มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น

กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน


กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

 

กระบวนการเรียน 

กระบวนการเรียนการสอนของวิชชาลัยชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปริญญาตรี มุ่งที่จะให้ผู้เรียน มีความรู้ความเข้าใจสภาพการณ์ของชุมชนและท้องถิ่นอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทะลุปรุโปร่ง ทุกแง่ทุกมุม มากกว่าความรู้ทางหลักการ หรือทฤษฎีระดับสากล  กระบวนการเรียนการสอน จึงเน้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์ข้อมูลของชุมชน หรือเอาชุมชนเป็นฐานการเรียน  ผู้เรียนจะได้รับการมอบหมายให้ไปศึกษา หรือการเก็บข้อมูลของชุมชน ทำเป็นเอกสารรายงาน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียน  อาจารย์ผู้สอน จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ หรือเป็นกระบวนกร เพื่อมอบหมายงานให้นักศึกษาไปศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนและท้องถิ่น ให้ผู้เรียนหรือนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน  อาจารย์จะทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลของชุมชนท้องถิ่นไปสู่ท้องถิ่นอื่น ๆ ในภาพกว้าง  และเสริมความรู้ของนักศึกษาในแง่มุมอื่น ๆ เพื่อพัฒนากรอบความคิดของผู้เรียนให้กว้างขึ้น เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสถานการณ์ต่าง ๆ ของสังคมและของโลก

ดังนั้น บุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ของวิชชาลัย จึงมิได้เป็นผู้บรรยาย หรือเป็นบ่อเกิดแห่งความรอบรู้ทั้งมวล มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ชำนาญการ ที่จะนำเอาประสบการณ์ของตนเองมาถ่ายทอดให้กับผู้เรียน แต่มีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และการตระหนักรู้ด้วยตนเอง

ห้องเรียนของวิชชาลัย จึงอยู่ที่ชุมชน ท้องถิ่น เวทีประชาคม เวทีเสวนา อยู่กับปัญหาและสภาพความเป็นจริงของแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ  ผู้สอนของวิชชาลัยสามารถจะมอบหมายงานให้กับนักศึกษาเพื่อเก็บรวบรวม สังเคราะห์  ถอดบทเรียน ตามหัวข้อวิชาต่าง ๆ ที่นักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้น ๆ

การประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาจะประเมินจากเอกสารการนำเสนอของผุ้เรียน และประเมินจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษาในชั้นเรียน ร่วมกับนักศึกษาคนอื่น ๆ

วิชชาลัยเชื่อว่า นักศึกษาของวิชชาลัย เป็นผุ้มีประสบการณ์ในการทำงานในชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่สิ่งที่นักศึกษาบางคนยังมีจุดอ่อนอยู่บ้างก็คือ การเรียบเรียงประสบการณ์ของตนเอง การจัดระบบ หรือการจัดหมวดหมู่ประสบการณ์ การถอดบทเรียนหรือการสังเคาะห์บทเรียนการทำงานในชุมชน   การที่วิชชาลัยมอบหมายให้นักศึกษาจัดทำเอกสารการนำเสนอ จึงเป็นการฝึกฝนการถอดบทเรียนการทำงาน  การนำเสนอของนักศึกษา ยังเป็นการฝึกทักษะการนำเสนอ บุคลิกของการนำเสนอที่ดี  วิชชาลัยเห็นว่า จำนวนมากกว่า 40 วิชาของการศึกษาในระดับปริญญาตรี  จะทำให้นักศึกษามีผลงานส่วนตัวมากกว่า 40 เล่ม ที่ล้วนเป็นการสังเคราะห์ประสบการณ์งานพัฒนา การนำเสนอและการแลกเปลี่ยนมากกว่า 40 ครั้ง ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี  จะช่วยให้สร้างและฝึกทักษะการนำเสนอของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

การวัดผลการศึกษาของวิชชาลัย ไม่ได้วัดผลด้วยความสามารถในจดจำเนื้อหาวิชา ไม่ต้องการการแข่งขันในกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน แต่จะวัดด้วยความสามารถในการสังเคราะห์ความรู้ การเชื่อมโยง การให้มุมมองที่กว้างขวาง การต่อยอดจากความคิดของนักศึกษาคนอื่น ๆ   วิชชาลัยจึงเชื่อว่านักศึกษาทุกคนจะขอบคุณซึ่งกันและกันในกระบวนการของการเรียนรู้  มิใช่การแข่งขันและการเอาชนะ

อีกทั้งการเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน การได้ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันตลอดระยะเวลาของการศึกษา ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ปีนี้  ด้วยความที่เป็นจิตอาสา จะสร้างความผูกพันต่อนักศึกษาด้วยกัน และการสำนึกรักท้องถิ่นของตน  ห้องเรียนท้องถิ่นจึงเป็นห้องเรียนของการพัฒนาความรักและความปรองดองของผู้เรียนทุกคน 

 

วิธีการเรียน   

วิชชาลัยจะจัดห้องเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนสัมมนาร่วมกัน สัปดาห์ละ 1 วัน อาจจะเป็นทุกวันอาทิตย์เป็นต้น ส่วนวันอื่น ๆ จะมอบหมายให้เก็บข้อมูลในชุมชนท้องถิ่น และประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเตรียมเข้าสู่วันสัมมนาประจำสัปดาห์ดังกล่าว

วันที่นัดพบปะกันของอาจารย์และนักศึกษา  หรืออาจจะเรียกว่าวันเข้าห้องเรียน เป็นวันการนำเสนอของนักศึกษาของแต่ละคน เพื่อสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน

วิชชาลัยจะจัดห้องเรียนเป็นแบบ Block Course คือเรียนเป็นวิชาจนครบกำหนดชั่วโมงตามหน่วยกิตแล้วจึงจะสัมมนาครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงเรียนวิชาใหม่

สำหรับหลักสูตรในระดับปริญญาตรี วิชชาลัยจะจัดการเรียนเป็นแบบคู่วิชา คือ ภาคเช้า 1 วิชา และภาคบ่ายอีก 1 วิชา  เรียนต่อเนื่องกัน 6 สัปดาห์ หรือ 6 ครั้ง จึงจะเป็นการสิ้นสุดการเรียน  แล้วจะเรียนในคู่วิชาใหม่อีก 6 สัปดาห์  สำหรับการเก็บคะแนน จะเป็นการนำเสนอรายงานการศึกษาในชุมชนตามโจทย์ที่กำหนด เฃ่น ในวิชาปัญหาของชุมชน นักศึกษาก็ต้องวิเคราะห์ชุมชนของตนเองว่ามีปัญหาอะไร เพื่อมานำเสนอในห้องเรียน,  วิชา เครือข่ายชุมขน นักศึกษาก็ต้องวิเคราะห์ว่าในชุมชนของเขามีเครือข่ายอะไร มีการบริหารจัดการอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร เป็นต้น,  วิชา สวัสดิการชุมชน นักศึกษาก็ต้องวิเคราะห์ว่าในชุมชนของนักศึกษา มีกลุ่มสวัสดิการชุมชนอะไร บริหารจัดการอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร เป็นต้น

ในแต่ละภาคการศึกษา นักศึกษาจะเรียน 6 วิชา หรือ 3 คู่วิชา หรือ 18 หน่วยกิต (วิชาละ 3 หน่วยกิต) จนกว่าจะครบหน่วยกิตตามที่หลักสูตรกำหนด

การเทียบโอนประสบการณ์

เนื่องจากผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่น เป็นผู้มีอายุตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงสูงอายุ  (อายุสุงสุดของนักศึกษาในปัจจุบัน คือ 83 ปี)  บุคคลเหล่านี้ได้ออกจากระบบการศึกษามาเป็นเวลานานมากแล้ว  อาจจะมีปัญหาเรื่องการนำหลักฐานทางการศึกษามาแจ้งให้กับวิชชาลัย และบางคนอาจจะไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  อย่างไรก็ตาม  วิชชาลัยตระหนักถึงความสำคัญของประสบการณ์ที่ยาวนานของนักศึกษาแต่ละคน  จึงจะใช้หลักการเทียบโอนประสบการณ์ ตามแนวทางของการศึกษานอกโรงเรียนในหลักสูตรเทียบระดับ  เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนในระดับมํธยมศึกษาตอนปลายมาก่อน  ทั้งนี้ จะให้นักศึกษาจัดทำประวัติส่วนตัว ผลงานของตน และบทบาทของตนเองต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อนำมาเทียบประสบการณ์เพื่อเรียนในระดับอุดมศึกษาต่อไป

 

การจัดตั้งศูนย์การเรียนท้องถิ่น

  1. ในท้องถิ่นที่มีผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประสงค์จะเปิดการเรียนการสอน หรือประสงค์จะเข้าศึกษา ให้เสนอแผนการดำเนินงานไปยังวิชชาลัยชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อให้วิชชาลัยชุมชนท้องถิ่นอนุมัติจัดตั้งศูนย์การเรียน โดยศูนย์การเรียนต้องมีความพร้อมของสถานที่ตั้งหรือสำนักงาน  ห้องฝึกอบรม/ห้องเรียน/ห้องสัมมนา และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานประจำสถาบัน และผู้รับผิดชอบประสานงานกับวิชชาลัย
  2. แต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ วิทยาจารย์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในแต่ละศูนย์เพื่อเป็นบุคลากรหลักในการทำงาน
  3. หากมีความจำเป็น แต่ละศูนย์อาจจะมีคณะกรรมการประจำศูนย์ตามความเหมาะสม เพื่อกำกับนโยบายและแนวทางการทำงานของแต่ละศูนย์
  4. กรรมการ ผู้อำนวยการศูนย์ วิทยาจารย์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ เป็นบุคลากรจิตอาสา สถาบันฯอาจจัดสรรงบประมาณเป็นค่าตอบแทนและเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามภารกิจที่สถาบันฯมอบหมาย
  5. การบรรจุบุคลากรให้มาปฏิบัติงานของศูนย์ ให้เป็นตามความจำเป็นและงบประมาณที่ศูนย์มีอยู่ ยกเว้นการเข้ามาปฏิบัติงานในรูปแบบจิตอาสา
  6. ศูนย์ประสานงานฯอาจมีรายได้จากการสนับสนุนของสถาบันฯ เงินอุดหนุนจากแหล่งทุนภายนอก เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค ค่าธรรมเนียมอันเกิดจ่ากการดำเนินงานของศูนย์ ผลประโยชน์อันเกิดจากการลงทุน ดอกผล ค่าปรับ หรือเงินอื่นใดที่ได้จากการดำเนินงานของศูนย์
  7. รายจ่ายของศูนย์ฯ คือ รายจ่ายเพื่อการเรียนการสอน การฝึกอบรม การศึกษาวิจัย การบริหารงาน การพัฒนาบุคลากร และพัฒนาวิชาการ รายจ่ายเพื่อการบริหารวิชาการแก่สังคม รายจ่ายตามเงื่อนไขที่มีผู้บริจาค และรายจ่ายอื่น ๆ ที่สถาบันฯเห็นชอบ

 

ดร.ศํกดิ์  ประสานดี

 

หมายเลขบันทึก: 378005เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท