National Institute for Child and Family Development : Girls in Cyberspace : Opportunities and Risks


ประกอบด้วย (๑) สถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (๒) แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการปัจจัยในการจำแนกโอกาสและความเสี่ยง (๓) ความเสี่ยงและโอกาส สถานการณ์และตัวอย่าง (๔) กฎหมาย นโยบายที่ส่งผลตต่อการจัดการความเสี่ยงและสนับสนุนโอกาส และ (๕) บทสรุปและข้อเสนอแนะ

เป็นงานวิจัยที่ลงไปศึกษาถึงความเสี่ยงหรือโอกาสของเด็กผู้หญิงในโลกเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การระหว่างประเทศ แพลน ซึ่งจะมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการภายใต้แนวคิดเรื่อง Because i am a  Girl

ดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยฉบับเต็ม ดาวน์โหลดเอกสารฉบับนำเสนอในงาน Because i am a  Girl เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ ห้องโลตัส ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

       ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ เรียกว่ายุคอินเทอร์เน็ต มีการใช้งานผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในหลายลักษณะ ทั้ง การใช้บริการผ่านเว็บไซต์ การสนทนาออนไลน์  การเล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์ รวมทั้ง การใช้โทรศัพท์มือถือ และ การใช้บริการเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

        จากตัวเลขสถิติในการใช้งานอินเทอร์เน็ตพบว่ามีจำนวนกว่า ๑๖ ล้านคน ในจำนวนนี้ มีคนเล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ถึง ๑๐ ล้านคน ในส่วนของการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๔ ปี โดยพ่อแม่ผู้ปกครองซื้อให้ และ ใช้งานเฉลี่ยวันละประมาณ ๑-๕ ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาโทรคุยต่อเนื่องยาวนานที่สุดประมาณ ๑ ชั่วโมง ๕๐ นาที

         ในการศึกษาเรื่องเด็กผู้หญิงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในความสนใจขององค์การระหว่างประเทศ แพลน ที่ศึกษาภาพรวมของเด็กผู้หญิง ทางแพลนประเทศไทย จึงได้ทำการศึกษาร่วมกับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากเขตกรุงเพทมหานคร เชียงราย ระนองและ ชลบุรี รวมถึง การสำรวจจากแบบสออบถามออนไลน์ เพื่อศึกษาถึง พฤติกรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

      จากการสำรวจพบว่า ผลกระทบจากการใช้ไอซีทีของเด็กผู้หญิงสามารถผลกระทบใน ๒ ด้าน กล่าวคือ เป็นการสร้างโอกาสและอาจส่งผลต่อความเสี่ยงได้ใน ๓ ลักษณะใหญ่ๆกล่าวคือ (๑) พฤติกรรมในการใช้งาน (๒)  จากการเข้าถึงเนื้อหาของสื่อไอซีที และ (๓) วัฒนธรรมในการใช้ไอซีที

     ในแง่ของสถานการณ์ทั่วไปของการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากกลุ่มตัวอย่างของการศึกษา พบว่า เด็กในเขตนอกเมือง คือ เชียงรายและ ระนอง มีการใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า การใช้อินเทอร์เน็ต และ เกมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เขตในเมือง กรุงเทพมหานครและชลบุรีมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าโทรศัพท์มือถือและ เกมคอมพิวเตอร์ โดย จากกการศึกษาจากแบบสอบถามในระบบออนไลน์ ในส่วนของการใช้โทรศัพท์มือถือ มีการใช้งานใน ๖ ลักษณะ เรียงตามลำดับ ดังนี้ ฟังเพลง พูดคุย ถ่ายรูป ดาวน์โหลดเพลง เล่นเกม และ ถ่ายวีดีโอ ในขณะที่ เด็กผู้หญิงที่ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า มีการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ การศึกษาด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภาพรวม โดยเฉพาะ hi5 และ facebook ซึ่งพบว่า เด็กผู้หญิงจะใช้เครือข่ายสังคมของ hi5 มากกว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ

       เมื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมในการใช้งาน พบว่า มีการใช้งานที่ส่งผลต่อความเสี่ยงใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการสนทนาออนไลน์ การถูกนำข้อมูลไปใช้ในเว็บไซต์ลามก การหมิ่นประมาทบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การส่งต่อภาพ ข้อความ ลามกหรืออันตรายผ่านทางระบบมือถือ แต่ในทิศทางตรงกันข้าม เด็กผู้หญิงสามารถได้โอกาสจากการใช้เทคโนโลยีสารนเทศและการสื่อสาร ทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร การได้ฝึกทักษะความสามารถในการใช้งานไอซีทีเพื่ออาชีพได้

     ในส่วนของเนื้อหาในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่าก็มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสในเชิงบวก โดยจากกรณีศึกษาพบว่า เนื้อหาที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในกลุ่มเด็กผู้หญิงมีประเด็นสำคัญก็คือ สื่อลามก รองลงมาก็คือ ข้อมูลด้านความสวยความงาม การลดความอ้วน ซึ่งหากข้อมูลไม่ถูกต้องอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพและชีวิต ในแง่ของโอกาสพบว่าเด็กผู้หญิงมักใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าข้อมูล โดยพบว่า ในกลุ่มเด็กผู้หญิงในระบบการศึกษาจะใช่ในการค้นข้อมูลในเชิงวิชาการเพื่อใช้ในการเรียนและข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ซึ่งมีความแตกต่างกันแล้วแต่ความสนใจของเด็ก เช่น เรื่องความสวยความงาม ท่องเที่ยวเป็นต้น

       ในด้านสุดท้าย เป็นประเด็นด้านวัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่ามีการใช้งานอย่างไร พบว่า ในด้านความเสี่ยงจากการใช้งาน เด็กผู้หญิงในเขตนอกเมืองและในเขตเมืองส่วนใหญ่มีการใช้งานในระดับปกติไม่อยู่ในสถานการณ์ด้านการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต หรือ ติดมือถือ ในทางตรงข้าม กลุ่มเด็กผู้หญิงสามารถใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคม ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเว็บบล็อกเพื่อการเรียน การเป็นนักข่าวชุมชน นักเขียนการ์ตูนออนไลน์ เป็นต้น นำมาซึ่งโอกาสทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ

      ในด้านกฎหมายนโยบายเพื่อการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาส มีด้วยกัน ๓ ระยะ คือ ก่อนที่จะเข้าใช้งาน ไอซีที ในระหว่างที่ใช้ไอซีที และ หลังจากการใช้ไอซีที พบว่ากฎหมายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีมีข้อสังเกต ๓ ข้อ ข้อแรก น้ำหนักของการจัดการเน้นการจัดการความเสี่ยง ในขณะที่ การจัดการเพื่อเพิ่มโอกาสนั้นมีน้อย ข้อต่อมา ประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง ส่วนใหญ่เน้นการปราบปรามที่เนื้อหาซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อสุดท้าย ความไม่เพียงพอของกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อการส่งเสริมด้านโอกาสด้านไอซีที

       ความน่าสนใจของการศึกษาค้นพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเสี่ยงหรือโอกาสของเด็กผู้หญิงมี ๓ ปัจจัยคือ ตัวเด็กเองว่ามีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานไอซีทีมากน้อยเพียงใด คนรอบข้างว่ามีการพูดคุย แลกเปลี่ยน ให้โอกาสในการใช้ไอซีทีให้กับเด็กมากน้อยเพียงใด และ สุดท้าย คือ พื้นที่ทั้งพื้นที่ร้านเกม โรงเรียนและ พื้นที่ออนไลน์ว่าเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ แสดงตัวตนอย่างสร้างสรรค์ผ่านระบบไอซีทีหรือไม่เพียงใด

          จากสถานการณ์และปัจจัยพื้นฐานได้จัดทำข้อเสนอใน ๔ ข้อ เพื่อทำให้เกิดการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาส เริ่มจาก

ประการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการจัดการปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการทำงาน

ประการที่ ๒ การพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคนโยบายและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ประการที่ ๓ ตามด้วยการพัฒนาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน พ่อแม่ ครู และ ชุมชน และสุดท้าย การปฏิรูปกฎหมายในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลเด็ก เยาวชนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อีกทั้ง

ประการสุดท้าย ผลักดันกฎหมายกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกลไกในการพัฒนาโอกาสในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์

หมายเลขบันทึก: 379767เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ครับ รออ่านฉบับเต็มครับ หายไปนานเลยครับ

ขอบคุณมากครับ ข้อมูลทันสมัยและมีประโยชน์มากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท