มหัศจรรย์บาติกศิลปะบนผืนผ้า


ความมหัศจรรย์ของผ้าบาติกอยู่ที่ผ้าแต่ละผืนจะไม่มีความเหมือนกันเลย สาเหตุเพราะอะไรนั้น ติดตามอ่านได้ในเนื้อหานะค่ะ
อาภรณ์ในการแต่งกายของบุคคลในชุมชนและสังคมที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมนั้น ย่อมมีลักษณะรูปแบบที่มีความหลากหลายตามค่านิยม ความพึงพอใจ ความชอบ ของบุคคลรวมไปถึงอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและถิ่นฐานที่ตั้ง และในความหลากหลายเหล่านั้น ได้ซ่อนสิ่งที่มีคุณค่าที่สัมผัสได้ถึงความงามที่แตกต่างกัน นั่นคือความงามที่ซ้อนเร้นของเนื้อผ้าที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมากจากความคิด วิเคราะห์ ผนวกกับการออกแบบอย่างมีศิลปะทำให้เนื้อผ้าที่ใช้ในการผลิตอาภรณ์ต่าง ๆ มีลวดลายและสีสันที่ต่างกันตามแบบที่ช่างทอผ้า ได้ใช้ความเป็นศิลปินทางความคิดผลิตแพรพรรณต่าง ๆ ออกมา แต่นั่นก็เป็นเพียงบางส่วนในการมองเห็นความงามของอาภรณ์ที่เราได้สัมผัสกันในรูปแบบต่าง ๆ  หากนึกถึงความสวยงามที่ลึกซึ้งของการเป็นศิลปะในอาภรณ์ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงผ้าชนิดหนึ่งที่มีความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่ ซึ่งหากเราได้สัมผัสแล้วจะต้องหลงมนต์เสน่ห์กันจนถอนตัวไม่ขึ้นกันไปหลายคน ผ้าชนิดนั่นก็คือ ผ้าบาติก นั่นเอง

ผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะเป็นคำที่กลุ่มชนทั่วไปโดยเฉพาะในภาคใต้รู้จักกันดี ซึ่งก็หมายถึงผ้าชนิดหนึ่งที่มีลวดลายและสีสันสวยงามตามจินตนาการของผู้ออกแบบในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมองเห็นกันจนชินตา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายของบุรุษ สตรี การผลิตผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมศรีษะของสตรีชาวมุสลิม หรือเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างก็นำผ้าบาติกมาผนวกเข้ากับความเป็นงานศิลปะ ตกแต่งให้เกิดความสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ บ่งบอกถึงความเป็นแก่นลึกในจินตนาการของผู้จัดทำ ซึ่งแม้กระทั่งหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนก็ยังได้นำเอาความสวยงามของผ้าบาติกมาออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายประจำไปเลยก็มี นี่อาจเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในความงามของผ้าบาติกที่เรามองเห็นในความเป็นเนื้อแท้ของผ้าบาติกก็ว่าได้ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คน ที่หลงมนต์เสน่ห์ของผ้าบาติกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น อาจเพราะเป็นกลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลามและดำรงชีวิตอยู่ในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจในมนต์เสน่ห์ของผ้าบาติก นั่นน่ะซิ ผ้าบาติกต้องซ่อนความมหัศจรรย์อะไรเอาไว้ให้เราช่วยกันค้นหาแน่ ๆ

คำว่า บาติก (Batik) หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาซึ่งใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด คำว่า ติก หมายถึง เล็กน้อย หรือจุดเล็ก ๆ  ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้น คำว่า บาติก จึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ๆ ด่างๆ ซึ่งกรรมวิธีในการทำผ้าบาติกนั้น อาจกล่าวได้คร่าว ๆ ว่า เป็นการนำผ้ามาประดิษฐ์โดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี  มีทั้งพิมพ์เทียน แต้มสี ระบายสี ย้อมสี ดังนั้น ผ้าบาติกจึงเป็นได้ทั้งงานหัตถอุตสาหกรรม และงานทางศิลปะประยุกต์รวมอยู่ในตัวเดียวกัน  การลงสี ย้อมสี ในบางครั้ง อาจทำให้สีซึมเข้าไปในเนื้อผ้าอีกสีหนึ่งหรืออาจซึมเข้าไปตามรอยแตกของเส้นเทียน จึงทำให้ผ้าบาติกมีลักษณะปลีกย่อยที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะใช้แม่พิมพ์อันเดียวกันก็ตาม นั่นหมายถึงว่าผ้าบาติกแต่ละผืนนั้นมีสวยงามที่แตกต่างกัน นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในความมหัศจรรย์ของผ้าบาติก ที่อาจจะถือได้ว่าผ้าบาติกแต่ละผืนจะเป็นหนึ่งเดียวในโลก เพราะไม่เคยมีศิลปินท่านใดที่สามารถเขียนผ้าบาติกได้เหมือนผืนแรก
  
แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากไหนนั้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอน นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่าผ้าบาติกเกิดขึ้นในอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซีย แต่อีกหลายคนก็เชื่อว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซียซึ่งเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซียเนื่องจากศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก เป็นศัพท์ในภาษาอินโดนีเซีย

ผ้าบาติกนิยมใช้กันมากในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียบรูไนดารุสซาลาม หมู่เกาะทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของประเทศไทยเรา โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการจัดทำผ้าบาติกเป็นสินค้าพื้นบ้านและเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ “OTOP” สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นจำนวนมาก

                ในการผลิตผ้าบาติกนั้นก็ไม่ยุ่งยากมากมายเพียงแต่ต้องเตรียม เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนลงมือทำ เพราะถ้าขาดวัสดุอุปกรณ์ในขั้นตอนใด อาจจะทำงานที่ได้ดำเนินไปแล้วต้องเสียหายเป็นการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์  ซึ่งเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำผ้าบาติก  ประกอบด้วย
          1. จันติ้ง (Canting หรือ Tjanting) เป็นเครื่องมือสำหรับใช้เขียนเทียนลงบนผ้า
          2. คัมพองัน (Complongan) มีรูปทรงคล้ายกับหวี ใช้ทำลวดลายที่มีลักษณะเป็นจุดด้วยการจุ่มเทียน และกดรอยพิมพ์เทียนลงบนผ้า เมื่อนำไปย้อมลวดลาย ส่วนนี้จะปรากฏเป็นจุดเล็กๆ
          3. ปากกาทองเหลือง เป็นปากกาที่ใช้สำหรับเขียนเทียนที่ต้องการเส้นเทียนขนาดใหญ่ และงานที่ไม่ต้องการความประณีตมากนัก
          4. แม่พิมพ์ ภาษาอินโดนีเซีย เรียกว่า จั๊บ (Cap) หรือจันติ้งจั๊บ (Canting cap) แม่พิมพ์บาติกจะทำด้วยโลหะประเภท ทองแดง ทองเหลือง สังกะสีหรือกระป๋องนม
         5. แปรง พู่กัน แปรงและพู่กันที่ใช้ในงานบาติกสำหรับปิดเทียนและใช้ระบายสี
          6. กรอบไม้ (Frame) ใช้สำหรับขึงหรือยึดผ้าให้ตึง 


ส่วนวิธีทำผ้าบาติก ก็ไม่มีอะยุ่งยาก สามารถทำได้ตามขั้นตอน ดังนี้
1. นำผ้าที่จะเขียนมาดึงให้ตึงโดยใช้กรอบไม้แล้วติดเป๊ก
2. ร่างลวดลายลงบนผ้าด้วยดินสออย่างง่าย ๆ
3. ใช้พู่กันหรือปากกาทองเหลือง จุ่มลงในน้ำเทียนที่ต้ม จากนั้นนำมาเขียนตามลวดลายที่ร่างไว้
4. นำผ้าที่เขียนด้วยเทียน ไปจุ่มน้ำเย็นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผ้า
          5. ใช้พู่กันจุ่มสีแล้วระบายรูปภาพในช่องที่ไม่มีน้ำเทียนตามใจชอบ จากนั้นจึงนำผ้าไปตากแดดให้แห้งแล้วนำผ้าที่เขียนเสร็จไปซักด้วยน้ำเย็น เพื่อให้น้ำเทียนหลุด

                แค่นี้ก็จะได้ผ้าบาติกอย่างง่ายแล้วละค่ะ  ดูแล้วไม่มีอะไรยุ่งยากมากมายแต่สามารถผลิตผลงานที่สวยงามและมีคุณค่าได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันนั้นผ้าบาติกเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่นิยมกันมากในท้องตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ออสเตรเลียและญี่ปุ่นมีการนำเข้าผ้าบาติกจากไทยไปจำหน่าย ในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น เครื่องตกแต่งบ้าน ภาพบาติกประดับผนัง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม เน็คไท ผ้าปูโต๊ะ และเสื้อสำเร็จรูป ฯลฯ ทำให้มีการผลิตกันอย่างกว้างขวาง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีโรงงานผ้าบาติกขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ถึง 20 ราย นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร ฯลฯ


การพัฒนารูปแบบและการเผยแพร่การผลิตผ้าบาติกให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้การบริหารงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชษฐ์  เปียร์กลิ่น คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้บรรจุรายวิชาบาติกไว้เป็นวิชาบังคับเลือก ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาศิลปะประยุกต์ ในภาคเรียนที่ 1 โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบของผ้าบาติกได้อย่างมีคุณค่า มีความเป็นอิสระในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ออกมาเป็นผ้าบาติกที่สวยงาม  ซึ่งจากผลงานของนักศึกษานั่นมีแนวคิดในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นศิลปะบนผืนผ้าที่มีทั้งความงามและจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ ที่แสดงให้เห็นถึงการมีเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของท้องถิ่นได้อย่างลงตัว


นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในความมหัศจรรย์ของผ้าบาติก ศิลปะบนผืนผ้า ที่สามารถสื่อสารให้เห็นได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะต่าง ๆ ให้ประจักษ์แก่สายตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีความมหัศจรรย์อีกหลายอย่างที่แอบแฝงอยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นความเป็นเนื้อแท้ที่มีคุณค่าในสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ช้าเร็วหรือลึกซึ้งแค่ไหนนั่น ก็อยู่ที่การค้นพบสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเราเอง..............

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 375เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2005 04:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นภาพผ้าปาเต๊ะทำเป็นผ้าเช็ดหน้า กล่องใส่ดินสอ มีอะไรแปลก ๆ บ้าง เผื่ออยากสั่งมาใช้ที่ แม่สอด ตาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท