ในการประชุมสภา มวล. เมื่อวันที่ ๘ กค. ๔๙ มีการเอาเรื่องการรับ นศ. ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา ๒๕๕๐ มานำเสนอเชิงนโยบาย โดยจะให้โควต้าไม่เฉพาะภาคใต้ แต่จะให้ทั่วประเทศ เพื่อลดความบิดเบี้ยวของการกระจายภูมิลำเนาของนักศึกษา ซึ่งปีนี้ปี ๑ มี นศ. ภาคใต้ถึง ๘๗% มากเกินไป ต้องการให้กระจายนักศึกษาออกไปยังภาคอื่นๆ มากกว่านี้
การอภิปรายยกระดับสู่ประเด็นที่ลึกมาก ผมเสนอแนวคิดหรือมุมมองต่อ นศ. ว่าไม่ควรมองแค่ว่าเขาเป็นคนที่เข้ามาให้เราสอน แต่มองเป็น "สินทรัพย์" (assets) ของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาเข้ามากระตุ้นอาจารย์ให้ทำงานวิชาการเข้มข้นจริงจังขึ้น นักศึกษาเข้ามาทำกระบวนการทางสังคม (socialization) ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และขับเคลื่อนสังคมมหาวิทยาลัย ให้เป็นสังคมเรียนรู้อย่างแท้จริง
อ. หมอประเวศ แนะให้มอง "สินทรัพย์" นศ. ที่มีความรู้ในตัว ที่เป็นความรู้ในฐานวัฒนธรรม น่าจะหาทางใช้ความรู้แนวนี้เชื่อมกับความรู้ในตำรา ทำให้ผมเห็นแนวทางจัดกิจกรรม นศ. ใหม่ โดยให้ นศ. ได้ จัดการความรู้ ที่ตนมีอยู่ในตัว
ผมเสนอยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับ นศ. ที่มีการจัดการเชิงรุกเพื่อให้ได้นศ. คุณภาพสูง เลิกคิด "รับ" นศ แต่มุ่ง "ดึงดูด" นศ. ให้ได้ นศ. ที่มีคุณลักษณะตามที่เราต้องการ
มีการพูดกันเรื่อง คุณภาพนศ. ในมุมมองใหม่ ที่นศ. แต่ละคนมี "แวว" หรืออัจฉริยะคนละแบบ มหาวิทยาลัยหาทางกระตุ้น นศ. ที่มีอัจฉริยะต่างแบบ ให้เอาจุดดีของตนออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน
มีการพูดถึงสภาพที่จำนวนที่นั่งเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจะเท่าๆ หรือมากกว่าจำนวนนักเรียนที่จบชั้น ม. ๖ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาต้องมีมาตรการที่หลากหลายในการดึงดูดนักศึกษาตาม สเป็ค ของตนมาเรียน วิธีการหนึ่งคือโครงการเรียนล่วงหน้า (APP - Advanced Placement Program) โดยลงไปร่วมมือกับระดับมัธยม
นายกสภาสรุปว่าต้องมีการตลาดของอุดมศึกษา วิเคราะห์ต้นทุน ในระดับรายคณะและหลักสูตร
มีกรรมการสภา พูดว่าครูที่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษา มาปรารภว่าเปนห่วงนร. ว่าจะคุณภาพต่ำ เพราะครูไม่มีเวลาเอาใจใส่ศิษย์ เนื่องจากมีงานตามสั่งมาก มีการริเริ่มให้ทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ จนไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ลูกศิษย์
อ. หมอประเวศ แนะให้ใช้ยุทธศาสตร์ตั้ง adjunct professor จากในท้องถิ่น
วิจารณ์ พานิช
๘ กค. ๔๙
ไม่มีความเห็น