑๙  นั้น  ตอนเย็นของวันที่ ๑๘  คณะวิทยากรจาก  สคส.  นัดหมายกับ คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่ม  เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ  คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่ม  ซึ่งทางคณะวิทยากรรู้สึกทึ่งมาก ที่  คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่มให้ความสนใจ ซักถาม  ซักซ้อมความเข้าใจ  บทบาทหน้าที่ที่ตนเอง  ซึ่งสังเกตจากการซักถาม  รู้ได้ทันทีเลยว่า  คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่มหลายคน  เตรียมตัว ศึกษาเอกสาร ทำความเข้าใจเรื่องของการจัดการความรู้มาเป็นอย่างดี  ตามที่ สคส. แนะนำผู้จัดไว้ว่า  ผู้เข้าร่วมควรจะศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้มาก่อน  เพราะทาง สคส.  จะไม่เน้นการบรรยายแนวคิด ทฤษฎีการจัดการความรู้ให้  แต่จะเน้นแนวทางการจัดการความรู้มาที่การลงมือปฏิบัติจริง  และเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การเล่าเรื่อง  การบันทึก  การสกัดแก่นความรู้จากความรู้ฝังลึก  (Tacit  Knowledge)  ของแต่ละคนมากกว่า  ซึ่งเราได้เห็นผลดีของแนวทางนี้มาก  เพราะแต่ละคนที่เข้าร่วม  workshop   ในแนวทางลงมือปฏิบัติจริงนี้  จะได้เรียนรู้  เข้าใจ  และซึมซับกระบวนการหรือการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ไปเองโดยไม่รู้ตัวจาก  workshop   แบบนี้   (แต่จะนำไปใช้ในการทำงานจริงแบบไม่รู้ตัวได้หรือไม่  ไม่สามารถรับรองผลให้ได้)  โดยเราใช้เวลาในช่วงการเตรียมตัว   คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่ม   เกือบ ๒  ชั่วโมง  แต่ถือว่าคุ้มค่า  เพราะยิ่งซักถามกันมากๆ  ยิ่งเกิดการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นระหว่าง  คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่มด้วยกันเอง  และระหว่าง คุณอำนวย  และ  คุณลิขิต  ประจำกลุ่ม กับทางผู้จัดงาน  และ  สคส.
                เมื่อถึงวันงานจริงๆ  เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเยอะมาก  ตอนแรก สคส. ก็ค่อนข้างหนักใจ  เกรงว่า ช่วงของการเล่าเรื่อง จะไม่สามารถเล่าได้ครบทุกคน และกังวลว่า ผลที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร  เนื่องจากมีการจัดแบ่งกลุ่มคนออกเป็น  ๓  ประเภท  คือ  นักวิจัย  สนับสนุนงานวิจัย  และผู้บริหารงานวิจัย    ซึ่งต่างสถานะ  ต่างบทบาท  ต่างหน้าที่  แต่อยู่ร่วมในหัวปลาเดียวกัน  คือ  "การจัดการความรู้ด้านการจัดการงานวิจัย   แต่กลับกลายเป็นว่า  แต่ละกลุ่มสามารถบริหารจัดการคน เวลา  กับงานที่ได้รับมอบหมายตามกระบวนการแต่ละช่วงได้ดีมากๆ   กระบวนการดำเนินไปอย่างลื่นไหล ไม่ติดขัด  ผลที่ได้จากการทำงานกลุ่มก็มีความเชื่อมโยงเป็นระบบอย่างดี  กลุ่มนักวิจัยก็จะมีแก่นความรู้ชุดหนึ่ง  กลุ่มสนับสนุนงานวิจัยก็จะมีแก่นความรู้อีกชุดหนึ่ง  และกลุ่มผู้บริหารงานวิจัยก็จะมีแก่นความรู้ชุดหนึ่งเช่นกัน  แต่ทั้งหมดจะสอดประสาน สอดคล้องไปด้วยกัน  ซึ่งจะทำให้การจัดการงานวิจัยดำเนินได้โดยประสบความสำเร็จด้วยดี  ซึ่งตรงนี้ถือว่า  เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อกลุ่มผู้เข้าร่วม  และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า  จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านการวิจัย
และจากที่ได้สังเกตการณ์  พบว่า  แม้วิทยากรจะเน้นย้ำว่า  กิจกรรมครั้งนี้  ทางผู้จัดงาน  และ สคส.   ต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จัก  เรียนรู้หลักการ  กระบวนการ และวิธีการจัดการความรู้ในงานวิจัย  โดยการปฏิบัติจริง  นอกเหนือจากการศึกษาจากเอกสารต่างๆ   เพื่อนำไปใช้ และปรับปรุงงานในหน่วยงานของตนเอง  รวมทั้งเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัย  เพื่อขยายไปยังกิจกรรมอื่นๆ  ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยต่อไป 
แต่ดูเหมือนว่า  กลุ่มผู้เข้าร่วมจะต้องการผลลัพธ์มากกว่านั้น  เนื่องจากแต่ละคนแต่ละกลุ่ม  ค่อนข้างจริงจัง  เตรียมตัวมาดี  และทุกคนทำงานตามที่วิทยากรมอบหมายให้ด้วยความตั้งใจ  แต่ละคนแต่ละกลุ่มทำโดยเสมือนว่า  ต้องการผลหรือเนื้อหาของหัวปลาจริงๆ  เพื่อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด และนำไปใช้ได้เลยจริงๆ  ต่อไป 
ดังนั้น  ตลาดนัดความรู้ด้านการจัดการงานวิจัย   ครั้งนี้   นอกจากผู้จัดงาน  และผู้เข้าร่วมจะได้รู้จัก  เข้าใจกระบวนการจัดการความรู้แล้ว  โดยผ่านการลงมือปฏิบัติจริงแล้ว  ยังได้รับ Knowledge Assets  แก่นความรู้ของกลุ่มต่างๆ    ตารางอิสรภาพ  ธารปัญญา  บันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดใช้กับการทำงานจริงๆ  ได้อีกด้วย  และที่สำคัญ  สัมพันธภาพอันดีระหว่างกลุ่ม  ระหว่างหน่วยงาน  ระหว่างคณะที่งอกเงยขึ้น  ซึ่งส่งผลให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจะมีมากขึ้นตามไปด้วย   ส่วนทาง สคส.  เองก็ได้เรียนรู้เทคนิค หลักการกระบวนการในการจัดกิจกรรมแบบนี้ที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นด้วยเช่นกัน
                แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้เรียกว่า  ยิงนัดเดียวได้นกสองตัวได้อย่างไร
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 380เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2005 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท